Custom Search

Oct 17, 2009

วิทยากร"นักพับกระดาษ" เอกสิทธิ์ เข้มงวด


ภาพจาก TK Park


พนิดา สงวนเสรีวานิช

มติชน

วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2552



เรื่อง ราวของ "น้องหม่อง ทองดี"
เด็กชายไร้สัญชาติที่เป็นตัวแทน
ของเด็กไทยไปแข่งพับเครื่องบินกระดาษที่
ประเทศญี่ปุ่น และคว้ารางวัลกลับมา

ได้จุดกระแสการพับเครื่อง ร่อนกระดาษ
ในเมืองไทยอย่างครึกโครม
จนน้องหม่องกลายเป็นฮีโร่
เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหลายๆ คน
หันมาบรรจงพับเครื่องบินลำน้อย
ร่อนกันให้ว่อนสนามโรงเรียน

ยังมีเด็กชายอีกคนที่หลงใหลการพับกระดาษ
เป็นชีวิตจิตใจ เพียรเรียนรู้การพับกระดาษ
ด้วยตนเองจากหนังสือ ลองผิดลองถูกเรื่อยไป

วันนี้ เขากลายเป็น "วิทยากรโอริกามิ" สอนการพับกระดาษ
ที่มีรายได้พอเลี้ยงตัวสบายๆ โดยการโชว์-สาธิต-อบรมการพับกระดาษ
พับกระดาษเพื่อใช้ประกอบในงานโฆษณาประชาสัมพันธ์

เป็นประธาน "ชมรมนักพับกระดาษไทย" บนโลกไซเบอร์
(www.thaiorigami-club.net46.net) ที่เปิดตัวเพียง 11 เดือน
ก็มีสมาชิกกว่า 2,000 คน

" เอกสิทธิ์ เข้มงวด" หรือ "เด็กชายปอม"
ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ
โปรแกรมเอ็มบีเอ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในวัย 28 ปี

เกิด เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2524 อายุ 28 ปี
เป็นลูกชายคนโตของ "คุณแม่ดวงใจ มีกังวาล"
เจ้าหน้าที่ศูนย์วัฒนธรรมญี่ปุ่น สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
กับ "คุณพ่อ วิทยา เข้มงวด" อดีตนักโฆษณาประชาสัมพันธ์
มีพี่สาว 1 คน ชื่อ "ภัทริกา เข้มงวด"
ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

เอก สิทธิเป็นคนกรุงเทพฯ เรียนมัธยมต้น
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
มัธยมปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สำเร็จปริญญาบัณฑิต
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
เอกการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ
เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่องราวของผู้ชายคนนี้ที่มีอาชีพเป็น "โอริกามิสต์"
หรือ "โอริกามิ ดีไซเนอร์" มีข้อคิดที่น่าสนใจอีกมาก โปรดติดตาม

สนใจพับกระดาษเพราะอะไร?

ความ จริงคือ ตอนเด็กๆ ที่บ้าน ผมไม่มีของเล่น
เพราะคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจสร้างเนื้อสร้างตัวกัน
และผมก็ไม่เคยคิดจะขอเงินซื้อของเล่น
แต่ด้วยความที่คุณแม่ทำงานอยู่ศูนย์วัฒนธรรมญี่ปุ่น
(ปัจจุบันเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจกรรม)
คุณแม่เป็นกูรูทางด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น
เลยสอนพับกระดาษ พับกบ พับตัวง่ายๆ ของญี่ปุ่น
ก็เหมือนกับพ่อแม่ของเด็กญี่ปุ่นที่สอนพับปลาคาร์พ
พับนกกระเรียน เพราะในเทศกาลของญี่ปุ่น
จะมีการพับกระดาษแทรกเข้าไปตลอด
เช่น วันเด็กผู้ชายวันเด็กผู้หญิง

ได้พับเครื่องร่อนแบบเด็กไทย?

พับ ครับ แบบเบสิคนะครับ ไม่ใช่อย่างน้องหม่อง
นั่นแอดวานซ์แล้ว แค่ร่อนได้โอเค ผมแค่ม้วนปีกก็งงๆ
เพราะไม่เก่งเรื่องการพับเครื่องร่อน
ผมเชื่อว่าเด็กไทยจะต้องเคยเจอแบบที่ว่าไปโรงเรียน
แล้วคนนั้นพับกบกระโดดได้ คนนี้พับนก
คนนั้นพับเต่า แล้วเราสนใจอะไรก็สอนเราหน่อยสิ

ได้วิชาจากคุณแม่ ตอนนั้นก็เป็นดาวในกลุ่มเพื่อน?

ไม่ ใช่เลยครับ ตอนนั้นผมอยู่ชั้น ป.4-5-6
คุณครูให้พับกระดาษมาส่งในชั่วโมงศิลปะ
เพื่อนก็พับนกพับกบพับเต่า ได้ 9 คะแนน 10 คะแนน
แต่ผมชอบไดโนเสาร์ก็พับไดโนเสาร์ส่ง
คือไดโนเสาร์ของเราสวยที่สุด
แต่มีเราคนเดียวในโลกที่ดูออกว่าเป็นไดโนเสาร์
ปรากฏว่าได้ 6 คะแนน คุณครูบอกว่า
เอกสิทธิ์ทำไมหนูไม่พับนกเหมือนคนอื่นมาส่งครู
เพราะคุณครูดูไม่ออก แต่ผมไม่โกรธเลยนะครับ
ที่คุณครูพูดแบบนั้น กลับทำให้ได้คิดและเกิดกำลังใจว่า
ต่อไปจะพับอะไรควรให้คนอื่นดูออกด้วย
คือการที่เราจะเก่งขึ้นไปอีกขั้น
เราต้องถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจด้วย


พอกลับไปบ้านก็พับใหญ่เลย

ไป ปรึกษาคุณแม่ครับ คุณแม่ก็บอกว่าห้องสมุดของคุณแม่มีหนังสือสอนพับกระดาษเยอะ คุณแม่ก็ยืมหนังสือจากห้องสมุดในศูนย์วัฒนธรรมญี่ปุ่นมาให้ ก็เริ่มจากการมั่วนี่แหละ สมัยนั้นไม่มีใครช่วยเลย คุณแม่ก็ไม่เข้าใจ มันเหมือนปริศนาลายแทง เราก็รู้แค่ว่านี่เป็นขั้นที่ 1, 2, 3 แต่มันเป็นรูป 2 มิติ แต่เวลาพับมันเป็น 3 มิติ ก็ค่อยๆ ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ทำให้พอโตขึ้นเราเข้าใจเลยว่ายังมีคนแบบเราอีกที่ต้องการคนชี้แนะ แต่ไม่รู้ว่าจะไปหาที่ไหน ก็เลยตั้งชมรมนักพับกระดาษไทยขึ้นมา

แล้วได้เป็นดาวพับกระดาษเมื่อไหร่?

ไม่ ได้เป็นครับ ปัจจุบันก็ไม่ได้เป็น
เพราะส่วนใหญ่เราพับจากแบบที่คนอื่นคิดไว้แล้ว
เหมือนนักดนตรีเล่นโน้ตตามโมสาร์ท
เราเป็นเพียงคนที่พับตามแบบพับที่ยากๆ ได้เท่านั้นเอง
เมื่อเทียบกับประชากรที่พับกระดาษของโลก
เราเป็นกะเหรี่ยงไปเลยนะครับ
เพราะว่าในระดับโลกเขาไม่พับตามคนอื่นแล้ว
เขาต้องคิดเอง ดีไซน์เอง ผมไม่คิดว่าผมเก่ง
แต่อย่างน้อยผมอ่านแบบพับได้
ซึ่งตรงนี้ผมสามารถแชร์ให้รุ่นน้องที่เพิ่งเริ่มต้นพับได้อ่านแบบพับ
อ่านตัวโน้ตได้เข้าใจมากขึ้น
ผมยังมีความหวังว่าเด็กรุ่นใหม่จะมี
ความคิดสร้างสรรค์ก้าวกระโดดไปจากรุ่นผม ได้

ชอบพับกระดาษ แต่เลือกเรียนบัญชี

เพราะเป็น อิทธิพลของคุณพ่อ คุณวิทยา เข้มงวด
เป็นนักโฆษณารุ่นเก่า เมื่อก่อนพากย์โฆษณาหลายเรื่อง
คุณพ่อบอกว่าโลกใบนี้ไม่ว่าอาชีพใดต้องใช้ความรู้เรื่อง
การตลาดหรือมาร์เก็ต ติ้ง ไม่ว่าใครก็แล้วแต่บนโลกใบนี้
ป้าขายกล้วยแขกยันนายกรัฐมนตรีต้องใช้ความรู้เรื่องการตลาด
ถ้าเราไม่รู้จะเสียเปรียบคนอื่น
ผมก็เถียงว่าผมไปซอกแซกเอาจากที่อื่นก็ได้
ไปอ่านเอาก็ได้ พ่อบอกว่าก็ได้
แต่ไม่ดีเท่าไปเรียนในคณะที่ดีเด่นทางด้านนี้
เพราะข้อดีของการเรียนในคณะที่ดีเด่นทางด้านนี้
คือเราจะได้มีแวดวงเพื่อนฝูง
เราจะตามเทรนด์และมีคอนเน็กชั่นที่ดีกว่า

จริงๆ แล้วอยากเรียนอะไร?

ฝัน ตั้งแต่เด็กว่า อยากมีอาชีพพับกระดาษ
ผมชอบไดโนเสาร์กับดูดาว ตอนที่คุณพ่อถามว่าอยากเป็นอะไร
ผมบอกอยากเป็นนักบินอวกาศ พ่อบอกว่ามันก็ไม่เลว
แต่ความฝันแบบนี้ในประเทศนี้มันคงเป็นไปได้ยาก
เอาอะไรที่เรียลิสติกหน่อยได้มั้ย ผมก็บอกว่า
เป็นนักพับกระดาษแล้วกัน
ตอนนั้นคุณพ่อมองไม่เห็นและไม่เชื่อว่าจะมี
นักพับกระดาษในประเทศไทยได้ พ่อก็บอกว่า
ไม่เป็นไร ถ้างั้นเราไปเรียนการตลาดก่อน
ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่าคนทำอาชีพอื่นๆ
จะมาต่อเอ็มบีเอ เพราะคนมีอาชีพสายอื่นก็

อยากมีความรู้ด้านการบริหารธุรกิจและการตลาด


เลยเรียนเรียนด้านนี้

แต่ ว่าพอเรียนๆ ไปก็พบความถนัดของตนเอง
คือ การสอน เป็นคนที่มีความถนัด
ทางด้านการสอน การถ่ายทอด
ตอนนี้ก็เลยตั้งเป้าจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

เป็นคนสันโดษหรือเปล่า เห็นชอบโหราศาสตร์
ชอบฮวงจุ้ย ชอบอ่านหนังสือ?


ล้วน เป็นอะไรที่อยู่กับตัวเอง มีส่วนอย่างยิ่ง
ผมเป็นคนที่ชอบข้อมูล ชอบหนังสือ
มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลน้อยมาก ตอนเด็กๆ อยู่กับหนังสือตลอดเวลา
ผมว่ามาจากการที่คุณแม่อ่านหนังสือให้ฟังตอนเด็กๆ บ่อย
ผมก็เลยกลายเป็นคนรักหนังสือไปด้วย อ่านไปทุกหมวด
ด้วยความที่เราเป็นหนอนหนังสือมาก
ฉะนั้น ทักษะการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นจะน้อย
และเราจะเป็นคนทำงานกลุ่มกับคนอื่นไม่ค่อยเก่งเลย
ชอบงานเดี่ยว ถึงจะออกมาแย่เรารับผิดชอบคนเดียว สบายใจ

แต่มีจุดเปลี่ยน ตอนอยู่ ม.4 คุณพ่อส่งไปเรียนที่นิวซีแลนด์ 1 ปี
ก็สังเกตว่าคนประเทศนี้แปลก เขาไม่เรียน ไม่สนใจว่าคุณจะได้เกรดอะไร
เช้าวันจันทร์คุณครูจะถามว่า สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาไปทำกิจกรรมที่ไหนมาบ้าง
ถามอย่างนี้ทุกวันจันทร์ จากความภาคภูมิใจที่เป็นหนอนหนังสือหายหมดเลย
ก็เลยได้คิด แล้วตั้งข้อสังเกตทำไมผู้ใหญ่ต้องไปสังสันทน์กัน
ที่สุดได้ข้อสรุปว่า สังคม ครอบครัว ความสัมพันธ์
มีความสำคัญไม่น้อยกว่าทักษะความสามารถส่วนตัว
โทรศัพท์ปรึกษาคุณพ่อเลยครับ ต้องฝึกตัวเองใหม่แล้ว

ปรับบุคลิกยังไง?

คุณ พ่อก็ให้เทคนิคง่ายๆ มาก่อน เช่น ต้องแซวตัวเอง ต้องตลก
เราไม่เคยมีความตลกเลยในชีวิต คุณพ่อบอกว่ามีปมด้อยอะไรบ้าง
ที่คนอื่นล้อเราแล้วเราโกรธ ลิสต์ออกมาเลย
แล้วใช้ปมด้อยตัวนี้แซวตัวเองเยอะๆ ทำตัวเองให้เป็นโจ๊กบ้าง
ทำตัวให้เปิ่นๆ บ้าง ทำตัวเองให้หน้าแตกบ้าง
ผมเริ่มจากตรงนั้น เพราะคุณพ่อสอนว่า ในละคร 1 เรื่อง
คนดูจะรักตัวตลก เมื่อตัวตลกตายคนดูจะเสียน้ำตาให้กับตัวตลก
นี่เป็นบทเรียนเริ่มต้น

ต่อ มามีหนังสือเล่มหนึ่งที่เปลี่ยนตัวผมเลย คือ
หนังสือของเดล คาร์เนกี้ How to Win Friends and Influence People
เป็นหนังสือที่ล้ำค่ามาก

ทำตามทุกขั้นตอนในหนังสือ?

ผม เลือกเฉพาะกฎที่เราจำได้ บทเรียนบทแรกเขาบอกว่า
จำชื่อคนให้ได้ เพราะชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดของคนคนนั้น
ถ้าเราจำชื่อเขาให้ได้ เขาจะรู้สึกอยากเป็นเพื่อนกับเรา ต้องยิ้ม
หน้าตาต้องเป็นมิตร ต้องรู้จักให้ จริงๆ ไม่ต่างจาก
"สังควัตถุ 4" ที่พระพุทธเจ้าสอน ทาน ปิยวาจา สมานัตตา อัตถจริยา
คือธรรมที่ทำให้เราเป็นมิตร ลองทำแค่ 3 เดือน 6 เดือน
ตัวเราเปลี่ยนไปเลย หลังจากนั้นก็เลยเปลี่ยนตัวเองมาโดยตลอด
ซึ่งเราพบว่าเมื่อเราเป็นมิตรมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น
ความโชคดีกลับมาหาเรามากขึ้นด้วย เพราะว่าความโชคดีไม่ได้ลอยมา
ความโชคดีมาจากคนที่เรารู้จัก ถ้าเรารู้จักคนมากขึ้น
โอกาสที่เราจะพบกับความโชคดีก็มีมากขึ้น

การพับกระดาษเป็นวิทยาศาสตร์?

ผมคิดว่าไม่ค่อยเกี่ยวกันเท่าไหร่ คือกลไกการพับกระดาษ
มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับคณิตศาสตร์และวิศวกรรมกลศาสตร์

อย่าง คณิตศาสตร์ก็คือเพราะรอยพับทุกรอยสามารถอธิบายได้
ด้วยสูตรคณิตศาสตร์ และทางวิศวกรรมสามารถนำมา
ประยุกต์ใช้ได้ เช่น พับเป็นโมเดลของ "บัลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ"
ของจริงจะมีขนาดเล็กนิดเดียว ตอนที่สอดเข้าไปในหลอดเลือด
มันจะหุบเหลือเล็กนิดเดียว พอสอดเข้าไปแล้วในจุดที่
ต้องการแล้วมันจะขยายออก ช่วยขยายหลอดเลือดหัวใจได้
หรืออย่างที่ฝรั่งเศสก็จะนำโอริกามิไปใช้ในเรื่องแฟชั่น
เช่น ใช้ในการจับจีบรอยพับเป็นรูปดอกไม้หรือรูปอะไรก็ว่าไป

เดี๋ยวนี้ยังมีสอนพับกระดาษในห้องเรียน?

มี ครับ แทรกอยู่ในหมวดวิชาศิลปะ
แต่เป็นกิจกรรมที่คุณครูเลือกมาใช้
ทำให้บางโรงเรียนมี บางโรงเรียนไม่มี
แต่ปัจจุบันพัฒนาไปไกลแล้ว เช่น สอนในโรงเรียนเพื่อ
สอดแทรกคณิตศาสตร์เข้าไป
ซึ่งทางอเมริกาได้เอาของเขาไปใช้แล้ว เวลาที่เราพับครึ่ง
แล้วพับครึ่งของครึ่งของครึ่ง ก็เท่ากับการสอนเศษส่วนไม่รู้ตัว
เวลาพับมุมฉากก็คือการสอนเรื่องตรีโกณมิติ
และสอนเรื่องลอจิกด้วย คือจะไม่เกิดขั้นตอนที่ 3
ถ้าไม่เกิดขั้นตอนที่ 1 และ 2 มาก่อน

โรงเรียน ที่ทันสมัยทุกวันนี้จะมีกระดาษพับเป็น
รูปทรงเรขาคณิตเหล่านี้อยู่ในห้องพัก
ครูหมวดคณิตศาสตร์แทบทุกโรงเรียน
ผมไม่ทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการไปได้ไอเดียจากญี่ปุ่นหรืออเมริกามา
คุณครูคณิตศาสตร์ของเราเล็งเห็นว่ามันสวยดี
ถ้าให้พับพวกนี้ก็น่าจะทำให้มีทัศนคติที่ดีขึ้นกับวิชาคณิตศาสตร์
เข้าใจสูตรคณิตศาสตร์ได้ง่าย

เราจำเป็นต้องเรียนรู้การพับกระดาษ?

อาจ จะไม่จำเป็น แต่ถ้าได้จะดีมาก เพราะว่านวัตกรรมหลายๆ
อย่างมันใช้กลไกของโอริกามิเข้ามาช่วย
ซึ่งนวัตกรรมทำให้เกิดคุณค่า คุณค่าทำให้เกิดมูลค่า
ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นดิจิตอลจ๋า

มองพัฒนาการของการพับกระดาษในเมืองไทยยังไง?

ผม เชื่อว่าจะต้องไปไกลกว่านี้อีก แต่ไม่รู้ว่าไกลแค่ไหน
เพราะว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้เริ่มให้ความสำคัญ
กับการพับกระดาษมากขึ้น เรื่อยๆ แต่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่ส่งเสริมแค่นี้
ส่งเสริมโอริกามิแขนงอื่นๆ บ้างก็ได้ เพราะโอริกามิมีหลายแขนง
แขนงดอกไม้ หรืออย่างเราอยากให้กรุงเทพฯเป็นเมืองแฟชั่น
ทำไมเราไม่คิดรอยจีบใหม่ๆ โดยเริ่มจากการเอาไอเดีย
ของการพับกระดาษไปใช้ก็จะได้ทักษะของการทำรอยจีบ ใหม่ๆ

ได้อะไรจากการพับกระดาษ?

ในภาพรวมก็เช่น ได้ฝึกสมอง เพราะมันเหมือนเป็นปริศนา
ให้เราได้ขบคิดและแก้ให้ได้ ได้ใช้สมองและใช้ทั้งสองซีกพร้อมๆ กันคือ
ทั้งทางด้านตรรกะ เหตุผล
และต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วย และมีความอดทน

แต่ผมว่าสิ่งที่ ได้กับตัวเองชัดๆ เลยคือ ความมั่นใจในตัวเอง
และการเติมเต็มให้กับตัวเอง พับเสร็จแล้ว
เราจะรู้สึกภาคภูมิใจกับผลงาน
สิ่งที่ปลุกปั้นมา 3 ชั่วโมงบัดนี้มันเป็นผลเสร็จแล้ว

"ปฏิกิริยาแรกของนักเรียนทุกคนที่
มองผลงานของตัวเองคือ ยิ้ม มันมีความสุขทันที"


หน้า 17


From Tatiana Frolova Published on Dec 10, 2017