GM Magazine vol. 23 no. 360 July 2008
http://www.gmgroup.in.th/main/home2_content.php?mode=1&group=2&id=19&id_run=1&groupbook=2
คนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง แวดวงเศรษฐกิจ
คนที่เป็นนักอ่านหรือแม้แต่คนที่เกี่ยวข้องกับ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์น้อยที่สุดนั้น
ต่างรู้จัก รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นอย่างดี
สำหรับคนที่ไม่รู้จักอาจารย์วรากรณ์ GM
ขออนุญาตทำหน้าที่แนะนำคร่าวๆ
ชื่อของ รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ
เป็นที่รู้จักกันในวงวิชาการมานาน
ในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ผู้ออกมาให้ความเห็น
ในประเด็นเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อสังคมตามสื่อต่างๆ มา
โดยตลอดอีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดี
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
แต่ที่ทำให้ผู้คนในสังคมรู้จัก รศ.ดร. วรากรณ์ อย่างกว้างขวาง
เห็นจะมาจากบทความในคอลัมน์ ‘อาหารสมอง’
ที่ตีพิมพ์ในมติชนรายสัปดาห์
ภายใต้นามปากกา ‘วีรกร ตรีเศศ’
อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538
มากไปกว่านั้น คอลัมน์นี้ยังได้รับความนิยมเมื่อถูกนำมารวมเล่มเป็น
หนังสือ ‘โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี’ ที่ถึงวันนี้พิมพ์ออกมาแล้ว 7 เล่ม
นี่ยังไม่นับหนังสือที่รวบรวมจากบทความต่างๆ
อาทิ First, Best, Different, เงินไหลมา, เงินทองของไม่หมู
หรือ เครื่องเคียงอาหารสมอง ซึ่งเป็นเล่มล่าสุด
ไม่หมดแค่นั้น เพราะปีที่แล้วชื่อของ รศ.ดร. วรากรณ์ตกเป็นข่าวอีกครั้ง
เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
แต่หน้าที่เหล่านั้นก็หมดลงหลังจากการเลือกตั้ง
เมื่อ 23 ธันวาคมปีที่แล้ว
พร้อมๆ กับการมาถึงของรัฐบาลใหม่ที่ว่ากันว่า ‘ขี้เหร่’ ที่สุด
อีกชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ทำให้ รศ.ดร. วรากรณ์ยุติบทบาท
ในการเป็นผู้เฝ้ามองสังคมไทยตามไปด้วย
เพราะ รศ.ดร. วรากรณ์ยังคงเฝ้าดูความเป็นไปของบ้านเมืองแบบ
‘อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ’ ในหลายๆ มิติ
ไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจอันเป็นสาขาที่อาจารย์ถนัด
หากยังรวมไปถึงแวดวงการเมือง การศึกษา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
มาโดยตลอด
และไม่เพียงแต่สังคมไทยเท่านั้น
สายตาของอาจารย์ยังกว้างไกลไปถึงการตรวจสอบสถานการณ์ต่างๆ
ที่เกิดขึ้นทั่วโลกยามนี้ เพราะเชื่อว่าความเป็นไปของโลก
ย่อมส่องสะท้อนความเป็นไปของประเทศ
เมื่อทั่วโลกไหวเคลื่อนสังคมไทยก็ย่อมกระเพื่อมตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ GM เลือกที่จะพูดคุยกับ รศ.ดร. วรากรณ์
ในเย็นของวันก่อนหน้า ที่กลุ่มพันธมิตรฯจะยกพลบุกทำเนียบ (19 มิถุนายน 2551)
อันนำมาซึ่งการเปิดอภิปรายแบบวิสามัญในวันที่ GM ทำต้นฉบับชิ้นนี้
(ทั้งนี้เราพยายามหลีกเลี่ยงการเหวี่ยงสายตา
ไปยังการถ่ายทอดสดการอภิปรายทางทีวีเพราะเดี๋ยวกลัวของจะขึ้น!)
แน่นอนว่า กว่าที่คุณจะได้อ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
สถานการณ์ต่างๆ คงคลี่คลายไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง
แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าชุดถ้อยคำต่อไปนี้จะไม่สอดรับกับสถานการณ์ใดเลย
ตรงกันข้าม, ถ้อยคำของ รศ.ดร. วรากรณ์ต่อไปนี้สามารถนำไปปรับใช้
หรือเป็นได้แม้กระทั่งองค์ความรู้ให้กับสังคมไทยที่ยังเข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างคลุมเครือ
หากเป็นอาหารสมอง อาหารสมองชุดนี้ต้องจัดให้อยู่ในระดับ ‘โต๊ะจีนนครปฐม’
คือมีครบเครื่อง ทั้งของกินเล่น ของกินจริง หมูหัน หูฉลาม เป๋าฮื้อ
ไปจนของหวานตบท้ายอย่างเงาะกระป๋องในน้ำเชื่อม !
อ่านมาถึงตรงนี้ หากน้ำย่อยสมองของคุณเริ่มทำงาน
ขอเชิญจัดการอาหารของคุณได้ ณ บัดนี้ !
GM : ตกลงตอนนี้อาจารย์ทำอะไรอยู่กันแน่
รศ.ดร. วรากรณ์ : ตอนนี้ผมเป็นนักวิชาการอิสระ
ใจผมก็อยากจะกลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
แต่ยังกลับมาไม่ได้ เพราะว่ากฎหมาย ป.ป.ช. ระบุว่า
รัฐมนตรีช่วยว่าการฯที่ดูแลกำกับองค์กรธุรกิจเอกชน
จะกลับไปเป็นกรรมการที่ปรึกษาหรือลูกจ้างอีกทันทีเลยไม่ได้
ต้องเว้นระยะเวลาไว้ 2 ปีเสียก่อน
ตอนนี้ผมก็เลยทำงานหลายอย่าง
ทั้งที่มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจนในประเทศไทย (CCF)
ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เป็นกรรมการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เป็นประธานพัฒนาเมืองของสถาบันพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร
เป็นกรรมการของธุรกิจวิทยาลัยการจัดการของมหาวิทยาลัยมหิดล
และเป็นกรรมการบริหารบริษัทอิสระ
GM : ยังสอนหนังสืออยู่หรือเปล่า
รศ.ดร. วรากรณ์ : ผมทำเฉพาะบรรยายพิเศษ ไม่ได้สอนเป็นประจำ
จะบรรยายเฉพาะที่คิดว่ามีประโยชน์และแตกต่างจากที่ผมเคยบรรยายอยู่
เช่น การเปลี่ยนแปลงของโลกและประเทศไทย
เรื่องแนวคิดเกี่ยวกับการใช้เงินและเศรษฐกิจโลก
เรื่องเกี่ยวกับการศึกษา-การพัฒนาคน เป็น 3 แนวหลัก
ในตอนนี้ที่ผมเรียกรวมๆ ว่า มันเป็นการขยายความคิดให้คนไทยที่รู้จักกิ่งไม้แต่ไม่รู้จักป่า
คือมันเป็นเรื่องที่ผมมีความสบายใจที่จะพูด
ถ้านอกเหนือไปจากนี้ผมก็ขอตัว เพราะว่าผมไม่ได้รู้มากขนาดนั้น
GM : รู้จักกิ่งไม้แต่ไม่รู้จักป่าแปลว่าอะไร
รศ.ดร. วรากรณ์ : มันแปลว่าสังคมไทยเนี่ย รู้แต่เรื่องของเราเอง
ซึ่งเปรียบได้กับการที่เรารู้จักแค่กิ่งไม้ แต่โลกของเราคือป่าใหญ่
เรารู้แค่กิ่งไม้ต้นไม้ไม่ได้ เราต้องรู้ความเป็นไปของโลกด้วย
เพราะมันสัมพันธ์กัน เช่น เมื่อเราดูเศรษฐกิจไทย เราเห็นเงินเฟ้อ
เราก็ต้องรู้ว่าที่เวียดนามก็กำลังเกิดปัญหานี้เช่นเดียวกัน
เราต้องรู้ว่าระบบการเงินของโลกในตอนนี้มันกำลังทำให้โลกเรากลายเป็นหมู่บ้านเดียวกัน
คิดแบบเดียวกัน และมันก็มีที่มาที่ไปด้วย
เราจะมารู้แต่เรื่องของเราไม่ได้อีกแล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้นที่ต้องรู้เท่าทัน
ยังมีอีก 2 เรื่องที่ต้องตามให้ทัน หนึ่ง, คือเรื่องคน
ตอนนี้เราต้องตระหนักแล้วว่าคนเป็นศูนย์กลาง
คนมีความสำคัญมากต่อโลกในระบบทุนนิยมแบบโลกาภิวัตน์
ผู้บริโภคคือประชาชน พอผู้บริโภคมีความสำคัญเท่าไหร่
พลังของประชาชนก็มีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น
ซึ่งคุณจะเห็นสิ่งนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็ในตอนนี้
สังคมไทยเริ่มเข้าใจได้แล้วว่า คนจำนวนหนึ่งก็สามารถลงชื่อถอดถอน
คนที่มีตำแหน่งทางการเมืองได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้คนไทยไม่เคยเข้าใจแนวคิดนี้เลย
เข้าใจแต่ว่าหน้าที่ของผู้บริโภคคือซื้ออย่างเดียว
หน้าที่ของพลเมืองคือออกไปเลือกตั้งอย่างเดียว
ไม่เคยเข้าใจเรื่องชุมชนว่าเอ็นจีโอมีความสำคัญยังไง
ทำไมต้องมีการเลือกตั้งนายก อบต. นายก อบจ.
เรื่องสุดท้ายที่ต้องตามให้ทันคือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เพราะนับตั้งแต่มีการปฏิวัติองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในช่วงปี ค.ศ. 1967
เป็นต้นมา องค์ความรู้มันเปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดก็ในตอนนี้
ทั้งเรื่องของดีเอ็นเอ, นาโนเทคโนโลยี เรื่องของไอทีต่างๆ
สิ่งเหล่านี้ทำให้โลกเปลี่ยนไป โดยสิ้นเชิง
GM : สรุปตามที่อาจารย์บอก คือโลกาภิวัตน์ คนเป็นศูนย์กลาง
และองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทั้งหมดนี้มีนัยสำคัญอะไร
รศ.ดร. วรากรณ์ : นัยสำคัญก็คือ เราต้องตั้งคำถามว่า
เราจะเข้าใจมันได้มากขึ้นอย่างไรบ้าง เพราะถ้าเราไม่ตั้งคำถาม
มันก็จะเกิดผลกระทบต่อความคิดของคนในประเทศ
เพราะทุกวันนี้เราเอาแต่รับข่าวสารจากทั่วโลกผ่านดาวเทียมดวงเดียวกัน ผ่านโทรทัศน์
ผ่านหนังเข้ามา คนไทยเดินตามฝรั่ง
คิดแบบคนที่ถูกอิทธิพลของทุนนิยมครอบงำ
มันเปลี่ยนแปลงสังคมเราจากสังคมชนบทเป็นสังคมเมืองมากขึ้น
ก่อนหน้านี้คนอยู่ในเขตเมืองแค่ 30-40% แต่ตอนนี้เพิ่มไปถึง 70%
จากตัวเลขนี้มันฟ้องว่า สังคมเรากำลังกลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น
ชนชั้นกลางก็เพิ่มมากขึ้น
และถ้าเราไม่ตั้งคำถามกับการไหลบ่าของกระแสเศรษฐกิจ
โลกาภิวัตน์ และวิทยาศาสตร์
มันก็จะเกิดปัญหาอย่างที่เรากำลังเผชิญอยู่
นั่นคือเจริญแต่วัตถุ แต่จิตใจไม่เจริญตาม
ปัญหาเรื่องการเมืองในบ้านเราก็มาจากตรงนี้
เราไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างกันแม้แต่ครอบครัวเดียวกัน
ต่อมาก็ลุกลามเป็นปัญหาเรื่องของความรับผิดชอบ
เรื่องของจริยธรรม
นี่คือสิ่งที่จะเป็นปัญหาใหญ่ของเราในระยะเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า
หากเราตามนัยสำคัญนี้ไม่ได้
GM : อาจารย์พูดเหมือนว่าโลกที่มีทรรศนะของทุนนิยมเลวร้ายมาก
รศ.ดร. วรากรณ์ : ไม่ใช่ขนาดนั้นหรอกครับ ทุนนิยมมันมีทั้งดีและไม่ดี
ส่วนดีมันก็มี และเราก็ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ส่วนที่ไม่ดีมันก็มีอยู่
แต่ไม่ค่อยมีใครยกมาพูดกันว่า การที่ทุกคนปรารถนาที่จะรวยมากขึ้น
ทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้นจนลืมเรื่องจริยธรรม
GM : การแข่งขันมันผิดตรงไหน
รศ.ดร. วรากรณ์ : ไม่ผิด มันก็ต้องมีทั้งคนแพ้คนชนะ
แต่สังคมที่พัฒนาแล้วจะมีที่รองรับสำหรับคนที่แพ้
คนแพ้จะไม่เป็นศูนย์ แต่สังคมเราไม่เคยมีพื้นที่แบบนั้น
คุณก็เห็นบ่อยๆ ในโทรทัศน์ คนแพ้ไม่มีที่ไป ชีวิตลำเค็ญ
มีให้เห็นบ่อยมาก
GM : แปลว่าสังคมไทยไม่มีพื้นที่ให้สำหรับผู้แพ้
รศ.ดร. วรากรณ์ : ไม่ถึงอย่างนั้น ผมคิดว่ามี แต่มีน้อยไป
GM : พอจะยกตัวอย่างของสังคมที่มีพื้นที่ให้กับคนแพ้หน่อยได้ไหม
รศ.ดร. วรากรณ์ : ประเทศในแถบตะวันตกอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส
หรือแม้แต่ในอเมริกา เขาพัฒนาเรื่องนี้มานาน เขามีระบบประกันสังคม
มีการดูแลสวัสดิภาพและการรักษาพยาบาล
นี่แปลว่าคนแพ้ก็ยังมีที่ยืนในสังคม แต่ของเราไม่ใช่ ไม่มีแบบนั้นนะครับ
เมื่อก่อนนี้เราก็มีระบบคล้ายๆ กัน นั่นคือระบบเกื้อกูลแบบวัด
คนแพ้ก็มีวัดให้ไปขออาหารมากินได้ อย่างน้อยเรายังมีวัดเป็นที่พึ่ง
อีกทั้งเมื่อก่อนเรามีท้องทุ่ง เรามีพื้นที่เกษตรกรรมอยู่มาก
มันเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตดีๆ นี่เอง ยังไงก็ไม่ต้องกลัวอดตาย
หิวก็ไปเด็ดผักจับปลามาทำกินได้ แต่ตอนนี้ทุ่งนามันก็น้อยลงจนแทบไม่เหลือแล้ว
คนส่วนใหญ่ก็ปรับมาใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจมากขึ้น
เข้ามาลำบากอยู่ในเมืองมากขึ้น คนจนในเมืองนี่มันลำบากนะครับ
ไม่เหมือนคนจนที่อยู่ในชนบท ตรงนี้ทำให้พื้นที่ของคนแพ้ในสังคมเรามันมีน้อยลง
พื้นที่ที่จะให้พวกเขายืนอย่างมั่นคงมีน้อยลง
สิ่งนี้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแล
........................................................................
“สังคมไทยยังไม่ตระหนักเรื่องนี้ เงินที่ราชการใช้กัน รวมทั้งเงินที่เอาไปคอร์รัปชั่นกัน
มันก็คือเงินที่พวกเราจ่ายภาษีทั้งนั้น แต่คนไทยไม่ค่อยรู้ พอไม่รู้เลยไม่รู้สึกหวงแหน”
........................................................................
GM : แล้วที่เป็นอยู่นี่รัฐไม่ดูแลหรือ
รศ.ดร. วรากรณ์ : ดูแลครับ แต่เรากำลังพูดถึงการดูแลที่มากกว่านั้น
คุณคิดว่าคุณยาย-คุณตาที่นอนอยู่ข้างถนน เป็นขอทานตามสะพานลอย
หรือคนพิการที่ไม่มีคนดูแลจะกล้าเดินไปอำเภอ
หรือว่าบุกไปสภาเทศบาลเพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐเหรอ
เขาไม่กล้าหรอก เพราะเขาถูกทำให้เชื่อว่าตัวเองต่ำต้อย
และไม่มีสิทธิ์ทำอย่างนั้น แต่เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดในสังคมที่พัฒนาแล้ว
คนว่างงาน คนไร้บ้าน หรือแม้แต่คนพิการทั้งหลาย
เขารู้ว่าเขามีสิทธิ์ที่จะเดินไปเอาเงินจากรัฐได้
นั่นเพราะเขาเข้าใจว่าก่อนหน้านั้นเขาได้จ่ายภาษีอากรให้รัฐไปแล้ว เหล้า เบียร์
ยาแก้ปวดหัว เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่พวกเขาเคยซื้อ
ล้วนมีภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มอยู่ในนั้น
เขามีสิทธิ์ทุกประการในการเรียกร้องให้รัฐดูแลเขา
แต่สังคมไทยยังไม่ตระหนักเรื่องนี้ เงินที่ราชการใช้กัน
รวมทั้งเงินที่เอาไปคอร์รัปชั่นกัน มันก็คือเงินที่พวกเราจ่ายภาษีทั้งนั้น
แต่คนไทยไม่ค่อยรู้ พอไม่รู้เลยไม่รู้สึกหวงแหน
ลองไปถามคนทั่วไปสิครับ น้อยคนนักที่จะตระหนักว่าเงินเดือน
ที่ข้าราชการใช้กันคือเงินของเรา ผมเคยไปหมู่บ้านชนบทเล็กๆ
แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ผมก็บอกชาวบ้านว่า
ขอให้ดูลูกเต้าของท่านที่โรงเรียนนะครับ ดูว่าลูกของท่านอ่านหนังสือออกหรือเปล่า
ถ้าอ่านไม่ออก ท่านต้องไปร้องเรียนกับครูใหญ่
ต้องไปบอกเลยว่าท่านไม่พอใจ เพราะว่าเงินเดือนของครูคือภาษีอากรของท่าน
เชื่อไหมว่าชาวบ้านตกใจเลยที่ผมพูดอย่างนี้
เขาไม่รู้มาก่อนว่าเราสามารถโวยครูใหญ่ได้
นี่แหละสิ่งที่รัฐต้องทำนอกเหนือจากการช่วยเหลือดูแล
คือต้องให้คนด้อยโอกาสรู้ว่าเขามีสิทธิ์และต้องกระตุ้นให้กล้าใช้สิทธิ์นั้น
GM : มันต้องมาว่ากันที่การศึกษาหรือเปล่า
รศ.ดร. วรากรณ์ : ใช่ครับ, มันเป็นบทบาทของการศึกษาที่ต้องสอน
ให้รู้ถึงสิทธิ์ในการเป็นพลเมือง สอนให้รู้ว่าที่รัฐอยู่ได้เพราะมันมีระบบนี้
คุณทำงานจ่ายภาษีอากร เขาก็ให้สวัสดิการขั้นพื้นฐาน
สิ่งเหล่านี้ใช่ว่าจะไม่ถูกสอนนะครับ ก็สอนกันอยู่
แต่สอนกันอย่างกระท่อนกระแท่นและไม่ถูกทำให้อยู่ในชีวิตจริง
พอไม่อยู่ในชีวิตจริงนานๆ ไปก็ลืม
บทบาทของสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์หรือโทรทัศน์
ก็ต้องสอนเรื่องเหล่านี้ด้วย มันต้องตอกย้ำ
ต้องทำให้อยู่ในชีวิตประจำวันของคน
อย่างผมสอนนักศึกษาเสมอว่าเวลาซื้อของต้องดูใบเสร็จ
ไม่ใช่ได้มาก็ขยำทิ้งทันที ที่ต้องดูเพราะจะได้รู้ว่าเราจ่ายภาษีไปเท่าไหร่
ไอ้ที่ไม่มีใบเสร็จก็ให้รู้ว่าราคานี้มันรวมภาษีที่คนขายเขาก็เสียไปแล้วเหมือนกัน
แค่ดูใบเสร็จง่ายๆ แค่นี้ก็เป็นการย้ำเตือนเรื่องสิทธิพลเมืองของเราแล้ว
GM : แต่เราสอนกันในโรงเรียนอย่างเดียว
ไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
รศ.ดร. วรากรณ์ : ไม่ใช่แค่เรื่องภาษี
แม้กระทั่งเรื่องประชาธิปไตยก็ยังสอนกันผิดๆ
คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง
พอหย่อนบัตรก็ไม่มีสิทธิ์อะไรแล้ว เราทำหน้าที่ไปแล้วก็จบ
จริงๆ มันไม่ใช่เลย นั่นมันไม่ถึง 1 ใน 100 ของหน้าที่ในประชาธิปไตยด้วยซ้ำ
ประชาธิปไตยคือเมื่อเลือกตั้งไปแล้ว คุณในฐานะพลเมืองต้องจับตาดู ส.ส. ของคุณ
ต้องจับตามองการทำงานของรัฐบาลและฝ่ายค้าน
คุณสามารถเรียกร้องได้ เขาเรียกว่าการเมืองภาคประชาชน
แม้แต่การชุมนุมต่างๆ ก็คือการเมืองภาคประชาชน อันนี้ชัดเจนนะครับ
มันมีอยู่ทั่วโลก
อย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงของทุกสังคมมันมาจากประชาชน
มาอย่างที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายด้วยซ้ำ
สหรัฐอเมริกาสร้างประเทศขึ้นมาด้วยการปฏิวัติและสงครามกลางเมือง
มันไม่จำเป็นต้องอยู่ในสภา นั่นมันเป็นกติกาที่เกิดขึ้นภายหลังการเมืองบนถนน
คุณดูฟิลิปปินส์ในอดีตสิ ประชาชนออกมาเป็นล้านและก็เปลี่ยนระบบของมาร์กอสได้สำเร็จ
หรืออย่างเกาหลีใต้เมื่อเร็วๆ นี้ คน 2 แสนคนออกมาเคลื่อนไหวเต็มถนน
เพราะไม่พอใจรัฐบาลที่ไปตกลงกับอเมริกาในเรื่องการนำเข้าวัว
ผมว่าเรื่องแบบนี้มันน่าอัศจรรย์มากเลย
GM : แปลว่าประชาธิปไตยมันยังหมายรวมถึงการออกมาเคลื่อนไหวตามถนน
รศ.ดร. วรากรณ์ : มันเป็นการเมืองภาคประชาชนนะ
GM : แล้วความรุนแรงล่ะ ใช่การเมืองภาคประชาชนด้วยไหม
รศ.ดร. วรากรณ์ : ถ้าชุมนุมแล้วเอาก้อนหินไปขว้างหัวชาวบ้านเขา
อย่างนี้มันไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว เป็นเรื่องของกฎหมายที่จะต้องดำเนินคดีกับคนนั้น
การประท้วงไม่ผิด แต่การไปด่าเขาอย่างสาดเสียเทเสีย
หรือทำร้ายร่างกายนั่นต่างหากที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกับเรื่องการชุมนุม
การออกมาชุมนุมนั้นเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่คนไทยสามารถจะทำได้
GM : ความรุนแรงระดับไหนที่ระบอบประชาธิปไตยพอรับได้
รศ.ดร. วรากรณ์ : ความรุนแรงมันมีหลายระดับ ความรุนแรงที่สร้างสรรค์
คือความรุนแรงที่ไม่ได้ถึงกับฆ่าฟันกันจนเลือดตกยางออก
แต่เป็นการใช้กำลังในทางที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
อย่างเช่นรวมตัวกันแล้วเดินนี่เป็นความรุนแรง
การอดอาหารนี่ก็เป็นความรุนแรง แต่ถือว่าเป็นความรุนแรงที่สร้างสรรค์
ไม่ได้มีความมุ่งร้ายที่จะทำให้คนอื่นเจ็บปวด
ผมคิดว่าความรุนแรงที่สร้างสรรค์มันต้องอยู่ในระบบด้วย
คือมีขอบกติกาว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน แต่ถ้ารุนแรงนอกระบบ
ไม่สร้างสรรค์ ผมคิดว่าเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องในระบอบประชาธิปไตย
GM : แสดงว่าอารยะขัดขืนที่พูดกันอย่างกว้างขวางถือเป็นความรุนแรง
ที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย
รศ.ดร. วรากรณ์ : แน่นอน, มันเป็นสิทธิ์เต็มที่ตามกฎหมายอยู่แล้ว
ที่อินเดียได้เอกราชมาก็เพราะ Civil Disobedience นะครับ
มหาตมะ คานธี ประท้วงอังกฤษเรื่องการเสียภาษีเกลือ
แต่ไหนแต่ไรมาคนอินเดียต้มเกลือใช้เอง แล้วอยู่ๆ อังกฤษก็มาบอกว่า
ต่อไปถ้าใครต้มเกลือต้องจ่ายภาษีให้อังกฤษ
มหาตมะ คานธี ก็ออกเดินทาง 20-30 กิโลฯ
มีคนเดินทางตามไปร่วมเป็นหมื่นคนเพื่อไปต้มเกลือให้อังกฤษดู
ปรากฏว่าคานธีติดคุก แต่คนทั้งประเทศลุกฮือขึ้นมา
สุดท้ายมันก็นำไปสู่ประชาธิปไตยของอินเดียและหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
ทั้งที่ว่ากันตามตรง นี่คือลักษณะที่ผิดกฎหมาย
แต่ว่ามันสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
อย่างนี้พูดได้ว่าเป็นอารยะขัดขืน ก็เป็นประชาธิปไตยในอีกรูปแบบหนึ่ง
GM : มีประชาธิปไตยแบบไหนบ้างที่ไม่ต้องแลกมาด้วยความรุนแรง
ไม่ว่าจะสร้างสรรค์หรือไม่ก็ตาม
รศ.ดร. วรากรณ์ : ผมว่าประเทศไทยได้ประชาธิปไตยมาด้วยความรุนแรงน้อยกว่าเพื่อน อังกฤษนี่ก็ต่อสู้กันยาวนานมากกว่าจะได้ประชาธิปไตยมา อเมริกา ฝรั่งเศส
เยอรมันนี่ก็รุนแรง เทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกัน
เราก็รุนแรงน้อยลงมาหน่อย มาเลเซียไม่มีเลือดตกยางออก
แต่อินโดนีเซียต่อสู้หนักมาก ไต้หวันก็สาหัส เกาหลีใต้ก็หนักมาก
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ของทุกประชาธิปไตยนั้นแลกมาด้วยการต่อสู้ทั้งนั้น
GM : อาจารย์คิดว่าตอนนี้สังคมไทยเดินไปทางไหน
รศ.ดร. วรากรณ์ : ผมว่าตอนนี้มันกลายเป็นสังคมที่มีฝ่าย มันไม่มีตรงกลาง
ฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการระบอบทักษิณ อีกฝ่ายหนึ่งต้องการ จริงๆ มันมีแค่นี้แหละ
ที่ใครบอกว่ามีกลุ่มทุนใหม่-ทุนเก่าอะไรนั่น
จริงๆ ในความเห็นผมมันก็คือ 2 กลุ่ม เอา-ไม่เอาคุณทักษิณอยู่ดีนั่นแหละ
GM : พูดให้ชัดว่าขับเคลื่อนด้วยกลุ่มที่เอาทักษิณและไม่เอาทักษิณ
รศ.ดร. วรากรณ์ : ถ้าจะให้ฟันธงกันก็ต้องพูดอย่างนี้
ต้องยอมรับว่าตอนนี้ในใจคนไทยมันเกิดความขัดแย้ง
แล้วเราก็หวาดกลัวในข้อขัดแย้งนั้น
พูดอีกอย่างก็ต้องบอกว่า สังคมไทยตอนนี้ขับเคลื่อนด้วยความหวาดกลัว
ฝ่ายหนึ่งกลัวระบอบทักษิณจะกลับมาเพราะกลัวว่าจะโดนคิดบัญชี
ขณะเดียวกันกลุ่มคนทั่วไปที่ไม่ใช่พวกประท้วงก็กลัวว่ากลุ่มผู้ประท้วงจะแพ้
แม้จะเห็นว่าการประท้วงนี้มีผลต่อเศรษฐกิจก็ตาม
ข้างฝ่ายเอาคุณทักษิณก็กลัวคำตัดสินของศาล คือทุกคนกลัวกันไปหมด
GM : เป็นอย่างนี้แล้วอะไรคือทางรอดของสังคมไทย
รศ.ดร. วรากรณ์ : ผมคิดว่าถ้าเราประคับประคองมันต่อไป
ให้ความขัดแย้งนี้อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ก็น่าจะพอไปรอด
ที่สำคัญต้องปล่อยให้ศาลยุติธรรมเป็นฝ่ายตัดสินเอง จะกี่คดีก็ว่ากันไป
แต่ต้องให้กระบวนการยุติธรรมทำงานอย่างเต็มที่และมีอิสรภาพ
ผมว่ามันน่าจะคลี่คลายได้ สมมุติว่าคุณทักษิณแพ้คดีในศาล จะกี่คดีก็ตาม คุณทักษิณก็คงพยายามต่อสู้ต่อไป
GM : สมมุติว่าคุณทักษิณชนะไม่ว่าจะกี่คดีก็ตาม
อาจารย์คิดว่าสังคมไทยมีวุฒิภาวะพอที่จะยอมรับคำตัดสินของศาลได้หรือไม่
รศ.ดร. วรากรณ์ : ถ้าถึงขั้นศาลแล้ว ผมก็เชื่อว่าเรายอมรับได้
เห็นมาหลายคดีแล้วที่เรายอมรับคำตัดสินของศาล
เว้นเสียจากว่าคุณทักษิณชนะทุกคดี ซึ่งผมว่ามันยาก
เพราะฉะนั้น ผมก็อยากให้เราทะนุถนอมความขัดแย้งนี้ไว้
ไม่ให้มันลุกลามในครอบครัว เช่น ลูกเขยที่ไม่เอาคุณทักษิณกินข้าวโต๊ะนึง
พ่อตาชอบคุณทักษิณกินอีกโต๊ะนึง แบบนี้ผมว่าเป็นปัญหาเชิงสังคมแล้ว
........................................................................
“อย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงของทุกสังคมมันมาจากประชาชน
มาอย่างที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายด้วยซ้ำ มันไม่จำเป็นต้องอยู่ในสภา”
........................................................................
GM : แปลว่าเราไม่เคารพความแตกต่างกันอย่างนั้นหรือ
รศ.ดร. วรากรณ์ : คือความแตกต่าง ที่เกิดขึ้นในตอนนี้
มันไม่ใช่คำถามประเภทผีมีจริงหรือไม่ มันไม่อาจต่อรอง ประนีประนอม
หรือแบ่งครึ่งขนมกันได้ มันมีแต่คุณจะเอาหรือไม่เอาระบอบทักษิณ
เหมือนคุณท้องก่อนวัยอันควรน่ะ มันก็มีทางออกระหว่างจะไปทำแท้ง
หรือว่าจะให้คลอดออกมา การประนีประนอมสมานฉันท์
ผมว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก เอาละ เราจะยอมให้คุณทักษิณอยู่ในเมืองไทย
ยอมให้มีระบอบทักษิณต่อไป ฝ่ายนี้ก็ไม่ยอม
ถ้าให้คุณทักษิณออกไป ฝ่ายนู้นก็ไม่ยอมอีก เพราะฉะนั้น
ต้องมีคนกลางมาตัดสินอยู่บนพื้นฐานของความชอบธรรม ก็ว่ากันไปตามนั้น
GM : ท่ามกลางวิกฤติการเมืองในตอนนี้ อาจารย์ยังพอมองเห็นอะไรดีๆ บ้างไหม
รศ.ดร. วรากรณ์ : ผมว่าถ้าจะมีอะไรดีๆ มันก็คงจะเป็นการมอบบทเรียนให้เรา
เหมือนตอนอกหัก แฟนทิ้ง หรือสอบเข้าไม่ได้
ความเสียใจนี้มันเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ประชาธิปไตยก็เหมือนกัน เราต้องผ่านมันไปให้ได้ เราต้องเรียนรู้จากมัน
เพื่อให้สมกับที่เราเสียโอกาสในการลงทุน เสียน้ำตา เสียความรู้สึก
ครอบครัวร้าวฉาน เราจะต้องเข้าใจเรื่องอย่างนี้ให้ดียิ่งขึ้น
GM : เรื่องอย่างนี้คือเรื่องอะไร
รศ.ดร. วรากรณ์ : คือเรื่องที่ว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่า
รัฐบาลไทยรักไทยของคุณทักษิณได้ให้ความสำคัญกับคนจนมากขึ้นกว่าเดิม
แต่ว่าที่มันเป็นปัญหาก็คือ มันมีวาระแฝงเร้นอยู่ในความช่วยเหลือเหล่านั้น
เราจะต้องจดจำไว้ว่า เราจะยอมให้วาระซ่อนเร้นเหล่านั้น
เกิดขึ้นอีกไม่ได้ มันก็เหมือนการรักผู้หญิงที่เขารักเรา
แต่เขาก็รักคนอื่นด้วย เขาไม่ซื่อสัตย์กับเรา เราต้องไม่ยอมให้เขาไปรักอีกคน
เราต้องมีสมองที่ใหญ่พอๆ กับหัวใจ
GM : วิกฤตินี้ระบบรัฐสภาจะแก้ไขได้มากน้อยแค่ไหน
รศ.ดร. วรากรณ์ : จะแก้ไขได้ยังไง แค่อภิปรายไม่ไว้วางใจก็คุยกันไม่จบ
แล้วจะไปไว้ใจได้อย่างไร ที่ผ่านมารัฐสภามันทำได้ในเรื่องของนิติบัญญัติ
แต่มันยังไม่ครอบคลุมเรื่องการตรวจสอบ
ผมคิดว่านิติบัญญัติบ้านเราค่อนข้างอ่อนแอนะ
อาจเป็นเพราะคุณภาพของคนที่มาทำงานการเมืองมันอ่อนแอด้วย
เรื่องนี้เป็นปัญหาของประเทศไทยมานานแล้ว พูดกันอย่างยุติธรรม
คนที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุดคือคนรุ่นผม
หรือรุ่นก่อนผมนี่แหละ
GM : ทำไมถึงคิดอย่างนั้น
รศ.ดร. วรากรณ์ : ผมเชื่อว่าคนยุคก่อนสงครามมีคุณภาพมากกว่า
คนที่เกิดระหว่างสงครามและหลังสงครามอย่างพวกผม
เพราะยุคก่อนสงครามขนมเค้กมันยังไม่ใหญ่ ใครอยากกินต้องเดินเส้นตรง
ต้องทำงานหนัก แต่พอหลังสงครามแล้วขนมเค้กมันใหญ่มากกว่าเก่าหลายร้อยเท่า
มันสามารถกินขนมเค้กทางอ้อมได้ การตรวจสอบก็ทำได้ยากขึ้น
เลยไม่มีใครติดคุกเพราะกินขนมเค้กนี้เลย ที่แย่กว่านั้นก็คือ
เกิดทัศนคติที่ว่า โกงนิดโกงหน่อยไม่เป็นไร ขอให้มีผลงานก็พอ
คุณลองไปดูสิว่ามีนักการเมืองกี่คนที่ทำผิดแล้วติดคุก
คำตอบคือ มีน้อยมาก
ทัศนคติผิดๆ ที่มีต่ออาชีพนักการเมือง มันก็ดึงดูดคนให้เข้ามาทำอาชีพนี้
เพราะทำผิดไม่ติดคุก แถมรวยด้วย แล้วใครจะไม่เอา
พูดอย่างนี้เดี๋ยวจะหาว่านักการเมืองไม่มีคนดีเลย คนดีๆ ก็มีนะ
แต่คนไม่ดีมันมีเยอะ เพราะเขามาตามแรงดึงดูดนี้ นี่คือเหตุผลว่า
ทำไมเราถึงมักได้คนไม่ดีเข้ามาอยู่ในสภา
GM : คนไม่ดีเข้ามาในสภาเพราะแรงเย้ายวน แล้วคนดีๆ ล่ะ
จะเอาอะไรมาปลุกใจตัวเองให้เข้าสภา
รศ.ดร. วรากรณ์ : อุดมการณ์ไง ความอยากทำงานให้สังคม
เชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลง สังคมได้ คุณอย่าเพิ่งหมดหวัง คนดีๆ เหล่านี้ยังมีอยู่
แต่บังเอิญว่าคนฟากหนึ่งที่บูชาเงินมีเยอะกว่า
GM : แล้วเราหรือคนดีๆ จะสู้กับพวกนักการเมืองบูชาเงินได้อย่างไร
รศ.ดร. วรากรณ์ : ก็เหนื่อยหน่อย เพราะต้องรอให้คุณภาพการศึกษาของเราดีขึ้น
จึงจะเอาชนะคนเหล่านี้ได้ แต่อย่ากังวล เพราะว่านี่ไม่ใช่เรื่องแปลก
สังคมอื่นก็เป็นอย่างนี้ ในฟิลิปปินส์ อเมริกาก็มีนักการเมืองแบบนี้อยู่เหมือนกัน
แต่ที่แปลกคือในอินเดีย การซื้อเสียงขายเสียงถือเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจมากนะ
ถึงแม้ว่าคนอินเดียจะยากจนก็ตาม แต่ยอดการซื้อ-ขายเสียงมีน้อยมาก
เพราะองค์การการตรวจสอบ คณะกรรมการการเลือกตั้งเขาเข้มแข็งกว่าเรา
อย่างประเทศไทยถ้ามีระบบการตรวจสอบที่ดี คนประเภท Maverick
มาเสี่ยงโชคเพื่อหวังรวยก็ไม่คิดจะเข้ามา
เพราะเข้ามาแล้วก็ไม่ได้รวยขึ้น ผมถึงหวังว่าเราจะมีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง
องค์กรทั้งหลายทำงานเต็มที่ ส.ว. ทำงานเต็มที่
ผมเชื่อว่าเมื่อนั้นเราจะมีคนดีๆ เข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมือง
คุณจำไว้เลยว่า ระบบที่ดีจะทำให้คนที่ไม่ดีต้องดีหรือไม่ก็ออกไปเลย
GM : อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่ที่พูดกันว่า เรามีประชาธิปไตยก็จริง
แต่เราลืมสอนเรื่องประชาธิปไตย
รศ.ดร. วรากรณ์ : ผมเชื่อว่าประชาชนแค่ไหน ประชาธิปไตยก็แค่นั้น
คนดูแค่ไหนละครก็แค่นั้น ถ้าคนมันดีระบอบมันก็ดี ดูอย่างอิสราเอลสิ
เขาตั้งประเทศมาใหม่เมื่อ 60 ปีที่แล้วนี้เอง
แต่ระบอบประชาธิปไตยเขาเข้มแข็งมากเลย เศรษฐกิจก็เลยเข้มแข็งตามไปด้วย
ไม่อย่างนั้นไม่สู้กับปาเลสไตน์ได้จนทุกวันนี้
GM : หรือมันเป็นเรื่องของดีเอ็นเอ
รศ.ดร. วรากรณ์ : ก็อาจจะใช่ แต่ผมว่าอยู่ที่คุณภาพของคน
คนยิวน่ะไม่ว่าจะอยู่ในสงคราม อยู่ในสลัม หรือในค่ายอพยพ
เขาก็ได้เรียนหนังสือทุกวัน เท่าที่ผมศึกษาเรื่องยิวมา
ศาสนาของเขาบังคับให้อ่านหนังสือได้
เช่นเดียวกับศาสนาคริสต์นิกายออร์-ทอดอกซ์ในประเทศยุโรปทางเหนือ
เช่น ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ที่บังคับให้ทุกคนอ่านหนังสือออก
สมัยก่อนจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจว่าบ้านไหนอ่านหนังสือหรืออ่านไบเบิลไม่ออก
ใครอ่านหนังสือไม่ออก แต่งงานไม่ได้ พระไม่ทำพิธีให้
ถ้าพระไม่ทำพิธีให้ การแต่งงานของชาวยิวก็ไม่ถูกต้องตามจารีต
สังคมไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงต้องอ่านหนังสือให้ออก
พอทุกคนอ่านหนังสือออก มันก็เปิดช่องทางให้ความรู้เข้าไปได้
ทำให้เกิดความคิดความอ่าน ผมถึงบอกว่าการอ่านหนังสือออก
เป็นหัวใจสำคัญของประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาทั้งหลาย
........................................................................
“สังคมไทยจะเปลี่ยนมากทีเดียวในเรื่องการจัดการชนบท
ทำให้คนเป็นฝรั่งมากขึ้น บริโภคมากขึ้น
และมีผลต่อเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งมันจะเป็นปัญหาหนักข้อขึ้น”
........................................................................
GM : แล้วอย่างนั้นอะไรอยู่ในดีเอ็นเอของคนไทย
รศ.ดร. วรากรณ์ : คงเป็นการบอกเล่านะ เพราะคนไทยเป็นคนชอบบอกเล่า
แต่ไม่ชอบจดบันทึก เราสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ช่วงเดียวกับที่อเมริกาได้เอกราช
เราไม่มีจดหมายหรือบันทึกหลักฐานอะไรเลย
แต่เขามีคำประกาศอิสรภาพลงชื่อคนบันทึกเรียบร้อยอยู่ในพิพิธภัณฑ์อเมริกา
แต่สังคมเราแม้แต่ 50 ปีที่แล้วยังไม่มีการจดบันทึกเลย
เวลาจะบูรณะอะไรเราก็ไม่ค่อยจดบันทึกว่าบูรณะครั้งที่เท่าไหร่ ทำอะไรไว้
GM : ตอนนี้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมันอยู่ในระดับน่าวิตกหรือไม่
รศ.ดร. วรากรณ์ : ผมว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังใช้ได้อยู่
ในเรื่องของการผลิต เรื่องโครงสร้างนโยบายของหน่วยงานที่ดูแลอย่างเช่น
การธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมีความมั่นคงอยู่
แต่ต้องหมั่นตรวจสอบตัวเองดีๆ เหมือนร่างกายคนเราถ้าออกกำลังกายสม่ำเสมอ
แก่ตัวเราไม่เป็นมะเร็งหรอก แต่ถ้าตอนนี้เราเป็นหวัดอย่างแรง
แล้วเชื้อมันอาจจะลามไปได้ หวัดก็เหมือนกับภาวะเงินเฟ้อ เหมือนกับเศรษฐกิจ
น้ำมันมันแพงขึ้น ถ้าเราไม่ปรับให้ดี ใช้พลังงานทดแทน
หรือว่าเราสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดในสังคม ปัญหาก็จะลุกลามต่อไปในวันข้างหน้า
และเมื่อมันลุกลามไปแล้วมันจะแก้ไขลำบาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมั่นของต่างประเทศว่าเราแก้ปัญหาได้หรือไม่
นักลงทุนต่างประเทศเขาไม่ได้มองว่าประเทศไทยควรจะลงทุนดีหรือไม่
แต่เขามองว่าเรามีปัญญาแก้ไขปัญหาหรือเปล่า
และแก้ไขได้ยาวนานไหม เราจะเหมือนซิมบับเวที่ปล่อยเงินเฟ้อตั้งแสนเปอร์เซ็นต์
โดยไม่มีวิธีแก้ไขหรือเปล่า เราต้องแสดงเอกภาพให้เห็น
ซึ่งผมว่าตอนนี้ไม่ค่อยมีนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนสักเท่าไหร่
จะแก้ไขปัญหาทีก็ยากลำบาก รัฐมนตรีไม่ถูก กันบ้าง
มันก็เลยยิ่งทำให้มีปัญหา คือจะกินยารักษาหวัดมันก็กินได้ไม่เต็มที่
เพราะว่ามีโรคอื่นแทรกซ้อนหรือว่ามีการเจ็บป่วยอยู่ด้วย
เลยทำให้การรักษาไม่ได้ผล ปล่อยทิ้งไว้มันจะลามไปติดเชื้ออื่น
ฉะนั้น จะทำอะไรก็รีบทำ เพราะตอนนี้พื้นฐานยังดีอยู่
ในขณะที่ทั่วโลกเขาก็เจอพิษเศรษฐกิจนี้เหมือนกัน
GM : ทั่วโลกมีการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจนี้อย่างไร
รศ.ดร. วรากรณ์ : การตอบรับต่อปัญหาเหล่านี้จะเป็นเครื่องวัดกึ๋นของแต่ละประเทศ
เพราะก็โดนกันหมด มาเลเซียก็โดน อินโดนีเซียก็โดน ฟิลิปปินส์ก็โดน
ซึ่งก็อย่างที่ผมบอกถ้าเราทำได้ดีมันก็จะกลายเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในอนาคต
GM : มีประเทศไหนที่อาจารย์คิดว่ามีวิธีรับมือกับปัญหาได้ดี
รศ.ดร. วรากรณ์ : ผมว่าญี่ปุ่นเป็นชาติที่แก้ปัญหาได้ดีนะ
เพราะเศรษฐกิจของเขาตกต่ำตั้งเกือบ 10 ปี เรียกว่ามืดมิดเลยก็ว่าได้
แต่เขาหลุดพ้นมาได้ นายกรัฐมนตรีโคอิซูมิเข้ามาก็ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำ
นั่นคือการตัดรายจ่าย และสร้างวินัยในการคลัง
สร้างความเชื่อมั่นของคนให้กลับคืนมา เศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็ฟื้นขึ้นมาได้
ออสเตรเลียก็ทำได้ดี อังกฤษก็ทำได้ดีถึงแม้ว่าข้าวของจะแพงขึ้นเพราะน้ำมันแพงขึ้น
แต่รายได้จริงๆ ของเขาก็ไม่ได้ห่างจากราคาน้ำมันเท่าไหร่
มาเลเซียก็ทำได้ดี อาจจะเป็นเพราะสมัยที่อังกฤษปกครองเขาให้การศึกษาแบบก้าวหน้า
อีกทั้งรัฐบาลของเขาดูแลได้ดี ประเทศที่น่าห่วงก็คือฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย
GM : โลกในอีก 15 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มจะเป็นอย่างไร
รศ.ดร. วรากรณ์ : กระแสทุนนิยมก็ยังคงเป็นกระแสหลักอยู่
ประเทศทั้งหลายอยากจะเป็นทุนนิยมเพิ่มมากขึ้น ภายในเวลา 15 ปีนี้
หลังจากนั้นโลกก็จะเริ่มน่าเบื่อหน่าย เพราะระบบนี้ทำให้มีคนแพ้และคนชนะ
ข้อขัดแย้งระหว่างประเทศก็จะมีมากขึ้น
ถ้ามีพื้นที่รองรับคนแพ้ไม่พอ มันก็จะส่งผลกระทบมาถึงคนในบางประเทศที่
ก็อยากเป็นอิสระ อยากจะแบ่งประเทศเพื่อเข้าสู่ระบบทุนนิยมมากขึ้น
การค้าน่าจะมีความเป็นเสรีมากขึ้น ฐานะทางเศรษฐกิจของคนทั่วโลกโดยเฉลี่ยน่าจะดีขึ้น
แต่มีความสุขน้อยลง ความก้าวหน้าทางการแพทย์จะทำให้คนมีอายุเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น
องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ จะทำให้คนฉลาดขึ้น
ในตอนนั้นผมว่าความขัดแย้งกันระหว่างประเทศจะเป็นสิ่งที่ต้องกังวลให้มาก
หลายประเทศพยายามจะครอบครองนิวเคลียร์ จะมีปัญหาเรื่องสารกัมมันตรังสีทันที
ในยุโรปตะวันออกก็จะมีการขัดแย้งกันในเรื่องผลประโยชน์
รัสเซียเองก็มีลักษณะคล้ายเผด็จการมากขึ้น อินเดียกับจีนจะมีบทบาทมากขึ้น
แต่อเมริกาก็ยังเป็นพี่ใหญ่อยู่ดี
ในด้านชีววิทยา ผมว่าโคลนนิ่งของคนมีแน่นอน
ถ้าโคลนนิ่งลิงได้คนก็อยู่ไม่ไกลเท่าไหร่แล้ว เพราะว่าดีเอ็นเอมันเหมือนกัน 95.5%
การโคลนนิ่ง การทำจีเอ็มโอพืชผลไม้ จะมีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์มากขึ้น
ข้าวที่กินจะเป็นข้าวที่มีวิตามินบี มี Recaldent
(สารที่จะทำหน้าที่ขนส่งแคลเซียมและฟอสเฟตให้แพร่เข้าไปในฟันอย่างคงที่)
และวิตามินอีมากเป็นพิเศษ อาจจะมีกลิ่นดอกไม้ให้เลือกด้วย คอมพิวเตอร์จะเร็วขึ้น
การติดต่อสื่อสารสะดวกรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม ความเครียดก็เพิ่มมากขึ้น
เพราะทุกอย่างมันต้องเร็วโดยรวมก็คือประชากรโลกจะทัดเทียมกันมากขึ้น
........................................................................
“ผมพอใจในชีวิตที่ผมเป็นอยู่ พอใจกับบทบาทที่มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมอย่างทุกวันนี้
ผมไม่ปรารถนาอยากรับตำแหน่ง”
........................................................................
GM : แล้วความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่ไหม
รศ.ดร. วรากรณ์ : มีครับ แต่ไม่มากมายมหาศาลอย่างเก่า
เพียงแต่ว่าความกินดีอยู่ดีโดยเฉลี่ยของคนในโลกน่าจะดีขึ้นเท่านั้น
แต่ความเหลื่อมล้ำน่ะมีแน่ในระบบทุนนิยมอย่างนี้
GM : ประเทศไทยล่ะ จะเป็นอย่างไรในอีก 15 ปีข้างหน้า
รศ.ดร. วรากรณ์ : ผมว่าประเทศไทยจะมีฐานะทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยดีขึ้น
แต่การเมืองของเราก็คงไม่หนีไปจากเดิมมาก ก็คงต้วมเตี้ยมเตาะแตะอยู่
แต่ผมเชื่อว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนมากทีเดียวในเรื่องการจัดการชนบท
ทำให้คนเป็นฝรั่งมากขึ้น บริโภคมากขึ้น เป็นคนที่คาดหวังชีวิต
อยากจะร่ำรวยและมีผลต่อเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งมันจะเป็นปัญหาที่หนักข้อมากขึ้น
GM : ไทยจะไม่เป็นประเทศเกษตรกรรมแล้วหรือ
รศ.ดร. วรากรณ์ : ยังเป็นอยู่ แต่เป็นเกษตรกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้นกว่าเดิม
ผลผลิตมากขึ้น คนที่ทำงานเกษตรก็จะทำงานหลายอย่าง
เช่น มาทำงานในเมืองด้วย หรืออยู่ในหมู่บ้านตัวเอง
แต่สามารถเชื่อมต่อกับเมืองได้รวดเร็ว ทำให้คิดแบบคนอยู่เมือง
กินอาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ต ขับรถไปซื้อของจากห้างแม็คโคร โลตัส
จากเมื่อก่อนเราหากินหาอยู่ในท้องถิ่น ทางเลือกของคนมีมากขึ้น
เช่น มีความหลากหลายของแนวคิดต่างๆ มากขึ้น
รสนิยมของคนก็หลากหลายมากขึ้น งานอดิเรกก็จะมีมากขึ้น
เพราะคนมีเงินมากขึ้นโดยเฉลี่ย
GM : อาจารย์คิดว่าโลกหมุนเร็วไปหรือไม่
รศ.ดร. วรากรณ์ : ผมไม่รู้ แต่ผมคิดว่ายุค 20-25 ปีหลัง
เป็นยุคที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากที่สุด คือสมัยก่อนผมใช้พิมพ์ดีดทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก
ตอนนั้นเพิ่งมีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะออกมา
แต่วิทยานิพนธ์ผมยังพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดอยู่เลย แต่หลังจากนั้นปีเดียวก็เปลี่ยนไปหมด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 15 ปีหลังที่มีอินเตอร์เน็ตออกมา
โลกก็หมุนไปอย่างเร็วมาก เรียกว่าพลิกโฉมหน้าเลย
สมัยก่อนจะหาข้อมูลต้องเข้าห้องสมุด ต้องคอยว่าคนนั้นจะอ่านเสร็จหรือยัง
มันคนละโลก ปัจจุบันนี้คุณกดนิ้วไป-มาได้ทุกมุมโลก
อันตรายต่างๆ มันก็มาจากจอนี้
GM : ระดับศีลธรรมจะสูงขึ้นไหม
รศ.ดร. วรากรณ์ : อันนี้น่าเป็นห่วง ขนมเค้กมากขึ้นคนก็อยากกินมากขึ้น
คนก็ไม่มีมารยาทในการกิน อันนี้เป็นประเด็นที่
เราต้องหาทางแก้ไขไม่ให้เป็นไปในทิศทางนั้น จริงๆ ตอนนี้ผมว่าเรายังพอปลูกฝังทันนะ
GM : ขอถามเรื่องส่วนตัวบ้าง หลังจากกลับมาทำงานวิชาการ
เขียนหนังสือ เขียนคอลัมน์อีกครั้งอาจารย์รู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง
รศ.ดร. วรากรณ์ : มีความสุขครับ ความเครียดมันน้อยลง
การที่ต้องทำงานประจำที่ใดที่หนึ่งทั้งวันเป็นบ่อเกิดของความเครียด
แต่ตอนนี้ผมทำงานหลายแห่งแล้ว แต่ละชิ้นก็มีความเป็นอิสระ
ทำงานที่บ้านก็ได้ หรือสามารถจะออกไปไหนก็ได้ ผมอายุ 61 ปีแล้ว
ก็พยายามดูแลสุขภาพให้ดี ออกกำลังกายทุกวัน
ต้องหาวิธีหลอกล่อตัวเองให้ออกกำลังกายอยู่เสมอ
GM : ถ้ามีเหตุจำเป็นที่ทำให้อาจารย์ต้องเข้าไปทำงานเพื่อประเทศชาติ
อาจารย์จะรับหรือไม่
รศ.ดร. วรากรณ์ : ด้วยความสัตย์จริง ผมคิดว่าโอกาสนั้นคงไม่มีอีก
เพราะที่ผ่านมามันเป็นอุบัติเหตุและเกิดขึ้นในเงื่อนไขพิเศษ
ตอนนี้ผมพอใจในชีวิตที่ผมเป็นอยู่
พอใจกับบทบาทที่มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมอย่างทุกวันนี้
ผมไม่ปรารถนาอยากรับตำแหน่ง เมื่อครั้งที่แล้วผมก็ไม่ได้ต้องการ
ตำแหน่งที่ผมได้มา ผมก็ไม่ได้ไปขอใคร
มันเกิดขึ้นจากการทาบทามของอาจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน
ผมคิดว่ามันจะไม่เกิดเรื่องแบบนั้นได้อีก
เพราะบ้านเมืองเราคงไม่ไปถึงจุดนั้นอีกแล้วล่ะครับ
........................................................................
อ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วไม่จุใจลองไปหาหนังสือของรศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศต่อไปนี้มาอ่านโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ภาค 1, ภาค 2, ภาค 3, ขาดทุนคือกำไร, ถูกสุดคือแพงสุด, ศาสตร์แห่งความหดหู่และสิ้นหวัง, สนุกกับของไม่ฟรีรวมบทความว่าด้วยหลักเศรษฐกิจอย่างง่ายจากคอลัมน์อาหารสมอง
ใน ‘มติชนรายสัปดาห์’แสงแดดยังมีราคารวมบทความเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ด้วยอารมณ์ขัน
เงินทองของไม่หมู
รวมบทความเกี่ยวกับการใช้เงินเงินไหลมา รวมบทความภายใต้แนวคิดให้เงินทำงาน
โฮ่งๆ หมาก็มีหัวใจ รวมบทความน่ารู้เกี่ยวกับสุนัข
First, Best, Different, Niche รวมบทความวิพากษ์สังคม
และโลกน้ำจิ้มอาหารสมอง, เครื่องเคียงอาหารสมองรวมบทความว่าด้วย
หลักเศรษฐกิจอย่างง่าย จากเกร็ดท้ายคอลัมน์อาหารสมองใน ‘มติชนรายสัปดาห์’
........................................................................
วรากรณ์มองโลก 1 : จีนกับปัญหาทิเบต“ผมคิดว่าปัญหาทิเบตไม่ส่งผลกระทบกับจีนมาก เพราะทิเบตเป็นประเทศเล็ก คนไม่ถึงล้านคน จีนจัดการได้ ผมคิดว่าจีนเข้าใจเรื่องอย่างนี้นะ อีกอย่างท่านดาไลลามะก็ไม่ต้องการความรุนแรง ท่านไม่ได้ต้องการความเป็นเอกราชด้วย ท่านต้องการแค่เขตการปกครองอิสระของตนเองเท่านั้น เหมือนกับในหลายๆ มณฑลที่อยู่ในเมืองจีนนั่นแหละ
“แต่คนทิเบตรุ่นใหม่ค่อนข้างหัวรุนแรงก็เลยเกิดปัญหานี้ขึ้นมา ผมคิดว่าท่านดาไลลามะ สามารถจะต่อรองและทำความเข้าใจกับคนจำนวนนั้นได้ อีกทั้งคนจีนเองก็ให้ความเคารพท่าน แต่ที่ทางการจีนระแวงทิเบตเพราะองค์ดาไลลามะเป็นที่ยอมรับของคนทั้งโลก”
วรากรณ์มองโลก 2 : อเมริกาหลังวิกฤติซับไพรม์“ผมว่าอเมริกาโดยพื้นฐานเขาเข้มแข็งแล้วนะ เขาออกกำลังกายมานาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ถึงจะโดนโรคหวัดบ้างก็กลับคืนมาได้ และคนอเมริกันมีพื้นฐานความรู้เรื่องนี้ดีด้วย องค์ความรู้ของเขาจะทำให้พวกเขาผ่านปัญหาซับไพรม์ได้ และมันไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก
“อีกอย่างผมเชื่อว่าอเมริกาน่าจะได้ผู้นำคนใหม่เป็น บารัค โอบามา เพราะคนอเมริกันเบื่อพรรครีพับลิกันเหลือเกิน เบื่อบุช เบื่อสงครามอิรัก เขาก็อยากได้คนใหม่เข้ามา แต่ทีนี้เมื่อได้โอบามาเข้ามาอะไรก็จะเปลี่ยนโฉมหน้า แต่ตลอดเวลาที่โอบามาเป็นประธานาธิบดีต้องระวังให้มาก เพราะประเด็นที่เป็นคนผิวสีก็ยังมีคนในบางรัฐต่อต้าน แต่ผมเชื่อว่าไม่น่ากังวลมาก เพราะจะยังได้ฐานเสียงของ ฮิลลารี คลินตัน เข้าช่วย ความสวยงามทางประชาธิปไตยในประเทศที่พัฒนาแล้วก็คือ เมื่อได้ตัวแทนแล้ว เขาสนับสนุนเต็มที่ แม้โอบามาจะมาจากเดโมแครต แต่คนที่เลือกรีพับลิกันก็จะสนับสนุนเต็มที่ เพราะว่ามันเป็นประเทศของพวกเขา”
วรากรณ์มองโลก 3 : ประชาธิปไตยในพม่า“รัฐบาลทหารพม่าอยู่ได้ด้วยรัฐบาลจีน ถ้าจีนไม่เอาก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าพม่าเป็นรัฐกันชนระหว่างจีนกับอินเดีย ยิ่งอินเดียโตเท่าไหร่ พม่ายิ่งมีความสำคัญกับจีนมากขึ้น รัฐบาลพม่าตัดขาดจากโลกภายนอก เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไรเราไม่มีทางรู้ได้เลย
“ผมศรัทธา อองซาน ซูจี มาก แต่ถ้ามองในแง่ความเป็นจริงแล้วมันยากที่เธอจะได้อิสระ อองซาน ซูจี ก็อายุมากขึ้นทุกวัน แต่ต้องอยู่ในฐานะที่ลำบาก ผมอยากเห็นอิสระของเธอ แต่เข้าใจว่ารัฐบาลพม่าคงไม่คิดทำอะไร ปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ”