Custom Search

Jul 13, 2007

หลอดเลือดหัวใจตีบ...มัจจุราชคร่าชีวิตคนไทย



ข้อมูลจาก

ศ. เจริญ วรรธนะสิน

คุณช่อผกา : ท่านผู้ชมที่มีร่างกายแข็งแรงเป็นนักกีฬา บางครั้งเราก็อาจจะคิดว่าการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ อาจไม่เป็นไร เหมือนกับแขกรับเชิญของเราในวันนี้ค่ะ เมื่อคิดว่าตัวเองไม่เป็นไร แต่ผลสุดท้ายก็ต้องพบกับการผ่าตัดหัวใจ (Bypass) แต่ตอนนี้เขากลับมาสมบูรณ์แข็งแรงดีแล้ว แขกรับเชิญท่านนี้คือ ศาตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน นายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และอดีตนักกีฬาแบดมินตันไทย และ นพ. กิติพันธ์ วิสุทธารมณ์ แพทย์ศัลยแพทย์ด้านหัวใจและทรวงอก
คุณช่อผกา : คุณเจริญเป็นโรคหัวใจเหรอค่ะ
ศ. เจริญ : ทีแรกก็ไม่รู้หรอกครับ ก่อนผ่าตัดสักประมาณ 10 ปี ก็เล่นแบดอยู่ และวันนี้ก็เล่นอย่างรุนแรงมาก พอครึ่งเกมส์เท่านั้นก็เกิดอาการหน้ามืด ก็เลยไปให้หมอที่เกี่ยวกับเรื่องหัวใจนั้นตรวจ หมอก็บอกว่าผมเป็น Myocardial ischemia (อาการเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ) ต้องทานยาขยายหลอดเลือดมาเป็นเวลา 10 ปี แต่ความที่เราคิดว่าเราเป็นนักกีฬาระดับทีมชาติ มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ก็คิดว่า อย่างเรานี่คงไม่ตายเพราะโรคหัวใจ มีความเชื่อในตัวเองที่ผิดๆ และก็ทานอาหารไม่ได้ควบคุม อาหารที่โปรดของเนี่ย คุณหมอเขาก็จะห้ามเรื่อยหล่ะครับ อย่างเช่นพวกข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ลอดช่องกะทิ
คุณช่อผกา : โอ้โห! อันนี้คือมีคอเลสเตอรอลสูงทั้งนั้นเลยนะคะ มีผลต่อหัวใจใช่ไหมค่ะคุณหมอ
นพ. กิติพันธ์ : มีผลอย่างมากเลยครับ จะทำให้คอเลสเตอรอลสูงในเลือด และก็การที่เส้นเลือดจะตีบเนี่ย คอเลสเตอรอลจะเข้าไปทับถมเหมือนคล้ายๆ สันดอน เพิ่มขึ้นที่ละนิดๆ พอกพูนมาเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ตีบมากขึ้น และถ้ามันตีบมากกว่า 50-60% ก็จะเริ่มมีอาการ
คุณช่อผกา : อะไรทำให้อาจารย์ต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวใจคะ
ศ. เจริญ : ครั้งหนึ่งไปประชุมที่ยุโรป ก็สังเกตว่า ทำไมคนอื่นถึงเดินเร็วกว่าเรา เราเดินช้าลงทุกที ๆ และก็เริ่มหายใจไม่ออก รู้สึกเหนื่อยเวลาประชุมก็รู้สึกเหนื่อยเร็ว พอกลับมาเมืองไทยก็มาให้หมอตรวจและก็ทำการฉีดสี คุณหมอก็ชี้ให้ดูเลยว่า ตรงไหนของเรามันมีเส้นเลือดตีบบ้าง
คุณช่อผกา : เจอแบบนี้ก็ต้องผ่าตัดใช่ไหมค่ะคุณหมอ
นพ. กิติพันธ์ : คือ ของคุณเจริญนี่มันตีบมากและหลายจุด ถ้าเผื่อว่าไม่ผ่าที่จะใช้บอลลูน หรือ stent มันไม่ได้ เพราะว่าเป็นมากแล้ว Ballon คือ การใช้บอลลูนขยายเส้นเลือด และเพื่อป้องกันไม่ให้ตีบกลับมาอีก ก็นำตาข่ายลวดหรือ stent ไปขึงไว้
คุณช่อผกา : ถ้าเกิดไม่ผ่าตัดจะเป็นอย่างไรค่ะ
นพ. กิติพันธ์ : ถ้าเกิดไม่ผ่าตัดก็มีโอกาสที่จะมีกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ ซึ่งถ้าตายน้อย ๆ ก็อาจจะอยู่ในไอซียู 2-3 อาทิตย์ ถ้าเกิดมีกล้ามเนื้อหัวใจตายมากก็อาจจะเสียชีวิตได้
ศ. เจริญ : หมอบอกว่า ยังไงก็ต้องผ่าตัดครับ ด้วยการทำ Bypass (Bypass คือ การทำทางเบี่ยงให้เส้นเลือดของหัวใจที่ตีบตัน)
คุณช่อผกา : การทำ Bypass เป็นอย่างไรค่ะ
นพ. กิติพันธ์ : ก็คือ การทำทางเบี่ยงคล้ายๆ กับการทำถนน ถ้าเผื่อว่ามีอะไรที่มันตีบมันตัน หรือว่าไปไม่ได้ก็ต้องทำทางเบี่ยง เลือดก็จะได้ไหลเข้าหัวใจไปในที่ๆ เราต้องการ
คุณช่อผกา : อย่างคุณเจริญนี้ มีจุดทางเบี่ยงที่ต้องทำมากไหมค่ะ
นพ. กิติพันธ์ : ทำทุกเส้นครับ หัวใจนี้ตามปกติมีเส้นใหญ่ๆ อยู่ 3 เส้นแต่ละเส้นก็มีแขนงออกไป ทั้ง 3 เส้นของคุณเจริญนั้นตีบหมดนอกจากนั้นแล้ว เส้นที่แยกออกไปเล็กๆ ก็ยังตีบด้วย เพราะฉะนั้นถึงต้องทำ 6 จุด
คุณช่อผกา : ในแง่ของความเสี่ยงในการผ่าตัดหัวใจ เป็นความเสี่ยงที่มากแค่ไหนค่ะ
นพ. กิติพันธ์ : ตอนนี้เสี่ยงน้อยกว่าสมัยก่อนมากเลยครับ อย่างของคุณเจริญทั้งแข็งแรง และเป็นนักกีฬา ไม่มีอะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงซึ่งสำคัญในตอนผ่าตัดมากมายเท่าไหร่นัก
คุณช่อผกา : แล้วความรู้สึกของคนไข้หล่ะค่ะ เมื่อรู้ว่าต้องผ่าตัดเป็นอย่างไร
ศ. เจริญ : ผมไม่กลัวเลยครับ ผมเชื่อว่าผมแข็งแรงดี เพราะผมไม่สูบบุหรี่ไม่ดื่มเหล้า ปัจจัยเสี่ยงก็น้อย แล้วก็ได้คุณหมอฝีมือดี ทำให้ผมมีความมั่นใจว่าผมไม่ตายแน่ ๆ
คุณช่อผกา : การที่คุณเจริญผ่าตัดและร่างกายฟื้นได้อย่างรวดเร็ว เป็นเพราะอะไรค่ะคุณหมอ
นพ. กิติพันธ์ : ที่สำคัญที่สุดผมคิดว่านอกจากปัจจัยเสี่ยงไม่มากแล้ว การที่มี Positive Thinking อย่างคุณเจริญจะทำให้มีกำลังใจ และฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
คุณช่อผกา : คุณหมอกำลังจะบอกว่าพลังที่ใจจะส่งผลไปที่กาย ถ้าใครก็ตามที่ใจไม่สู้แล้ว การรักษาโรคใดๆ ก็ไม่มีประสิทธิภาพ
นพ. กิติพันธ์ : ใช่ครับ นี่เป็นเรื่องจริงที่ผมเจออยู่เสมอ
คุณช่อผกา : การผ่าตัดผ่านไปด้วยดี จนถึงตอนนี้ ร่างกายของคุณเจริญเป็นอย่างไรค่ะ
นพ. กิติพันธ์ : แข็งแรงมากครับ ทำอะไรได้ทุกอย่าง สิ่งที่คุณเจริญดีมาก ตอนนี้ก็คือ การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด ที่จริงการผ่าตัดมันเป็นเพียงครึ่งเดียวของการผ่าตัด เราเหมือนไปทำถนนให้ใหม่แค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นการที่คนไข้จะดีหรือไม่ดีหลังผ่าตัดนี้ ขึ้นอยู่กับคนไข้อีกครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ถ้าเกิดคนไข้ take care ดี ปัจจัยเสี่ยงไม่มี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และระวังเรื่องอาหาร ควบคุมไขมันได้ดี ไม่สูบบุหรี่ ลดความอ้วน คนนั้นก็จะอยู่ได้นาน และแข็งแรงเหมือนอย่างคุณเจริญ แต่ถ้าเผื่อคนไหนไม่รักษาตัวให้ดีแล้ว โอกาสที่จะต้องกลับมาทำการผ่าตัดครั้งที่ 2 สูงมาก
คุณช่อผกา : แล้วคุณเจริญไปพบคุณหมอสม่ำเสมอไหมค่ะ
ศ. เจริญ : ทุก 6 เดือนครับ บางทีก็ประมาณ 3 เดือนครั้ง ทุกวันนี้ผมเดิน 3.2 กิโล ผมเดินประมาณ 29-30 นาที ในระยะแรกก็ warm ขึ้นไปก่อน พอ 20 นาทีหลังเนี่ย ผมจะต้องเดินให้หัวใจผมเต้น 120 ขึ้นไป และบางทีถึง 139-140 และช่วง 10 นาทีหลังก็เหงื่ออกจนเสื้อเปียกเลยครับ มันทำให้ดีครับ และก็เมื่อก่อนทานข้าวมันไก่เดือนหนึ่งประมาณ 15 ครั้งหรือ 20 ครั้งนะครับ ตอนนี้เหลือเพียงเดือนละครั้ง เวลาทานก็ต้องเอาหนังออก ทานเสร็จก็ต้องออกกำลังมากหน่อย
คุณช่อผกา : ดิฉันสงสัยที่สุดค่ะ คุณหมอว่าคุณเจริญดูแลร่างกายอย่างดีออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และก็แผ่วลงบ้าง แต่ไม่เคยหยุดทำไมถึงยังเป็นโรคหัวใจหล่ะค่ะ
นพ. กิติพันธ์ : โรคหัวใจมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างด้วยกัน อย่างคนที่มีไขมันสูงเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไม่ออกกำลังกาย อ้วน มีประวัติครอบครัวที่เคยเป็นเส้นเลือดตีบมาก่อน อันนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยง
คุณช่อผกา : เรื่องนี้บอกอะไรกับคุณเจริญบ้างค่ะ
ศ. เจริญ : บอกว่าเราอย่าประมาท เราต้องดูแลรักษาร่างกายของเราให้ดี ในช่วง 10 ปี ที่ผมทานยาอยู่ผมเชื่อว่า ถ้าผมทำตามที่หมอแนะนำทั้งหมดโดยที่ไม่ชะล่าใจ ก็คงอาจจะไม่ต้องผ่าตัด คิดว่าบทเรียนนี้แพงมากครับสำหรับผม
คุณช่อผกา : เป็นบทเรียนที่คุ้มค่า เพราะว่าทำให้คุณเจริญเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตความแข็งแรงก็กลับมาเหมือนเดิม วันนี้ขอขอบคุณอาจารย์เจริญ และคุณหมอมากนะคะ