Custom Search

Jan 10, 2009

สอนลูกให้เป็นดาร์วิน


ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
มติชน
วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552

ผมตั้งใจไว้ว่าจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับชาร์ลส์ ดาร์วิน
เพราะจะเข้าใกล้เดือนกุมภาพันธ์
อันเป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกฉลองงานครบรอบ 200 ปี
ของนักวิทยาศาสตร์เรืองนามรายนี้
แต่เผอิญได้รับโชคลาภอันไม่คาดฝัน
จู่ๆ ก็ต้องเขียนเรื่องในวันเด็กเฉยเลย
(แม้ "มติชน" ฉบับนี้เป็นวันอาทิตย์ เป็นวันที่ผู้ใหญ่ออกไปเลือกตั้ง
แต่ด้วยวิสัยทัศน์อันดีงามของหนังสือพิมพ์ไทย เราจึงได้อ่านเรื่องล่วงหน้าเสมอ)
เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ ผมจึงดึงเรื่องเด็กกับเรื่องดาร์วินมาผนวกกัน


โดยตั้งโจทย์ว่า พ่อแม่ทั้งหลายอยากให้ลูกเป็นเด็กฉลาด
จากนั้นก็เป็นเด็กเก่ง
ท้ายสุดก็เป็นผู้ใหญ่รวย จะได้กลับมาช่วยเลี้ยงพ่อแม่
(หรือขอแค่ไม่ต้องให้พ่อแม่เลี้ยงไปจนตายก็สุขใจแล้ว)

หากคุณสังเกตโจทย์ของผมสักนิด
จะเห็นว่าไม่มีความดีงามเข้ามาเกี่ยวข้องผม
ไม่ได้ปฏิเสธความดีงาม
แต่ผมเว้ากันซื่อๆ ตามประสาชาวบ้าน
ลองสังเกตแผงหนังสือสิครับ สอนลูกให้เก่ง
สอนลูกให้กลายเป็นอัจฉริยะ สอนลูกให้รวย ฯลฯ
มีหนังสือเล่มไหนโปรยปกว่า สอนลูกให้เป็นเด็กดี บ้างไหมหนอ
(ถึงมี ก็คงจะเจ๊งไปแล้ว ผมจึงไม่เคยเห็น)
เมื่อสังคมเป็นเช่นนั้น เก่งก่อนรวยก่อนแล้วค่อยดีภายหลัง
(มีแต่คนรวยมาเขียนหนังสือ ฉันจะเป็นคนดี๊ดี
ไม่เห็นมีคนจนมาเขียนบ้างเลย ไม่ได้ประชดจริงนะ)
ผมเองมิอาจฝืนกระแสสังคม แต่อยากจะนำเสนอบางมุมมองสักนิด
โดยใช้ Charles Darwin เป็นต้นแบบทำไมผมใช้ดาร์วิน
ทำไมผมไม่ใช้ไอน์สไตน์ ? คำตอบบอกง่าย ไอน์สไตน์โหลครับ

นอกจากนี้ ไอน์สไตน์ยังเปรื่องปราดฉลาดเกินผู้คน
เรียกง่ายๆ ว่าฉลาดเกินไปจนมิสามารถวิเคราะห์ได้
หากมองในมุมนี้ ใครอยากให้ลูกเก่งเป็นไอน์สไตน์
คงต้องเตรียมใจไว้ ลูกคุณจะเป็นมนุษย์พิลึก
ดูละครน้ำเน่าแล้วเม้าธ์กับเพื่อนก็ไม่ได้ เชียร์บอลก็ไม่เป็น
ความสนุกสนานบันเทิงในชีวิตเป็นอันจบสิ้น
เฝ้าแต่ครุ่นคิดสมการมหัศจรรย์อยู่ทุกวี่วัน
เสร็จแล้วก็ระเห็จไปอยู่เมืองนอก
พอคุณแก่เฒ่าก็ไม่มีลูกหลานมาเลี้ยง
(ถ้าลูกคุณยังฝืนหัวสมอง อาศัยอยู่ในเมืองไทย
เค้าต้องหดหู่จนฆ่าตัวตายแน่นอน)
ดาร์วินเป็นมนุษย์ปุถุชนมากกว่าไอน์สไตน์
เขาเกิดมาในฐานะคนชั้นกลางค่อนไปทางสูง
เล่าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นยอดในอังกฤษ
นั่นก็เป็นเรื่องปกติ จบมาแล้วก็เกาะพ่อกิน
นั่นยิ่งปกติใหญ่ เสร็จแล้วก็หนีไปเที่ยวรอบโลก 5 ปี
(อยากเป็นดาร์วินมากเชียว)
กลับมาก็แต่งงานกับสาวผู้ร่ำรวย
ใช้คติเรือล่มในหนองทองจะไปไหน สร้างบ้านหลังเบิ้ม
เอามรดกต้นตระกูลมาลงทุนเก็บดอกกินตลอดชีวิต
เสร็จแล้วก็พยายามทุ่มเทเข้าไปอยู่ในสมาคมชั้นสูง
เพื่อให้สิ่งที่เขาพูดมีน้ำหนักมีความหมาย
สุดท้ายก็เขียนหนังสือ เก็บค่าลิขสิทธิ์รวยตลอดชีวิต
(สืบต่อลูกหลานอีกหลายชีวิต)
ดูจากมุมนี้ ดาร์วินเป็นมนุษย์ที่เราท่านอยากให้ลูกเป็น
เพราะผมไม่เคยได้ยินว่า ไอน์สไตน์เถียงกับคนใช้เรื่องค่าจ้าง
ลงบัญชีรายรับรายจ่ายทุกเดือน
แม้แต่ค่าซื้อเบียร์ในบ้าน แต่ดาร์วินทำเช่นนั้น
ขืนลูกคุณฉลาดเป็นไอน์สไตน์ อาจถูกโกงได้หมดตัวเชียวนะ
(หรือไม่ก็โดนสาวจับ ตกเป็นทาสทำงานงกๆ
เพื่อปรนเปรอเธอไปจวบจนวันตาย อึ๋ยยย...)
แล้วทำไมเอ่ย ดาร์วินผู้ใช้ชีวิตชิลล์ๆ มากเชียว
ถึงโด่งดังเป็นพลุแตก หากนับกันในฐานะนักชีววิทยาและธรรมชาติวิทยา
ไม่มีใครเกินหน้า เรียกว่าเป็นหนึ่งไม่มีสองของจริง
(คุณคิดชื่อนักชีววิทยาคนที่สองออกมั้ย?)
หรือแม้เอาไปเทียบข้ามอาชีพ ดาร์วินกับอับบราฮัม ลินคอร์น
เกิดวันเดือนปีเดียวกันเปี๊ยบ
แต่สุดท้ายเมื่อสองร้อยปีผ่านไป ดาร์วินดังกว่า
ทั้งที่ลินคอร์นลำบากกว่าตั้งเยอะ
(ดาร์วินท่องหนังสือในห้องหรูมีเตาผิงมีบัทเลอร์คอยบริการ
ลินคอร์นต้องจุดเทียนอ่านจนตาสั้นกุด)
คำตอบข้อแรก คือ ดาร์วินใช้ชีวิตแบบตามกระแสสังคม
อาศัยสิ่งที่พ่อแม่ทำมาให้มีประโยชน์ ไปร่วมงานกินเลี้ยงชั้นสูง
เจอคนโน้นคุยกับคนนี้ ค่อยๆ สร้างฐานเพื่อรอเวลา
จากนั้นค่อย...ตูม !คำตอบข้อสอง
ดาร์วินมีดีในตัวเอง ความเจ๋งของเขาอยู่ที่นิสัยง่ายๆ
เพียงไม่กี่ประการ ได้แก่ การสังเกต การตั้งคำถาม
ความพยายามในการตอบคำถาม ทุ่มเทให้รู้จริง
ตอบคำถามให้ตัวเองสำเร็จ และท้ายสุด
อันนี้ต้องใช้กึ๋นเยอะเป็นพิเศษ
ความกล้าในการประกาศให้โลกรู้เมื่อดูจากคำตอบทั้งสอง
ผมถึงอยากสอนลูกให้เป็นดาร์วิน เพราะผมมีปัญญาสอนเค้าได้
อย่าถลุงมรดกพ่อจนหมดนะ (มีด้วยเหรอ ? ถ้ามี...พ่อถลุงเอง)
อย่าให้สาวจับนะ (ให้สาวมาจับพ่อดีกว่า)
รู้จักนอบน้อมถ่อมตนกับผู้ใหญ่ (เอาไว้ให้เราใหญ่กว่าค่อยให้เค้ามานอบน้อม)
อย่าหาเรื่องใส่ตัว (ไม่งั้นตอนสมัครผู้ว่าฯ อาจมีปัญหา) ฯลฯ
การสังเกต การตั้งคำถาม การตอบคำถาม ฯลฯ
เป็นนิสัยที่เราฝึกให้ลูกได้ครับ ทำตั้งแต่ตอนนี้แหละ โตขึ้นมา
เค้าจะไม่ต้องไปเรียนวิชา Gap Analysis (เสียค่าลงทะเบียนตั้งเป็นหมื่น)
แต่พึงระวังเรื่องสำคัญ นั่นคือรู้จุดรู้ปัญหาแล้ว
แต่ไม่มีความพยายามทุ่มเทในการตอบคำถาม
ให้เกิดการกระทำที่เป็นผล ความพยายามอดทนทุ่มเท
ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัยไหน เป็นนิสัยที่ต้องปลูกสร้างมาตั้งแต่เด็ก
(หรือไม่ก็รอให้เป็นผู้ใหญ่ ใกล้อดตาย
จากนั้นก็พยายามเอง แต่มันสายไปนะ)
จุดนี้คือสิ่งที่ดาร์วินผิดกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นหรูส่วนใหญ่
เพราะขณะที่เขายังไปงานสังคมมีเพื่อนฝูง
เมื่อกลับมาบ้าน เขาเอาเวลาที่ควรนั่งสูบไปป์สบายใจเฉิบ
มานั่งวาดภาพเพรียง คุณอ่านไม่ผิดหรอกครับ
ดาร์วินนั่งดูเพรียงแล้ววาดภาพออกมาทีละตัว
ไม่ได้ดูอยู่แค่วันสองวัน แต่นั่งดูติดต่อกันแปดปี
เขาดูเพราะเขาจำเป็นต้องดู เพื่อให้ชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ
ในฐานะนักอนุกรมวิธาน ผู้ค้นพบและศึกษาสัตว์กลุ่มหนึ่งจนเชี่ยวชาญ
มิฉะนั้น ตอนที่เขาบอกคนอื่นว่า คนมาจากลิง
ใครจะไปเชื่อ เมื่อดูจากนิสัยทั้งหมด
ผมคิดว่าคงพอมีปัญญาสอนลูกให้ทำดังเช่นดาร์วินบ้าง
แม้อาจไม่ทั้งหมด แต่แค่นั้นก็คงพอให้ลูกผมเอาตัวรอดในอนาคต
ผิดกับไอน์สไตน์ ผมจะไปสอนยังไงดีวุ้ย
จับมาเบิร์ดกะโหลกให้รอยหยักในสมองมีมากขึ้น
ทำเช่นนั้นทุกวัน ทั้งพ่อทั้งลูกได้ขึ้นศาลเด็กคุณสมบัติข้อสุดท้าย
เป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ ต้องควักหัวใจออกมาวัดกัน
นั่นคือความกล้า เขากล้าหรือไม่ที่จะนำทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างมาเกือบชั่วชีวิต
ทั้งชื่อเสียงและฐานะทางสังคม ตลอดจนหน้าตาของลูกหลาน
สืบต่อไปอีกหลายต่อหลายชั่วอายุคน
นำมาแลกกับความจริงง่ายๆ ที่ว่า
"พระเจ้าไม่ได้สร้างคน แต่คนมาจากลิง"
ความจริงที่เขาใช้เวลา 35 ปี ในการพิสูจน์
คำตอบที่เขาสามารถตอบกับตัวเองได้
แต่เขากล้าตอบกับคนอื่นหรือไม่?
เขากล้าแลกทุกสิ่งทุกอย่างกับความซื่อสัตย์ในฐานะบุคล
ที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์
เป็นคนที่ค้นหาความจริงมาเปิดเผยให้คนอื่นรู้ดาร์วินกล้าควักหัวใจ
และนั่นทำให้ดาร์วินเป็นดาร์วิน บุรุษผู้เปลี่ยนความเชื่อของคนทั้งโลก
ความดีงามและความซื่อสัตย์ ไม่สามารถสอนได้
แต่เราทำให้ดูลูกได้ แม้คนทั้งโลกไม่รู้
แต่เรารู้และสักวันหนึ่ง ลูกเราย่อมรู้ !
หน้า 8