Custom Search

Jul 15, 2007

รมช.ศธ. กับเศรษฐกิจพอเพียง



เศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในทุกอณูของชีวิตและใช้ได้จริงคือสิ่งทำอย่างไร
จะอยู่อย่างสมดุลยั่งยืนและมั่นคงคือสิ่งที่ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ให้แนวทางปฏิบัติแก่ผู้นำทางการศึกษา
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พอสรุปได้ตามแนววิเคราะห์ของ
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
สำหรับแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ
ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ
ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง
โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
เป้าหมายมุ่งให้เกิดความสมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
และกว้างขวาง ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
หลักการ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล
การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ
อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน เงื่อนไขพื้นฐาน (ความรู้คู่คุณธรรม)
จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ
และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ
มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน การเสริมสร้างจิตใจของคนในชาติ
โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม
ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสมในการดำเนินชีวิตด้วยความอดทน
ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
บรรยายพิเศษ ในการสัมมนา
“พัฒนาผู้นำ ตามรอยพระราชดำรัสปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
นโยบายการขับเคลื่อน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ณ ห้องประชุมคุรุสภา
วันที่ 29 มีนาคม 2550
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในโอกาสนี้ว่า
เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว
ไม่ใช่เรื่องของศาสนา และเศรษฐกิจพอเพียง
ไม่ใช่สิ่งตรงข้ามกับทุนนิยม ที่ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
หากแต่ไปด้วยกันได้ ความพอเพียงคือทางสายกลาง พอประมาณ มีเหตุมีผล
และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ภายใต้เงื่อนไขความรู้ (รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง)
เงื่อนไขคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต อดทน พอเพียง มีสติ และปัญญา เศรษฐกิจพอเพียง
อยู่ในทุกเรื่องของชีวิต รวมถัง ศาสนา (ทุกศาสนา)
และเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่สิ่งที่ตรงข้ามกับทุนนิยม
แต่ต้องเลือกว่าจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างมีเหตุมีผล
การลงทุนก็ต้องมีเหตุมีผลต้องมีจริยธรรม อยู่บนพื้นฐานอยู่อย่างระยะยาว
เรื่องคุณธรรมก็เช่นกันต้องควบคู่กันไปและอยู่บนทางสายกลาง
เศรษฐกิจพอเพียงคือวิธีคิด
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำมาหากิจ ความรัก การทำงาน การลงทุน
การเป็นพ่อแม่ ในทุกเรื่องล้วนต้องมีเหตุมีผล ยุติธรรม จริงใจ
สำหรับคุณธรรมนั้นก็คือสิ่งกำกับการดำเนินชีวิต
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นนโยบายของรัฐบาลและ
กระทรวงศึกษาธิการที่จะนำสู่สถานศึกษา
ทั้งนี้โดยมุ่งให้บุคลากรทางการศึกษานำแนวเศรษฐกิจพอเพียง
ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสมดุล
เพราะโรงเรียนเป็นเป้าหมายคือพัฒนาคุณภาพของเยาวชนให้สูงขึ้น
โดยกระทรวงศึกษาธิการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในลักษณะภาคี ร่วมกัน
ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการศึกษา
โดยขณะนี้มีโรงเรียนนำร่องแล้ว 80 แห่ง
อย่างไรก็ตามการนำแนวเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษานั้น โรงเรียนต่างๆ
ได้ทำมานานแล้ว แต่ความชัดเจนยังไม่เท่ากับในปัจจุบัน
ซึ่งได้ทำเป็นหลักสูตรสาระการเรียนรู้ ที่สำคัญนักเรียนได้คิดเองทำเองมากขึ้น
โดยกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2550 จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ
เศรษฐกิจพอเพียง โดยให้สถานศึกษา 80 แห่ง เป็นแบบอย่าง
หลังปี 2550 จะแบ่งเป็นระยะที่ 1 (2551 – 2552)
จะพัฒนาเครือข่ายการศึกษาที่นำเศรษฐกิจพอเพียง
ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้เรียน
ขยายผลเป็นสถานศึกษาแบบอย่างในทุกจังหวัดจำนวน 800 แห่ง
และระยะต่อไป (2553 – 2554) จะขยายการจัดการศึกษาให้ครบทุกแห่งทั่วประเทศ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวฝากในช่วงท้ายของการบรรยายว่า
การเจริญเติบโตใดๆ ก็ต้องมีขีดจำกัดไม่มีสิ่งใดไร้ขีดจำกัด ในโลกนี้มีข้อจำกัดทั้งสิ้น
และเป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้ในระยะยาว ในการทำงานก็เช่นกัน ท่ามกลางความจำกัด
คือ สิ่งที่ท้าทายเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งแต่ก็เข้าใจได้
ดยขอยกตัวอย่าง นายกรัฐมนตรี พ.ศ.นี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
ท่านคือบุคคลที่เข้าใจชีวิตพอเพียงว่าคืออะไร ไม่มีความเครียดจากความรู้สึกไม่พอ
เป็นคนที่พอใจในสภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนี้
ถ้าครูสื่อสารกับเด็กได้ดีก็จะเกิดผลดีอย่างยิ่งและเหนืออื่นใดครู
ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคือแบบอย่างที่สำคัญที่สุดจงทำตัวอย่างดีๆ ให้เด็กเห็น
และ ขอจบด้วย ข้อความที่ว่า “คนที่รู้จักพอเพียงจะมีอย่างเพียงพอเสมอในชีวิต”
และนี่คือที่มาของเศรษฐกิจพอเพียงจากความรู้สึก
และความหมายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการท่านนี้