Custom Search

Oct 10, 2009

ชีวิตมีมากกว่าหนึ่ง


คอลัมน์ แทงก์ความคิด
นฤตย์ เสกธีระ
max@matichon.co.th
มติชน
วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552

> ภาพประกอบ

"มุมหนึ่งภายในงาน "พลังงาน กู้วิกฤตไทย""
กระทรวงพลังงาน เจ้าภาพคนจัดงานได้นำเอาแผนภาพ
""บ้านประหยัดพลังงาน"" มาวางโชว์
พวกเราคนอยากรู้ ยึดเอาโต๊ะเก้าอี้ด้านหน้าที่จัดไว้ นั่งแล้วค่อย ๆ อ่าน
วิธีการประหยัดพลังงานง่าย ๆ ที่พวกเราทำได้มีหลากหลาย
หนึ่ง คือ ออกแบบช่องว่างใต้หลังคาให้
สามารถระบายอากาศร้อนภายในหลังคาออกไปสู่ภายนอกได้
สอง คือ ติดฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา
และเหนือฝ้าเพดาน และติดฉนวนกันความร้อน
ใต้หลังคาและผนังที่โดนแดดเป็นเวลานานในแต่ละวัน
สาม คือ สร้างกันสาดหรือชายคา
เพื่อป้องกันไม่ให้แสงแดดตกกระทบผนัง
สี่ คือ เลือกหน้าต่างรับแสงให้อยู่ทางทิศเหนือ
เพราะได้รับแสงแดดน้อยที่สุดในรอบปี
ห้า คือ รั้วบ้านต้องไม่ทึบตัน ไปกีดขวางการเคลื่อนที่ของลมเข้าสู่ตัวบ้าน
และหก คือ การปลูกต้นไม้รอบ ๆบ้าน
จะช่วยป้องกันแสงแดดเข้าสู่ช่องเปิดหรือผนังของตัวบ้าน
และยังช่วยเพิ่มร่มเงา ซึ่งลดความร้อนจากแดด
ฟังความรอบข้างแล้ว ทั้ง 6 วิธี
ต้องการป้องกัน "ไอ้ตัวร้าย" เพียงอย่างเดียว

นั่นคือ "ความร้อน"

เพราะความร้อนจากแสงแดดทำให้เราติดตั้ง
ระบบเครื่องปรับอากาศ ระบบทำความเย็น ซึ่งใช้พลังงานอย่างมาก
ดังนั้น "ถ้าเราออกแบบบ้านที่สามารถป้องกันความร้อนได้"
"เราก็ไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ เมื่อไม่เปิดแอร์ก็ไม่ต้องใช้ไฟมาก"
บ้านที่เราอยู่ก็ประหยัดพลังงาน
เงินในกระเป๋าแทนที่จะต้องสิ้นเปลืองไปกับค่าไฟฟ้า
ก็ยังติดหนึบอยู่ในกระเป๋าสตางค์
แต่วิธีการป้องกัน "ความร้อน" มิให้กลายกล้ำเข้าสู่ตัวบ้านนั้น
ต้องใช้หลายๆ วิธีในการดำเนินการ
เห็นไหมล่ะครับ นี่แค่ต้องการป้องกันความร้อน
ไม่ให้แผดเผาเข้าสู่บ้าน ยังต้องใช้หลายวิธี
อย่างน้อย ที่กระทรวงพลังงานแนะนำมาก็มีถึง 6 วิธีการ
ดังนั้น ใครที่ยังยึดติดแนวทางการทำงานแบบเดียว
อย่างเดียวแล้วไม่ประสบความสำเร็จ
อยากแนะนำให้ลองหาวิธีที่สอง ...สาม ....สี่
หรือจะใช้ทั้งวิธีที่หนึ่ง
วิธีที่สอง วิธีที่สาม วิธีที่สี่ ไปพร้อมๆ กันก็ได้
เช่นเดียวกับการพูดให้คนอื่นเข้าใจ
ในสิ่งที่เราพูดนั่นแหละครับ
หลายคนคงเคยประสบ
เวลาเราพูดสิ่งใหม่ๆ ให้คนอื่นฟังแล้วเขาฟังไม่รู้เรื่อง
ผู้ไม่รู้ก็บอกว่า เมื่อเขาไม่สนใจก็อย่าไปสนใจเขา
แต่สำหรับผู้รู้เขากลับบอกว่า
พูดครั้งที่หนึ่งเขาไม่เข้าใจ ก็ลองพูดอีกครั้งหนึ่ง
บางทีคนเราก็ต้องพูดกันทั้งเดือนทั้งปีกว่าจะเข้าใจ
ยิ่งถ้าต้องการพูดให้คนเขาเปลี่ยนพฤติกรรม
ยิ่งต้องพูดนานกว่านั้น และต้องสื่อสารหลายๆ วิธี
อย่างการรณรงค์ไม่ให้ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง
รณรงค์เรื่องห้ามสูบบุหรี่ ห้ามดื่มสุรา
หรือแม้กระทั่งการรณรงค์ให้
คนเรารู้จักการอนุรักษ์พลังงานก็เหมือนกัน
ทุกอย่างต้องทำหลายครั้งและทำบ่อยๆ
เฉกเช่นเดียวกับการทำงาน และการดำเนินชีวิต
"คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต
และประสบความสำเร็จในด้านการงาน"
"แทบทั้งหมดคือคนที่ทำในสิ่งนั้นๆ มามากกว่าหนึ่งครั้ง"
หลายคนล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็ลุก จนสามารถยืนได้
หลายคนไม่ถึงกับล้ม แต่ก็ทำในสิ่งนั้นๆ ซ้ำๆๆ
จนเกิดความชำนาญ และก้าวหน้าต่อไป
คนแบบนี้แหละครับที่ประสบความสำเร็จ
ส่วนคนที่พูดครั้งเดียว ทำครั้งเดียว
แล้วบอกว่า "พูดแล้ว" และ "ทำแล้ว"
แบบนี้ยากจะประสบความสำเร็จ
เพราะการ "พูดแล้ว" และ "ทำแล้ว"
เพียงครั้งเดียว ไม่แน่ว่าจะก่อให้เกิดความสำเร็จ
หลายครั้งที่ต้อง "ทำแล้วทำอีก" และ "พูดแล้วพูดอีก"
งานถึงจะประสบผล
ดังนั้น ชีวิตๆ หนึ่งจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้
ชีวิตๆ นั้นคงต้องทำอะไรๆ ได้มากกว่าหนึ่งอย่าง
ชีวิตนั้นๆ ต้องทำอะไรได้มากกว่าหนึ่งครั้ง
"ชีวิตนั้นต้องมีหนทางสู่ความสำเร็จมากกว่าหนึ่งทาง"
ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ที่ประสบความสำเร็จ
จึงต้องมีคุณสมบัติมากกว่าหนึ่งอย่าง
"พระพุทธองค์ท่านทรงแนะ
หนทางสู่ความสำเร็จในรูปแบบ "อิทธิบาท 4""
ประกอบ ด้วย ฉันทะ คือ ความพอใจในงาน
วิริยะ คือ ความเพียร จิตตะ คือ ความเอาใจใส่ในการทำงาน
และ วิมังสา คือ การใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล
และกระบวนการทำงาน

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระมหาชนก"
ที่เล่าเรื่องความเพียร เป็นหนทางสู่ความสำเร็จ"
เจ้าสัว นักธุรกิจ ผู้ประสบความสำเร็จทั้งหลาย
ล้วนแล้วแต่มีหลักคิดหลักปฏิบัติสู่ความสำเร็จของแต่ละคน
บางท่านบอกว่า ต้องเข้าใกล้ผู้ประสบความสำเร็จ
เพื่อฟังคนเหล่านี้พูดเยอะๆ
บางท่านบอกว่า ต้องรู้จักคิดต่างจากคนอื่น
เพื่อความน่าสนใจ
บางท่านบอกว่า ต้องไม่ท้อถอย
แม้ชีวิตจะประสบหายนะไปแล้ว
อีกหลายท่านก็มีอีกหลายหนทางที่นำไปสู่ความรุ่งโรจน์ในชีวิต
ทีนี้ก็เหลือแต่เราๆ แหละครับ
หากใครอยากประสบความสำเร็จในชีวิต
ก็น่าจะเลือกเอาคุณสมบัติที่ถูกจริตต่อตัวเอง
เลือกมาปฏิบัติได้หลากหลาย
ใครจะเลือกมาหนึ่งข้อ สองข้อ สามข้อ
ก็แล้วแต่สะดวก
ใครจะเลือกปฏิบัติทีละข้อ หรือจะปฏิบัติพร้อมๆ
กันหลายข้อก็ไม่ว่าอะไร
"แล้วใครที่ปฏิบัติครั้งแรกแล้วยังไม่ประสบผล
ก็ลองปฏิบัติครั้งที่สอง ครั้งที่สามและครั้งถัดไป"
ทำไปเถอะครับ ทำในสิ่งที่ดีมีคุณประโยชน์

"ทำไปเรื่อยๆ แล้วในที่สุด
ชีวิตก็จะประสบความสำเร็จขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ"

"สวัสดี"


หน้า 17