Custom Search

Oct 12, 2009

สวน+ศิลป์ ชีวิตคนกรุงเทพฯ


รายงานโดย :มัลลิกา นามสง่า
วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2552



ท่ามกลางความเจริญที่ขยายตัวแทบทุกพื้นที่ของเมืองหลวง
พื้นที่สีเขียวมีขึ้นมาแซมให้แลดูสบายตาบ้างเพียงประปรายเท่านั้น

และนั่นก็ถูกเรียกขานยกให้เป็นปอดของคนกรุงเทพมหานคร
“สวนสาธารณะ”

จึงเป็นทั้งพื้นที่สำหรับการออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ
ที่พบปะของเพื่อนฝูง เป็นที่สันทนาการของครอบครัว
และอีกหลายๆ อย่างที่พื้นที่จะเอื้ออำนวย
ต่อความต้องการของผู้คน
ในเร็วๆ นี้
สวนสาธารณะที่ร่มรื่นไปด้วยหมู่แมกไม้จะมีผลงาน
“ประติมากรรม” ขนาดใหญ่มาติดตั้ง ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง
ที่จะช่วยให้ความสราญใจแก่คนกรุง ซึ่งผลงานเหล่านี้
เป็นการจำลองประติมากรรมผลงานของศิลปินมีชื่อทั้งในระดับ
ชาติและในระดับนานาชาติ เช่น ผลงานของเบตติโน ฟรังชีนี

นายกสมาคมประติมากรโลกชาวอิตาเลียน ศ.ศิลป์ พีระศรี
ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร อ.เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชั้นเยี่ยม
อ.เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินชั้นเยี่ยม
อ.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ



เมื่อสวนมาดวลกับศิลป์

ประกาศความร่วมมือกันมาตั้งแต่ต้นปีในเดือนม.ค.
สำหรับการติดตั้งประติมากรรม 10 จุด ทั่วกรุงเทพมหานคร
ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร
กับมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งความคืบหน้าของโครงการ
หลังจากวันเวลาล่วงเลยมาครึ่งปี ทางผู้อำนวยการสำนักผังเมือง
“อัญชลี ปัทมาสวรรค์” ได้แจ้งพื้นที่ในการติดตั้งประ
ติมากรรม
และรายชื่อผลงานประติมากรรมออกมาเป็น ที่แน่นอนแล้ว
พร้อมกันนี้ยังทำการติดตั้งสำเร็จไปแล้วหนึ่งแห่ง
นั่นคือ “บริเวณสวนลุมพินี” เหลือการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เรียบร้อย

ประติมากรรมที่ติดตั้งคือ “ต้นไม้แห่งชีวิต”
ผลงานของ “ผศ.อนิก สมบูรณ์”
นอกจากนี้

มีผลงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งอีก 3 จุด
ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.นี้ คือ
บริเวณ “สวนธนบุรีรมย์” เขตทุ่งครุ
ประติมากรรมที่ติดตั้งคือ “3 Worlds”
ผลงานโดย “รศ.เข็มรัตน์ กองสุข” บริเวณ
“สวนวชิรเบญจทัศ” เขตจตุจักร ติดตั้งประติมากรรม 2 จุด
คือผลงาน “Frame” ของ “เบตติโน ฟรังชีนี”
ศิลปินชาวอิตาเลียน และผลงาน

“สังคมแห่งความงอกงามของคุณธรรม”
ของ “นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน”

ส่วนประติมากรรมที่เหลืออีก 6
ผลงานจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนก.ย.
“ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น” เขตดินแดง
ติดตั้งผลงาน “ตะกร้อ” ของ “เขียน ยิ้มศิริ”
บริเวณ “สวนรมมณีนาถ” เขตพระนคร
ประติมากรรมที่ติดตั้งคือ “ช้างเศวตฉัตร”
ของ “ศ.ศิลป์ พีระศรี” บริเวณสวนสาธารณะใกล้วัดเสมียนนารี
(ฝั่งเหนือ) เขตจตุจักร ติดตั้ง “The Moon”
ผลงานของ “ศราวุธ ดวงจำปา”
บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ

ใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฝั่งธนบุรี ติดตั้ง 2 จุด
เป็นผลงานของ “เขียน ยิ้มศิริ”

จุดที่ 1 ประติมากรรมที่ติดตั้งคือ “Protector”
จุดที่ 2 ผลงานชื่อ “ส่องกระจก”
และบริเวณสวนสาธารณะเชิงสะพานพระปกเกล้าฯ ฝั่งธนบุรี
ประติมากรรมที่ติดตั้งคือ “สุริยัน” ของ
“ผศ.วิชัย สิทธิรัตน์”
ศิลปะแห่งการจัดวางในสวนสวย
“เสฏฐ์ญา ภัคกระนก” ผู้อำนวยการกองจัดรูปที่ดิน
และปรับปรุงฟื้นฟูเมือง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร
ได้เล่าถึงความคืบหน้าและการดำเนินการติดตั้งประติมากรรมว่า

ในการทำงานต้องคัดเลือกผลงานซึ่งมีจำนวนมาก
แต่โจทย์ในการเลือกที่ตั้งไว้คือ
ต้องเป็นผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียง
เบื้องต้นเป็นศิลปินแห่งชาติ
สอง เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม
สาม เป็นศิลปินได้รับรางวัลระดับนานาชาติ
ระดับต่อไปเป็นศิลปินระดับประเทศ
และศิลปินอาวุโส รวมถึงผลงานต้องมี
รูปทรงเหมาะกับสถานที่ที่จะติดตั้งด้วย

นอกจากนี้ ต้องทำโมเดลและสร้างประติมากรรม
ที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดประติมากรรมเดิมของ ศิลปินดัง
โดยจะมีความสูงประมาณ 3-4 เมตร
เพื่อให้เหมาะสมกับสถานที่ติดตั้ง ซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง
มีอาณาเขตกว้าง สามารถมองได้หลายมุม

มีการปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสม
และมีมุมมองที่สวยงาม พร้อมทั้งระบบน้ำ ไฟ

ในการเลือกสถานที่ติดตั้งเป็นสวนสาธารณะ
ผอ.กองจัดรูปที่ดินและปรับปรุงฟื้นฟูเมือง
ให้เหตุผลว่า “สวนเป็นสถานที่ที่คนเข้าถึงได้สะดวก
สถานที่กว้างขวาง เป็นสถานที่ให้คนพักผ่อนหย่อนใจ
สัมผัสความสวยงามของธรรมชาติ
ซึ่งตรงจุดนี้เราอยากเป็นสื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ในงานศิลปะ
ซึ่งการเรียนรู้สามารถเรียนได้หลายรูปแบบ
เรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและเรากำหนดให้

ทุกวันนี้ประชาชนสนใจเรื่องความสวยความงามของตัวเอง
แต่เรื่องของความสวยงามของชิ้นงาน
ทางประติมากรรมแทบไม่ได้สัมผัสเลย
ซึ่งอย่างน้อยตรงนี้ก็เป็นสื่อให้ผู้คนใกล้ชิดกับศิลปะมากขึ้น”

ด้าน “ผศ.ถนอมจิตร์ ชุ่มวงค์” หัวหน้าภาควิชาประติมากรรม
คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
กล่าวว่า “ผลงานที่ผ่านเข้ามามีเงื่อนไขในเรื่องของสถานที่
เพราะไม่ได้แสดงในห้องนิทรรศการ
ผลงานต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
บางชิ้นเข้ากันไม่ได้กับสถานที่ ทั้งที่ผลงานทุกชิ้นดีมาก

มีมูลค่าสูงมาก” ส่วนการติดตั้งผลงานนั้นจะต้องพิจารณาเป็นชิ้นๆ
ต่อสถานที่ “ขนาดของประติมากรรมก็สำคัญขึ้นอยู่
กับสิ่งแวดล้อมตรงนั้นด้วย มุมมองได้ไหม
ถ้าใหญ่ไปมุมแคบก็ใช้ไม่ได้ ดูว่าพื้นที่มีเอกลักษณ์อย่างไร
เพราะแต่ละพื้นที่มีฟังก์ชันที่ต่างกัน
อย่างผลงานของ อ.นนทิวรรธน์ มีโครงสร้างเป็นรูปทรงดอกบัว
เป็นเรื่องเกี่ยวกับสมาธิ เราก็มองหาพื้นที่เป็นป่าน้ำ
บรรยากาศเงียบ เพื่อให้นั่งดูงานไปแล้วเกิดความคิด
เกิดความสงบ ผ่อนคลาย ก็มาลงตัวที่ข้างสระน้ำตรงนั้น
เป็นสระบัวพอดี
อย่างที่สวนลุมฯ นี่จัดวางง่าย
เป็นผลงานต้นไม้แห่งชีวิตของ อ.อนิก

เพราะบริเวณนั้นมีต้นไม้ใหญ่อยู่แล้ว
และโดยปกติสวนจะเป็นสถานที่พักผ่อนของคนไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย
ซึ่งเป็นเรื่องของครอบครัว เรื่องของจิตใจ
ในสวนเราสามารถหยิบยกเรื่องเกี่ยวกับความรัก
เรื่องเกี่ยวกับชีวิต แนวคิดปรัชญาได้
ผลงานชิ้นนี้ก็พูดถึงเรื่องความรัก
ชีวิตคู่ที่เปรียบเสมือนต้นไม้ ต้องรดน้ำพรวนดิน
ต้องคอยดูแลให้เจริญงอกงาม”

ส่วนผลงานของอาจารย์เขียน 2 ชิ้น คือ “Protector”
กับ “ส่องกระจก” ผศ.ถนอมจิตร์ เลือกติดตั้งที่เดียวกัน
เพราะไปสำรวจพื้นที่หลายครั้ง จะพบว่าในช่วงแดดคล้อยจะมีเด็กๆ

มาเล่นที่สนามเด็กเล่นเยอะ และมีพ่อแม่คอยเฝ้ามองอยู่ใกล้ๆ
ซึ่งทั้งสองผลงานให้ความรู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน
คือ ความอบอุ่น นุ่มนวล ที่สำคัญที่เลือกงานชุดนี้
เพราะอยากให้บรรยากาศในสวนมีความนุ่มนวลมากขึ้น
ช่วยให้บรรยากาศดูผ่อนคลาย
ส่วนผลงานที่ชื่อ สุริยัน
ลักษณะงานเป็นรูปทรงที่คลี่คลายมาจากรูประฆัง
ซึ่ง อ.วิชัยทำงานที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอยู่แล้ว
แนวคิดอาจารย์จะพูดถึงเรื่องการเตือน
คนเรามาจากสิ่งที่เป็นธรรมชาติในที่สุดก็คืนธรรมชาติ
เตือนประชาชนว่าคนเราต้องอยู่ในศีลในธรรม
จริงๆ แล้วผลงานนี้ต้องการให้อยู่บริเวณสวนที่มีวัดแต่หายาก

จึงมาลงตัวที่เชิงสะพานพระปกเกล้าฯ
“ผลงานเดอะมูน เราต้องการพื้นที่เปิด
เพราะผลงานเป็นรูปวงกลมสามลูกวางซ้อนๆ ต่อกันขึ้นไป
เราต้องการพื้นที่ให้เห็นท้องฟ้าเยอะๆ สามารถจินตนาการได้ และจุดนี้
(สวนสาธารณะใกล้วัดเสมียนนารี) ประชาชนผ่านเยอะ
ติดกับป้ายรถเมล์คนรอรถก็จะเห็น ขับรถวิ่งผ่านก็สามารถมองเห็น
และรูปทรงเป็นร่วมสมัย ดูแล้วเข้าใจได้ง่าย
ดังนั้นการหาพื้นที่ให้ศิลปะอยู่ก็จำเป็น
ต้องหาพื้นที่เพื่อให้ความหมายของการได้
แสดงออกอย่างเต็มที่ให้เห็นมุมต่างๆ”

เอ๊ะ! นั่นอะไร... งามจริงหนอ โดยปกติแล้ว
ผลงานศิลปะทุกแขนงมีจัดแสดงทั้งแบบถาวรและหมุนเวียนให้ได้ชม
กันตามหอศิลป์ต่างๆ ของภาครัฐและตามแกลเลอรีของภาคเอกชนอยู่แล้ว
แต่จะว่าเป็นเพราะพื้นที่ในการจัดแสดงมีน้อย ไม่ทั่วถึง
ยากแก่การเข้าไปชม
หรือจะเป็นเพราะว่าคนที่จะเข้าไปชมนั้นเป็น
กลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะ
ส่งผลให้งานศิลปะจึงยังอยู่ในแวดวงจำกัดเท่านั้น

เช่นนั้นแล้วการนำผลงานศิลปะออกมาจัดวางในที่แจ้ง

พื้นที่สาธารณะจึงเป็นอีกกลวิธีหนึ่งที่จะดึงความสนใจคน
มาสู่งานศิลปะมาก ขึ้น ผศ.ถนอมจิตร์ ให้ความเห็นว่า
“โดยตัวงานศิลปะสามารถดึงผู้ชมได้อยู่แล้ว
คนเห็นจะ... เอ๊ะ! นั่นรูปอะไร นั่นล่ะตัวมันเองทำหน้าที่อยู่แล้ว
ซึ่งผลงานที่เราคัดเลือกมาจะเป็นผลงานประติมากรรมประเภทโมเดิร์นอาร์ต
หรือคอนเทมโพรารี ซึ่งแนวนี้จะเป็นตัวดึงให้คนเข้ามาดูมากขึ้น
ขับรถ นั่ง เดินผ่าน ก็ทำให้คนเกิดความสนใจ สงสัย
แล้วค่อยให้เขาเข้ามาค้นหาความหมาย

ทุกงานมีความหมายของมันเอง
แต่พอคนเข้ามาดูจะเห็นคล้อยตามได้มากน้อยแค่ไหน
เป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางคนมีประสบการณ์ต่างกัน
บางคนมาดูไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำ แต่พอมาเห็น

มาอ่าน มาศึกษา ก็อาจจะรู้สึกด้วยมากหรือน้อย
อย่างน้อยๆ ก็เป็นการดึงคนเข้ามาสนใจในเรื่องของศิลปะ
จากวันหนึ่งมีปัญหาเรื่องชีวิตมาพักผ่อนที่สวนดูงานศิลปะ
ห้านาทีสิบนาทีก็ทำให้จิตใจคลายเครียด ศิลปะต้องการแค่นี้ล่ะ”

ประติมากรรมที่ติดตั้งในสวนทุกจุด จะมีป้ายโลหะ
สลักแนวความคิดที่มาของผลงานแต่ละชิ้นไว้ด้วย
อาทิ ผลงาน “สังคมแห่งความงอกงามของคุณธรรม”
มีแนวความคิด ขอให้มวลมนุษย์ร่วมกันปลูกพืชพันธุ์
แห่งคุณธรรมให้เจริญงอกงามขึ้น โดยเริ่มจากตนเองแล้ว
แพร่ขยายให้กว้างขวางออกไป

เป็นสิ่งแวดล้อมแห่งความดีและความงาม
เพื่อความสะอาด ความสวย ความสว่าง
และความพอเพียงของการดำรงชีวิตในสังคม
หรือประติมากรรม “3 Worlds” ลักษณะของรูปทรงกลม
ที่เป็นรูปทรงสากลให้ความหมายกว้าง
แต่ก็ให้ความหมายเจาะจงในขณะเดียวกันด้วย
ลักษณะเส้นรอบนอกที่วิ่งเป็นเส้นโค้งมาประจบกัน

มีความหมายและให้ความรู้สึก ไม่สิ้นสุด
การกำหนดให้มีพื้นที่ว่างภายในรูปทรง

โดยการเจาะด้วยเส้นตรงในแนวตั้ง แนวเฉียง และแนวนอน
แล้วกำหนดขอบเขตของที่ว่างภายในให้ขนานกับเส้นรูปทรงภายนอก
ส่งผลให้รู้สึกเบาและเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง
การเคลื่อนไหวของโลกจะหมุนด้วยภายในและสภาวะภายนอก
ที่ผลักดันอยู่ตลอดเวลา
ผลงาน “ช้างเศวตฉัตร”
ตามประวัติศาสตร์เป็นช้างคู่บ้านคู่เมือง ศ.ศิลป์ พีระศรี
ได้สเกตช์ต้นแบบเพื่อนำไปขยายเพื่อประกอบ
การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ดอน เจดีย์
และให้ลูกศิษย์ศึกษาโครงสร้างทางกายวิภาคของช้าง
ช้างเศวตฉัตรเชือกดังกล่าวมีความสวยงามด้วยโครงสร้าง
ที่บ่งบอกถึงลักษณะช้าง หนุ่ม แสดงความแข็งแรงและสง่างา
ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสำคัญของ ศ.ศิลป์ พีระศรี
______________________________________

ตามไปดู 10 ประติมากรรมสุดเจ๋ง ผ่านไอเดียศิลปินบรมครู
ณ สวนสาธารณะ เมืองฟ้าอมร
โดย ภูเขาดินสอ



ศิลปะ คือ การสร้างสรรค์ด้วยสุนทรียภาพ, หรือสร้างอารมณ์ต่างๆ
ให้เกิดขึ้นผ่านรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ การปั้น
การก่อสร้าง หรือแม้กระทั่งการประดิษฐ์ คุณค่าและ
การรับรู้ของศิลปะ ขึ้นอยู่กับมุมมองและความรู้สึกของผู้สร้างสรรค์
และผู้รับรู้ ว่าจะสัมผัสให้เข้าถึง รวมทั้งสื่อความหมาย
จนกระทั่งตีความให้เป็นไปทางไหน

ระยะหลังมานี้ ใครได้มีโอกาสใช้วันว่างไปสูดความร่มรื่น
แห่งหมู่มวลแมกไม้ เขียวขจีที่อัดแน่นด้วยออกซิเจน
และโอโซนบริสุทธิ์ในสวนสาธารณะทั่วกรุงเทพฯ
อาทิ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) สวนลุมพินี
หรือแม้กระทั่งสวนธนบุรีรมย์ อาจจะเคยเห็น
ประติมากรรมรูปร่างประหลาดตา
ตั้งตระหง่านอยู่ให้ได้แปลกใจกันเล่น ว่า
สิ่งนี้เป็นเพียงประติมากรรมที่เอามาตั้งประดับ
เพื่อความสวยงาทเท่านั้น หรือมีความหมายใดแฝงอยู่กันแน่
แนวคิด...ประติมากรรม

นายขุนพล พรหมแพทย์ รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง
หรือพี่ขุน กล่าวถึงประติมากรรมปริศนา ว่า
ผลงานต่างๆ เหล่านี้ อยู่ภายใต้ "โครางการติดตั้งประติมากรรม"
โดยความร่วมมือของ สำนักผังเมือง กทม.
และมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ
การสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน
ตามนโยบายของนายอภิรรักษ์ โกษะโยธิน
อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เมื่อปลายปี 2550 ที่สานต่อเนื่องมายัง
ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน
ด้วยการนำตัวอย่างรูปแบบภูมิสถาปัตย์
ของเมืองน่าอยู่ชื่อดังของต่างประเทศ มาเป็นแนวทาง
แล้วใช้ศิลปะประยุกต์มาร่วมตกแต่งให้เข้ากับ
สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของ ประชาชน
ขณะเดียวกันก็เป็นการสะท้อนถึงความเป็นอยู่
ของผู้คนในบริเวณนั้นๆ อีกด้วย โดยใช้งบประมาณ
เงินอุดหนุนจากรัฐบาลจำนวน 31 ล้านบาท
ศิลปินผู้ร่วมสร้างสรรค์

สำหรับจำนวนประติมากรรมที่จะนำไปติดตั้งทั่ว
สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ นั้นมีทั้งหมด 10 ชิ้นด้วยกัน
ผ่านแนวคิดการออกแบบโดยฝีมือของศิลปินผู้มีชื่อเสียง
ได้แก่ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร
ชาวอิตาเลียน ผศ.เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชั้นเยี่ยมอาวุโส
อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ
Mr. Bettino Francini นายกกสมาคมประติมากรรม
กับสิ่งแวดล้อมโลก ผศ.อนิก สมบูรณ์ ศิลปินอาวุโส
รศ.เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินชั้นเยี่ยม
รศ.วิชัย สิทธิรัตน์ ศิลปินระดับนานาชาติ
และอาจารย์ศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินระดับนานาชาติ
โดยขณะนี้มีการนำร่องติดตั้งประติมากรรมไปแล้ว
จำนวน 4 ชิ้นผลงานด้วยกัน ส่วนอีก 6 ชิ้นที่
เหลือกำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินงานซึ่งใกล้แล้ว
เสร็จอีกไม่นานนี้ ตามการลงนาม
ในบันทึกข้อตกลงร่วมกันแล้วเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2552
ระยะเวลาดำเนินงาน 240 วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 4 ก.ย. 2552

" การที่มีงานศิลปะ คือ ประติมากรรมอยู่ที่สวนสาธารณะ
มันเป็นส่วนหนึ่งทำให้เมืองมีความสวยงาม
มีคุณค่าของสถานทที่สะท้อน ให้เห็นถึงชีวิตผู้คน
ซึ่งกทม. อยากมีประติมากรรมที่อยู่ในสถานที่ของสวนสาธารณะ
ก็เลยคิดจะทำขึ้นมา ประกอบกับได้ประสาน
กับมหาวิทยาลัยศิลปากรว่า
อยากได้ผลงานของประติมากรที่มีเชื่อเสียง
โดยมีศิลปินที่มีชื่อเสียง รวมทั้งศิลปินแห่งชาติด้วย
ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทางมหาวิทยาลัย
โดยภาควิชาประติมากรรมได้มีโอกาส
ที่จะได้นำเสนอผลงานทางด้านประติมากรรม
ออกมาสู่สายตาของสาธารณชน ในมุมกว้าง" นายขุนพล กล่าว
ประชาชนได้อะไร ?

สำหรับประโยชน์ ที่ประชาชนจะได้รับ แม้อาจประเมิน
เป็นผลงานที่อธิบายแทนคำตอบเป็นรูปธรรมชัดๆ เลยไม่ได้
แต่พี่ขุน กล่าวว่า ของอย่างนี้เป็นเรื่องทางด้านความรู้สึก
บางคนเห็นก็ชอบบางคนเห็นก็งั้นๆ บางคนก็ไม่ชอบ
ก็แล้วแต่มุมมอง ประเด็นหลักแล้ว คือ
โครงการดังกล่าวต้องการนำเข้าสู่วิสัยทัศน์ของกทม.
เพื่อให้มีความน่าอยู่อย่างยั่งยืนถาวร
ซึ่งประติมากรรมที่ติดตั้งในสวนสาธารณะปัจจุบัน
นอกจากจะสร้างมาเพื่อให้ผู้คนเดินทางเข้าไปร่วมชม
หรืออาจจะถ่ายรูปเป็นที่ระลึกแล้ว ก็ยังสมารถจับต้องได้อีก
สิ่งที่ประชาชนมีส่วนร่วมก็คือ
การได้สัมผัสเหมือนของเล่น ดังนั้นจุดติดตั้ง
ต้องเป็นจุดที่ประชาชนเข้าไปผ่อนคลายอย่างแท้จริง


ส่วนที่ว่า จะได้รับการยอมรับจากประชาชนมากน้อยแค่ไหนนั้น
พี่ขุนกล่าวว่า ภายหลังเมื่อมีการติดตั้งประติมากรรมครบทั้ง 10 จุด
ตามที่วางเอาไว้แล้วนั้น กทม.โดยสำนักผังเมืองจะส่ง
ทีมงานเข้าไปดำเนินการสำรวจความพึงพอใจหรือ
ทัศนคติ รสนิยมของประชาชน ที่มีต่อประติมากรรมเหล่านี้
ซึ่งหากได้รับการตอบรับจะมีการต่อยอดขยาย
การติดตั้งเป็นโครงการในระยะต่อไป เพราะกทม.
มีพื้นที่เยอะ ซึ่งจากการที่คุยกับอาจารย์ม.ศิลปากร
ผู้รับผิดชอบโครงการ ได้ระบุไว้ในเบื้องต้นแล้วว่า
ต้องมีการติดตั้งบนฐาน ที่ให้มีการเคลื่อนย้ายชิ้นงาน
ไปยังสถานที่อื่นๆ เพื่อให้เกิดความหลากหลาย
ไม่ซ้ำย่ำอยู่กับแบบเดิมๆในแต่ละที่
โดยอาจเปลี่ยนไปในช่วง 2 ปี เพื่อให้ประชาชนไม่เบื่อ
แต่ติดที่ว่า ตรงอุปสรรคที่ผลชิ้นงานบางอันนั้นใหญ่ หนัก
และไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ก็ต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขต่อไป

มาดูกันว่า ประติมากรรม ทั้ง 10 ชิ้น ทั้งที่มีการติดตั้งไปแล้ว
และยังไม่ปรากฎโฉมให้เราๆ ได้เห็นกันมีสิ่งใดบ้าง
ติดตั้งที่ไหน และแต่ละชิ้นงาน
สื่อความหมายเป็นอย่างไร ลองติดตามดูกันได้เลย....


ชิ้นที่ 1 ผลงานชื่อ "FRAME"
ศิลปิน Mr. Bettino Francini ชาวอิตาเลียน
นายกสมาคมประติมากรรมกับสิ่งแวดล้อมโลก
ติดตั้งไปแล้วที่ บริเวณสวนวชิรเบญทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร

แนวคิด : การถ่ายภาพด้วยกล้องจะสามารถเก็บภาพ
ในกรอบที่จำกัด และการถ่ายภาพต่อเนื่องจะสามารถ
เก็บภาพที่แสดงถึงความเคลื่อนไหวได้เป็น
อย่างดี FRAME (เฟรม) ที่วางซ้อนในแนวตั้งและ
หักเหในทิศทางที่ต่เนื่องกันให้ความรู้สึกถึงการ เคลื่อนไหว

-----------------------

ชิ้นที่ 2 ผลงานชื่อ "ต้นไม้แห่งชีวิต"
ศิลปิน ผศ.อนิก สมบูรณ์ ศิลปินอาวุโส ติดตั้งไปแล้ว
ที่บริเวณสวนลุมพินี เขตปทุมวัน
แนวคิด : ต้นไม้แห่งชีวิต หมายถึง ความรักที่มีให้
กันและกันระหว่างสามี ภรรยา เป็นความรักที่ละเอียดอ่อน
ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ การทะนุถนอม
จำเป็นต้องอยู่ในใจทั้งสองฝ่ายอยู่ตลอดเวลา
เหมือนกับการปลูกต้นไม้ ที่ต้องคอยดูแล รดน้ำ พรวนดิน
ให้ปุ๋ย เพื่อให้ต้นไม้มีความแข็งแรงและเจริญเติบโต

---------------------------

ชิ้นที่ 3 ผลงาน "3 World"
ศิลปิน รศ.เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินชั้นเยี่ยมติดตั้งไปแล้วที่
บริเวณ สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ

แนวคิด : ลักษณะของรูปทรงกลมที่เป็นลูกบอล
เป็นรูปทรงสากล ให้ความหมายกว้าง
แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความหมายเจาะจงด้วย
ลักษณะเส้นรอบนอกที่วิ่งเป็นเส้นโค้งมาบรรจบกัน
มีความหมายและให้ความรู้สึกไม่สิ้นสุด


การกำหนดให้มีพื้นที่ว่างภายในรูปทรงโดยการเจาะด้วย
เส้นตรงในแนวตั้ง แนวเฉียง และแนวนอน
แล้วกำหนดขอบเขตของที่ว่างภายในให้
ขนานกับเส้นรูปทรงภายนอกส่งผลให้รู้สึก
เบาและเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง

การเคลื่อนไหวของโลกจะหมุนด้วยภายใน
และสภาวะภายนอกที่ผลักดันอยู่ตลอดเวลา

-------------------------------

ชิ้นที่ 4 ผลงาน "สังคมแห่งความงอกงามของคุณธรรม"
ศิลปิน อ.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ
ติดตั้งไปแล้วที่ บริเวณสวนวชิรเบญทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร
แนวคิด : ขอให้มวลมนุษย์ร่วมกันปลูกพืชพันธุ์
แห่งคุณธรรมให้เจริญงอกงามขึ้น โดยเริ่มจากตนเองแล้ว
แพร่ขยายให้กว้างขวางออกไป เป็นสิ่งแวดล้อม
แห่งความดีและความงามเพื่อความสะอาด
ความสวย ความสว่าง และความพอเพียงของการดำรงชีวิตในสังคม


-------------------------------------


ชิ้นที่ 5 ผลงาน "สุริยัน" 
ศิลปิน รศ.วิชัย สิทธิรัตน์ ศิลปินระดับนานาชาติ
อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณสวนสาธารณะ
เชิงสะพานพระปกเกล้าฝั่งธนบุรี เขตคลองสาน
แนวคิด : สุริยะ เป็นพลังที่ก่อให้เกิดสิ่งทมีชีวิต
มากมายทั้งเล็กใหญ่ หลายพันธุ์และสูญสลายกลาย
สถานะตามสภาวะองค์ประกอบที่จะก่อให้เกิดสิ่งใหม่
ด้วยพลังที่มีในระบบสุริยะ

สุริยะ เป็นระบอบบอกเวลากลางวัน กลางคืน
แก่สิ่งมีชีวิในการทำกิจกรรม มนุษย์รู้จักการเตือน
การบอกกำหนดเวลาโดยใช้เสียงระฆังเตือนและ
บอกกล่าวให้เป็นที่เข้าใจร่วมกัน "สุริยัน"เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและเวลา

--------------------------------------
ชิ้นที่ 6 ผลงาน "กระจก"
ศิลปิน ผศ.เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชั้นเยี่ยมอาวุโส
อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณ
สวนสาธารณะเชิงสะพานสาทร เขตคลองสาน

แนวคิด : กระจกเงาได้นำมาใช้เพื่อกิจกรรมต่างๆ
ภาพสตรีในท่าทางส่องกระจกเป็นการแต่งหน้า
ทำผมฯ เพื่อความสวยงามบนใบหน้า
เป็นกิจกรรมที่เห็นเป็นประจำของผู้หญิงทุกคน

ลักษณะรูปทรงที่เรียบง่าย ไม่มีลายละเอียด
การตัดทอนเพื่อให้รู้สึกถึงควาามอ่อนนุ่ม เคลื่อนไหว
และอ่อนหวานเหมือนกับสตรีผู้มีแต่ความงดงาม

------------------------

ชิ้นที่ 7 ผลงาน "Protector"
ศิลปิน ผศ.เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชั้นเยี่ยมอาวุโส
อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณ
สวนสาธารณะเชิงสะพานสาทร ถนนเจริญนคร เขตคลองสาน

แนวคิด : ความรักของแม่เปี่ยมด้วยความเมตตา
กรุณา ปรารถนา ที่จะให้ทุกอย่างเพื่อลูกมีสุข
แม่เพียรพยายามทั้งแรงกาย แรงใจ
แม้จะแสนยากลำบากเพียงไรก็ไม่หวั่น
คอยทะนุถนอม ปกป้องคุ้มครอง

Protector เป็นรูปทรงผู้หญิงที่ตัดทอน
แต่เน้นความอ่อนหวานของเส้นที่เป็นเส้นโค้ง
เพื่อแสดงความรักที่มีต่อลูกได้อย่างลึกซึ้ง
การโอบอุ้มในวงแขนอย่างนุ่มนวล
คอยประคองไม่ให้เจ็บปวด

----------------------------------

ชิ้นที่ 8 ผลงาน "The Moon"
ศิลปิน อ.ศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินระดับนานาชาติ
อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณสวนสาธาณะ
หน้าวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร (ป้ายรถประจำทาง)

แนวคิด : ดวงจันทร์ที่อยู่บนท้องฟ้า
ทั้งกลางวันและกลางคืนเราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
ในคืนดวงจันทร์เต็มดวง โดยจะมองเห็นได้ถึงพื้นผิว
เหมือนรูปกระต่ายสีขาวที่มีชีวิต

เรามองเห็นดวงจันทร์ตั้งแต่เเป็นรูปเสี้ยว ครึ่ง
และเต็มดวง แต่ The Moon
เป็นประติมากรรมรูปครึ่งวงกลมเมื่อมองด้านข้าง
และมีการวางทับกันเหมือนกับวาด วงเป็นเสี้ยว
และกำลังเคลื่อนขึ้นไปเป็นภาพที่ชวนให้เกิดจินตนาการมากมาย

---------------------------------

ชิ้นที่ 9 ผลงาน "ตะกร้อ"
ศิลปิน ผศ.เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชั้นเยี่ยมอาวุโส
อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งที่ศูนย์เยาวชน
กรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง

แนวคิด : ตะกร้อ เป็นกีฬาพื้นบ้านของไทย
ผู้เล่นต้องใช้ความสามารถในการเล่น
และจำเป็นต้องมีการฝึกมาอย่างดี
ด้วยลักษณะท่าทางในการเล่นในแต่ละท่า
แสดงให้เห็นถึงความสวยงามและมั่นคง
ในการรับและการถ่ายเทน้ำหนัก

------------------------------

ชิ้นที่ 10 ผลงาน "ช้างต้นแบบ"
ศิลปิน ศ.ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร
อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณ สวนรมณีนาถ เขตพระนคร

แนวคิด : ช้างเศวตฉัตร ตามประวัติศาสตร์เป็นช้างคู่บ้านคู่เมือง
เป็นผลงานชิ้นสำคัญของ ศ.ศิลป์ พีระศรี
ที่ได้ปั้นสเก็ตเป็นต้นแบบเพื่อนำไปขยายประกอบการ
สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ดอนเจดีย์
และเพื่อการศึกษาโครงสร้าง สัดส่วน
และกายวิภาคของช้างแก่ลูกศิษย์ในการเรียน


ช้างต้นแบบเชือกดังล่าว มีความสวยงาม
ด้วยโครงสร้างที่เป็นช้างหนุ่มแสดงถึง
ลักษณะความแข็งแรง และความสง่างาม

---------------------------


ร่วมสัมผัสความงามผ่านประติมากรรมนานาไอเดีย
จากสุดยอดการออกแบบของปรมาจารย์ชั้นบรมครูได้
ณ สวนสาธารณะทั่วกรุงเทพมหานคร
งานนี้จัดแสดงให้ชมฟรีตลอดกาล ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ถ่ายรูปได้ซ้ำยังจับต้องพื้นผิวได้อีก แถมเพิ่มความสวยงาม
แฝงด้วยคุณค่าของงานศิลปะที่ต้องใช้ใจสัมผัสเท่านั้น
ถึงจะตีความหมายได้ตามที่ศิลปินได้รังสรรค์เอาไว้


ฝากไว้นิดสำหรับคนที่คิดจ้องทำลายความปรารถนาดีที่ทางกทม. จัดไว้
ขอลองใช้จิตสำนึกไตร่ตรองดูให้ดี เพราะสมบบัติทุกชิ้น
ไม่ว่าจะเป็น สวนสาธารณะ วัตถุ ประติมากรรม ต้นไม้
หรือศาสนสถาน ล้วนมาจากเงินภาษีของพวกคุณทั้งนั้น
ถ้าทุกคนช่วยรักษาสมบัติของสังคมที่ล้วนเป็น
ความรับผิดชอบร่วมกันไว้อย่างดี จะทำให้กรุงเทพฯ
เป็นเมืองน่าอยู่ที่มีแต่ความเอื้ออาทร
ลดความเห็นแก่ตัวกันที่
สิงสถิตย์อยู่รอบตัวไปได้เยอะเลยทีเดียว


โดย ภูเขาดินสอ
วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552