Custom Search

Oct 10, 2009

พระพุทธจริยาวัตร 60 ปาง ปางนาคปรก

คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก

มติชน

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552



น่าจะเขียนนาคปก แต่เพี้ยนมาเป็นนาคปรก
ตั้งแต่เมื่อใดไม่ทราบ
เอ้าปรกก็ปรก ไม่ว่ากัน
พระพุทธรูปปางนี้มีเห็นอยู่สองแบบ

แบบ หนึ่งพระพุทธเจ้าประทับภายในขนดพญานาค
ดุจอยู่ในถ้ำ อีกแบบหนึ่งประทับบนขนดพญานาค
ถามว่าอย่างไหนถูก ตอบแบบเซนก็ว่าถูกทั้งสอง
ตอบตามหลักฐานก็น่าจะว่าอย่างหลัง (นั่งบนขนด) น่าจะถูก

ประวัติความ เป็นมาก็คือ ในสัปดาห์ที่ 6
(พระไตรปิฎกว่าสัปดาห์ที่ 3) พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากบริเวณต้นราชายตนะ
ไปประทับยังโคนต้นมุจลินท์หรือต้นจิก ขณะนั้นมีฝนพรำตลอด 7 วัน

พญา นาค (นามมุจลินท์ ตามต้นไม้) ขึ้นมาจากนาคพิภพมาขด
เป็นบัลลังก์ให้พระพุทธองค์ประทับ ตนเองแผ่พังพานบังลมฝน
ให้จนกระทั่งฝนหยุด จึงจำแลงกายเป็นมาณพหนุ่ม
ยืนประคองอัญชลีนมัสการพระองค์อยู่

ชาวพุทธก็เลยสร้างพระพุทธรูปเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้
ตั้งชื่อว่า ปางนาคปรก โหราศาสตร์ถือเอาเป็นพระบูชาประจำวันเสาร์

เหตุการณ์ จะเกิดขึ้นจริงตามนี้หรือไม่ มิใช่ประเด็นสำหรับชาวพุทธ
ประเด็นอยู่ที่ว่าเรื่องราวนี้บ่งถึงอะไร หรือพูดแบบท่านพุทธทาสก็ว่า
ตีความเป็นภาษาธรรมว่าอย่างไร

พญานาค หรืองูใหญ่ น่าจะหมายถึงกิเลสอันชั่วร้าย
อันมีโลภ โกรธ หลง เป็นประธานนั้นแล

การ ที่พระพุทธองค์นั่งทับงูใหญ่ หมายถึงการเอาชนะกิเลสได้ทั้งหมด
กิเลสที่ว่าร้ายกาจนั้นบัดนี้ได้อยู่ใต้อำนาจของสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
ไม่มีโอกาสฟุ้งขึ้นมารบกวนพระทัยของพระพุทธองค์อีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้แหละ จึงว่า ปางนาคปรก ควรจะเป็นพระพุทธเจ้า
ประทับเหนือขนดพญานาค มิใช่ประทับในโพรงขนดพญานาค

การ ที่พญานาคแผ่พังพานบังลมฝนให้หมายถึงการเอาชนะกิเลสได้นั้น
เป็นประโยชน์แก่พระพุทธองค์โดยส่วนตัว (คือ ทำให้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า)
และเป็นประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งมวลด้วย
ท่านจึงแต่งให้พญานาคแผ่พังพานบังลมและฝนให้พระพุทธองค์

น่าคิดนะ ครับ ความคิดที่ว่างูใหญ่เป็นสัญลักษณ์แห่งกิเลสหรือความชั่วร้าย
ความพิบัติ ค่อนข้างสากล ซาตานที่มาเกลี้ยกล่อมให้อาดัมกับอีวา
ขัดขืนคำสั่งของพระเจ้าก็มาในร่างของ งูใหญ่
สัญลักษณ์ของกระทรวงสาธารณสุขที่เชื่อกันว่าเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่ในการ
ขจัดโรคร้ายของมนุษย์ ก็เป็นตรางู ถึงจะตัวไม่ใหญ่
ก็งูเหมือนกันแหละน่า

ลูก ศรที่เสียบคองูสามดอก (ดังตราโรงพยาบาลศิริราช)
ว่ากันว่าแทนวิทยาการสมัยใหม่ 3 สาขา ที่จะทิ่มแทงโรคภัย
ให้มันวินาศสันตะโรไปเลย ว่าอย่างนั้น
จนป่านนี้โรคภัยก็ยังไม่หมด
แสดงว่าต้องเพิ่มลูกศรอีกหลายดอกกระมัง

อ้อ ในวัฒนธรรมของไทยนั้น เวลาที่คนฝันถึงงู
เช่น งูไล่หรืองูรัด ส่วนมากจะทำนายกันว่า จะพบเนื้อคู่
หรือไม่ก็มีเรื่องชู้สาว ก็คงมาจากความเชื่อนี้แหละครับ
สิ่งที่คนไทยเรียกว่า "ความรัก" นั้น
ทางพระท่านว่ามันก็คือกิเลสตัวราคะนั้นเอง มิใช่ของดีอะไร

ขอแทรกตรงนี้หน่อย...

เมื่อ เจ้าจอมมารดาองค์หนึ่งในพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4
จะมีพระประสูติกาล ท้องฟ้าแจ่มใสไร้เมฆหมอก
พอพระราชโอรสประสูติเท่านั้น ท้องฟ้ามืดครึ้มขึ้นมาทันที
ฝนตกหนัก พายุพัดกระหน่ำ น้ำนองชาลาพระตำหนัก

ในหลวง รัชกาลที่ 4 ทรงหวนรำลึกถึงเหตุการณ์
ครั้งพญานาคขึ้นมาแผ่พังพานบังลมฝนให้พระพุทธเจ้า
จึงทรงถือเอาเป็นศุภนิมิต ขนานพระนามพระราชโอรสว่า
มนุษยนาคมาณพ แปลว่า นาคจำแลงเป็นคนหนุ่มน้อย
หรือคนหนุ่มน้อยนาคจำแลง อะไรทำนองนั้น
เพื่อเป็นนิมิตหมายว่าพระราชโอรสพระองค์นี้จะเจริญในพระพุทธศาสนา

พอโตมา พระองค์เจ้ามนุษยนาคมาณพก็ทรงผนวช
เจริญก้าวหน้าในพระพุทธศาสนาจนสิ้นพระชนม์ในผ้าเหลือง

เจ้านายพระองค์นี้ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระผู้ประสาธน์ความเจริญแก่การศึกษาพระพุทธศาสนานั้นแล


หน้า 6