Custom Search

Jul 16, 2007

วิพากษ์เศรษฐกิจ กับ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ


20. 12 . 2548


สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักพิมพ์ openbooks ขอเชิญร่วมเสวนา “วิพากษ์เศรษฐกิจ พิศการเมือง ค้นหาตัวตนสังคมไทย” วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2548 ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ชั้น 2 ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เวลา 13.30 น. ถึง 18.00 น. 14.00 – 16.00 น. ร่วมพูดคุยกับ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ รศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน ในหัวข้อ “วิพากษ์เศรษฐกิจ พิศการเมือง” จากนั้น 16.15 – 18.00 น. ร่วม “ค้นหาตัวตนสังคมไทย” กับ อ.ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานล่าสุด “ผ่านพบไม่ผูกพัน” และ รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน “ภูมิปัญญามูซาชิ: วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ” ลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 13.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักพิมพ์ openbooks โทร. 0-2669-5145-6


วิพากษ์เศรษฐกิจ พิศการเมือง ตอนที่ 2 : รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
Submitted on Tue, 2005-12-20 09:33

ความเดิมจากตอนที่แล้ว ประชาไทเสนอตอน "พิศการเมือง" ครานี้ก็ถึงคิวของการ "วิพากษ์เศรษฐกิจ" ซึ่งหนอนหนังสือนักเศรษฐศาสตร์นามว่า รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จะเป็นผู้วิพากษ์เศรษฐกิจซึ่งกำลังร้อนแรงไม่แพ้เรื่องการเมืองขาลง ด้วยว่ารัฐบาลเพิ่งประกาศเปิดทางให้นานาประเทศเข้ามา "ลงแขก" ช่วยประเทศไทยพัฒนาความจำเป็นพื้นฐานระดับ เมกะโปรเจ็กต์ อีกทั้งตัวเลขจีดีพี ที่ขึ้นลงตามวาจาสิทธิ์ของท่านผู้นำนั้นสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจของชาวบ้านตาดำๆ ได้จริงหรือไม่ เชิญหาคำตอบได้....อ้อ คนช่วยซักข้อสงสัยยังเป็น อ.ปกป้อง จันวิทย์ คนเดิม

อาจารย์วรากรณ์ครับ 1 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์การเมืองไทยคร่าวๆ เป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ห้องประชุมนี้เป็นห้องศักดิ์สิทธิ์นะครับ เป็นห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยมายาวนานมากและห่างจากห้องนี้ไปเป็นห้องที่ทำงานของท่านผู้ประศาสน์การ จึงต้องบอกก่อนว่าที่ผมจะพูดนี้ไม่ได้จะทำลายท่าน (นายกฯ) เพราะใครก็ทำลายท่านไม่ได้ ยกเว้นท่านจะทำลายตัวท่านเอง ที่พูดวันนี้ด้วยความปรารถนาดีในฐานะนักวิชาการผมคิดว่าที่อาจารย์ปกป้องถามว่า ทำไมทักษิณจึงพลิกผันไปมากมายในช่วงเวลาอันสั้น มี 2-3 ประเด็นนะครับ

ประเด็นแรกก็คือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์พูดกันมายาวนานก็คือว่า "ไม่มีอะไรทำให้คนล้มเหลวได้เท่ากับความสำเร็จ" (Nothing failed like success) นี่เป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเจงกิสข่าน ริชาร์ด นิกสัน อเล็กซานเดอร์มหาราช หรือแม้แต่จอมพลสฤษดิ์ หรือจอมพลถนอมนะครับ ก็คือว่าเวลาที่คนเราประสบความสำเร็จแล้ว สิ่งที่ตามมาเป็นธรรมดาก็คือความหยิ่ง มั่นใจว่าตนเองทำถูกต้องทั้งหมด

ผมคิดว่าความสำเร็จของท่านใน 2-3 ปีแรกที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นต่อจากที่ทำไว้ก่อนหน้านั้นได้ ผมเชื่ออย่างหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ถ้าก่อนหน้านั้นไม่มีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแนวที่คุณธารินทร์ (นิมมานเหมินทร์) ทำอย่างเข้มข้นมากในเรื่องของการบริหารจัดการ ก็ไม่มีทางที่คุณทักษิณจะฟื้นเศรษฐกิจได้

ทีนี้ความสำเร็จของคุณทักษิณก็ทำให้เกิดความเชื่อมั่น เช่น สามารถเป็นคนที่รวยที่สุดในประเทศไทยภายในระยะเวลา 10 ปีได้ มันไม่ใช่ธรรมดา เพราะฉะนั้นคนธรรมดาที่ประสบความสำเร็จได้ด้วย สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ด้วย และสามารถเป็นนายกฯได้ด้วย ย่อมมีความมั่นใจเกินกว่าธรรมดาแน่นอน และจุดนี้เองก็นำไปสู่สิ่งที่คนไทยรู้สึกว่าเป็นการครอบงำ ไม่ว่าในเรื่องขององค์กรต่างๆ ที่ถูกครอบงำซึ่งในสายตาคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้กินแกลบนะครับ ขอใช้คำพูดของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์หน่อยคือ "มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ" นะครับ ครั้งแรกอาจจะเชื่ออย่างที่ตัวเองอยากจะเชื่อ แต่เมื่อนานๆ เข้าก็กลัว และหวาดระแวง เพราะคนรวยกับคนที่มีอำนาจมากนั้นน่าระแวง เมื่อถึงจุดนี้ก็ทำให้คนกรุงเทพฯ เริ่มระแวงและอยากรู้อยากเห็นขึ้นมา

ปรากฏการณ์คุณสนธิทำให้เกิดโมเมนตัมมากที่สุด ซึ่งผมเองก็รู้สึกอย่างงั้นๆ ในตอนแรกที่จัดที่หอประชุมเล็ก อาจารย์ปกป้องโทรศัพท์มาบอกผมว่าไม่เคยเจอคนแน่นขนาดนี้มาก่อน ผมคิดว่าที่แน่นอย่างนั้นเพราะคนส่วนใหญ่อยากรู้อยากเห็นครับ อยากรู้อะไรที่ลึกๆ มากกว่าที่เห็นด้วยสายตา เพื่อจะตอบสนอง เพื่อจะตอกย้ำความระแวงที่ตัวเองมีอยู่แล้วว่ามันจริงไหม นี่คือปัจจัยที่ทำให้คนเริ่มมองคุณทักษิณในอีกทางหนึ่ง

และประเด็นสุดท้ายอย่างที่อาจารย์เอนกพูดคือ การเมืองไม่ใช่เรื่องของจริง มันเป็นเรื่องของ Perception คือการรับรู้รับทราบ คนที่เห็นการเมืองเป็นอย่างไรนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความจริงนะครับ เป็นภาพลวงตาที่เกิดขึ้นมา เช่น ประธานาธิบดีเคนเนดี ที่คนทั่วโลกชื่นชมบูชามากว่าเป็นประธานาธิบดีที่ดีนั้น จริงๆ แล้วท่านก็ไม่ได้ทำอะไรเลยนะครับ เป็นประธานาธิบดีเพียง 2 ปีเท่านั้นเอง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 1960 แล้วก็เสียชีวิตในปี 1962 แต่ว่าคนประทับใจลึกซึ้งยาวนานมากเพราะ Perception ที่ได้คือความเป็นคนหนุ่มเป็นคนที่มีความคิดความอ่านก้าวหน้ามาก มันจึงฝังลึกเข้าไปในความทรงจำ แล้วมนุษย์นั้นเชื่ออย่างที่ตัวเองอยากจะเชื่อนะครับ เพราฉะนั้นเมื่อนายกฯทักษิณสามารถทำการตลาดให้คนเชื่อว่าเป็นนายกที่เหนือกว่าที่ประเทศไทยเคยมีมา และเป็นคนฉลาด เป็นคนที่มีความสามารถ รวมทั้งสอดคล้องกับทิศทางของโลกที่มองเห็นว่านักธุรกิจเป็นคนที่ฉลาด มีความสามารถ ซึ่งเมื่อก่อนนี้นักการเมืองไทยจะระแวงเศรษฐีนะครับ ซึ่งคุณทักษิณเมื่อเข้าสู่การเมืองช่วงแรกก็ถูกระแวง แต่ยุคหลังเศรษฐกิจของโลกทำให้นักธุรกิจนั้นเป็นคนสมาร์ท ถ้าคุณรวยได้แปลว่าต้องเก่งแน่นอน ตรงนี้แหละครับที่เป็นฐานอำนาจของนายกฯ

แต่เมื่อพลิกผันความเชื่อไปก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า สิ่งทั้งหลายที่ทำไปนั้นเป็นการตลาดเกือบทั้งนั้น คนก็เริ่มคิดแล้วว่าภาพที่เราเคยเห็นเป็นภาพลวงตา จุดนี้ละครับที่ถูกตอกย้ำด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตอกย้ำด้วยปัญหาของการคอร์รัปชั่น เรื่องของ ปตท. กฟผ. หุ้นของ ปตท. จาก 30 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 270 เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ใครก็ตามที่ซื้อหุ้น ปตท. สัก 1 ล้าน มาขายหุ้นตอนนี้ก็ได้กำไรไปแล้ว 30 ล้านบาท คนก็เริ่มคิดแล้วว่า ถ้ากระจายหุ้น กฟผ. ราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นกี่เท่า แล้วคนก็เริ่มพูดกันในประเด็นต่างๆ ของ กฟผ. ก็ยิ่งตอกย้ำความระแวง แล้วก็ยิ่งเห็นว่าเป็นการตลาดมากกว่าเรื่องความจริง จึงทำให้เกิดภาวะความเป็นขาลงมากยิ่งขึ้น


ผมเองพยายามสังเกตจากคนธรรมดา ที่มหาวิทยาลัยของผมก็มีการทำโพลเยอะมากทีเดียว แต่เนื่องจากว่าไม่อยากทำโพลการเมืองมาก แต่เราทำดูเอง ก็จะเห็นว่าคนทั่วไปเริ่มมีความสงสัย มีความระแวง ดูอย่างการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. สิครับ คุณปวีณานำมาตลอด ใครๆ ก็รู้ว่าคุณปวีณานำมาตลอดจนกระทั่งช่วงอาทิตย์ท้ายๆ คะแนนเริ่มตก เพราะคนเริ่มเห็นภาพแล้วว่า ไม่ใช่คนอิสระ แต่มีพรรคไทยรักไทยอยู่ข้างหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2-3 วันหลังคนเห็นเดินด้วยกันคะแนนก็ไปทันที เพราะความหวาดระแวงถูกต้องย้ำด้วยหลักฐานแล้วยิ่งทำให้คนระแวงมากยิ่งคน และเมื่อ Perception ของคนพลิกผันไปแล้ว มองเห็นขาลงก็จะเป็นขาลง ความเปราะบางของรัฐบาลทักษิณไม่ได้มาจากการเมืองข้างนอกหรือฝ่ายค้าน แต่เป็นความเปราะบางที่มาจากการเมืองภายในพรรคไทยรักไทยเอง และมาจากการกระทำของตัวนายกเอง

จอมพลถนอมนั้นมีอำนาจอยู่แป๊บเดียวเท่านั้นเองก็หมดอำนาจไป ผมรับราชการในปี 2513 ก่อนที่จะมีการปฏิวัติ ก็ไม่มีทีท่าเลยว่าจอมพลถนอมจะหลุดจากอำนาจ แต่มันเกิดจากลูกชายท่านซึ่งเป็นลุกเขยของจอมพลประภาสด้วยไปพังป้อมตำรวจ แล้วก็จับผู้แจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 13 คน เรื่องก็เลยไปกันใหญ่จากน้ำผึ้งหยดเดียวกลายเป็นเรื่องราวต่อมาจนกระทั่งถึงกับต้องออกนอกประเทศไป ซึ่งในต้นปีนั้นไม่มีใครคิดเลยว่าจะเกิดขึ้น


อาจารย์คิดว่าความรับรู้ของคนเปลี่ยน ทิศทางการเมืองที่คนมองคุณทักษิณก็จะแย่ลงๆ แล้วมันจะยิ่งลงหนัก หรือว่าจะพลิกกลับแล้ว ถ้าจำได้ช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่คุณสนธิจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่ธรรมศาสตร์แล้วก็ย้ายไปที่สวนลุมใหม่ๆ นั้น ความขมึงเกลียวทางการเมืองจะดูรุนแรงมากนะครับ ผมว่าสถานการณ์อาจจะเริ่มคลี่คลายลงหลังวันที่ 4 ธันวาคม ผมไม่ได้ไปที่สวนลุมนะครับ แต่คาดว่าคนเริ่มเบาบางลง กระแสตอนนี้จะไปทางไหน จะหนักขึ้น แล้วถึงจุดขมึงเกลียว แล้วไปจบที่ตรงไหน

ผมไม่มองว่าเป็นความเขม็งเกลียว เพราะว่าคนที่ฟังคุณสนธิไม่ได้อยู่ที่สวนลุมนะครับ ผมคิดว่าอีกมากอีกหลายเท่าที่ฟังคุณสนธิอยู่ที่บ้าน ซึ่งผมคิดว่ามีเป็นหมื่นๆ เพราะฉะนั้นจะไปวัดที่สวนลุมอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ที่ผมว่าไม่เขม็งเกลียวก็เพราะว่าไม่มีเงื่อนไขให้ลุกฮือแบบ 14 ตุลา ที่จะขับไล่คุณทักษิณ แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องของความเชื่อถือที่ลดลงในใจ จากที่คิดว่าเป็นผู้วิเศษ เป็นผู้รู้ มีความสามารถเหนือคนอื่น แต่ที่สุดก็เป็นคนธรรมดาเป็นนายกธรรมดา และเรื่องความระแวงต่างๆ ก็มากขึ้น เช่นเรื่องคอร์รัปชั่น คนก็จะรับรู้มากขึ้นๆ แล้วก็ค่อยๆ เหมือนน้ำแข็งละลายมากกว่าการทุบน้ำแข็งทันที

อาจารย์มองว่าปรากฏการณ์สนธิอย่างมากก็คือการทำลายความชอบธรรมการดำรงอยู่ของคุณทักษิณ ไม่นำไปสู่ความรุนแรงทางการเมือง

เรื่องการเมืองผมมีความรู้น้อยนะครับ แต่ผมคิดว่าคุณสนธิเป็นเหมือนกับรถยนต์ เป็นพาหนะที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เร่งเร็วขึ้น ความรู้สึกในใจคนนั้นมี แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครเอาสะพานมาทอดให้ คุณสนธินั้นเป็นเครื่องมือที่เปิดเผยสิ่งต่างๆ ตอกย้ำความสงสัยต่างๆ แต่โดยตัวคุณสนธิเองนั้น หากไม่มีอะไรใหม่ๆ มาทำให้คนตื่นเต้นอยากรู้ต่อเนื่องไปในที่สุดก็คงจบ


เวลานี้น่าเป็นห่วงหลายอย่างนะครับ เงินเฟ้อมากขึ้น เศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลเริ่มมีปัญหา ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และอื่นๆ เป็นสัญญาณบอกเราหรือเปล่าว่านี่เป็นปากทางของวิกฤตครั้งใหม่หรือเปล่า หรือเป็นแค่วัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้นขาลงปกติธรรมดา

ผมคิดว่าประเด็นแรกที่ผมอยากพูดก็คือ ถ้าพูดอย่างเป็นธรรม วิกฤติเศรษฐกิจแบบที่ล่มสลายไปในปี 2540 นั้น โอกาสที่จะเกิดขึ้นอีกในปีหน้าหรือ 2 ปีข้างหน้านั้นแทบจะไม่มี เพราะว่าสิ่งที่จะทำให้มันเกิดความผันผวนอย่างนั้นได้ก็คือค่าเงิน ซึ่งเราไม่มีปัญหาแน่นอนเพราะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ถึง ห้าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คือเก็บสะสมมาเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะเกิดสภาวะที่เงินตราต่างประเทศไม่เข้ามาก็ยังสามารถนำเงินส่วนนี้มาพยุงราคาของดอลล่าร์ไว้ได้ เพราะฉะนั้น ความปัจจุบันทันด่วนเรื่องนี้คงจะไม่มี


ประเด็นที่ 2 ที่จะไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็คือว่าเงินเฟ้อที่ราคาน้ำมันจะขึ้นไปสูงถึงขั้น บาร์เรลละ 100-200 เหรียญสหรัฐในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าก็คงไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น ความปั่นป่วนที่จะเกิดอย่างปัจจุบันทันด่วนจนกระทั่งประชาชนจะเดือดร้อนมหาศาลก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น


ประเด็นที่ 3 เรื่องการว่างงาน ถ้าคิดจะเห็นคนว่างงานเต็มไปหมด ไม่มีอะไรจะทำ ได้แต่บีบสิวแล้วก็เกาหลังนั้น ผมคิดว่าเราคงจะไม่เห็นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า การส่งออกของเราถึงแม้จะขยายตัวไม่มากแต่ก็ไปได้ในระดับหนึ่งนะครับ ภาครัฐเองก็ยังมีเงินที่จะเอามาหนุนให้ขยายตัวได้ ส่วนดอกเบี้ยที่จะพุ่งพรวดไปเกินกว่า 4-7 เปอร์เซ็นต์ ก็ดูจะเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นที่จะรุนแรงในปีหรือ 2 ปี ผมว่าคงไม่น่าจะมี แต่ถ้าจะมีก็จะมาจากไข้หวัดนกระบาดซึ่งหากกลายพันธุ์เป็นการติดต่อระหว่างคนสู่คนก็จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนไปหมด และเงินตราจากต่างประเทศที่จะเข้ามาจากการท่องเที่ยวในปี 2 ปีนี้ก็จะเริ่มเป็นปัญหา แต่มันจะไม่เกิดผลทันทีใน 2 ปีข้างหน้า แต่จะอ้อยอิ่งไปถึงปีที่ 3 ปีที่ 4


ประเด็นต่อมาคือสงคราม ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาบุกรุกอิหร่าน หรือระเบิดปรมาณูระหว่างปากีสถานกับอินเดีย เกาหลีใต้กับเกาหลีเหนืออะไรก็แล้วแต่ ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ที่จะเป็นปัจจัยปัจจุบันทันด่วน แต่ผมคิดว่าทุกคนเมื่อรู้ว่าตัวเองใช้ระเบิดปรมาณูในขณะที่อีกฝ่ายก็มีเหมือนกัน ก็จะทำให้เกิดความเกรงกลัว ดังนั้นปัจจัยนี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น


ฉะนั้นวิกฤติอย่างปัจจุบันทันด่วนที่จะเกิดขึ้นในช่วงระยะ 2 ปีข้างหน้าผมคิดว่าปิดประตูได้


ถ้ามันจะเกิดขึ้นในกรณีที่ 2 คือวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ อย่างที่อาจารย์ปกป้องพูดก็จะมาจากการที่เราส่งออกไม่ได้ อำนาจซื้อจากคู่ค้าของเราซื้อไม่ได้ คือเกิดวิกฤติในอเมริกา ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ คือเรื่องวิกฤติเกี่ยวกับบ้าน ปัญหาของโลกที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็คือความไม่สมดุลกันในระดับโลกที่คนเอเชียเกินดุลการค้ามาก เช่น จีน ซึ่งสะสมเงินทุนสำรองไว้เพราะว่าเกินดุลการค้า ส่งออกไปอเมริกามากกว่าที่ซื้อจากอเมริกา และเอาเงินเหล่านี้ไปซื้อหลักทรัพย์ในอเมริกา เพราะว่าเป็นการลงทุนที่เชื่อถือได้มาก เมื่อหลักทรัพย์ของอเมริกามาอยู่ในมือประเทศต่างๆ เงินก็ไหลเข้าไปสู่อเมริกาอย่างมหาศาล ก็ทำให้อัตราดอกเบี้ยในอเมริกาต่ำ ทำให้เกิดคนที่จะกู้ยืมซื้อบ้าน ลงทุนซื้อบ้าน และอำนาจซื้อก็ไม่หมดไป ก็เกิดการเก็งกำไรขึ้น ราคาบ้านก็เพิ่มราคาขึ้นเป็นเท่าตัว 2 เท่าตัว หรือบางแห่งเพิ่มถึง 3 เท่าตัว ถ้าฟองสบู่นี้แตก อำนาจซื้อที่จะมีก็หายไปทันที อำนาจที่จะมาซื้อสินค้าจาประเทศไทย หรือประเทศเอเชียอื่นๆ ก็จะหายไปด้วย ก็จะส่งออกไม่ได้ และทำให้เกิดปัญหาของความผันผวนขึ้น


อีกปัจจัยหนึ่งก็คือประเทศจีนซึ่งเป็นมหายักษ์ของภูมิภาคนี้ ถ้าหากเกิดปัญหาขึ้นมาในประเทศจีน (ซึ่งก็คงไม่เกิดขึ้นมาในระยะสั้น) ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทกระทั่งทำให้เกิดปัญหาในประเทศ มีการประท้วงการต่อสู้กัน เป็นหมื่นๆ ครั้งในปีที่ผ่านมาแต่ไม่เป็นข่าวมาก ถ้าหากปัญหานี้ขยายวงกว้างก็จะเป็นปัญหาการเมืองของโลก และจะกระทบต่อประเทศไทยได้ เพราะว่าจีนกับไทยนั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน

อาจารย์มองว่า ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจมาจากปัจจัยจากต่างประเทศ

ผมไม่เชื่อว่าจะเกิดอย่าง 14 ตุลา เพราะปัจจัยยังไม่ถึงระดับนั้น และคนไทยในยุค 14 หรือ 6ตุลา ก็เหลือไม่มาก คนรุ่นใหม่ก็คงไม่ยอมลำบาก เดือดร้อน ยอมตากแดดตากฝน ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่อยากจะอยู่ที่บ้าน ประท้วงทางอินเตอร์เน็ตมากกว่า ส่งแมสเสจถึงกันอย่างนั้นมากกว่า ไม่ต้องดูอะไรมากหรอกครับ ดูม็อบครูก็ได้ อยู่ได้อย่างมากแค่ 2 วันเท่านั้นเอง เพราะครูไม่ยอมตากแดดตากฝนหรอกครับ การที่จะเดินขบวนแบบต่อสู้กัน ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ในระยะสั้น เว้นเสียแต่ว่าการคอร์รัปชั่นนั้นกว้างขวางหลากหลายอย่างที่อาจารย์อเนกใช้คำว่า "ย่ามใจ" มากเกินไปจนเกิดความรู้สึกในทางลบมากเหลือเกิน


อาจารย์มองโลกในแง่ดีผิดวิสัยนักเศรษฐศาสตร์นะครับ

เดี๋ยวผมจะพูดในแง่ไม่ดีในระดับบุคคล แต่ก่อนจะพูดตรงนั้น ผมขอพูดในประเด็น จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) ก่อน ที่มีการถกเถียงกันมากเรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจว่ามีการปั้น จีดีพี อะไรต่างๆนั้น ผมอยากเล่าให้ฟังว่า จีดีพี นั้นพยากรณ์กันอย่างไร แล้วท่านอาจจะเห็นว่ามันเลื่อนลอยมากน้อยแค่ไหน


ตัวเลข จีดีพี หรือมูลค่าการผลิตในประเทศทั้งหมดใน 1 ปี เวลาที่พยากรณ์หรือคำนวณนั้น ไม่มีใครรู้ว่าถูกหรือผิด ไม่มีใครรู้จนกว่าจะผ่านไป 3-4 ปี ถึงจะมาประเมินว่าที่เคยประเมินไว้นั้นต่ำไปหรือมากไป นี่ผมพูดแทนนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องเศร้ามากนะครับ นักเศรษฐศาสตร์ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจวันนี้เป็นอย่างไรต้องขอเวลาอีก 3 เดือนจงจะบอกได้ว่าเศรษฐกิจวันนี้เป็นอย่างไร เพราฉะนั้นคำพยากรณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ก็ดีกว่าคำพยากรณ์อากาศของเราสมัยก่อนที่ว่า ในท้องฟ้ามีเมฆ ในทะเลมีคลื่น แบบนั้นน่ะครับ นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายก็คงยอมรับว่าเป็นความจริง เพราะว่ากว่าจะรู้ข้อมูลเพื่อใช้ในการพยากรณ์ก็ต้องใช้เวลา

ฉะนั้นเมื่อ จีดีพี พิสูจน์ไม่ได้ก็สามารถจะเสกให้มันเป็นอย่างไรก็ได้ คิดดูสิครับว่าท่านนายกมีวาจาศักดิ์สิทธิ์มาก ท่านบอกว่าเศรษฐกิจต้องขยายตัวเท่านั้น มันก็จะเป็นจริงอย่างที่ท่านบอก

ทำไม จีดีพี จึงเลื่อนลอย จีดีพี นั้นประกอบด้วย 3ส่วนนะครับ คือรายได้ ค่าเสื่อมราคา และภาษีทางอ้อม

รายได้ก็แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ รายได้ภาคเกษตร รายได้ภาคอุตสาหกรรมและบริการ และรายได้ภาครัฐบาล


ถามว่ารายได้จากภาคเกษตรจะรู้ได้อย่างไรครับ ต้องทำบัญชีหรือครับ ไม่ใช่นะครับ มันมาจากการพยากรณ์ทั้งนั้นแหละครับ ที่เรียกว่า guestimate คือ guest บวกกับ estimate น่ะครับ มันเป็นประมาณการจะบวกมากบวกน้อยผมก็บวกได้ทั้งนั้นแหละ


รายได้จากอุตสาหกรรม กว่าจะรู้ตัวเลขจริงก็ไปปีหน้านะครับ อีก 6-7 เดือน แต่เมื่อผมต้องคำนวณ จีดีพี ของปีนี้ ก็อย่างว่าละครับ guestimate อีกเหมือนกัน อาจจะมีการโทรศัพท์ไปถามอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ซึ่งรวมๆ แล้วคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ แต่อีก 40 เปอร์เซ็นต์ก็ต้องประมาณการเอานะครับ

รายได้ภาคบริการยิ่งแล้วใหญ่เลย เพราะรวมเอารายได้ของคนเล็กคนน้อยไว้หมด คนขายไข่ปิ้ง คนขายส้มตำ ผมจะไปถามได้ยังไงว่าวันนี้ขายไข่ปิ้งไปกี่ฟองขายส้มตำไปกี่ครก ก็ต้องประมาณการอีกเช่นเดียวกัน

รายได้ภาครัฐบาล วิธีคำนวณก็คือเอาเงินเดือนมารวมกัน ถือว่าเป็นผลผลิตของภาคราชการ เพราะฉะนั้นถ้าผมเพิ่มเงินเดือนข้าราชการมากๆ ก็ถือว่ารายได้ของภาครับเพิ่มขึ้น


ส่วนค่าเสื่อมราคาก็เป็นตัวสำคัญว่าท่านคิดอย่างไรก็ได้ ภาษีทางอ้อมถ้าระยะเวลา 1 ปี ก็พูดลำบากแต่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น 3 เดือน ก็สามารถแต่งตัวเลขได้ คือจะคำนวณจากตัวเลขที่เก็บได้หรือจะคำนวณตัวเลขที่จะเก็บเข้ามาด้วยก็ได้ ฉะนั้นตัวเลขของไตรมาสต่างๆ ก็คลาดเคลื่อน

เพราะฉะนั้นตัวเลข จีดีพี ไม่มีความสามารถในการวัดได้ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นผมจะบอกว่า จีดีพี 3 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4 เปอร์เซ็นต์ ป่วยการเถียงครับ เพราะไม่มีใครรู้ และก็สามารถจะทำให้เป็น 5 เปอร์เซ็นต์ก็ได้


อาจารย์พูดถึงความสามารถในการเล่นแร่แปรธาตุตัวเลข แล้วอย่างนี้ชาวบ้านจะรู้ตัวเองได้ไหมว่าเมื่อไหร่เศรษฐกิจเริ่มแย่ เมื่อไหร่เศรษฐกิจเริ่มดี

มันก็ไม่ถึงกับแล่นแร่แปรธาตุหรอกครับ แต่ก็เป็นการตั้งสมมติฐานคือมันสามารถทำให้ จีดีพี สูงหรือต่ำได้ตามสมมติฐานน่ะครับ เช่น สมมติมูลค่าของวัว ผมก็ทำให้คนไทยบริโภคมากขึ้นหรือน้อยลงเพื่อทำให้มูลค่าของวัวเพิ่มขึ้น นี่เป็นตัวเลขที่เป็นสีเทา


ฉะนั้นตัวเลขก็ไม่ได้สะท้อนความจริงของระบบเศรษฐกิจ แล้วมีตัวอะไรที่จะบอกชาวบ้านได้ไหม

ในระดับมหภาคเราพอจะวางใจได้ว่ามันไม่ผันผวน แต่คำถามก็คือว่าในระดับของประชาชนคนเดินดินมันเป็นไปตามตัวเลขไหม ผมคิดว่าเป็นไปในทางตรงกันข้าม


ตัวบ่งชี้สภาพเศรษฐกิจของชาวบ้านก็คือการพิจารณาว่า เราใช้เงินไปเท่าไหร่ แล้วเดือนต่อมาเราใช้เงินเพิ่มขึ้นกว่าเก่าเท่าไหร่ มันก็กลายเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าตัวเลข 6.9 หรือ 5.9 ก็เช่นเดียวกัน ต้องพิจารณาว่าผมเอาอะไรไปใส่ให้มันบ้าง ถ้าค่าเช่าบ้านไม่เพิ่มขึ้นผมไม่ใส่ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าค่าเช่าบ้านเพิ่มขึ้นมาก มันก็ดูเหมือนค่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นตัวเลขเงินเฟ้อมันก็วัดไม่ได้จนกว่าจะดูด้วยตัวเอง ว่าตัวเองลำบากมากกว่าเก่าหรือเปล่า

ถ้าดูในระดับบุคคล ปัจจัยแรกที่เราบอกได้ทันทีและแน่ชัดเลยก็คือ หนี้เพิ่มขึ้น ในระดับคนธรรมดาที่ทำงานโรงงานหรือระดับชาวบ้าน ไม่ต้องสงสัยแม้แต่น้อยเลย ถ้าใครเข้าไปในชนบทหรือไปคุยกับคนที่อยู่แถวปทุมธานีจะบอกได้ทันทีว่ามีปัญหาในเรื่องของค่าครองชีพ


ปัจจัยต่อมาไปถามคนธรรมดาตามร้านค้า ผมไปถามคนธรรมดาที่ขายของในตลาดต้นพยอม หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มา ทุกคนบ่นเหมือนกันหมดเลย เพราะตอนที่ผมไปนั้นตลาดเงียบมากเลย ผมก็ถามว่ามันเงียบอย่างนี้เหรอ เมื่อก่อนมันไม่เงียบอย่างนี้นี่ แม่ค้าก็บอกว่าเงียบอย่างนี้มา 2 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าดูเศรษฐกิจในระดับบุคคลก็ต้องไปดูว่าการค้าขายคึกคักแค่ไหน


ปัจจัยที่ 3 โรงรับจำนำ โรงรับจำนำเป็นตัวสะท้อนที่ดีมากเลย อย่านับเมษายนกับพฤษภาคมนะครับเพราะ 2 เดือนนั้นเป็นเดือนที่คึกคักที่สุด เนื่องจากโรงเรียนเปิด พ่อแม่จำนวนไม่น้อยจะต้องเข้าโรงรับจำนำ


ปัจจัยที่ 4 ที่ผมสังเกตเห็นก็คือว่า คน กินมาม่ามากขึ้นกว่าปกติ ถือเป็นตัวชี้ที่ดี คือถ้ากินมาม่ามากขึ้นกว่าปกติแล้ว เป็นอันชัดเจนว่าคงไม่ได้กินของอย่างอื่นมากขึ้น เพราะมาม่าราคาถูก กินง่าย


หากวิเคราะห์จากสิ่งที่ผมสังเกตเอาเองจากปัจจัยที่พูดมา ผนวกกับตัวเลขหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเฉลี่ยจากประมาณ 40,000-50,000 เมื่อ 4-5 ปีก่อนมี เพิ่มขึ้นเป็น 120,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในระดับบุคคล และการทำมาหากินของคนทั่วไปเริ่มลำบากมากขึ้น


ในความเห็นผมสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจระดับมหภาคอยู่ได้และคนข้างล่างบางกลุ่มอยู่ได้ ก็คือ 1.เงินที่รัฐอัดเข้าไป 2.การบริโภค 3.การลงทุนภาคเอกชน และ 4.ภาคต่างประเทศ (ส่งออกและนำเข้า) และ เครื่องยนต์ตัวแรก (เงินจากภาครัฐที่อัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ) ทำงานมาหนักมากเลยใน 4 ปีที่ผ่านมา โดยการยุให้คนมีหนี้มากขึ้น มีการบริโภคเพิ่มขึ้น แต่การลงทุนของภาคเอกชนมันไม่ได้ขยายตัวมากมายเหมือนที่คาดหวังไว้ เพราะฉะนั้นก็เป็น 4 เครื่องยนต์แต่ทำงานเพียง 2 เครื่องยนต์เท่านั้นเอง


สำหรับภาคต่างประเทศนำเข้ากับส่งออกนั้น เมื่อก่อนทำงานดีมากโดยเฉพาะ 3 ไตรมาสแรกที่ผ่านมามันขยายตัวถึง 24-25 เปอร์เซ็นต์ แต่พอมาไตรมาสหลังมีอาการส่งออกมีปัญหา แต่ภาครัฐพยากรณ์ว่าปีหน้าจะขยายตัวถึงร้อยละ 20 แต่ของธนาคารโลกดูว่าจะขยายตัวอย่างดีก็ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นในภาคของการขับเคลื่อนของต่างประเทศจะมีปัญหา สุดท้ายที่รัฐบาลแน่ใจและคุมได้คือการขับเคลื่อนโดยรายจ่ายของภาครัฐ

ประเด็นที่รายจ่ายภาครัฐที่รัฐบาลจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญก็คือเมกะโปรเจ็กต์ทั้งหลาย ผมได้อ่านบทความของอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) ซึ่งถูกใจผมมากเลย ท่านบอกว่าถ้ารัฐบาล เอาโครงการทั้งหลายมาวางแล้วให้คนต่างชาติมาช่วยลงทุน ก็คงเป็นรัฐบาลที่เขลามากเลย

ท่านลองจินตนาการดูว่าสมมติท่านเพิ่งปลูกบ้านเสร็จ ท่านอยากจะเทซีเมนต์รอบบ้าน ทำสนามหญ้า ต่อเติมบ้านเล็กน้อย ทำไฟฟ้า ทำประปา อะไรต่างๆ แล้วท่านเปิดกว้างบอกใครก็ตามที่อยากเป็นช่างเชิญมาประมูลในบ้านผมเลย ท่านลองหลับตาวาดภาพดูสิครับ ท่านจะได้คำตอบที่นักเศรษฐศาสตร์หรือที่นักคณิตศาสตร์เรียก Optimum ไหมครับ มันจะเป็นไปไม่ได้เลยเพราะคนที่วางท่อประปาก็จะวางท่อประปาให้มันแพงสุดเท่าที่จะแพงได้ เพราะว่าผลประโยชน์มันกำไรของเขาไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนที่อยู่ที่บ้าน มันเป็นหน้าที่ของคนที่อยู่ที่บ้านที่จะต้องบอกว่าต้องการท่อประปาใหญ่เล็กแค่ไหน จะต้องเป็นเอสลอนหรือท่อประปาเหล็กหรือท่อประปาสแตนเลส เพื่อที่จะได้อยู่ในงบประมาณของตัวเองแล้วทำให้เกิดประโยชน์ที่สุด แล้วเชื่อมต่อกับระบบน้ำทิ้งอย่างไร


และผู้รับเหมาก็ต้องคิดถึงผลประโยชน์ของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผลประโยชน์ของผู้รับเหมาไม่จำเป็นต้องเป็นผลประโยชน์ของเจ้าของบ้าน ฉะนั้น บ้านของผมก็จะเป็นบ้านที่วุ่นวายเลอะเทอะที่สุดเพราะมันมีหลายโครงการมาก ดังนั้นเมกะโปรเจ็กต์เป็นเรื่องน่าห่วงมากเพราะว่าเพียงสนามบินสุวรรณภูมิแห่งเดียวที่ใช้เงินต่ำกว่าที่ผ่านมาเกือบ 10 เท่า หรือบ่อบำบัดน้ำเพียงไม่กี่หมื่นล้านบาท เราก็เห็นชัดว่าสนามบินสุวรรณภูมินั้นแร้งลงมาแล้วไม่รู้กี่ฝูง แล้วเมกะโปรเจ็กต์ซึ่งใหญ่กว่านั้นเกือบ 10 เท่า ผมไม่รู้ท่านจะเห็นมหาฝูงแร้งอีกกี่ฝูงที่มาลง


ปัญหาเรื่องการจัดการของสังคมเราเป็นปัญหาอย่างยิ่ง สนามบินสุวรรณภูมิผมเล่าได้เลย ผมมาทำงานที่ธรรมศาสตร์ใน พ.ศ. 2513 รัฐบาลจะสร้างสนามบินหนองงูเห่า พวกผมประท้วงกันเพราะเห็นว่ายังไม่สมควรในตอนนั้น เนื่องจากสนามบินอื่นก็มี สนามบินหนองงูเห่าไม่รู้งูลอกคราบไปไม่รู้กี่รอบจนกระทั่งกลายเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ จาก 2513 เป็น 2548 จะเปิด 2549 ใช้เวลาทั้งหมด 36 ปีสำหรับสนามบินเดียวมูลค่าประมาณแสนกว่าล้าน แล้วท่านคิดดูครับรถไฟฟ้าเท่าไหร่ 4-5 แสนล้านบาท แล้วยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้เลย แล้วมาเปิดให้คนมาประมูลเองดูซิว่าตรงไหนชอบไม่ชอบ ผมก็ดูแล้วมันก็ดูเก๋มากเลย แต่ลึกลงไปแล้วมันไม่ได้ให้คำตอบซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่เป็นเจ้าของบ้าน แล้วยังจะกลายเป็นความวุ่นวายเรื่องการจัดการที่มากที่สุด

เพียงโปรเจ็กต์เดียวของสุวรรณภูมิซึ่งเงินน้อยกว่านี้ 10 เท่าก็เห็นแล้วว่าคอร์รัปชั่นมันเกิดขึ้น ตั้งแต่เรื่องถมที่จำได้ไหมครับ พรรคอะไรก็ไม่ทราบเหมือนกันถมที่เลยแล้วก็ไล่มา จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ รถไฟฟ้าใต้ดินเราไม่ได้ยินเรื่องราวของความรั่วไหลมาก ไม่รู้ว่ามีหรือเปล่า


เรื่องการทำรถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯ ถ้าใครเชื่อว่าทำได้ผมคิดว่าคงจะเป็นคนที่ไร้เดียงสามากเลย เพราะสร้างรถไฟฟ้าแค่สายเดียวก็รถติดกันวินาศสันตะโรแล้ว ถ้าสร้าง 10 สายแล้วมีเงินพร้อมๆ กัน สุดท้ายจะออกมาเป็นแบบสายโฮปเวลล์นะครับ เพราะว่าการที่สร้างรถไฟสายหนึ่งมันจะต้องดูความเป็นไปได้ว่ามีคนขึ้นตลอดวันไหม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมก็จริงแต่มันอยู่ได้ในเชิงการเงินไหม คนไม่ได้ขึ้นรถไฟทั้งวันนะครับในบางจุด ขึ้นแต่เช้ากับเย็นแล้วตอนกลางวันทำยังไง เสาร์อาทิตย์ทำยังไง จุดนี้ผมกังวลมากเลย แล้วเรื่องของเมกกะโปรเจ็กต์ จะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจแน่นอน


อาจารย์บอกว่าในระดับมหภาคยังไม่น่ามีปัญหา แต่ระดับบุคคลอาจจะมีปัญหา แล้วการประกาศโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐนี่เป็นบริบทใหม่ ทีนี้อาจารย์บอกว่าวิกฤตเศรษฐกิจแบบเดิม เช่น ค่าเงินลดอย่างฉับพลัน นำมาซึ่งปัญหาหนี้ต่างประเทศเพิ่มจำนวนขึ้นมากแบบวิกฤตการณ์แบบ 2540 ไม่น่าเกิดขึ้น แต่มีโอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบใหม่ไหมที่มีเนื้อหาใหม่ๆ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นแบบเกาหลีใต้ ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตการณ์เงิน 2540 วิฤตเศรษฐกิจก็เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างมาตลอดเวลาในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก มีโอกาสไหมที่ทักษิโณมิกส์นำเราไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เราไม่เคยเจอ นักเศรษฐศาสตร์ยังไม่ได้ผลิตองค์ความรู้มารองรับมัน

คือผมมองอะไรไม่เกิน 2 ปี แม้แต่ปีเดียวก็ผิดแล้ว 6 เดือนก็ผิดแล้วว่ากันตรงๆ เพราะว่าปัจจัยภายนอกมันเปลี่ยนตลอดเวลา ถ้าผมดูในระยะเวลาปีเดียวผมคิดว่าหนี้ส่วนบุคคลจะเป็นปัญหาต่อไป เรื่องของหนี้สาธารณะที่ได้ทำไว้มากๆ ใช้จ่ายมากๆ จะเป็นปัญหาต่อไปกับประเทศไทย การใช้จ่ายหลายโครงการที่มากมายจะเป็นผลต่อประเทศไทยแต่เกินกว่า 2 ปีข้างหน้า ในปี 2 ปีข้างหน้ายังไม่เห็นผล

รูปแบบของวิกฤตที่เกิดขึ้นใหม่ผมเชื่อว่ามาจากระดับคนธรรมดามากกว่าที่ระดับมหภาค อาจจะเป็นเรื่องของปัญหาการทำมาหากินและความร่ำรวยมันย้ายไปอยู่ในกลุ่มคนชั้นกลางคนชั้นสูงที่มีรายได้มากๆ แต่ว่าคนข้างล่างโดยอย่างยิ่งในบางท้องถิ่นจะมีความคับแค้นมากขึ้น แล้วถ้าการส่งออกของเราไม่เป็นไปตามเป้าอย่างที่เคยเป็น สะดุดสักปีนึงเหมือนรัฐบาลยุคบรรหาร ผมคิดว่าปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ อาจารย์อเนกพูดว่าใครก็เป็นนายกฯ ได้ผมก็ไม่ได้ดูถูกคุณบรรหาร แต่ถ้าพูดถึงความสามารถในเชิงวิชาการคุณบรรหารก็มีความจำกัดมาก แต่คุณบรรหารก็สามารถเป็นนายกฯ ได้เช่นเดียวกัน แต่บังเอิญท่านมาเลือกปีที่ส่งออกไม่ได้เลย การขยายตัวเป็นศูนย์


ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ อาจารย์เห็นว่ามีนโยบายเศรษฐกิจอะไรหรือไม่ที่ทักษิโณมิกส์ละเลย และควรจะทำใน 3-4 ปีข้างหน้า

ที่ผมเห็นก็ไม่มีอะไรทักษิโณมิกส์ มันก็แค่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักธรรมดาๆ ที่นักศึกษาทั้งหลายเรียนกัน แต่ว่ามาทำรูปแบบให้เหมือนกับว่าเป็นเรื่องใหม่ โอ้โห ตื่นเต้น คนไม่รู้จักมาก่อน อย่างเช่น คำว่า Dual track คำนี้มีตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 แล้วละครับ ก็คือ ทดแทนการนำเข้าแล้วก็ส่งออก มันก็มีแค่นั้น ไม่มีอะไรตื่นเต้น แต่ว่ามันกลายเป็น term ที่ทำให้คนดูใหม่ เพราะว่ามันเป็นเศรษฐศาสตร์การตลาด เป็นสาขาใหม่เช่นเดียวกับที่อาจารย์วุฒิพงษ์ (เพรียบจริยวัฒน์) บอกคือ สาขาศิลปะใหม่ที่เกิดขึ้น คือ วิจิตรโจรกรรม จริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไรใหม่ เป็นของเก่าเพียงแต่ว่าเอามาพูดใหม่เท่านั้นเอง

อาจารย์ปกป้องถามว่ามีอะไรนโยบายอะไรที่ควรทำ ถ้าไม่ทำจะเป็นปัญหาของประเทศ ผมคิดว่าเรื่องควบคุมการใช้จ่าย ขณะนี้เข้าใจว่ารัฐบาลเริ่มตระหนักแล้วว่าปัญหาเรื่องการการใช้จ่ายเงินที่เคยใช้อย่างมากในอดีต ขณะนี้เริ่มจะเป็นปัญหาแล้ว ใน 4-5 ปีมานี้ภาษีอากรก็เก็บได้มาก แล้วการใช้จ่ายก็สามารถทำได้ แล้วหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นท่านอยากให้อยู่ที่ร้อยละ 50 ของจีดีพี จริงๆ แล้วนักวิชาการก็รู้ว่าคำจำกัดความมันเปลี่ยนไป คำว่าหนี้สาธารณะมันเปลี่ยนไป หนี้ของรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นหนี้สาธารณะหรือเปล่า ถ้าเอาหนี้ของรัฐวิสาหกิจไปใส่ด้วยว่าเป็นหนี้สาธารณะมันก็เกินร้อยละ 50 ไปแล้ว ปัญหาที่ควรจะทำในความเห็นผมเรื่องการจ่ายของภาครัฐ จำเป็นต้องทำเพราะถ้าไม่ทำการจ้างงานจะเป็นปัญหาขึ้นทันที TDRI เคยศึกษาว่าถ้าปีใดการเจริญเติบโตเศรษฐกิจต่ำกว่าร้อยละ 4.5 แล้ว บัณฑิตทั้งหลายที่จบออกไปจะไม่มีงานทำทุกคน แรงงานที่เข้าสู่ตลาด แรงงานที่ไม่ดี แรงงานไม่มีฝีมือก็จะไม่มีงานทำเช่นกัน แต่ถ้าเศรษฐกิจขยายตัว 4.5 ขึ้นไปทุกคนจะมีงานทำ อันนี้เป็นการวิจัยของ TDRI เมื่อหลายปีก่อน


ทีนี้ถ้าหากต่ำกว่า 4 ปัญหาจะเกิดขึ้น ทำอย่างไรจึงจะได้ตัวเลข จีดีพีถึงจะ 4 ก็ต้องขับเคลื่อนด้วยการใช้จ่ายของรัฐ ซึ่งก็คือ เมกะโปรเจ็กต์ นี่ละครับคือตัวที่ต้องการขับเคลื่อน แต่ผมตั้งคำถามหลายครั้งและเขียนด้วยความสงสัยว่าทำไมต้องคิดถึงแต่คนกรุงเทพฯ ทำไมถึงต้องเอา 5 แสนล้านบาทมาสร้างรถไฟ 10 สาย ทำไมไม่สร้างรถไฟรางคู่ ถ้าสร้างรถไฟรางคู่คนทั้งประเทศจะได้ ขอซัก 2 สายจาก 10 สายมาทำรถไฟรางคู่ เพราะปัจจุบันรถไฟในประเทศไทย 90 เปอร์เซ็นต์เป็นรางเดี่ยวนะครับ เวลาสวนทางทางกันต้องรอตามสถานีต่างๆ รถก็ช้า ค่าขนส่งแพงด้วย แต่ถ้าทำให้เป็นรางคู่เหมือนถนน 4 เลนวิ่งสวนทางกันได้ตลอดเวลา การเดินทางด้วยรถไฟเป็นการเดินทางที่ประหยัดและรวดเร็วด้วย และเป็นประโยชน์กับคนทั้งประเทศ เป็นการเอาเงินภาษีอากรของคนทั้งประเทศมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศแทนที่กระจุกอยู่เฉพาะคนกรุงเทพฯ ซึ่งผมคิดว่าในแง่ของความเป็นธรรมมันไม่เกิดขึ้น และในแง่ของประสิทธิภาพก็ไม่เกิดขึ้นด้วย

ประวัติ อาจารย์  ปกป้อง จันวิทย์