Custom Search

Nov 9, 2009

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม : GMM GRAMMY




หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกอย่างคุ้นเคยว่า "อากู๋"
ย้อนความหลังถึงบรรยากาศเมื่อสมัยเรียน
มหาวิทยาลัยว่า


" พอพูดถึง 40 ปี ฟังแล้วใจหายเหมือนกันนะแสดงว่า
เราจบมา 30 กว่าปีแล้ว รุ่น 4 ก็คงมีบรรยากาศบางอย่าง
ซึ่งรุ่นหลังๆ ไม่เคยเห็น
แต่จะลองบรรยายให้ฟังเผื่อจะนึกภาพออก..."


"ช่วงที่พี่เรียนเป็นแผนกอิสระสื่อสารมวลชน
และการประชาสัมพันธ์
ยังไม่เป็นนิเทศศาสตร์ ตอนนั้นตึกเรียนอยู่ที่สำนักเลขาฯ
ตรงข้ามประตูใหญ่หน้าจุฬาฯ ตรงสระน้ำ
เดี๋ยวนี้คงเป็นฝ่ายอาคารสถานที่แล้วล่ะ ซึ่งก็มีไม่กี่ห้อง
เป็นคณะเล็กมากแต่ค่อนข้างสวย เป็นตึกโบราณที่สวยงาม
พื้นเป็นไม้ ตอนนั้นเราต้องตระเวนไปเรียนตามคณะต่างๆ
เช่น ไปเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์บ้าง
เดินข้ามไปเรียนฝั่งนู้นบ้าง ฝั่งนี้บ้าง"


"ถึงแม้วาบรรยากาศของสถานที่เรียนจะไม่ค่อยครบถ้วนสมบูรณ์
แต่สมัยพี่ก็โชคดีเพราะ อาจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ

ผู้ก่อตั้งคณะนิเทศศาสตร์ท่านมีเพื่อนฝูงเยอะ
ท่านไปขอให้อาจารย์เก่งๆ ในจุฬาฯ มาสอน
ทั้ง อ.เกษม สุวรรณกุล, อ.ปัจจัย บุนนาค, อ.สมศักดิ์ ชูโต ฯลฯ
ทุกสาขาจึงได้เรียนกับอาจารย์ที่วิเศษสุด
และทำให้การเรียนมีความสุข ความรู้หลายอย่างยังจำได้จนวันนี้เลย

ถึงสมัยนั้นเขาจะเรียกคณะนิเทศศาสตร์ว่าเรียนเป็นเป็ด
คือ รู้หมด แต่รู้ไม่ลึก บินก็บินไม่ได้ ว่ายน้ำก็ไม่ถึงกับเก่งก็ตาม

อาจารย์เหล่านี้ไม่เพียงแต่สอนเก่ง
บางทียังมากินเหล้ากับพวกเราบ้าง
ด้วยความที่คณะมันเล็กก็เลยสนิทสนมกัน

แล้วคณะนี้นิสิตสวย น่าเรียนที่สุด (หัวเราะ)
ผู้ชายแม่งไม่ค่อยหล่อ"


ความเป็นจริงบางข้อยังเหมือนเดิม
ไม่ว่าจะเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว หรือทุกวันนี้

ที่คณะนิเทศศาสตร์เดินทางมาถึงขวบปีที่ 40
แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันของอดีตกับปัจจุบัน

ที่เห็นชัดที่สุดก็คือ จำนวนคน

พี่บูลย์แสดงความเห็นว่า จากคณะเล็กๆ จนเป็นคณะใหญ่ๆ

จุดเปลี่ยนน่าจะมาจาก "เพราะเงิน..เงินทองนี่แหละ
สมัยพี่ ตอนที่สอบติดพ่อถามว่า ไปเรียนอะไรนะ
พี่บอกไปเรียนหนังสือพิมพ์ ภาษาจีนเรียกป๊อจั้ว

เรียนป๊อจั้วจะรวยเหรอเนี่ย-(หัวเราะ)
เราก็บอกไม่รู้เหมือนกัน แต่มันจุฬาฯนะ
เอาไว้เหอะก็เลยหยวนเรียนไป
โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรได้

มีอาชีพมั้ย มีการงานมั้ย
แต่พอเรียนแล้วชอบใจมาก
เพราะมันเรียนหลากหลาย"


"พอเรียนจบ ความที่เป็นคณะใหม่ มันจึงได้เปรียบ คือ
แม้แต่บริษัทที่ไม่เคยโฆษณา ก็เริ่มรู้สึกว่าต้องโฆษณา

และคนที่เรียนวิชาที่ใกล้เคียงกับโฆษณาที่สุดก็คือ
ไอ้พวกนิเทศนี่แหละ พี่เริ่มต้นทำงานโฆษณา
ชักชวนพรรคพวกไปทำงานกับสหพัฒน์ฯถึง13 คนแน่ะ
ที่มันว่าง งานพวกนี้ยังไม่มีคนทำ
เพราะฉะนั้นจึงหางานง่าย บางบริษัทไม่รู้จักคำว่า

ประชาสัมพันธ์ เลย แต่พอมีประชาสัมพันธ์เกิดขึ้น
โอ้โฮ ทุกบริษัทต้องการประชาสัมพันธ์หมด
งานก็เลยเยอะไปหมดเลย ทุกองค์กรทั้งรัฐ ทั้งเอกชน

ที่ไหนก็ต้องการคนนิเทศ มันดูเหมือน
ไปทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง ทำหนังสือพิมพ์ก็ได้
ประชาสัมพันธ์ก็ได้ ทำวิทยุ โทรทัศน์ ทำเพลง
ทำหนังสือ ทำหนัง ทำต่างๆ นานาได้เยอะแยะไปหมด
เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่า

มันเป็นคณะซึ่งเรียนจบแล้วมีงานทำ
ปละบางคนยังรู้สึกว่า การเป็นสื่อมวลชนนี่เท่ดีนะ

แลดูมีอิทธิฤทธิ์ แต่อย่าใช้ในทางที่ผิดนะ
บาปเลยล่ะ มันก็เลยได้เงินด้วย ได้เท่ด้วย
เรียนสนุก เรียนไม่หนัก จบเร็ว จบไม่ยาก ก็คงด้วยเหตุนี้แหละ"


พี่บูลย์เริ่มชีวิตการทำงานที่ ฟาร์อีสต์ แอดเวอร์ไทซิ่ง
ของสหพัฒน์ฯ ดูแลงานทั้งในส่วน
ของการโฆษณาและการตลาด จากนั้นก็ก่อตั้ง
บริษัทพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งในเวลาต่อมา

ประสบความสำเร็จในการทำการตลาดให้สินค้าหลายชิ้น
อาทิ น้ำส้มสายชู อสร.,ปลาสวรรค์ ทาโร่
ต่อเนื่องด้วยการทำรายการทีวีพร้อมกันกับที่เข้าสู่วงการเพลง

ด้วยการเปิดตัวบริษัทแกรมมี่ ซึ่งเติบโตอย่างมั่นคงมาจนปัจจุบัน
ผมถามพี่บูลย์ว่า งานชิ้นไหนที่พี่บูลย์ภาคภูมิใจกับมันที่สุด

" ก็คงเป็นงานเพลง เพราะเราชนะขาดลอยในเส้นทางการทำงาน
ก่อตั้งบริษัทแกรมมี่มา 22 ปี คู่แข่งก็ล้มหายตายจากไปเยอะ

เพราะธุรกิจนี้มันทำลำบาก เป็นธุรกิจที่เปราะบาง
ถูกรังแกง่าย เทปผีซีดีเถื่อนก็ขโมยเราทุกวัน

เด็กก็ไปไรท์ซีดี ขโมยเรา ดาวน์โหลดเรา มันถูกกลั่นแกล้ง
ไปเก็บเงินคาราโอเกะ เขาก็มาล้อมตึก

กว่าจะเคลียร์กันได้อีกทีก็ 2 เดือน
ทั้งที่เป็นสิ่งพึงมีพึงได้ ใช้ของเราทำมาหากินเป็น 10 ปี
เราไม่เคยเก็บ วันดีคืนดีไปเก็บซักหน่อย
ก็เก็บไม่เยอะนะ เช่น เราเก็บ 400 บาทต่อเดือน
วันวันนึงที่หยอดได้เท่าไหร่ก็เอาไปเหอะ
ขอแค่เนี้ย แม่งโมโหโทโสเลย (หัวเราะ)"


"ตาสิ่งหนึ่งที่ดีใจก็คือ คนที่ทำงานยู่กับพี่ จะเป็นนิเทศ ไม่นิเทศ
หรืออะไรก็แล้วแต่พี่ไม่ได้ดูปริญญาหรือดูมหาลัยเป็นหลักนะ
แค่คุยกันรู้เรื่อง สื่อสารกันได้ ทำงานด้วยกันได้
แต่สิ่งหนึ่งที่นอกเหนือจากงานแล้วก็คือ
เรื่องการบริหารจัดการผู้คน คนที่นี่โดยมาก อยู่กับพี่

มานาน 30 กว่าปีก็มี 20 กว่าปีก็มี ออกกันน้อยมากทำงานแล้วสนิทกัน
ไม่ค่อยแตกกระจาย ตรงนี้ทำให้
บรรยากาศของการทำงานมันค่อนข้างอบอุ่น สบายใจ"

" เคยมีนิตยสารจากไต้หวันมาสัมภาษณ์ใช้เวลาทั้งวันเลยนะ
สุดท้าย เขาถามคำถามนึง คือ พี่บอกว่าธุรกิจของพี่มันเป็น

people management เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนทั้งนั้นเลย
เขาก็ถามว่า เราใช้วิธีอะไรในการเลือกคนเข้าสู่
บริษัทแกรมมี่ เราบอกว่า เราดูว่าคนนั้นมีความเป็นครีเอทีฟ

หรือเปล่า เพราะงานด้านนี้ต้องการคนที่ครีเอทีฟ
ถึงจะบอกว่าความเป็นครีเอทีฟมันติดตัวมาตั้งแต่เกิด

หรือเป็นพรสวรรค์ แต่เอาเข้าจริงมันฝึกฝนกันได้เหมือนกันนะ
เพราะถ้าว่ากันตามจริงแล้วก็ยังมีสิ่งที่สำคัญว่าครีเอทีฟ

ซึ่งก็คือ คอมมอน เซนส์ สามัญสำนึก พี่เลือกคนที่มีสามัญสำนึก
ฟังดูง่ายนะ แต่บางทีคนเรามันไปติดตำราบ้าง
ติดอะไรบ้าง จนกระทั้งไม่มีพื้นฐานแห่งความเข้าใจ
ไม่คิดอย่างธรรมดา อย่างสามัญ ถ้าคนคิดอย่างสามัญ
ก็จะมองทะลุปัญหาต่างๆ
และฝึกตัวเองให้มีความคิดสร้างสรรค์ได้"


"คำตอบก็คือ เราต้องการหาคนที่มีสามัญสำนึก
แล้วเรื่องอื่นๆ จะคุยกันรู้เรื่อง ไอ้เรื่องความดี
ความมีคุณธรรม ความเก่ง ความสามารถ
เดี๋ยวมันตามมาเอง เอาคอมมอน เซนส์ก่อน"


แม้แกรมมี่จะประสบความสำเร็จถึงเพียงนี้ แต่ก็ยังมีงานอื่นๆ
ที่พี่บูลย์อยากจะทำในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์รายวันสักฉบับ
ทีวี 24 ชั่วโมงสักช่องหนึ่ง "ทำได้เรื่อย ๆ สนุกสนาน

ทำเรื่องฟุตบอล ตอนนี้กำลังทำยาสมุนไพร ทำสปา
ทำเครื่องสำอาง อะไรที่ไม่ใช่อบายมุขทำหมด
ถ้าทำได้ก็ทำ ไม่อยากมีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น"

สุดท้ายผมถามพี่บูลย์ถึงสิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่เฉพาะแต่ผมสงสัย
แต่น้อยคนนัก จะกล้าถาม

"อากู๋" คำเรียกขานติดปาก
จนแทบจะกลายเป็นชื่อเล่นของพี่บูลย์ไปแล้วนั้นที่มาอย่างไร?


เออเริ่มต้นเนี้ยคนที่เป็นเลขาพี่เป็นหลานสาวเป็นลูกพี่สาวแท้ ๆ

เค้าทำงานกับพี่ด้วยความที่เราอุ้มมันมาตั้งแต่เด็กความที่มันอุ้มมันมา
ตั้งแต่เด็กเวลาเรียกเรากู๋ทุกทีซึ่งพี่เบิร์ด (ธงไย แมคอินไตย์)
ได้ยินเค้าพอเค้าไปเล่นคอนเสริต์แบบบิร์ด เบิร์ด

อยู่บนเวทีไม่รู้จะอำใครเห็นหน้าพี่ก็เลยสวัสดีพี่บูลย์ กู๋ อะไรอย่างนี้
แหม ย้ำไปทีสองที ประชาชนเลยเรียกตามเลย
และกลายเป็นอากู๋ของพวกเรานิเทศไปด้วย



ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่ง GMM Grammy กับความเสี่ยงที่ปลอดภัยในธุรกิจบันเทิง

ที่มา : http://www.dooqo.com/dooqo_page.php?sub_id=1010

จากพื้นฐานเดิมที่เป็นนักโฆษณา กับความตั้งใจตั้งแต่แรก
แค่เพียงอยากจะทำสินค้าที่เป็น Consumer products

สืบเนื่องมาจากตอนเด็ก เพราะพ่อของเขาเปิดร้านสโตร์
ขายขนมปัง ยาสีฟัน ผงซักฟอก สบู่ ของกินของใช้ ฯลฯ
มาสู่ก้าวแรกของเขาสู่ธุรกิจบันเทิง
ส่วนผสมของสูตรแห่งความสำเร็จของเขาส่วนหนึ่ง
น่าจะความเป็นคนมากมิตร ใจกว้าง หูตากว้างไกล
ไม่หยุดนิ่งกับการเปิดรับสิ่งใหม่อยู่เสมอ
และจากจุดเริ่มต้นที่ฟังดูเรียบง่าย
เมื่อตัดสินใจลงมือทำแล้ว เขาก็ไม่เคยหยุดนิ่ง

“ผมเป็นคนทำงานหนัก ตั้งใจทำงาน
ตอนกลางวันผมอยู่ที่บริษัทสหพัฒน์ฯ
ตอนกลางคืนผมเปิดบริษัทของตัวเอง
ในขณะเดียวกันบางทีก็ไปรับจ้างทำหนังสือให้เขาบ้าง
ผมเคยทำหนังสือให้คุณบุรินทร์ วงศ์สงวน
ในสมัยนั้น เคยไปร่วมทำหนังสือ
ให้กับพี่ช้าง-ขรรค์ชัย บุญปาน
เป็นคนชอบทำงาน ขยัน อยากเรียนรู้
มีความอยากรู้อยากเห็นมาก
มันเป็นส่วนที่ช่วยให้เราเป็นคนมีประสบการณ์มาก

ความกระตือรือร้น ความที่กลัวตัวเองจะล้มเหลว
มันเป็นแรงผลักดันให้กับตัวเอง
เพราะที่ครอบครัวผมไม่มีใครช่วยอะไรได้เลย
ความรู้สึกตรงจุดนี้ มันทำให้เราจะต้องพยายามอย่างที่สุด
และเราก็ทำงานด้วยความสนุก ผมเป็นคนมีเพื่อนเยอะ
ผมเป็นคนชอบงานวางแผน
แต่ไม่ถึงขนาดทำ Daily Operation

พอมาทำแกรมมี่ก็ต้องบอกว่าค่อนข้างโชคดีตั้งแต่ปีแรกก็มีกำไร

แต่ก่อนผมมีรายได้เดือนหนึ่งไม่ถึงแสน
แต่ปีแรกพอมาทำตรงนี้ ผมมีกำไร 7 ล้าน
ผมรู้สึกว่าชีวิตมันเปลี่ยนไปเยอะ
ชีวิตค่อนข้างราบรื่น ปีที่ 2 อาจจะถอยไปหน่อย
เพราะมีอะไรผิดพลาด ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง
แต่หลังจากนั้นก็ราบรื่นมาโดยตลอด”

“อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบันเทิงเป็นธุรกิจที่เสี่ยงมาก
มันไม่เหมือนกับ Consumer products
ที่พอตั้งตัวสำเร็จแล้ว ก็สามารถจะมี life cycle ที่ยาวนาน
การส่งเสริม การจัดการเองก็ไม่ยากในช่วงแรก
แต่ธุรกิจนี้มีความเสี่ยงตลอดเวลา

เช่น พี่เบิร์ด ธงชัย ประสบความสำเร็จในชุดนี้
มิได้หมายความว่าชุดหน้าจะประสบความสำเร็จ
คุณต้องมีคนใหม่ก้าวขึ้นมาเสมอ
ต้องต่อสู้กับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา
เป็นธุรกิจที่เสี่ยงมาก

เราจึงต้องซื่อสัตย์ในการแบ่งปันผลประโยชน์
เราต้องมีวิสัยทัศน์ที่ทำให้เขาเชื่อว่า

เราจะพาเขาไปข้างหน้าได้ เราต้องมีการจัดจำหน่าย
มีโครงสร้างที่ช่วยนักร้องไปด้วยกันได้
คนที่อยากจะทำงานในอาชีพนี้ก็จะเดินเข้ามาหาผมก่อน
ให้ผมได้เลือกก่อน
ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง โปรดิวเซอร์ โปรโมเตอร์

ถ้าเป็นเช่นนี้ ธุรกิจก็จะเสี่ยงน้อยลง
เพราะเมื่อคุณคัดเลือกนักร้องที่ดีที่สุดมาอยู่กับเรา
เวลาออกเทป มันก็เสี่ยงน้อยกว่าปรกติ ธุรกิจนี้มี Margin
ที่สูงกว่า Consumer products

ซึ่งจริงๆ แล้วตัวธุรกิจนี้เราสามารถนำเพลงเก่ามาขายได้
ยังมีฐานแฟนเพลงเป็น Community
อย่างคนที่เติบโตมากับรุ่นนันทิดา
เวลาคุณจัดคอนเสิร์ตคุณจะเห็นแฟนพันธุ์แท้ของเขายังอยู่
เจ-เจตริน, คริสติน่า, ใหม่ เจริญปุระ ใครต่อใครก็ตาม
เขาก็จะมีแฟนของเขา ซึ่งปรากฏว่าคนเหล่านี้
ทำรายได้มากกว่าเด็กรุ่นใหม่เสียอีก
ทรัพย์สมบัติที่เราทำมาทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์
ปกเทป ปกซีดี เพลง มิวสิกวีดีโอ คอนเสิร์ต
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นกิจกรรมของเรา

มันเอากลับมาขายใหม่ได้หมด
เอามา cover เป็นสิ่งใหม่ได้
เป็นทรัพย์สมบัติที่มีคุณค่า
ช่วยพยุงให้บริษัทนี้อยู่อย่างถาวรได้

ชีวิตผมตอนนี้ผมก็มั่นคงเพราะสมควร
แต่ก็สามารถพลิกผันให้ล้มได้
การทำธุรกิจไม่มีธุรกิจไหนที่มั่นคงสุด
ธุรกิจทุกธุรกิจมีความเสี่ยงเสมอ
มันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ฝีมือ ดวง ความสามารถ
โอกาส มันมีความเสี่ยงอยู่เสมอ

ปัญหาคือคุณจะเก็บออมเงินอย่างไร
ผมบอกกับตัวเองว่า ตอนที่ทำธุรกิจผมก็เสี่ยงเต็มที่
แต่ผมเสี่ยงในอาชีพที่ผมถนัดที่สุด
ถ้าหากเราจะ Diversify ผมก็ต้องไปทำในส่วนที่เราถนัด
ชำนาญที่สุด และถ้าผมมีเงินเก็บ
ผมก็จะแบ่งเป็นสัดส่วนอย่างน้อยที่สุดเลย 3 กอง

กองแรกฝากธนาคาร เงินเก็บสะสม
ไม่เอาดอกเบี้ยสูงแต่เงินอย่าหาย,

กองที่ 2 จะให้กองทุนหรือ Private Banking
ดูแลโดยที่บอกเค้าไปว่า เราสามารถเสี่ยงได้ขนาดไหน
อย่างเช่น เราบอกว่าเราขอเสี่ยงแค่ 10% คุณไปหา
การลงทุนที่มีความเสี่ยงตามที่ผมต้องการมา,
กองที่ 3 ถึงเป็นการ Diversify กับธุรกิจใหม่ๆ
โอกาสใหม่ๆ แต่ต้องทำจากเงินออม
มิได้ไปกู้มา
โดยสัดส่วนควรจะไว้กับ
กองแรกที่ใช้เป็นเงินเก็บสะสมมากที่สุด
เพราะมันเป็นกองที่ดูแลชีวิตเราและครอบครัวทั้งหมด
ถ้าเรามีเงินมากพอถึงจะแบ่งเป็น 3 กองได้

ถ้ามีไม่มากพอมีกองเดียวก็เกินพอแล้ว
ผมเป็นคนไม่ค่อยกล้าเสี่ยง
เมื่อได้เงินมาแล้วผมกลัวเงินหาย
ลูกชายผมบอก “ป๋านี่ ป๊อดมาก”
ผมเป็นคนไม่อยากเสี่ยงอะไร
จริงๆ ที่คนอื่นบอกว่าเราเสี่ยง
แต่เพราะเราเห็นแล้ว วิเคราะห์แล้ว
เราถึงเห็นว่ามันไม่เสี่ยง

แต่ธรรมชาติธุรกิจมันมีความเสี่ยงเสมอ
มันไม่มีทางเลี่ยง เราก็ต้องเสี่ยง
เราอาจจะเอาน้อยหน่อย คือไม่
High risk High return แบบเต็มที่

เราก็ต้องพยายาม Maximize ในตัวผลตอบแทน
มันขึ้นอยู่ว่าระดับไหนเราพอใจเสี่ยงที่สุด
ส่วนผมเป็นคนเลือกเสี่ยงน้อยๆ”
แนวคิดในการจัดการกับความเสี่ยงทางการเงินส่วนตัว
ด้วยการเลือกลงทุนในรูปแบบ ที่ปลอดภัยของ 'อากู๋'
อาจจะเป็นสิ่งที่เราได้ยินกันทั่วไปสำหรับทุกคนที่มีความรอบคอบ

แต่การจัดการลดความเสี่ยงในการลงทุนธุรกิจบันเทิง
ด้วยการมุ่งมั่นทำงานอย่าง
ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภคและซื่อสัตย์ต่อผู้ร่วมงาน
ในการจัดสรรผลประโยชน์
เป็นแนวคิดในการจัดการความเสี่ยงที่แตกต่าง
อย่างน่าชื่นชมยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นหนทาง
ในการสร้างองค์กรที่มีคุณภาพให้เติบโตอย่าง ยั่งยืน

ยังเป็นการแสดงออกถึงจิตวิญญาณของนักธุรกิจ
ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอีก ด้วย

เพราะอย่างนี้นี่แหละ อากู๋ของเราจึงรวยเอา...รวยเอา
สมดังคำกล่าวที่ว่า "ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน" นั่นเอง



กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 5 ตุลาคม 2552


'อากู๋'เดินแผนปั้น'ฟ้าใหม่-ระฟ้า'เจเนอเรชั่นใหม่ที่สอง
'จีเอ็ม เอ็ม แกรมมี่'
หวังสร้าง'เถ้าแก่ยุคดิจิทัล'
สืบทอดอาณาจักรธุรกิจบันเทิง


มีวัน "รีเทิร์น" ก็ต้องมีวัน "รีไทร์"
แชมป์ยังต้องมีวันแขวนนวม"เฮียบูลย์"

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
ก็ มิอาจหนีสัจธรรมข้อนี้..
แต่การเดินทางของกาลเวลาและการเสื่อมถอยของเด
อะเฟิร์สเจเนอเรชั่น มิอาจเป็นเงื่อนปม
ให้อาณาจักรธุรกิจนับหมื่นล้านบาทถดถอยตามไปด้วย

อาณาจักรธุรกิจบันเทิงหมายเลขหนึ่งจำเป็นต้องมี
เดอะเน็กซ์เจเนอเรชั่นมา สานต่อในที่สุดอากู๋ก็เล็งไปที่
สองหน่ออ่อนทายาทหนุ่มผมยาว
"ฟ้าใหม่" และ "ระฟ้า ดำรงชัยธรรม"
สายเลือดศิลปินมาสืบทอด


"ผมทำพินัยกรรมยกสมบัติให้ลูกทั้ง 4 คน
(ฟ้าใหม่, ระฟ้า, อิงฟ้า และฟ้าฉาย)
เรียบร้อยแล้ว คงจะเปิดได้เมื่อมีลูกคนใดคนหนึ่งแต่งงาน (หัวเราะ)
แต่ตอนนี้จะพยายามสอนระบบงานในบริษัทให้เขาก่อน
แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะวางมือแต่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
คือสมบัติที่ลูกๆ ต้องดูแลต่อจากผม
ถ้าเขารู้ระบบมากเท่าไรเขาก็จะรู้ว่า
ควรนำพาบริษัทไปในทิศทางไหน" ชายวัย 60 ปีบอกผู้สื่อข่าว


เผลอแผล็บเดียวการยืนอยู่บน
ถนนสายบันเทิงของไพบูลย์ก็ผ่านมาแล้ว 26 ปี
สิ่งที่ต่างจากวันวานไม่ใช่แค่อายุ
แต่หมายถึงการตั้งต้นจากจุดเริ่มต้น ว
นนั้นอากู๋ "ไม่มี" และต้อง "แสวงหา"
แต่วันนี้ลูกๆ มีพร้อมและ
ไม่ต้องแสวงหาชีวิตเกิดมาบนกองเงินกองทอง
"ผมเริ่มบอกกับตัวเองว่า "กูต้องรวย"
ตั้งแต่เรียนจบ (เกียรตินิยมนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ)
คิดว่าถ้าผมเรียนจบมาแล้ว ต้องไปขายของชำ(เหมือนพ่อ)
อย่างงั้นก็ไม่ต้องไปเรียนดีกว่า"
อากู๋เคยถ่ายทอดความคิดในวัยหนุ่มให้ฟัง

เพราะพ่อไม่มี "เงิน" ให้เป็นทุน ไม่มีนามสกุล
ถูกบรรจุอยู่ในตำนาน "เจ้าสัว" พ่อมีแต่
ความขยันและมัธยัสถ์ที่ปฏิบัติตัวให้เห็น
รวมทั้งคำสอนที่ว่า
"อย่าเป็นหนี้" เพราะมันจะทำให้หัวสมอง "บื้อ"
ส่วนความสำเร็จต้องไปไขว่คว้าหาเอาเอง...
ตอนมาทำแกรมมี่ลงทุนเริ่มแรกไป เท่าไร?
"สักสี่ซ้า...ห้าแสนบาท" อากู๋บอก

แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีใน "ฟ้าใหม่" และ "ระฟ้า"
เพราะตระกูลดำรงชัยธรรมวันนี้ถูกบรรจุไว้เป็น
หนึ่งในตระกูลมหาเศรษฐีของเมืองไทย
งานของชายวัย 60 ปีที่จะปั้นลูกชายขึ้นมา
สานต่ออาณาจักรธุรกิจหมื่นล้านอาจจะยากยิ่ง
กว่าปั้น "เบิร์ด" ธงชัย แมคอินไตย์เป็นร้อยเท่า

ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรมชัย เด็กหนุ่มวัย 23 ปี
มีดีกรีปริญญาตรีด้านธุรกิจบันเทิงจาก
University of Southern California
ที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา
ถึงวัยที่อากู๋ต้องส่งลงสนามในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝึกหัด
เรียนรู้ว่าองค์กรมี ส่วนไหนบ้าง แล้วแต่ละส่วนทำอะไร
ฟ้าใหม่เริ่มงานที่ธุรกิจเพลงสายงานหลักของแกรมมี่
ศึกษาแนวทางการปั้นศิลปิน
รูปแบบการวางแผนและโปรโมทผลงาน
รวมทั้งการมองหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ


พอรู้ตรงนี้ก็จะต่อไปถึงส่วนอื่นๆ ทั้งสายมีเดีย ธุรกิจดิจิทัล
เรื่องแผ่นซีดี ด้านยอดขาย กระทั่งการบริหารคน
นี่คือภาพรวมและโปรแกรมทั้งหมดที่ฟ้าใหม่ต้องเรียนรู้
ขณะเดียวกันอากู๋ก็เริ่มพาบุตรชายทั้งสองคน (ฟ้าใหม่-ระฟ้า)
เข้าประชุมบอร์ดบริหารของบริษัท
และออกงานไม่ต่างไปจากแนวทางการโปรโมทศิลปินในสังกัด


ตั้งแต่เด็กๆ ทุกเย็นวันเสาร์อากู๋จะใช้ประเด็นธุรกิจมา
เป็นวาระพูดคุยบนโต๊ะอาหารภายใน ครอบครัว
สิ่งที่พ่อมักสอนลูกๆ เสมอก็คือปัจจัยความสำเร็จจะเกิดมาจาก 4 เรื่อง
ข้อหนึ่งคือ. ทำอะไรต้องมุ่งมั่น
สอง. ทำอะไรต้องวางแผน
สาม. ทำอะไรต้องเพียรพยายาม และ
สี่. ทำอะไรต้องสม่ำเสมอ
สิ่งที่ฟ้าใหม่คิดว่ายากที่สุดก็คือ
ข้อสุดท้าย..ความสม่ำเสมอ


"วันนี้ผมพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำพาแกรมมี่
มุ่งหน้าสู่ King of Content ตามที่พ่อต้องการ
มันเป็นงานที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยี
ที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลา แต่คงต้องใช้เวลาอีก 2 ปีกว่า
ผมจะเรียนรู้ระบบงานทั้งหมดในแกรมมี่
เพราะเพิ่งเข้ามาดูงานได้แค่ 50% เท่านั้น"
ฟ้าใหม่ ลูกชายคนโตอากู๋เล่าให้กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟัง


เท่าที่ทำงานแบบฟูลไทม์มา 1 ปีเต็ม ฟ้าใหม่เบนความสนใจไปที่
งานวางแผนการโปรโมทศิลปินมากที่สุด
เขาเชื่อว่าถ้าวางภาพลักษณ์ศิลปินทำได้ตรงใจผู้บริโภค
จะต่อยอดไปสู่ช่องทาง การสร้างรายได้ที่หลากหลายในอนาคต
และจะสะท้อนกลับมาในแง่ผลประกอบการที่ดีของบริษัทในที่สุด


สิ่งที่ทายาทคนโตรู้สึกกังวลที่สุดก็เรื่องของเทคโนโลยีที่
เขาบอกว่า "มาเร็ว-ไปเร็ว" ยิ่งกว่าเคลมประกันเสียอีก
"เรื่องนี้ผมห่วงมากที่สุด" ฟ้าใหม่บอกแต่ก็คิดว่ารับมือไหว
อย่างตอนนี้ก็พยายามนำความรู้และสิ่งที่เคยเห็นมาใน
สหรัฐอเมริกานำมาปรับใช้ในบริษัท

"จริงๆ แล้วเทคโนโลยีบ้านเราไม่แพ้เมืองนอกมากนัก
เพียงแต่เปอร์เซ็นต์การใช้อินเทอร์เน็ตบ้านเรายังต่ำ
ถ้าเราใส่อะไรใหม่ๆ เข้าไปคิดว่าอนาคตรุ่งแน่นอน"

ลูกไม้ใกล้ต้นของอากู๋คนนี้อยากเห็นแกรมมี่เจริญเติบโตขึ้นๆ ทุกปี
ตอนนี้ก็กำลังเซตธุรกิจเล็กๆ ขึ้นมา แต่เจ้าตัวขออุบ!
ไม่ยอมบอก ส่วนที่เห็นออกแทบทุกงานเป็นเงาตามตัวผู้เป็นพ่อ
ฟ้าใหม่บอกว่านี่คือ "งาน" จะได้รู้ว่าผู้บริหารเขาทำงานกันอย่างไร
พ่อยังให้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริษัทด้วย
ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้อะไรๆ มากขึ้น


ฟ้าใหม่เริ่มชินกับมายาภาพและวิถีทางการเป็นนักธุรกิจหมื่นล้านของพ่อ
เขาเต็มใจที่จะเดินเข้าสู่เส้นทางสายนี้อย่างไม่ลังเลในฐานะ "ผู้สืบทอด"
พร้อมทั้งบอกว่าพ่อ (อากู๋) ไม่เคยบังคับลูกๆ
ต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้
แต่จะบอกให้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการมากที่สุด


"ผมไม่รู้ว่าพ่อจะแบ่งหุ้น GRAMMY ให้ลูกๆ ช่วงไหน
เท่าที่พูดคุยกันในครอบครัวในอนาคตคงต้องเกิดขึ้นแน่
แต่จะแบ่งกันในสัดส่วน เท่าไร คงต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
ไม่ว่าใครจะได้หุ้นเท่าไร แกรมมี่ก็ยังคงเป็นสมบัติชิ้นที่
ลูกๆ ทุกคนหวงแหนมากที่สุด"


ด้าน ระฟ้า ดำรงชัยธรรม ลูกชายคนรองวัย 22 ปี
ที่เพิ่งบินกลับจากสหรัฐอเมริกาได้เพียง 3 สัปดาห์
อากู๋ก็ควงออกงานเพื่อเปิดตัวกับสื่อ
ระฟ้าบอกกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่า
ตอนนี้ยังไม่ค่อยรู้เรื่องระบบงานในบริษัทเท่าไรแต่
คุณพ่อก็ให้เข้าประชุม ด้วยทุกครั้ง
อย่างตอนนี้ก็สนใจเรื่องการวางแผนการตลาดมากกว่า
การโปรโมทศิลปิน เพราะมองว่าหากสามารถอ่านใจผู้บริโภคได้
สินค้าก็จะขายได้มาก..."ผมเชื่ออย่างนั้นนะ"


สำหรับ "ธง" ที่ตั้งไว้ภายใน 1 ปี
ระฟ้าจะต้องศึกษางานในแกรมมี่ให้ได้ 50%
เหมือนอย่างพี่ชาย ตอนนี้คงทำได้เพียงเดินตามรอยเท้าพี่ชาย
และขอคำแนะนำจากผู้ใหญ่ไปก่อน


"ผมยังเป็นมือใหม่หัดบริหาร แต่ส่วนตัวก็มีเป้าหมายว่า
จะพยายามนำพาความรุ่งเรืองมาสู่แกรมมี่ให้มากที่
สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้พ่อผิดหวังในตัวผม" ระฟ้าว่า


ขณะที่อากู๋ให้เหตุผลในการผลักดัน "สองพี่น้องมาดเซอร์"
เป็นความหวังในยุคที่สองของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ว่า
ต้องการให้ลูกๆ มีส่วนช่วยกันผลักดันบริษัทสู่เป้าหมาย
King of Content อย่างน้อยก็เป็นการบอกว่า
เขาทำได้ไม่มีอะไรเป็นเรื่องยาก
เพียงแต่ความรู้และประสบการณ์ต้องแน่นกว่านี้


ครั้งหนึ่งอากู๋เคยบอกกับตัวเองว่า "กูต้องรวย"
วันนี้อากู๋บอกกับทายาททั้งสองของเขาว่า "ต้องทำได้"
แม้จะมีนักบริหารมืออาชีพเต็มบริษัทกางปีกป้อง
แต่ถ้าผู้นำ "ไม่ฉายแวว"
สิ่งที่พ่อสร้างมาทั้งหมดก็ไร้ซึ่งความหมาย

...ภารกิจปั้น "ฟ้าใหม่-ระฟ้า" จึงไม่ต่างไป
จากการเดิมพันอนาคตทั้งหมดของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่