Custom Search

Oct 17, 2009

พระพุทธจริยวัตร 60 ปาง ปางถวายสัตตุก้อนสัตตุผง

คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2552


" สัตตุก้อน สัตตุผง" ที่พานิชสองพี่น้องถวายคืออะไร
สงสัยนานมาก ไม่ได้ถามผู้รู้ และไม่ได้เปิดตำรา
จนถูกลูกศิษย์ถามนั่นแหละ
จึงได้ไปเปิดพระไตรปิฎกดูได้ความดังนี้ครับ

สิ่งที่สองพี่น้องถวาย พระพุทธเจ้าคือ
มนฺถญฺจ มธุปิณฺฑิกญฺจ (มันถะ และ มธุบิณฑิกะ)
มันถะ คือ ข้าวตากที่ตำละเอียด
น่าจะเป็น "สัตตุผง" มธุบิณฑิกะ คือ
ข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นก้อนๆ
นี่น่าจะเป็น "สัตตุก้อน"
เพราะฉะนั้นข้อความตรงนี้
ต้องแปลตามลำดับว่า "สัตตุผง และ สัตตุก้อน"

ใน สัปดาห์ 7 (ที่ 3 ตามลำดับในพระไตรปิฎก)
พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด)
เข้าใจว่าพวกราชา หรือ มหาราชา คงมาพักที่นี่บ่อย
จึงเรียกว่า "ราชายตนะ" (ที่พักของพวกราชา)
ขณะนั้นพ่อค้าสองพี่น้องมาจาก อุกกลชนบท เพื่อค้าขาย
เห็นพระพุทธองค์ก็เกิดความเลื่อมใส
ได้น้อมนำเอาข้าวสัตตุผง และสัตตุก้อนไปถวาย

ขณะนั้นพระพุทธองค์ยังไม่มีบาตร ท้าวโลกบาลทั้ง 4
จึงน้อมนำบาตรองค์ละใบ พระพุทธองค์ทรงดำริว่า
บาตรใบเดียวย่อมเพียงพอแก่เรา จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง 4 ใบ
ประสานเข้ากันเป็นใบเดียว ทรงรับข้าวสัตตุผง
และสัตตุก้อนจากพานิชทั้งสอง
เสวยเสร็จก็ทรงประทานอนุโมทนา

ทั้งสองได้กล่าววาจาถึงพระรัตนะทั้ง สอง (คือ พระพุทธ พระธรรม)
เป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต ทั้งสองจึงได้ชื่อว่าเป็น
"เทวฺวาจิกอุบาสก" (อุบาสกผู้ถึงรัตนะสอง)
เป็นคู่แรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

พานิชสองพี่น้องได้กราบทูลลาพระพุทธองค์กลับไปยังบ้านเมืองของตน

ใน พระไตรปิฎกเขียนไว้เท่านี้ แต่ในอรรถกถาเขียนเพิ่มว่า
ทั้งสองคนกราบทูลว่า เมื่อพวกตนกลับยังมาตุภูมิแล้ว
คิดถึงพระพุทธองค์ขึ้นมาจะทำประการใด
พระพุทธองค์ทรงลูบพระเศียร
พระเกศาแปดเส้นก็หลุดติดพระหัตถ์มา
พระองค์ทรงประทานให้สองพี่น้องนำไปบูชา ว่าอย่างนั้น

ถึงตรงนี้ ปราชญ์พม่าก็สวมรอยทันที บอกด้วยว่า
พานิชสองพี่น้องนั้นเป็นชาวพม่า คือ เป็นชาวหงสาวดี
เดินทางจากหงสาวดีไปค้าขายยังชมพูทวีป
พบพระพุทธองค์ ถวายภัตตาหารแก่พระองค์
และได้รับประทานพระเกศธาตุแปดองค์กลับยังบ้านเมืองของตน
เมื่อไปถึงก็ได้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระเกศธาตุนั้นไว้บูชา
ตราบมาจนทุกวันนี้และพระเจดีย์นั้นก็คือ
พระธาตุชะเวดากอง นั้นเอง
ว่าอย่างนั้น อะไรจะปานนั้น

พูดถึงตรงนี้ นึกขึ้นมาได้ว่า ครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
มีสัมมนาเรื่อง "ลัทธิความเชื่อของพม่า" เขาเชิญผมไปพูดเรื่อง
พระพุทธศาสนาในพม่า จำได้ว่าได้ยกเอาเรื่องพ่อค้าสองพี่น้อง
ที่ชาวพม่าอ้างว่าเป็นชาวหงสาวดีมาพูดด้วย

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง พยายามจะเอาคำตอบจากผมว่า
ผมเชื่ออย่างนั้นหรือไม่ ถ้าไม่เชื่ออย่างไร
ผมไม่สามารถตอบได้ พูดเลี่ยงไปว่า
พิจารณาตามคำศัพท์ของอาหารที่สองพี่น้องถวาย
น่าจะเป็นคนจีนนะ

"เหตุผล" ท่านผู้นั้นถาม

"ก็ท่านใช้คำว่า มนฺถํ มันใกล้เคียง หมั่นโถ น่ะ" ผมว่า
เรียกเสียงฮาทั่วห้องประชุม

"แต่พิจารณาตามชื่อ น่าจะเป็นคนไทย" ผมพูดเล่นต่อ

คราวนี้ไม่รอให้ถาม ผมกล่าวต่อเลยว่า
"ท่านลองฟังดูสิ คนพี่ชื่อ ตปูสสะ คนน้องชื่อ ภัลลิกะ
มันก็ตาบุตร กับ ตาพัน เราดีๆ นี่เอง"

อย่า ซีเรียสนะครับ เล่าให้ฟังเฉยๆ จนบัดนี้เราก็ไม่ทราบว่า
สองพี่น้องเป็นใครกันแน่ รู้แต่ว่าเป็นชาวอุกกลชนบท
ซึ่งอรรถกถาบอกเพียงเลาๆ ว่า อยู่ทางเหนือของอินเดีย
แถวๆ ตักกสิลาเก่า กลับบ้านเมืองของตนแล้ว
เป็นอยู่อย่างไรก็หายจ้อย ไม่มีที่ไหนกล่าวถึง

ถึง อย่างไร สองพี่น้องก็มีชื่อจารึกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ให้กล่าวขวัญถึงตลอดไป ว่า ผู้ถึงพระรัตนะสอง
(คือ พระพุทธ และพระธรรม) คู่แรก คือ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ
แห่งอุกกลชนบท ผู้ถึงพระรัตนตรัยคู่แรกคือ
บิดาและมารดาของพระยสะ

มารดา ของพระยสะ ว่ากันว่าคือนางสุชาดา
ธิดาแห่งนายบ้านอุรุเวลาเสนานิคม
ผู้ถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธองค์ก่อนตรัสรู้นั้นแหละครับ
ตำราบอกไว้อย่างนั้น

มีข้อสงสัยนิดเดียว นางสุชาดาอยู่ตำบลพุทธคยา
มารดาพระยสะอยู่เมืองพาราณสี
ห่างกันหลายร้อยกิโล ไม่น่าจะเป็นคนเดียวกัน

แต่ ก็มีผู้เฉลยว่า เมื่อก่อนน่ะใช่ สุชาดาอยู่ตำบลพุทธคยา
เมื่อแต่งงานแล้วได้ตามไปอยู่กับตระกูลสามีที่เมืองพาราณสี
เคยบนเทพที่ต้นไทรไว้ก่อนแต่งงานแล้วก็ลืม
พอได้บุตรจนบุตรโตแล้วนึกขึ้นมาได้
จึงกลับไปแก้บนที่บ้านเกิด ว่าอย่างนั้น

เมื่อไม่มีคำอธิบายเป็นอย่างอื่น
ก็ต้องรับฟังตามนี้ไปก่อนครับ


หน้า 6