Custom Search

Nov 7, 2009

"ภาพลักษณ์"ประจำตัว










คอลัมน์ แท็งก์ความคิด
นฤตย์ เสกธีระ
max@matichon.co.th
มติชน
วันที่ 08 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ลมหนาวแตะกรุงเทพฯเพียงวันเดียว
จิตใจแช่มชื่นขึ้นเป็นกอง
ณ เวลานี้หลายคนคงหวนคิดถึง 1 ปีที่ผ่านมา
บางคนคงรู้สึกเสียดายเวลาที่พ้นผ่าน
แต่อีกหลายคนคงรู้สึกภูมิใจที่ผ่านพ้นมาได้

พี่คนหนึ่งมาบ่นให้ฟังเรื่องการออกกำลังกาย
บอกว่าตั้งใจจะออกกำลังกายมา 3 ปีแล้ว
เหตุหนึ่งที่ต้องการทำเช่นนั้นเพราะ "จะได้แก่ช้าลง"
เพราะการออกกำลังกาย
นอกจากจะทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแล้ว
การออกกำลังกายยังช่วยชะลอความแก่ลงไปด้วย

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากขณะที่เราออกกำลังกาย
เลือดจะสูบฉีดไปยังเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย
เซลล์ต่างๆ จะได้รับอาหารที่มากับเลือดอย่างเต็มที่
"ทำให้เซลล์เสื่อมช้าลง"
เมื่อเซลล์เสื่อมช้า เนื้อหนังมังสาก็เหี่ยวช้า อวัยวะต่างๆ ก็แข็งแรง
ที่สุดก็ยังผลให้แก่ช้าลง
แต่การออกกำลังกายเพียงครั้งสองครั้ง ไม่ทำให้เห็นผลหรอกครับ
"คุณหมอแนะนำว่า ควรออกกำลังกายทุกวัน"
หากใครทำไม่ได้ทุกวัน อย่างน้อยก็ควรทำสัปดาห์ละ 3 วัน
วันละ 30 นาที
แต่ทางที่ดีน่าจะออกกำลังกายให้มากกว่านั้น
โดยแบ่งการออกกำลังกายเป็น 2 อย่าง
อย่างแรก เรียกว่า ออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ เดิน
การออกกำลังกายแบบนี้จะช่วยทำให้ปอดและหัวใจแข็งแรง
อีกแบบหนึ่ง คือ การออกกำลังกายเพื่อ
เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น เล่นกีฬาที่ต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อแขน-ขา
การออกกำลังกายแบบนี้ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
ผู้รู้จึงแนะนำว่า สัปดาห์หนึ่งควรออกกำลังกายแบบแอโรบิค 3 วัน
และออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ 2 วัน
"ใครทำเช่นนี้ได้ จะแก่ช้าลง"
โอมเพี้ยง!
แต่ปรากฏว่า คนส่วนใหญ่ในบ้านในเมือง ทำไม่ได้
หลายคนจึงเสียดายเวลาที่ผ่านพ้น
เหมือนพี่คนที่มาบ่นให้ฟัง
ผิดกับพี่เพื่อนน้องอีกหลายคน ที่ออกกำลังกายทุกวี่วัน
"ออกกำลังกายจนติดเป็นนิสัย"
วันไหนไม่ได้ออกกำลังกายจะรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว
เพื่อนพี่น้องเหล่านี้ไม่รู้สึกว่าวันเวลาผ่านไปอย่างไร้ค่า
เพราะพวกเขาได้สร้างคุณค่าให้แก่ตัวเองไปแล้ว
เหมือนกับพวกเราคนทำงานอยู่ในขณะนี้ไหมครับ
ใครหลายคนที่ทำงาน ทำงาน ทำงาน จนเป็นนิสัย
หยุดพักเมื่อใดแล้วรู้สึกเหงา ต้องหาอะไรมาทำอยู่เนืองๆ
คนเหล่านี้มีชีวิตไม่อับเฉา...และมีโอกาสรุ่งโรจน์
"แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ หลายคนที่ชีวิตบางช่วงสะดุดลง"
เกิดอาการน้อยใจ ช้ำใจ เพราะคิดเอาเองหรือว่าถูกกลั่นแกล้งจริงก็ตาม
แต่ผลจากความน้อยใจ และช้ำใจ ได้ทำให้ชีวิตหมดเรี่ยวหมดแรง
หลายคนเหล่านี้จะมีปฏิกิริยาแรกๆ คือ "ไม่ยอมทำงาน"
คล้ายๆ กับประชด
อาการประชดแบบนี้ มีได้ แต่อย่าให้นานนัก
เพราะหากไม่ทำงานไปนานๆ ในที่สุดจะกลายเป็นนิสัย
กลายเป็นนิสัยไม่ทำงาน!
ถ้าคนเรามีนิสัยไม่ทำงานแล้ว ชีวิตของเขาคงลำบาก
เพราะการที่คนคนหนึ่งทำสิ่งซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัย
มันจะทำให้นิสัยนั้นติดตาตรึงใจ
"กลายเป็น "ภาพลักษณ์" ประจำตัวของคนคนนั้นไป"
คนที่โมโหง่าย จะมีภาพลักษณ์เป็นคนขี้โมโห
คนที่ขี้เกียจ ไม่ชอบทำงาน จะมีภาพลักษณ์เป็นคนขี้เกียจ
คนที่ขยันขันแข็ง จะมีภาพลักษณ์เป็นคนขยัน
คนที่พูดจาสุภาพ หวานเจี๊ยบ จะมีภาพลักษณ์เป็นคนพูดจาดีงาม
เป็นต้น
ทีนี้ลองมองไปรอบๆ ข้างสิครับ
แล้วจะเห็นว่าคนที่มีนิสัย "ไม่ชอบทำงาน" นั้นเป็นอย่างไร
ฟังความรอบๆ ตัวเขาเหล่านั้นสิครับ
แล้วจะรู้ว่าเพื่อนๆ ร่วมงานไม่มีใครชอบคนที่ไม่ทำงาน
คาดการณ์ต่อไปสิครับว่า อนาคตของคนเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร
"อนาคตคงหมดสิ้น"
เพราะภาพลักษณ์ที่ติดตาตรึงใจคือ "ไม่ทำงาน"
แม้บางคนจะมีอดีตกาลที่เคยรุ่งโรจน์ แต่พอถูกภาพลักษณ์นี้ทาทาบ
อดีตที่รุ่งโรจน์ ก็ถูกลืม
"ดังนั้น เรื่องระยะเวลาการหมกมุ่นอยู่กับความทุกข์จึงมีผลต่ออนาคตของเรา"
ชีวิตคนเราอาจสะดุดหกล้มไปในเวลาใดก็ได้
ในห้วงเวลาที่หกล้ม หลายคนอาจจะประชดด้วยการไม่ทำงาน
อีกหลายคนอาจจะแสดงอาการน้อยใจด้วยคำพูดที่รุนแรง
หลายคนแสดงอาการต่างๆ นานา
ช่วงเวลานั้น จะมีคนเข้ามาเอาใจด้วยความกรุณา
เพื่อนเห็นใจ พี่น้องเข้าใจ
แต่คงไม่มีใครจะเห็นใจและเข้าใจได้นานนัก
หลังจากเกิดเหตุสักพัก ทุกอย่างก็ต้องกลับคืนสู่สภาพปกติ
หากเรายังคงแสดงอาการประชดด้วยการไม่ทำงาน
หรือแสดงความน้อยใจใดๆ อยู่ต่อไป
"จนกลายเป็นนิสัย"
สุดท้ายนิสัยจะพัฒนาต่อไปเป็น "ภาพลักษณ์" ประจำตัวของคนคนนั้น
คิดดูสิครับ คนที่มีภาพลักษณ์เป็นคนไม่ทำงาน...
ชีวิตที่เหลือ จะทุกข์ทรมานขนาดไหน
ถ้าเราไม่อยากมีภาพลักษณ์เช่นนั้น
เราก็แสดงพฤติกรรมตรงกันข้าม
ทำงาน ทำงาน ทำงาน
สร้างสรรค์ สร้างสรรค์ สร้างสรรค์
"คิดดี คิดดี คิดดี"
ทำให้ตัวเองมีพฤติกรรมทางบวกจนกลายเป็นนิสัย
ภาพลักษณ์ประจำตัวก็จะออกมาน่าชื่นชม
"ลองเลือกสิครับว่า อยากมีภาพลักษณ์ประจำตัวแบบไหน"

สวัสดี

หน้า 17