Custom Search

Oct 31, 2009

"ความสุข"ที่ถูกเก็บไว้


คอลัมน์ แท็งก์ความคิด
นฤตย์ เสกธีระ
max@matichon.co.th
มติชน
วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

วันก่อนเดินทางไปพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
คงรู้ๆ กันแล้วนะครับว่า พระราชวังสนามจันทร์นั้น
เป็นที่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ใช้ฝึกกองเสือป่า
ภายในพระตำหนักต่างๆ
จึงมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ประดับอยู่

แต่อีกหลายคนคงไม่รู้ว่า ที่พระตำหนักทับแก้ว
ภายในพระราชวังสนามจันทร์
ซึ่งเคยเป็นที่ประทับฤดูหนาวของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 นั้น

เดี๋ยวนี้ได้จัดให้เป็น "พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม"
บริเวณ ชั้นสองของพระตำหนัก
มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ซึ่งเป็นภาพฝีพระหัตถ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6

วันนี้ภาพนั้นแลเลือนๆ แต่ใครได้พบเห็นก็ถือว่าเป็นบุญตา
ส่วน บริเวณอื่นๆ ได้จัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม
เพื่อประกาศให้คนไทยรับรู้ว่า
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2458 รัชกาลที่ 6
ทรงจัดตั้ง "กรรมการคณะฟุตบอลแห่งสยาม" ขึ้น
มีพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา)
เป็นสภาฯนายกฯ
และทรงจัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติขึ้น
เป็นครั้งแรกของไทย
ทีมชาติไทย หรือสมัยนั้น
เรียกว่า ทีมชาติสยามชุดแรก มี 11 คน
เรียกว่า "คณะฟุตบอลสำหรับชาติสยาม"

ขอบันทึกรายชื่อนักกีฬาฟุตบอลชุดประวัติศาสตร์เอาไว้
นาย จรูญ รัตโนดม นายชอบ หังสสูต
นายตาด เสตะกสิกร นายโชติ ยูปานนท์
นายศรีนวล มโนหรทัต
นายแถม ประภาสวัต
นายกิมฮวด วณิชยจินดา
นายต่อ ศุกระกร
นายภูหิน สถาวรวณิช
นายอิน สถิตยวณิช
โดยมี ม.จ.สิทธิพร กฤดากร เป็นหัวหน้าชุด

ทีมชาติสยามนี้แข่งขันฟุตบอลกับทีมสปอร์ตคลับ
ซึ่งมีนักเตะจากสหราชอาณาจักรเป็นส่วนใหญ่

ผลการแข่งขันครึ่งแรก เสมอกัน 0-0
พอเข้าครึ่งหลังนายศรีนวล และ ม.จ.สิทธิพร
ทำสกอร์ให้แก่ทีมชาติสยาม
นำเป็น 2-0
แต่ต่อมา ทีมสปอร์ตคลับสามารถยิงเอาคืนได้ 1 ลูก
ผลการแข่งขันหลังหมดเวลา
ทีมชาติสยามชนะทีมสปอร์ตคลับ 2-1
ได้ยินได้อ่านประวัติทีมฟุตบอลไทยในอดีตแล้วก็รู้สึกสนุกสนาน
ยิ่งในพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม
นำเอารูปภาพเก่าๆ มาประดับ

มีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงฉายภาพร่วมกับทีมฟุตบอลสยาม

ยิ่งปลาบปลื้มใจ วันนั้นเดิมชมภาพต่างๆ เสียเพลิน
จากเดิมกะเกณฑ์ตัวเองว่าจะ
เที่ยวชมพระราชวังสนามจันทร์สักชั่วโมง
เพราะมีกำหนดการต่อไปที่กาญจนบุรี

แต่พอได้ชื่นชมภาพก็เหมือนคนต้องเสน่ห์
ยิ่งได้ฟังเรื่องราว "ข้างหลังภาพ" ยิ่งติดตราตรึงใจ
นี่คือสิ่งที่แตกต่างจากการชมพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ที่ผ่านมา
แตกต่างจากการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ
แตกต่างจากการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
ที่เก็บเอาสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ในอดีต

แตกต่างจากการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เหล่านั้น
เพราะการเที่ยวชมพระราชวังสนามจันทร์
และพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม
เป็นสถานที่ที่เก็บรวบรวมเรื่องราวของ
ธ ผู้ทรงเป็นพ่อแห่งแผ่นดิน

เป็นสถานที่ที่เก็บรวบรวมพระราชประวัติ
พระราชกรณียกิจ และอื่นๆ ที่มีคุณูปการต่อคนไทย

ชีวิตของพระราชวังสนามจันทร์
และพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลไทย
จึงอยู่ที่เรื่องราวหลังภาพถ่าย

เหมือนเราที่เปิดอัลบั้มรูป
แล้วรำลึกถึงอดีตที่เกิดขึ้นนั่นแหละครับ

ใครไม่เคยลองก็ควรจะลองดูบ้าง
รูปภาพที่เราเคยบันทึกไว้
และเก็บรวบรวมไว้เป็นอัลบั้ม

รูปภาพวันที่ไปเที่ยวกับคนรัก
ภาพวันหมั้น-วันแต่งงาน
ภาพวันที่ไปเที่ยวกับเพื่อน ฯลฯ

รูปภาพที่เมื่อก่อนใช้วิธีการวาด
แล้วพัฒนามาเป็นการถ่ายภาพ

จากภาพถ่ายที่ใช้กระดาษอัดภาพ
มาสู่ภาพที่สามารถบันทึกลงในแผ่นดิสก์ได้เลย

ภาพเหล่านั้นหลายคนคงเก็บเอาไว้ในลิ้นชัก
ภาพเหล่านั้นหลายคนคงเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์
เก็บไว้โดยไม่เคยเปิดออกมาดู การเก็บภาพไว้ในลิ้นชัก
ก็เหมือนกับการเอาความสุขหมกซุกไว้

แต่ถ้าวันใดเราปัดฝุ่นภาพถ่ายสมัยอดีต
เอาออกมาระลึกถึงความหลัง

สมัยอนุบาลอาจจะยังจำความไม่ได้
อานุภาพความสุขอาจจะยังไม่บังเกิด

แต่พอระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
มาถึงระดับอุดมศึกษา
พอเรามองเห็นตัวเองก็อาจจะหัวเราะก๊ากออกมา
พร้อมตั้งคำถาม "ทำไมเราถึงเชยระเบิดเลย"
ยิ่งถ้าจำเหตุการณ์ตอนบันทึกภาพนั้นๆ ได้
ความรู้สึกแห่งความภาคภูมิ
ปลาบปลื้ม ตลกขบขัน และอื่นๆ จะบังเกิดขึ้น

หากได้ดูกับคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ช่วงเวลานั้น
ก็จะยิ่งมีชีวิตชีวา
เพราะภาพแต่ละภาพนั้น
มีเรื่องราวข้างหลังให้ระลึกนึกถึง
และในภาพที่บันทึก
เรามักจะบันทึกตอนที่ชีวิตมีความสุข

บันทึกไว้ให้จดจำ
แต่ที่ผ่านมา เราเอาความสุขที่บันทึกเก็บไว้ในลิ้นชัก
จึงไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง
หากเราคิดจะไปหยิบอัลบั้มรูปเก่าๆ
มาเปิดดูอีกสักครั้ง

ความสุขเล็กๆ ก็จะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งใคร

สวัสดี


หน้า 17