Custom Search

Oct 21, 2009

รางวัลโนเบิลเศรษฐศาสตร์หญิงคนแรก




วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เมื่อ สัปดาห์ที่ผ่านมามีการประกาศรางวัลโนเบิล
สาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2009 ผู้ได้รับรางวัลคือ
Elinor Ostrom แห่ง Indiana University และ
Oliver E. Williamson แห่ง Berkeley
การประกาศรางวัลครั้งนี้มีความแปลกกว่าที่เคยเป็นมาพอควร
เพราะ Ostrom เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบิลสาขานี้
และเป็นนักรัฐศาสตร์การเมือง (Political Scientist)
มิใช่นักเศรษฐศาสตร์โดยตรง

ผู้เขียนขอเขียนถึง Ostrom ผู้รับรางวัลโนเบิลหญิงก่อน
และจักกล่าวถึง Williamson ในโอกาสต่อไป

การ ให้รางวัลแก่นาง Ostrom เรียกได้ว่า
สร้างความแปลกใจพอควรแก่หมู่มวลนักเศรษฐศาสตร์
(อย่างน้อยก็ผู้เขียนคนหนึ่งที่ไม่รู้จักชื่อของเธอมาก่อน
แม้แต่ Paul Krugman ผู้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์
เมื่อปีที่แล้วก็ยอมรับว่าไม่คุ้นกับงาน ของเธอเลยเช่นกัน)
เนื่องจากงานศึกษาของเธออยู่ในสาขาอื่นที่ก้ำกึ่งกับเศรษฐศาสตร์

วง การพนันซึ่งให้แต้มต่อรอง (รางวัลโนเบิลก็มีการพนันกัน
โดยผ่าน Ladbrokes ของอังกฤษ)
ให้ Ostrom และ Williamson เท่ากันที่ 50 ต่อ 1
(แทง 1 ปอนด์จะได้ 50 ปอนด์)
ซึ่งเป็นแต้มต่อรองสูงสุดที่มีให้
(แต้มต่อรองมีตั้งแต่ 2 ต่อ 1 ถึง 50
ต่อ 1 รวมจำนวน 42 คน)

ตัวเก็ง ที่แต้มต่อรองเป็น 2 ต่อ 1 ก็คือ Eugene Fama
วัย 70 ปี เจ้าพ่อ Efficient Market Hypothesis
ซึ่งกล่าวโดยย่อว่าราคาของหลักทรัพย์ที่ซื้อขายกัน
ในตลาดนั้นสะท้อนซึ่ง สารสนเทศทั้งหมดเกี่ยวกับ
ตัวของมันและจะเปลี่ยนแปลงตามข้อมูลใหม่เสมอ

Elinor Ostrom อายุ 76 ปี เป็นหนึ่งใน 64
คนที่ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์
(เป็น 1 ในผู้หญิง 40 คนที่ได้รับรางวัลโนเบิลทั้งหมด)
นับตั้งแต่มีการให้รางวัลสาขานี้ใน ค.ศ.1969

คณะกรรมการผู้คัดเลือก ระบุว่าทั้งสองได้รับรางวัลร่วมกัน
เนื่องจากได้ริเริ่มงานวิจัยในเรื่องที่ แต่ละบุคคลสามารถร่วมมือกัน
ใช้ทรัพยากรร่วมกัน และทำงานด้วยกัน
ในชุมชนและองค์กรเอกชนเพื่อให้มนุษยชาติมีความเป็นอยู่ที่ดี
ขึ้นสมกับเจตนารมณ์ของการให้รางวัลโนเบิลและทั้งสอง
ได้ทำงานในเรื่อง "Economic Governance"

สำหรับ Ostrom นั้นงานสำคัญของเธอคือการศึกษาวิจัย
อย่างท้าทายแนวคิดเดิมในเรื่องปัญหา
ทรัพยากรที่มีเจ้าของร่วมกันใช้หลายราย
โดยเธอเสนอว่าสามารถแก้ไขได้อย่าง
ประสบความสำเร็จด้วยการร่วมมือกันของผู้ใช้
โดยไม่จำเป็นต้องให้รัฐออกกฎเกณฑ์หรือใช้กลไกของเอกชน

หากจะเข้าใจ ว่าเหตุใดเธอจึงได้รับรางวัลโนเบิล
เพราะการท้าทายนี้คงต้องกลับไปที่แนวคิด
หรือความเข้าใจดั้งเดิมในเรื่องการจัดการทรัพยากร
ที่มีเจ้าของร่วมกันหลาย ราย (common property)
ซึ่งสิ่งที่เป็นคลาสสิคในเศรษฐศาสตร์ก็คือเรื่อง
Tragedy of The Commons
(โศกนาฏกรรมของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน)

แนว คิดดั้งเดิมในเศรษฐศาสตร์ก็คือสำหรับสิ่งที่เป็น
commons อันได้แก่ ทุ่งหญ้า บ่อน้ำ
ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของชุมชน ทะเล ป่าไม้ พื้นที่ป่า ฯลฯ
ทรัพยากรเหล่านี้ล้วนมีปัญหาในการจัดการทั้งสิ้น
กล่าวคือโดยธรรมชาติจะเกิดการใช้อย่างขาดประสิทธิภาพ
ดังนั้นจำเป็นต้องมีการออกกฎระเบียบโดยภาครัฐ
และ/หรือใช้กลไกการทำงานของภาคเอกชน (privatization)
เป็นเครื่องมือเข้าไปช่วยแก้ไข

เศรษฐศาสตร์มีคำกล่าวกันมานานว่า
"everybody"s property is no one"s property"
("ทรัพย์สมบัติที่เป็นของทุกคน จะไม่เป็นของใครเลย")
ซึ่งหมายความว่าเมื่อความเป็นเจ้าของไม่ชัดเจน
เพราะมีเจ้าของหลายเจ้า ปัญหาก็เกิดขึ้นจนต้อง
ใช้ภาครัฐหรือมือเอกชนเข้าไปช่วย

ตัวอย่าง ได้แก่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของเมืองต่างๆ ในยุโรป
ตลอดเวลาหลายร้อยปีถูกใช้งานมากเกินไป
จนถูกทำลายทิ้งร้างไม่มีหญ้าขึ้น
เพราะเมื่อมันเป็นสมบัติกลาง ทุกคนก็นำสัตว์ เช่น
แกะมาเลี้ยงกันเต็มไปหมด ยิ่งเลี้ยงมากก็ได้ผลประโยชน์มาก
โดยขาดการคำนึงถึงการบั่นทอนประโยชน์ของคน อื่น
เมื่อทุกคนทำเช่นนี้สัตว์ที่เลี้ยงก็มีจำนวนมากเกินกว่า
หญ้าที่มีพอให้สัตว์ บริโภคเสมอ
ในที่สุดทุ่งเลี้ยงสัตว์ก็เหี้ยนเตียนหมดสภาพจนถูกละทิ้งไป
เมื่อหญ้าขึ้นใหม่ปัญหาเดิมก็
แก้ไม่ตกเป็นโศกนาฏกรรมที่วนเวียนอยู่เสมอ

ทรัพยากร ทางทะเลก็เหมือนกัน ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน
ทุกคนต้องการจับปลาให้ได้มาก ต่างคนต่างแย่งกันจับ
จนปลาร่อยหรอหรือใกล้สูญพันธุ์ เป็นโศกนาฏกรรมอีกเช่นกัน
หากจะหลีกเลี่ยงปัญหาของ common property เช่นนี้ได้
รัฐต้องเข้ามาแทรกแซงวางกฎระเบียบ เช่น
ห้ามจับปลาตามฤดูกาล กำหนดขนาดตาข่าย
หรือใช้กลไกตลาดเช่นประมูลสัมปทาน
หรือให้เช่าพื้นที่เพื่อให้ความเป็นเจ้าของปรากฏชัดเจนขึ้น
ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้มากกว่าเดิม
ถึงแม้จะเกิดปัญหาตามมาอีกมากเช่นกันก็ตาม
(เช่น สัมปทานตัดป่าของไทยตัดเกินที่ได้รับ
ปัญหาคอร์รัปชั่น เกิดต้นทุนสูงขึ้น)

Ostrom ท้าทายแนวคิดนี้โดยบอกว่าไม่ต้อง
ใช้มือของรัฐและเอกชนหรอก
ผู้ใช้ทรัพยากรเหล่านี้แหละสามารถร่วมมือกัน
แก้ไขปัญหาโศกนาฏกรรมนี้ได้
เธอได้ศึกษากรณีต่างๆ ในเรื่องปลา ทุ่งหญ้า ป่า
ทะเลสาบ น้ำใต้ดิน ฯลฯ ที่เกิดขึ้นจริงอย่างกว้างขวางทั่วโลก
และสรุปว่าความร่วมมือของประชาชน
และ /หรือชุมชนสามารถนำไปสู่ข้อสรุปซึ่งแตกต่าง
จากที่ทฤษฎีดั้งเดิมพยากรณ์ไว้ ว่าจะเกิดโศกนาฏกรรมเสมอ

การให้รางวัลครั้งนี้มีนัยยะสำคัญในการ
กระตุ้นให้ชาวโลกตระหนักในเรื่องความร่วมมือกัน
แก้ไขปัญหาการเป็นเจ้าของ
ทรัพยากรร่วมกันโดยไม่ต้องรอคอยการแทรกแซง
จากภาครัฐหรือการใช้กลไกตลาด
เรื่องที่สำคัญมากก็คือเรื่องโลกร้อน
งานวิจัยของเธอแนะว่าป่วยการจะไป
รอคอยข้อตกลงต่างๆ ของภาครัฐ
ชาวโลกสามารถร่วมมือแก้ไขเองได้ทันทีโดย
ไม่ต้องพึ่งกฎเกณฑ์ของภาครัฐ

ผู้ เขียนเข้าใจว่าคณะกรรมการโนเบิลฯชุดนี้กระทำ
สิ่งที่ท้าทายหลายเรื่องเพราะ ต้องการให้รางวัล
สร้างผลกระทบต่อชะตาชีวิตของชาวโลก
เริ่มตั้งแต่ "ผูกมือ" ประธานาธิบดีโอบามาให้
ใช้มาตรการสันติภาพ (ลดอาวุธนิวเคลียร์ แก้ไขปัญหาโลกร้อน
สร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง
แก้ไขปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน และเกาหลีเหนือ)
ตามที่ได้ประกาศไว้โดยการให้รางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพ
ก่อนที่จะได้ทำอะไรมาก มาย
และในเรื่องนี้ก็ให้รางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์แก่
นักรัฐศาสตร์การเมือง
(ในปี 2002 นักจิตวิทยาDaniel Kahneman
ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์)
และเป็นผู้หญิงคนแรกด้วย
เพื่อสร้างการเป็นที่สนใจและสร้างจิตสำนึก
ในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรร่วมกัน
ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญยิ่งของโลก

หลังจากนี้คงจะมีนักเศรษฐศาสตร์ ศึกษาและโต้เถียง
การพยายามหักล้างความเชื่ออันเนิ่นนาน
ของนักเศรษฐศาสตร์ใน เรื่อง Tragedy of The Common
อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแก่วงวิชาการเพราะ
จะได้ทำให้เข้าใจเรื่องนี้ลึกซึ้งยิ่ง ขึ้น
และจะมีคนตระหนักในปัญหามากขึ้น

คำหนึ่งที่ออกมาจากการให้ รางวัลครั้งนี้ก็คือ
Economic Governance การให้รางวัลในปีที่เกิด
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญของโลกมีนัยยะว่าโลกต้องให้
ความสำคัญแก่ปัญหา Governance (การดูแล กำกับ ควบคุม และจัดการ)
ซึ่งเคยใช้เศรษฐศาสตร์เป็นอาวุธสำคัญมาเนิ่นนาน
โดยในปัจจุบันมิควรถูกจำกัดอยู่เฉพาะแต่สาขานี้เท่านั้น
วิกฤตโลกที่เกิดขึ้นครั้งนี้ชี้ให้เห็นช่องว่าง
อันเกิดจากการใช้ศาสตร์เดียว อย่างชัดเจน


หน้า 6