Custom Search

Nov 14, 2009

พระพุทธจริยาวัตร60ปาง ปางโปรดปัญจวัคคีย์


คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ

เสฐียรพงษ์ วรรณปก

มติชน

วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ปัญจวัคคีย์ คือ นักพรตห้ารูป มีโกณฑัญญะ
อดีตโหราจารย์ชื่อดังเป็นหัวหน้า
ทั้งห้าท่านนี้มาบวชรับใช้พระพุทธเจ้า
เมื่อครั้งทรงทำทุกรกิริยา (คำนี้ แม้มหาเปรียญหลายประโยค
ก็เผลอเรียก ทุกขกิริยา เสมอแฮะ ระวังไว้หน่อย)
พอพระองค์ทรงเลิกอดพระกระยาหาร
หันมาเสวยข้าวจนมีพระพลานามัยสมบูรณ์
เพราะทรงได้คิดว่าต้องดำเนินทางสายกลาง
ทั้งห้าท่านก็เสียใจ และเสื่อมศรัทธา
พากันหนีมาอยู่ที่ป่าอันมีนามว่า "อิสิปตนะมฤคทายวัน"

ชื่อ ยาวดีจัง อิสิปตนะ แปลว่า เป็นที่ประชุมของฤๅษี
ส่วน มฤคทายวัน แปลว่า ป่า
แห่งเนื้อ เนื้อในที่นี้เน้นไปที่กวาง
จึงมีคนแปลชัดๆ ว่า ""ป่าสวนกวาง""

เฉพาะคำ ปตนะ นั้น ตามศัพท์จริงๆ แปลว่า "ที่ตกลงไป"
ความหมายรองจึงหมายถึง "ที่ประชุม" หรือ "ที่อยู่"
ความจริงผู้แต่งคัมภีร์อรรถกถา ท่านหมายเอาตามตัวอักษรจริงๆ
ท่านเล่าว่า บรรดาฤๅษีที่ได้ฌานเหาะเหินเดินหาวได้
เวลาเหาะผ่านมาตรงนี้ มักจะตกลงมาที่นี่ทันที
ดังหนึ่งต้องอาถรรพ์ เมื่อฤๅษี ก. ก็ตกลงมา ฤๅษี ข. ก็ตกลงมา
ฤๅษี ค. ฯลฯ ก็ตกลงมา นานเข้าก็เลยเต็มไปด้วยฤๅษี
ว่าไปโน่น สนุกดีเหมือนกัน

ยังไงป่านี้ก็คงเป็นที่มีฤๅษีชีไพรชุกชุมตลอดเวลา ยาวนาน
รวมทั้งบรรดาเนื้อทั้งหลายด้วย เพราะใครๆ จะมาล่าสัตว์
ก็ย่อมยำเกรงพระคุณเจ้าผู้มีอิทธิฤทธิ์เป็นธรรมดา

ป่านี้ต่อมาจึงเรียกชื่อว่า สารนาถ (ย่อมาจากคำเต็มว่า สารังคนาถ
แปลว่า ป่าอันเป็นที่พึง หรือเป็นสถานที่ปลอดภัยของกวางทั้งหลาย)

ระยะ ทางจากพุทธคยาถึงสารนาถ ประมาณสองร้อยกิโลเมตร
พระพุทธองค์เสด็จดำเนินด้วยพระบาทมุ่งหน้ามา
เพื่อโปรดศิษย์เก่า ดูจากข้อความแวดล้อม
เป็นความมุ่งมั่นของพระพุทธองค์มาก อยากจะมาโปรดห้าท่านนี้จริงๆ
คล้ายกับทรงมีเรื่อง "ค้างคาใจ" กันอยู่
ไม่สนพระทัยจะเทศน์สอนคนอื่นก่อน
ทรงต้องการโปรดเอาทั้งห้าท่านนี้เป็นสาวกรุ่นแรกจริงๆ

ผมตั้งข้อ สังเกตอย่างนี้ ใครจะว่าอะไรก็ว่ามา ยินดีน้อมรับฟัง
เพราะความคิดเห็นจากท่านผู้รู้เป็นประดุจ
น้ำทิพย์ชโลมใจให้ชื่นบาน ปานนั้นเชียวนะ

ทั้งห้าท่านนี้มีความเชื่อฝังหัวมาแต่แรกแล้วว่า
การจะบรรลุมรรคผลได้ ต้องทรมานตัวเองให้ถึงที่สุด
เพราะเชื่อเช่นนี้ เมื่อเห็นพระบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา
จึงพากันมาเฝ้าปรนนิบัติดูแล เรียกง่ายๆ ว่า
มาเฝ้าดูเลยทีเดียว ดูไปก็ยิ้มด้วยความหวังไป
ยิ่งเห็นพระองค์เป็นลมเป็นแล้งสลบลง ยิ่งยิ้มด้วยความดีใจว่า
ใกล้แล้วๆ ใกล้จะบรรลุแล้ว ตาเป็นประกายด้วยความหวังว่า
ตนเองจะได้รับอานิสงส์ (ผล)
จากการบรรลุธรรมของพระองค์บ้าง

ครั้นเห็นพระองค์ทรงเลิกอดพระ กระยาหาร
จึงเสียใจผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโกณฑัญญะผู้หัวหน้า
เคยทายไว้ไม่มีเงื่อนไขว่าเจ้าชายจะออกบวช
จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พอมาถึงตอนนี้
จำต้อง "เผาตำรา" ทิ้ง เจ็บปวดขนาดไหน คิดเอาก็แล้วกัน

ก่อน หนีไปยังว่าเอาเจ็บๆ ว่า ท่านเป็นคนคลายความเพียร
เวียนมาเป็นคนมักมากเสียแล้ว อย่าหมายว่าจะได้บรรลุธรรมเลย
พูดง่ายๆ ก็คือ ด่าคนขี้เกียจ เห็นแก่กิน อะไรทำนองนั้น

นี้คือเรื่อง "ค้างคาใจ" ระหว่างพระพุทธองค์กับปัญจวัคคีย์
พระองค์ทรงต้องการจะชี้ให้พวกเธอเห็นว่าที่พวกเธอเชื่อนั้นผิดทั้งเพ
การทรมานตนมิใช่ทางนำไปสู่การรู้แจ้ง
แต่ทางบรรลุโพธิญาณ คือ ทางสายกลาง
พระองค์จึงมุ่งมั่นเหลือเกินที่จะมาโปรดศิษย์เก่าทั้งห้า

เมื่อเข้า ป่ามา ก็ได้พบกับปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่เรียกปัจจุบันว่า
เจาคันธีสถูป จุดพบกันระหว่างอาจารย์กับศิษย์
ปัจจุบันเขาได้สร้างสถูปเป็นอนุสรณ์ มีชื่อดังข้างต้น เป็นสถูปสี่เหลี่ยม
ผมถามใครก็ไม่ได้ความกระจ่างสักทีว่า คำว่า
"เจาคันธี แปลว่าอย่างไร มีผู้รู้ท่านหนึ่งบอกว่า
มาจากคำว่า จุตร-กาณฑี (แปลว่า สี่มุม สี่ยอด)
เรียกเพี้ยนเป็น เจาคันธี ภายหลังว่าอย่างนั้น"

ทั้งห้าเห็นพระองค์เสด็จดำเนินมาแต่ไกล ก็หันมากระซิบกันว่า
"มาแล้ว คนที่คลายความเพียร เวียนมาเป็นคนมักมาก"
พวกเราอย่าลุกรับ ปูแต่อาสนะไว้ให้ อยากจะนั่งก็นั่ง
ไม่อยากนั่งก็ตามใจ พอพระองค์เสด็จมาใกล้ๆ เข้า
ความที่เคยเป็นศิษย์อาจารย์กันมาก่อน
ทำให้ทั้งห้าลืมสัญญาที่ตกลงกันไว้ ลูกขึ้นพึ่บพั่บ
แสดงความเคารพ รับบาตรจากพระหัตถ์
แต่ปากยังแข็งอยู่ พูดกับพระองค์ว่า
อาวุโส โคตมะ (คุณโคตมะ)

พระองค์ตรัสว่า
"อย่าพูดอย่างนั้น บัดนี้เราได้ตรัสรู้แล้วนั่งลง เราจะแสดงธรรมให้ฟัง"

"ไม่เชื่อ ขนาดอดอาหารจนเป็นลมแล้วเป็นลมอีก
ยังไม่บรรลุ บัดนี้มาพูดว่าได้บรรลุแล้ว ไม่เชื่อ เป็นไปไม่ได้" เถียงเสียงแข็ง

"เป็นไปแล้ว นั่งลง เราจะแสดงสิ่งที่เราตรัสรู้แล้วให้ฟัง"

เมื่อ เห็นพวกเธอยืนกราน ไม่ยอมนั่งลงฟังธรรม
พระองค์จึงให้นึกย้อนหลังสมัยก่อนดู โดยตรัสว่า
อยู่ด้วยกันมานาน เคยได้ยินเราพูดไหมว่า "ได้บรรลุแล้ว"

ทั้งห้ามองตากัน เออ จริงสินะ ขนาดอดอาหารแทบตาย
ยังไม่ปริปากเลยว่า ได้บรรลุ คราวนี้บอกได้บรรลุ ท่าจะจริง
ทั้งห้าจึงนั่งลงรอฟังธรรมจากพระพุทธองค์
พระองค์ก็ทรงไขข้อกังขาของปัญจวัคคีย์ว่า
การทรมานตัวเองมิใช่ทางนำไปสู่การรู้แจ้ง
ตรงข้ามกลับเป็นหนึ่งใน "ทางตัน" ทั้งสอง ดังพุทธวจนะว่า...

"ภิกษุทั้งหลาย ทางตัน (อันตา) สองทาง บรรพชิตไม่ควรดำเนินตาม คือ
การหมกมุ่นในกาม กับการทรมานตนเอง,,, ภิกษุทั้งหลาย
ทางสายกลางนี้ต่างหากที่นำไปสู่การรู้แจ้ง คือ อริยมรรคมีองค์แปดประการ..."

จากนั้นก็ทรงแสดงอริยสัจสี่ครบวงจร ค่อยว่าต่อในตอนต่อไปครับ


หน้า 6