Custom Search

Jan 19, 2009

อเมริกายุคโอบามา

อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
มติชน
วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552

นายบารัค โอบามา วัย 47 ปี มีกำหนดเข้าทำพิธีสาบานตน
เป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของประเทศสหรัฐอเมริกาตามประเพณีปฏิบัติ
ในวันอังคารที่ 20 มกราคม 2552 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
เพื่อเริ่มต้นวาระการทำหน้าที่ "ผู้นำ" ชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก
การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของโอบามาเกิดขึ้น
ท่ามกลางความมุ่งหวังอย่างแรงกล้าของประชาชนชาวอเมริกากว่า 300 ล้านคน ซึ่งต่างต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้นในสภาพสังคมการเมืองและเศรษฐกิจของอเมริกาเอง รวมถึงสถานการณ์ในระดับโลกด้วย
จากความหวังดังกล่าว ทำให้การรณรงค์หาเสียงของนายบารัค โอบามา
วุฒิสมาชิกแห่งรัฐอิลลินอยส์ ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต สามารถกวาดชัยชนะได้อย่างถล่มทลายในวันหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว
โดยได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral vote) ถึง 365 เสียง และคะแนนเลือกตั้งจากชาวอเมริกัน (Popular vote) อีกร้อยละ 52.7
นับว่าทิ้งห่างคู่แข่งแห่งพรรครีพับลิกัน คือนายจอห์น แม็คเคน อย่างชัดเจนเพราะได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งเพียง 173 เสียง
และคะแนนจากชาวอเมริกันร้อยละ 45.9


กลยุทธ์สำคัญของโอบามาในการรณรงค์หาเสียง คือ
การชูประเด็นและใช้คำขวัญว่า "ความเปลี่ยนแปลงที่พวกเราเชื่อมั่น" ซึ่งช่วยจุดประกายฝันให้กับอเมริกันชนส่วนใหญ่ได้้
ภายหลังต้องประสบกับภาวะอันเลวร้าย
ทั้งผลพวงจากการล้มละลายทางเศรษฐกิจของหลายสถาบันการเงิน ตลอดจนผลกระทบจากการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย
ในประเทศอิรักและอัฟกานิสถาน


ในเบื้องต้น ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ หมายถึงการผลัดเปลี่ยนตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน
คือนายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ผู้ยึดครองทำเนียบขาวมายาวนานตลอด 8 ปีโดยมีการดำเนินนโยบายแบบ "สายเหยี่ยว"
อันแข็งกร้าวในการตอบโต้กลุ่มผู้ก่อการร้าย
จนกระทั่งหลายต่อหลายครั้งเพิกเฉย
หรือละเลยต่อคำเตือนของมิตรสหายนานาประเทศ
ด้วยเหตุนี้
นายบารัค โอบามา จึงมีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระดับโลกได้ ด้วยการใช้นโยบายการทูตแบบพหุพาคีนิยม (Multilaterlism) ซึ่งพรรคเดโมแครตมีความสนใจและถนัดในวิเทโศบายดังกล่าว
มากกว่าพรรครีพับลิกัน

การเสนอให้นางฮิลลารี คลินตัน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ โดยมอบบทบาทให้กับอดีตสตรีหมายเลข 1 ผู้มีประสบการณ์สูงยิ่งทางการเมือง ทั้งในฐานะวุฒิสมาชิกและภริยาของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งเคยประสบความสำเร็จอย่างมากมาแล้วในเวทีโลก
นโยบายทางการทูตแบบพหุพาคี
ยังเป็นผลดีต่อสภาพความเป็นจริงของโลกปัจจุบัน เนื่องจากแรงผลักดันทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจนั้น เกิดขึ้นมาจากพลังอิทธิพลของกลุ่มประชาคมยุโรป
สหพันธรัฐรัสเซีย รวมทั้งชาติเอเชีย คือ ญี่ปุ่น จีน อินเดียและโลกอาหรับ
ดังนั้น ดุลอำนาจระหว่างประเทศ จึงควรมีลักษณะเป็น โลกหลายขั้ว (Multi-polar World) ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกายังเป็นมหาอันดับหนึ่งของโลกอยู่ก็ตาม
ความผิดพลาดจากการ "ลุยเดี่ยว" เข้าทำสงครามในประเทศอิรัก จนกระทั่งกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งของรัฐบาลอเมริกัน
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คือสิ่งบ่งชี้อันเด่นชัดว่าชาติมหาอำนาจ ไม่สามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศได้อย่างเสรีเสมอไป หากปราศจากความเห็นชอบหรือฉันทานุมัติจากประชาคมโลก
เมื่อพิจารณาจากประวัติและที่มาของนายบารัค โอบามาแล้ว แนวโน้มที่เห็นชัดเจนอีกประการหนึ่ง คือ
ความเปลี่ยนแปลงด้าน "มิติทางวัฒนธรรม"
ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้นำผิวสีคนแรกแล้ว ยังมีพื้นเพความเป็นมาอันหลากหลาย โดยเริ่มจากเชื้อสายอเมริกัน-เคนยาและการเติบโตขึ้นมาในสังคมนอกกระแส ทั้งที่มลรัฐฮาวายและในประเทศอินโดนีเซีย
การใช้ชีวิตวัยหนุ่มเข้ารับการศึกษาบนผืนแผ่นดินใหญ่อเมริกา
ทั้งฝั่งตะวันตก คือนครลอสแองเจลิส
และฝั่งตะวันออกที่กรุงนิวยอร์กกับนครบอสตัน ยิ่งกว่านั้น ยังลงหลักปักฐานพำนักอาศัยอยู่ที่เมืองชิคาโก
ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมให้โอบามา สามารถสื่อสารโดนใจชาวอเมริกันส่วนใหญ่ได้
บารัค โอบามา
จึงเปรียบเสมือนตราสินค้า อันแสดงถึงความเป็นพหุวัฒนธรรมนิยม (Multiculturalism) ของสังคมอเมริกันปัจจุบัน ซึ่งในอดีตมีบรรพบุรุษมาจากร้อยพ่อพันแม่

ที่สำคัญ การเป็นคนรุ่นใหม่
ผู้มีความหลากหลายเป็นคุณลักษณะเด่นประจำตัวดังที่ได้กล่าวมา ทำให้ประชาชนชาวอเมริกันและบรรดาชาวโลกทั้งหลายล้วนต่างส่งกำลังใจ
และให้เสียงตอบรับที่ดีกับโอบามากันเป็นส่วนใหญ่

ถึงที่สุดแล้ว ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะดีหรือไม่
คงขึ้นอยู่กับผลงานของนายบารัค โอบามา
ในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

หน้า 6