คอลัมน์ แทงก์ความคิด
นฤตย์ เสกธีระ
max@matichon.co.th
มติชน
วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2552 |
มาถึงแล้วครับ งาน ""มหกรรมหนังสือ ระดับชาติ" ครั้งที่ 14"
วันเวลาที่จัดคือ "15-25 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 10-21 นาฬิกา"
สถานที่จัดคือ "ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์"
หนังสือที่นำไปจำหน่ายยังคงคับคั่ง
หลากหลายสำนักพิมพ์ต่างๆ นำเอาไปโชว์กันเยอะแยะ
และตามประสาคนกันเอง จึงอดไม่ได้
ที่จะสอบถามไปยังสำนักพิมพ์มติชน
มีอะไรดีๆ ช่วยบอกด้วย
ทางสำนักพิมพ์มติชนก็ดีใจหาย
รีบส่งเอกสารหนังสือดีของสำนักพิมพ์มาให้
อ่านรายชื่อหนังสือก็รู้
ทั้งบู๊ ทั้งบุ๋น
""ศาสตร์แห่งโหร 2553"" อาจจะจัดอยู่ในฝ่ายบุ๋น
""บันทึกลับ จ้าวจื่อหยาง"" ก็จัดอยู่ในฝ่ายบุ๋น
ส่วน ""ในคืนยะเยือก"" ที่ยอดจำหน่าย
พุ่งไปไกลก่อนงานมหกรรมหนังสือจะมาถึง
ขอจัดอยู่ในฝ่ายบู๊
ส่วนกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนเขาแอบกระซิบ
งานนี้ขอนำเสนอหนังสือ 3 เล่ม
หนึ่ง ""ออง ซาน ซูจี บนกระดานการเมืองโลก""
เรื่องราวที่ไม่มีวันจบสิ้นของชีวิตหญิงนักสู้อย่าง ออง ซาน ซูจี
คราวนี้เรียบเรียงขึ้นมาในสถานการณ์ที่ ออง ซาน ซูจี
และฝรั่งตาน้ำข้าว ถูกศาลพม่าสั่งจำคุก
เรื่องใกล้ๆ บ้าน ใกล้ๆ เมืองไทยอย่างนี้
รู้ไว้ก็ดีกว่าไม่รู้
สอง ""ครบเครื่องเรื่องแอดมิสชั่นส์""
บอกเล่าเรื่องราวที่บางคนยังสับสนว่า "แอดมิสชั่นส์" อย่างไร
บรรดาเด็กๆ ก็น่าอ่าน ผู้ปกครองเด็กยิ่งน่าอ่าน
สุดท้ายเป็นเรื่อง ""รู้...สู้หวัด""
หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับไข้หวัดสายพันธุ์เก่าและใหม่
เรียบเรียงให้อ่านเข้าใจง่ายๆ แต่ไม่ทิ้งสาระ
ทำให้เรา "รู้" และเปลี่ยนพฤติกรรมจาก "กลัว" หวัด
มาเป็นการทำความเข้าใจกับโรคอุบัติใหม่
เพราะเชื่อว่า "ความเข้าใจ" คือหนทางสู่ความสงบสุข
ปราชญ์ผู้เข้าใจวิถีแห่งธรรมชาติ
ไม่ว่าปราชญ์ผู้นั้นจะสูงสุดระดับศาสดาแห่งศาสนา
หรือจะเป็นเพียงผู้รู้วิชาที่ไม่อยากถ่ายทอดสืบต่อให้ใคร
หากเข้าใจในธรรมชาติ
ใจก็สงบ
เหมือนเราที่เข้าใจเพื่อนของเรา
แม้เพื่อนจะเกรี้ยวกราด เพื่อนจะเฟอะฟะ
เพื่อนจะงกๆ เงิ่นๆ เพียงใด
แต่เราก็ไม่โกรธ ไม่รู้สึกรำคาญ
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเข้าใจธรรมชาติเพื่อนของเรา
จึงมักมีคำพูดอยู่เนืองๆ ว่า "มันก็เป็นคนแบบนี้แหละ"
ไม่เพียงแต่ตัวตนคนเดียวเท่านั้นนะครับ
ที่ความเข้าใจมีความสำคัญมาก
การสื่อสารระหว่างคนสองคน หรือคนหลายคน
ความเข้าใจก็ยิ่งทวีความสำคัญ
อย่างวันก่อนเดินทางไปยังจังหวัดกระบี่
เที่ยวชมเยี่ยมเยียนไปตามประสาคนอยากรู้
พบศาลาในหมู่บ้าน เขียนคำไม่เล็กไม่โต แต่พออ่านออก
"สำนักงานอนุญาโตตุลาการหมู่บ้าน"
สอบถามด้วยความฉงน
ได้รับคำตอบจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดว่า
สถานที่แห่งนี้คือจุดไกล่เกลี่ย
"ไกล่เกลี่ย" หมายความว่า
พูดจาให้ปรองดองกัน, พูดจาให้ตกลงกัน
แปลความหมายได้ว่า พูดจาให้เข้าใจกัน
วิธีการทำความเข้าใจแบบอนุญาโตตุลาการหมู่บ้าน
ต้องใช้ผู้ที่ชาวบ้านนับถือเป็น "คนกลาง" ในการไกล่เกลี่ย
พูดจาให้คนผิดรู้ว่าตัวเองผิด พูดจาให้คนถูกรู้จักให้อภัย
พูดจาให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจซึ่งกันและกัน
พอสองฝ่ายเข้าใจกัน เรื่องขัดแย้งก็ยุติ
ความสงบสุขก็เกิดขึ้นแก่คนทั้งคู่
อีกที่ห่างจาก "สำนักงานอนุญาโตตุลาการหมู่บ้าน"
ไปไม่ไกลนัก
มีถนนสายใหม่ลาดยางสวยงาม
ทางโค้งมีความลาดเอียง ทางตรงรถวิ่งเรียบ
สอบถามชาวบ้านบอกว่า ภูมิใจถนนสายนี้มาก
เพราะช่วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสร้าง
ชาวบ้านไม่ได้สร้างกับมือตัวเองหรอกครับ
แต่ชาวบ้านเขาเข้าไปมีส่วนร่วมใน
การก่อสร้างถนนสายนั้นตั้งแต่ต้น
เข้าไปมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน
ตั้งแต่ของบประมาณ ขอบริจาคที่สวนยางสวนปาล์ม
ดำเนินการก่อสร้าง และตรวจสอบรับงาน
ท่านผู้ใหญ่ในองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่บอกว่า
การทำแบบนี้ทำให้ข้อครหาเรื่องทุจริตหายไปเป็นปลิดทิ้ง
เพราะชาวบ้านเขาเข้าใจทุกขั้นตอน
เข้าใจปัญหาอุปสรรคระหว่างการก่อสร้าง
เข้าใจว่าเงินแต่ละบาทแต่ละสตางค์นั้นเอาไปใช้ทำอะไร
พอชาวบ้านเข้าใจ ข้อครหาก็หมดไป
ข้อร้องเรียนข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบก็หมดสิ้น
เมื่อไม่มีข้อข้องใจ ไม่มีข้อสงสัยกันและกันได้
การพบปะพูดคุยก็ปราศจากความระแวง
ความสงบสุขก็บังเกิดอีก
ดังนั้น "ชีวิตของคนหนึ่งคน
หากสามารถเข้าใจโลกภายใน และโลกภายนอกตัวเองได้"
"ชีวิตก็เข้าสู่ความสงบ"
หากเรา เข้าใจว่าคนอีกคนที่ยืนอยู่ "เป็นอย่างที่เขาเป็นอยู่"
เราก็จะรู้สึกเวทนาสงสารแทนความรู้สึกโกรธและเกลียด
ถ้าเรา เข้าใจว่างานที่กำลังทำอยู่นี้ "มันต้องทำอย่างนี้"
เราก็จะยอมรับในข้อเสีย และแสวงหาข้อดีในงานที่กำลังทำ
ยิ่งเมื่อเรา เข้าใจว่าแผนก หรือหน่วยงาน หรือองค์กร
หรือประเทศ ที่เราดำรงอยู่ "มันก็เป็นแบบนี้แหละ"
เราก็จะสามารถดำรงอยู่ร่วมกับแผนก หน่วยงาน องค์กร
หรือประเทศนั้นๆ ไปได้อย่างมีความสุข
แม้บางครั้งเราอาจจะไม่สามารถแก้ไขจุดบกพร่องใดๆ ที่เราเห็นได้
แต่หากเราเข้าใจ เราก็จะไม่เป็นทุกข์ กับสิ่งที่เกิดขึ้น
"เพราะสิ่งต่างๆ มันก็ต้อง "เป็นแบบนั้นแหละ""
"สวัสดี"
หน้า 17