Custom Search

Oct 1, 2009

ครูดีที่สังคมถวิลหา


วรากรณ์ สามโกเศศ

มติชน

วันที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เมื่อ คนมีอายุมาสังสรรค์กัน
เรื่องที่ชอบพูดกันเป็นส่วนใหญ่ก็คือความหลัง
เรื่องหนึ่งของความหลัง
ที่เป็นประโยชน์ต่อลูกหลานก็คือ
"ครูดีมีลักษณะอย่างไร?"
ต่อไปนี้คือ
ข้อสรุปจากการถกแถลงของคนสูงอายุกลุ่มหนึ่ง

ในเบื้องต้น ครูที่ดีคือครูที่รักมนุษย์
มีความปรารถนาดีอย่างจริงใจต่อเด็ก
ถ้าใคร ไม่มีสิ่งนี้อยู่ในหัวใจ
จงอยู่ให้ห่างไกลอาชีพครูให้มากที่สุด
จะไปถางไร่ไถนาหรือประกอบกิจการ SME"s
อยู่ที่ไหนก็จงทำไปเกิด
ขออย่างเดียวอย่าได้มาเป็นครูเป็นอันขาด

ผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาไม่ ว่าจะเป็นครูหรือผู้บริหาร
ล้วนอยู่ในกิจกรรมของการสร้างคุณค่า
(value creation) ด้วยกันทั้งนั้น
สร้างคุณค่าให้แก่เด็ก ให้แก่ชุมชนและสังคม
ไม่เว้นแม้แต่สร้างคุณค่าให้ตัวครูและผู้บริหารเอง
เพราะการศึกษาที่สร้างขึ้นมานั้นมีผลกว้างไกล
มีอานุภาพอย่างมหาศาล
เพราะสามารถส่งผลกระทบด้านบวก
ไปยังผู้อยู่รอบข้างทั้งมวล

ถ้าครูไม่ มีความปรารถนาดีต่อมนุษย์โลก
และต่อเด็กนักเรียนที่ก้นบึ้งหัวใจแล้ว
งานที่ทำในแต่ละวันก็คงเป็นไปอย่างซังกะตาย
ไม่มีชีวิตชีวา ครูไม่เห็นว่างานที่ตนเองกระทำนั้น
มีคุณค่าและคงไม่เห็นว่าชีวิตตนเองนั้นมี คุณค่า

ประการที่สอง ครูที่ดีใฝ่หาความรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
เมื่อไม่แน่ใจในเรื่องที่สอนก็ขวนขวยหาความรู้
จนชัดเจนเพื่อนำไปสอนเด็ก ไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่องค์ความรู้กำลัง
ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ครูที่หยุดนิ่งก็มีแต่ครูที่ขาดลมหายใจหรือตายแล้วเท่านั้น

ประการ ที่สาม ครูที่ดีเป็นผู้มีหลักการในการครองชีวิตทีดี
เป็นตัวอย่างแห่งคุณธรรม มีหลักเกณฑ์ในการดำเนินชีวิต
และมีมาตรฐานของเกณฑ์การวัดผลซึ่งคงที่คงวา
เด็กนักเรียนภูมิใจที่ได้คนเช่นนี้มาเป็นครู
กี่สิบปีผ่านไปนึกถึงขึ้นมาครั้งใด
ก็มีแต่ความชื่นชมและสำนึกในพระคุณ

ใน ปัจจุบันในงานสังสรรค์ของศิษย์โรงเรียนเดียวกัน
เหล่าศิษย์ดูจะไม่รีรอในการกล่าวนินทาครูที่ไม่ดี
ตำหนิอย่างเป็นมติร่วมกันของผู้สังสรรค์
และครูที่ดีก็จะมีการพูดถึงอย่างนับถือรักใคร่
เพราะครูเหล่านั้นนั่งอยู่ในหัวใจของเขาเสมอ

ประการที่สี่ ครูที่ดีเป็นธรรมเสมอหน้า ใส่ใจ
และให้ความรู้เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ไม่ว่าศิษย์จะเก่งหรือไม่เก่ง ศิษย์รวยหรือจน
สวยหรือไม่สวย เป็นลูกหลานของครูร่วมโรงเรียนหรือไม่ได้เป็น
นั่งแถวหน้าหรือแถวหลัง เป็นชายหรือหญิง ฯลฯ
ไม่เลือกที่รักมักที่ชังอย่างมีอคติ
เพราะเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง

ประการ ที่ห้า ครูที่ดีมี "องค์ประกอบ"
ของความเป็นครูที่ดีคือเป็นมิตรกับเด็ก
เด็กถือว่า "พูดจารู้เรื่อง" มีเหตุมีผล ไม่เจ้าอารมณ์
ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ครูมีความสามารถ
ทำให้เด็กเกิดความไว้วางใจจนเกิดการเรียนรู้ที่มี ประสิทธิภาพ
ซึ่งสิ่งหลังนี้เป็นปัจจัยสำคัญมากเพราะจะทำให้
สามารถควบคุมชั้นเรียน ซึ่งเป็นความสามารถ
ที่จำเป็นอย่างยิ่งของความเป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้

ประการ ที่หก ครูที่ดีเป็นผู้สร้างบรรยากาศและเอื้ออำนวย
ให้เกิดการเรียนรู้ของเด็กซึ่ง
สำคัญกว่าการสอน
หากเด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็นศรัทธาในการมีความรู้แล้ว
เด็กจะสามารถไขว่คว้าหาความรู้ได้ด้วยตนเองอย่างไม่รู้จบ
การเรียนรู้เป็นการฝึกฝนให้รู้จักหาหนทางต่อสู้อุปสรรค
ฝึกฝนทักษะการคิด ฯลฯ

ตัวอย่างอันหนึ่งคือเรื่องการสอนให้เด็กว่ายน้ำเป็น
ถ้าครูสอนอย่างเดียวไม่ว่าในชั้นเรียนหรือในสระน้ำ
เด็กก็ไม่มีวันว่ายน้ำเป็น แต่ถ้าเด็กได้เรียนรู้เองจากการปฏิบัติ
ต้องหายใจเอาน้ำเข้าไปจนแสบจมูกบ้าง
ตกใจกลัวจมน้ำบ้าง
รู้จักดัดแปลงหาวิธีที่เหมาะสมกับตนเอง ฯลฯ
ก็จะว่ายน้ำเป็นในที่สุด
ดังนั้น ครูที่ดีต้อง "สอนน้อยๆ และให้เรียนรู้มากๆ"

ประการที่เจ็ด ครูที่ดีมิได้เป็นเพียงครูที่มีความรู้ดี ตั้งใจสอน
เสียงดังฟังชัด จนอาจเรียกได้ว่าสอนหนังสือดีเท่านั้น
แต่ต้องเป็นผู้ยั่วยุ กระตุ้นให้เด็กคิด เด็กฝัน
มีความทะเยอทะยาน ใฝ่ดี มีความคิดในเรื่องเข็มทิศศีลธรรม
(คิดเองได้ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก)
ศรัทธาในการดำเนินชีวิตตามครรลองประชาธิปไตย
(เคารพมนุษย์และเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง) ฯลฯ

และในปัจจุบันจำเป็นต้องส่งเสริมให้เด็กได้แสดงออกความเป็นผู้นำ
ตลอดจนมีความคิดริเริ่มอีกด้วย

ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะบางประการในการส่งเสริมกระบวนการคิดเป็น
และการมีความคิดริเริ่มของเด็กๆ ดังที่เคยเห็นมา ดังนี้

(ก) การออกไปทัศนศึกษานอกสถานที่และ
ให้เด็กเขียนรายงานเรื่องที่ไปมานั้นไม่เป็น
ประโยชน์เพราะเด็กก็ไปดาวน์โหลดข้อมูลสถานที่จากเว็บไซต์
และครูก็อาจไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ ทำไมไม่ให้เด็กเขียนรายงานสั้นๆ
ตอบคำถามว่า เหตุใดสถานที่ไปมาจึงสำคัญ?
เหตุใดเด็กจึงควรให้ความสนใจกับสิ่งที่แสดงอยู่ในสถานที่ไปดูมา?
ชุมชนควรมีบทบาทในการช่วยรักษาพิพิธภัณฑ์ที่ไปมาอย่างไร?
สรุปก็คือควรระดมให้คำถาม ทำไม? อย่างไร?
มากกว่าคำถาม อะไร? เพราะเด็กจะต้องคิดเอง
เนื่องจากไม่มีคำตอบสำเร็จรูป

(ข) การร้องเพลงชาติทุกวันหน้าเสาธงและครูใหญ่ยืนพูดอบรม
(มักพูดยาวและบ่อยครั้งคือการบ่น)
โดยเด็กยืนกลางแดดร้อนทุกวันนั้นน่าเบื่อหน่าย เด็กก็ไม่ค่อยฟัง
หลายโรงเรียนมันเป็นเหตุการณ์ที่ขาดนวัตกรรมและ
ไม่มีความหมายนักในสายตาเด็ก
ทำไมไม่ให้เด็กแต่ละห้องผลัดกันมาเล่นดนตรี
และร้องเพลงชาติหรือประสานเสียง
ในแนวที่เขาอยากทำและเห็นว่าเหมาะสม
เขาจะได้รู้จักร่วมกันคิด ทุกคนก็จะคอยดูว่าอีกห้องเขาทำอย่างไร
สนุกสนาน และเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้
ความสำคัญของการมีเพลงชาติ
และเรื่องต่างๆ ที่โยงถึงความเป็นชาติอีกด้วย

(ค) ในโอกาสหน้าเสาธงตอนแปดโมงเช้าเช่นนี้
ส่วนหนึ่งของเวลาน่าจะมอบให้เด็กได้ผลัดกันขึ้นมาพูด
ในเรื่องที่เขาเห็นว่า เหมาะสม ครูใหญ่อาจมอบหัวข้อกว้างๆ
ให้เขาไปคิดกันเองว่าจะพูดเรื่องอะไร
ซึ่งโอกาสนี้จะสร้างความเชื่อมั่นการรู้จักคิดวิเคราะห์
การได้มาซึ่งข้อยุติจากการประชุมเลือกคนและสิ่งที่ควรพูด ฯลฯ
ให้แก่มวลเด็ก

ในหลายกรณีผู้เขียนคิดว่าเด็กอาจทำได้เป็นเรื่องเป็นราว
และน่าฟังกว่าครูพูดเองด้วยซ้ำ

ครู ส่วนใหญ่อยากเป็นครูที่ดีมีลักษณะดังข้างต้นด้วยกันทั้งนั้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่มักเกิดขึ้นก็คือได้แต่รับฟัง
แต่ไม่นำไปปฏิบัติเพราะเคยชินกับสิ่ง
ที่เคยปฏิบัติมาตลอดชีวิต หวังในใจลึกๆ
ว่าถึงจะทำอย่างที่เคยทำมาแต่ผลก็จะดีกว่าเดิม
แต่ถ้ามันไม่เกิดขึ้นจริงก็ไม่มีผลต่อตนเองในทางลบมากมาย
แต่อย่างใดภายใต้ บริบทของการบริหารงานบุคคลในปัจจุบัน

เฉพาะผู้ที่คิดได้เท่านั้นว่า หากตนเอง
ยังคงทำอะไรไม่แตกต่างไปจากเดิม
ผลที่เกิดขึ้นในอนาคตก็เหมือนเดิมอย่างแน่นอน
ถ้าต้องการการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
สิ่งที่ทำในปัจจุบันก็ต้องผิดไปจากเดิม

ครูทรงอานุภาพอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม
ผ่านอิทธิพลที่มีต่อเด็กซึ่งจะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตอันใกล้

ความรับผิดชอบต่อการมีพลานุภาพนี้
จึงเป็นสิ่งซึ่งสังคมคาดหวังมากจากครูทุกคน

หน้า 6

Mirror : http://www.sahavicha.com/?name=article&file=readarticle&id=1301