Custom Search

Jan 17, 2009

เพื่อความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม (13) สิ่งไหนสำคัญกว่า

คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552
ผม ขอเล่าเรื่องให้สักเรื่องหนึ่ง จบแล้วลองมาช่วยกันวิเคราะห์ก็แล้วกันนะครับ
เรื่องของนักมวยเอกคนหนึ่ง สมัยอยู่บ้านนอก ในจังหวัดห่างไกลปืนเที่ยง
เด็กน้อยตัวดำปิ๊ดคนหนึ่ง รูปร่างอ้อนแอ้น อ่อนแอ โดนเพื่อนรังแกเรื่อย ด้วยความเจ็
บใจ
จึงพยายามออกกำลัง "บำรุงกล้าม" ด้วยคิดว่าจะให้ร่างกายใหญ่โตแล้วจะได้ไม่มีใครรังแก
แต่ก็ไม่ได้โตดังที่คิด ยังคงถูกเพื่อนรังแกอยู่ต่อไป


เป็นที่รู้กันในวงการเพื่อนฝูงว่า "ไอ้ปื๊ด" คนนี้เป็นเด็กไม่สู้คน แต่เมื่อถูกรังแกถูกเอาเปรียบเรื่อยไอ้ปื๊ดก็ฮึดสู้บ้าง วันหนึ่งจะด้วยแรงโกรธหรืออย่างไรไม่ทราบ
ไอ้ปื๊ดต่อยหน้าไอ้เหม เด็กรุ่นพี่ซึ่งรูปร่างสูงใหญ่กว่าล้มคว่ำไปโดนตอไม้ใหญ่ข้างทางไอ้เหมสลบเหมือด
ที่สลบนี่ก็ใช่ว่าเพราะแรงกำปั้นไอ้ปื๊ดอย่างเดียวก็หาไม่
ร่างไอ้เหมมันโตใหญ่ มันเซไปสะดุดก้อนหินแล้วมันก็ล้มต่อ
ศีรษะไปโดนตอไม้เข้ามันจึงสลบ

ตั้งแต่นั้นต่อมา ใครๆ ก็กลัวไอ้ปื๊ดหมัดสั่ง ไม่กล้ามาตอแยด้วย ไอ้ปื๊ดก็เลย "สู้คน"
มาแต่บัดนั้น หัดชกมวยไทยและศิลปะการต่อสู้ ต่อมาได้รู้จักกับครูมวย
ฝากตัวเป็นศิษย์ครูมวย ชกมวยตามเวทีต่างจังหวัดจนกระทั่งมีชื่อเสียงโด่งดัง
เป็นดาวรุ่งที่ก้าวขึ้นทาบรัศมีนักมวยดังๆ และดับรัศมีดาวค้างฟ้าไปหลายคน

ไอ้ ปื๊ดหมัดสั่งเป็นนักมวยมีวินัย ขยันฝึกซ้อม เชื่อฟังครู ใครๆ
ก็คาดว่ามันคงโลดแล่นอยู่บนสังเวียนผ้าใบไปอีกนาน
ในที่สุดไอ้ปื๊ดหมัดสั่งก็เข้ามากรุงเทพฯ
สังกัดค่ายมวยดังแห่งหนึ่ง หันมาชกมวยสากล ชกชนะมาเรื่อยๆ
จนกระทั่งได้เป็นแชมป์โลกคนหนึ่ง

หัวหน้าค่ายมวยค่ายใหม่ที่ไอ้ปื๊ดหมัดสั่งสังกัดอยู่ เป็นคนเชื่อในโชคลาง
ไสยศาสตร์จะขึ้นชกแต่ละที ต้องให้ไอ้ปื๊ดทำพิธีบนบานศาลกล่าว
เจ้าพ่อเจ้าแม่สารพัดและทุกครั้งก็ปรากฏว่าไอ้ปื๊ดหมัดสั่งชกชนะเป็นส่วนมาก
นัดไหนแพ้หัวหน้าค่ายมวยแกจะไม่โทษเจ้า
แต่กลับโทษตัวเองว่าบวงสรวงไม่ถูกต้อง
หรือไม่ก็คงมีอะไรผิดพลาดในการทำพิธีสักอย่าง
หาไม่เจ้าก็คงจะบันดาลให้ชนะแล้ว

ไอ้ปื๊ดเอง ตอนแรกๆ ก็ไม่สนใจเท่าใดนัก เขาให้ทำก็ทำ แต่นานๆ เข้า
ก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าที่ตนชกชนะเป็นส่วนมาก
ก็เพราะอำนาจการดลบันดาลของเจ้า
และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

หลังจาก ชกชนะทุกนัด เมื่อนักข่าวสัมภาษณ์ว่า
คิดว่าอะไรทำให้คุณปื๊ดชนะอย่างขาวสะอาดเช่นนี้
(ส่วนมากคู่ต่อสู้จะถูกไอ้ปื๊ดน็อคดิ้นคาเวทีไม่ทันครบยก
ไอ้ปื๊ดจะบอกด้วยความภูมิใจว่า

"เพราะบารมีของเจ้าพ่อองค์นั้นองค์นี้ ซึ่งผมได้บนไว้"

ผู้ อ่านไม่ต้องสนใจว่า ไอ้ปื๊ดหมัดสั่งคือใคร มีตัวตนจริงหรือไม่
แต่พฤติกรรมอย่างนี้มีให้เห็นโดยทั่วไป
ปัญหาที่เราจะมาหาคำตอบร่วมกันก็คือ

1) อะไรทำให้ไอ้ปื๊ดหมัดสั่งก้าวขึ้นมาเป็นนักมวยอันตรายอันดับหนึ่งของประเทศ
จนเป็นที่เกรงขามของคู่ต่อสู้ทั่วไป ?

2) การชกชนะแต่ละครั้ง ไอ้ปื๊ดบอกว่า เพราะอำนาจดลบันดาลของเจ้าหรือ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แกบนบานจริงหรือไม่ ?

การตอบอาจจะตอบแบบ "เหตุ-ผล" หรือตอบแบบ "ปัจจัย" (เงื่อนไข) ก็ได้
ขึ้นอยู่กับว่าเรามองเรื่องนี้ในแง่มุมใด

(1) ถ้ามองแบบ "เหตุ-ผล" ก็อาจมองว่า การที่ไอ้ปื๊ดกลายเป็นนักมวยดัง
เป็นผลมาจากการได้ครูฝึกซ้อมที่เก่ง
หรือการที่ไอ้ปื๊ดชนะคู่ต่อสู้แทบทุกครั้งที่ขึ้นชก
เป็นผลของการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์

- ครูฝึกเป็นเหตุ ทำให้เกิดผลคือ ไอ้ปื๊ดเก่ง

- สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเหตุ ทำให้เกิดผลคือชัยชนะเหนือคู่ต่อสู้

การมองแบบนี้เรียกว่ามองแบบ "เหตุ-ผล" หรือแบบ "เหตุผลิตผล"
เมื่อมีอย่างนี้เป็นเหตุก็ย่อมมีอย่างนี้เป็นผล

(2) แต่ถ้ามองแบบ "ปัจจัย" หรือแบบ "เงื่อนไข" ก็จะมองว่า
การที่จะเกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น มิได้มาจาก "เหตุ" เพียงอย่างเดียว
แต่มาจากหลายๆ "เงื่อนไข" มารวมกัน และเงื่อนไขแต่ละอย่างล้วน
มีความสำคัญเท่าๆ กัน
ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

การที่ไอ้ปื๊ดเป็นนักมวยเก่ง มิใช่เพราะครูฝึกแกเก่งอย่างเดียว
หากมาจากเงื่อนไขอย่างอื่นอีกหลายๆ อย่างประกอบด้วย เช่น

- ความตั้งใจจริง

- ความขยันฝึกซ้อม

- ความเป็นคนมีระเบียบวินัย เชื่อฟังครูฝึก

- การพักผ่อนนอนหลับเพียงพอ

- กำลังใจจากคนรอบข้าง

- ได้รับการบำรุงด้วยอาหารการกินที่ดีและเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย และ ฯลฯ

การ ที่ไอ้ปื๊ดชกชนะคู่ต่อสู้อย่างง่ายดาย มิใช่มาจากสาเหตุคือ
การดลบันดาลของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ถ้ามีจริง) เท่านั้น
หากมาจากเงื่อนไขอื่นๆ
อีกมากหลายเช่นที่กล่าวแล้วข้างต้น และที่สำคัญก็คือ "กำปั้น"
ไม่มีรูของไอ้ปื๊ดเอง

เพราะกำปั้นข้างนี้แหละที่ทิ่มครึ่งปากครึ่งจมูกของคู่ต่อสู้จนมันล้มคว่ำไม่ครบยก

เพราะ ฉะนั้น ชัยชนะแต่ละครั้ง เงื่อนไขทุกอย่างมีส่วนด้วยทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็นการขยันฝึกซ้อม ความมีระเบียบวินัย ความเก่งกาจของครูฝึก
การพักผ่อนเพียงพอ อาหารสมบูรณ์ กำลังจากคนรอบข้าง
ความอุ่นใจที่เชื่อว่าเทพเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง

แม้กระทั่งนักมวยฝ่ายตรงข้าม ก็เป็นเงื่อนไขให้เกิดชัยชนะครั้งนี้ด้วย

อ้าว หรือไม่จริง ถ้าไม่มีคู่ต่อสู้คนนี้ ไอ้ปื๊ดมันจะต่อยกะใคร
และถ้าไม่มีคู่ต่อสู้กระดูกเปราะคนนี้ ไอ้ปื๊ดมันจะชนะหรือ หรือไม่จริง

เห็นหรือยังครับ ถ้ามองแบบ "ปัจจัย" (เงื่อนไข) จะเห็นว่าเป็นการมองอย่างกว้าง
และครบวงจร โอกาสจะผิดพลาดมีน้อย

พระ พุทธศาสนาจึงสอนให้มองอย่างแบบปัจจัย คือให้มองว่า
ปรากฏการณ์อะไรจะเกิดมิได้เกิดขึ้นเพราะ "เหตุ" เพียงเหตุเดียว
แต่เกิดเพราะ "ปัจจัย" (เงื่อนไข)
หลายๆ อย่างมารวมกัน

เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ก็จะเห็นความสำคัญของแต่ละเงื่อนไขเท่าๆ กัน
ไม่ให้ความสำคัญแก่เงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งโดยเฉพาะ

คน ที่ฝึกคิดฝึกมองแบบนี้ จะเป็นคนเข้าใจคนอื่น
ยอมรับในความสามารถของคนอื่นทัดเทียมกับตน
เคารพในความคิดเห็นของคนอื่นเท่าๆ กับความคิดเห็นของตน

ถ้าคนคนนี้ เป็นนักบริหาร ก็จะเป็นนักบริหารงานที่เห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมงาน
เมื่องานประสบความสำเร็จ ก็เข้าใจว่าเป็นเพราะทุกคนร่วมมือกันทำ
ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง

หรือถ้างานล้มเหลว ก็รับผิดชอบร่วมกัน มิใช่โยนให้เป็นความผิดคนใดคนหนึ่ง

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือ หนังสือพิมพ์มติชนสำเร็จเป็นรูปเล่ม น่าซื้อ
ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
(สาธุ สมพรปาก) มาจากเงื่อนไขหลายอย่างรวมกัน เช่น

- นายทุนก็มีส่วน

- บก. ก็สำคัญ บก.บห. กองบรรณาธิการและนักข่าวทุกคนก็มีส่วน

- เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลป์ ก็มีส่วน

- ฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฝ่ายจัดจำหน่าย ก็มีส่วน

- คนเรียงคอมพิวฯ คนตรวจปรู๊ฟ ก็มีส่วน โดยเฉพาะคนหลัง
ถ้าแกไม่ชอบหน้าใครสักคน แกล้งตรวจปรู๊ฟผิด ก็เสียคนไปทั้งสำนักพิมพ์

- คอลัมนิสต์ก็มีส่วน เขาไม่เขียนให้แล้วจะเอาเรื่องที่ไหนลง และ ฯลฯ

กว่าจะสำเร็จเป็นหนังสือสักเล่ม ต้องอาศัย "ปัจจัย" (เงื่อนไข) ต่างๆ มารวมกัน

ที่ พูดมายาวยืดนั้น ต้องการจะบอกท่านผู้อ่านว่า นี่แหละครับคือหลักคำสอนเรื่อง
"อิทัปปัจจยตา" (ความเป็นปัจจัยอาศัยกันและกัน) หรือ "ปฏิจจสมุปบาท"
(การเกิดขึ้นของสิ่งทั้งหลายโดยเป็นปัจจัยอาศัยกัน) ที่พระพุทธศาสนาย้ำเน้นเสมอ

ถ้าเราเข้าใจ "แนวคิดหลัก" (concept) แล้ว
เราก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยประการฉะนี้แล โยมเอ๋ย


หน้า 6