Custom Search

Jan 31, 2009

เรื่องของเงิน



คอลัมน์ จับจิตด้วยใจ
นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
มติชน
วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เมื่อคืนวันพฤหัสที่ 8 มกราคม 2552 ที่ผ่านมานี้เอง
ผมได้มีโอกาสชมรายการของโอปราห์ วินฟรีย์ ทางเคเบิลทีวี
ในครั้งนี้เธอได้เชิญนักการเงินชื่อดังท่านหนึ่ง
ซึ่งผมต้องขออภัยอย่างสูงที่จำชื่อของเธอไม่ได้
โอปราห์เชิญเธอให้มาพูดถึงเรื่อง "วิธีจัดการกับเงิน"
ที่คนอเมริกันควรจะต้อง "ปรับเปลี่ยน"
เพื่อเผชิญหน้าและรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังตกต่ำย่ำแย่อยู่ในขณะนี้
เป็นสภาวะที่คนอเมริกันไม่เคยต้องเจอมาก่อนเป็นเวลานานมากแล้ว
นักการเงินท่านนี้ได้แนะนำหลายเรื่องหลายวิธีเกี่ยวกับการใช้เงิน
โดยเฉพาะเรื่องการเป็นหนี้บัตรเครดิตที่ค่อนข้างน่าตกใจมาก
ที่คนอเมริกันส่วนใหญ่จะมีบัตรเครดิตกันคนละหลายๆ ใบ
ในรายการนี้มีผู้ร่วมรายการท่านหนึ่งที่มีบัตรเครดิตมากถึงยี่สิบสามใบ
และที่น่าตกใจกว่านั้น
ก็คือเจ้าของบัตรไม่เคยรู้ว่าตัวเองเป็นหนี้บัตรเครดิตเท่าไรแน่
ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะ "ความไม่รู้ตัว" ในการใช้เงิน
ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายไม่น้อยเลย
เพราะความสามารถในการเป็นอิสระในทางการเงินนั้นไม่ได้อยู่ที่การหาเงินได้มาก
แต่อยู่ที่ความสามารถในการเก็บออมเงินซึ่งจะต้องอาศัย "ความรู้ตัว"
ในการใช้เงินรายการของโอปราห์ในวันนั้น
ยังได้แนะนำสิ่งที่ควรปฏิบัติที่พอจะทำได้จริงสามอย่าง ครับ
หนึ่ง คือให้ทดลองไม่ใช้เงินเลยเป็นเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง
คำว่า "ไม่ใช้เงิน" ในที่นี้หมายถึง "ไม่ใช้จ่าย"
อะไรเลยเป็นเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงติดต่อกัน
ไม่ใช่ว่าไม่ใช้เงินแล้วไปใช้บัตรเครดิตแทนนะครับ
สอง ให้ลองไม่ใช้บัตรเครดิตเลยเป็นเวลาเจ็ดวันติดต่อกัน
เพราะอย่างที่เรียนข้างต้นมาแล้ว เธอพบว่า
คนอเมริกันใช้บัตรเครดิตกันแบบเป็นอัตโนมัติที่ไม่รู้ตัวเยอะมาก
การทดลองไม่ใช้บัตรเครดิตเป็นเวลาเจ็ดวัน
จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้เรากลับมา "รู้ตัว" ได้มากขึ้น
ในเวลาที่จำเป็นจะต้องใช้จริงๆและ
สาม ให้ลองไม่กินอาหารในร้านหรูเป็นเวลาหนึ่งเดือน
เพราะเธอมองเห็นว่าคนอเมริกัน
โดยเฉพาะคนชั้นกลางนั้นเสียค่าใช้จ่ายไปกับการกินอาหารนอกบ้าน
ที่หรูหราฟุ่มเฟือยบ่อยครั้งมากเกินไป
และอาจจะไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยอยู่ในขณะนี้
การไม่กินอาหารนอกบ้านจะช่วยทำให้ประหยัดรายจ่าย
ให้กับครอบครัวได้เยอะมากจากนั้นเธอได้ตั้งคำถามกับผู้เข้าร่วมรายการว่า
มีใครที่คิดว่าตัวเองจะทำไม่ได้ในข้อไหนบ้าง
มีคนยกมือหลายคน และส่วนใหญ่จะบอกว่า
ข้อแรกที่ "ให้ลองไม่ใช้เงิน" เลยเป็นเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง
ข้อนี้หลายคนรู้สึกว่าตัวเองจะทำไม่ได้ในขณะที่กำลังดูรายการนี้อยู่
ผมก็ลองนึกถึงตัวผมเองบ้าง อืมมม จริง
ข้อแรกที่ไม่ให้ใช้เงินเลยนี้ออกจะไม่ง่ายเลยจริงๆ ด้วยนะ
สำหรับข้อสอง เรื่องการไม่ใช้บัตรเครดิตเจ็ดวัน
ก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไรสำหรับผม
เพราะผมมีบัตรเครดิตใบเดียวและจะใช้เฉพาะตอนที่สั่ง
หนังสือจากต่างประเทศมาอ่านเท่านั้น
นอกจากนั้น ก็แทบจะไม่ได้ใช้เลย ผมไม่มีปัญหาในเรื่องนี้
เรียกว่าผมไม่ต้องใช้บัตรเครดิตเป็นเดือนๆ
เลยก็ยังทำได้สบายๆ
ส่วนข้อสาม เรื่องไม่กินข้าวในร้านหรูๆ เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มนี้
ก็ไม่ยากครับ
เพราะในช่วงหลังๆ นี้ ผมและครอบครัวก็ไม่ชอบ
ที่จะออกไปรับประทานอาหารหรูหรานอกบ้านกันอยู่แล้ว
ที่ดูจะยากก็คือข้อแรกให้ลองไม่ใช้เงินไม่ใช้จ่ายเลยยี่สิบสี่ชั่วโมงนี้
อืมมม ผมรู้สึกเหมือนผู้เข้าร่วมหลายๆ ท่าน
ในรายการของโอปราห์ที่ว่าอาจจะไม่ง่ายนัก
แต่ผมก็พบว่า น่าทดลองทำดูวันรุ่งขึ้นเป็นวันศุกร์
ซึ่งตามปกติหลังจากที่ส่งลูกสาวไปโรงเรียนแล้วผมจะไปหาอาหารเช้าง่ายๆ
รับประทานแล้วก็ไปนั่งร้านกาแฟ
สั่งกาแฟมาดื่มพร้อมๆ กับนั่งแช่เพื่ออ่านหนังสือเขียนหนังสือไปเรื่อยๆ
จนเที่ยงวัน รับประทานอาหารเที่ยงแล้ว
บางวันก็ใช้เวลาในช่วงบ่ายไปนวดแผนโบราณสบายๆ
แล้วค่อยกลับเข้ามาทำงานที่คลีนิคในตอนบ่ายแก่ๆ
จนถึงค่ำ แล้วก็ไม่ได้ออกไปไหน
เมื่อเย็นก็มักจะเป็นอาหารง่ายๆ เช่น
ข้าวแกงหรือกับข้าวที่ซื้อมาจากร้านในตลาดเช้าวันนั้นผมนึกอยากจะทดลอง
"ข้อแรก" ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในรายการของโอปราห์แนะนำดูว่า
พอจะทำอะไรได้บ้างหรือไม่ แทนที่จะไปหาอาหารเช้ารับประทาน
ผมก็ขับรถกลับเข้าบ้าน หาอาหารที่มีอยู่ในตู้เย็นมารับประทาน
และเมื่อออกกำลังกายเรียบร้อยแล้วแทนที่จะออกไป
นั่งร้านกาแฟร้านโปรดเหมือนเช่นเคย
ผมก็นั่งทำงานที่บ้าน อ่านหนังสือเขียนหนังสือ
เสิร์ฟกาแฟตัวเองในบ้าน มื้อกลางวันก็ยังคงรับประทานที่บ้าน
บ่ายและเย็นก็ยังคงทำงานในบ้านสลับกับการออกไปเดินรอบๆ
บ้านเป็นครั้งคราว มื้อเย็นซึ่งเป็นมื้อเบาๆ
ผมก็ยังพบว่า มีอาหารที่เก็บไว้ในบ้านยังเหลือพอรับประทาน
ซึ่งผมก็พบว่า อืมมม ที่ผ่านมา ผมเก็บอาหารไว้เยอะมาก
และนึกขึ้นมาได้ว่าหลายครั้งหลายหนที่ผมเก็บอาหารไว้นานจน
ต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดายอย่างไม่น่าเชื่อในวันนั้นก็เลยกลายเป็น
"ครั้งแรกวันแรก" ที่ผมพบว่าผมไม่ได้ควักเงินออกจากกระเป๋า
สตางค์เลยสักบาทเดียวเป็นความรู้สึกที่แปลกดีหลายอย่างครับ
คือแน่นอนว่าปัจจัยหลายอย่างอาจจะเอื้อพอดีว่า
อาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็นมีมากพอ
ไม่ได้มีธุระที่จะต้องเดินทางหรือจะต้องเป็นวันที่จะต้องจ่ายค่าโน่นค่านี่
เป็นวันที่ยังไม่ต้องการซื้อของใช้จำเป็นอะไร
หรืออื่นๆแต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากเรื่องนี้ก็คือ
หากว่าเราไม่ได้ทดลองตั้งใจดูว่าจะไม่ใช้เงินเลย
ในวันนั้นผมก็อาจจะยังคงใช้เงินอยู่
อย่างน้อยก็ต้องจ่ายเป็นค่าอาหารเช้า ค่าอาหารกลางวัน
และค่ากาแฟลาเต้แน่ๆเงินที่ผมเหลือเก็บไว้ไม่ได้ใช้ในวันนั้น
อาจจะไม่ใช่เงินจำนวนมากมายอะไร
แต่จำนวนเงินไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ
การทดลองทำแบบนี้ทำให้ผม "ตื่นรู้"
กับเวลาที่จะต้องใช้เงินมากขึ้นไปจากเดิมมาก
เพราะผมเคยเชื่อว่าตัวเองตื่นรู้ดีในระดับพอสมควรแล้ว
ในเรื่องของการจับจ่ายใช้สอย
เมื่อลองทำแบบนี้ก็ยังพบว่า ที่จริงผมยังมี "จุดบอด"
ในการใช้เงินอีกไม่น้อยเลยจากวันนั้นจนถึงวันที่เขียนบทความนี้
เป็นเวลาสองสัปดาห์พอดี แม้ว่าผมจะยังไม่สามารถทำได้
แบบวันที่ไม่ใช้เงินได้อีก แต่ผมพบว่า "การหาโอกาส"
ที่จะ "ไม่ใช้เงิน" ของผม ทำให้ผมกลับมา "มองเห็น"
วิธีการใช้จ่ายของตัวเองได้มากขึ้นและสนุกสนานไม่น้อย
เพราะตอนเย็นผมก็ได้ลองจดรายจ่ายทั้งหมดในแต่ละวัน
พบว่ามีอยู่อย่างน้อยสองสามครั้งที่ "เกือบจะ"
ทำได้เหมือนกับเมื่อวันศุกร์ที่ 9 มกราคมอีกยืนยันว่า
การทดลองเรื่องนี้ไม่ใช่ "การตระหนี่"
นะครับแต่เป็นเรื่องที่ทำให้เราได้มองเห็นอะไรบางอย่าง
ยกตัวอย่างง่ายๆ ในกรณีนี้ก็คือ
ผมพบว่าผมซื้ออาหารเก็บไว้ในตู้เย็นมากเกินไป
และหลายครั้งต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น
การทดลองจากรายการโอปราห์ในครั้งนี้จึงได้
ทำให้ผมกลับมา "รู้ตัว" ที่กระเป๋าสตางค์ของผมได้ดีขึ้นไม่น้อย
และผมคิดว่าการฝึกฝนเช่นนี้ก็น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจ
ที่คนไทยกำลังต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้เช่นเดียวกันกระมังครับ
หน้า 6

ภาพ ชัย ราชวัตร