พุทธศักราช 2325 มีสิ่งสำคัญอุบัติในโลกใบนี้อยู่ 2 เหตุการณ์เหตุการณ์แรก อุบัติเมื่อ 10 มิถุนายน เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงขนานพระนามจารึกลงในพระสุพรรณบัฏและเสด็จขึ้น เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขณะที่มีพระชนม์ 46 พรรษา เหตุการณ์ที่สองอุบัติเมื่อ 16 กันยายน เป็นวันที่ตราประทับของสหรัฐอเมริกาถูกใช้เป็นครั้งแรก โดยใช้ประทับรับรองลายมือชื่อของนายจอร์จ วอชิงตัน (อีก 7 ปีต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา) ในตอนที่ใช้เป็นครั้งแรกนี้ นายวอชิงตันอายุ 50 ปี และใช้ตราประทับในฐานะผู้มีอำนาจเจรจาแลกเปลี่ยนนักโทษ อังคารวันนี้ 20 มกราคม 2552 เป็นวันแรกที่นายบารัก ฮุสเซ็น โอบามา มีสิทธิ์ใช้ the Great Seal of the United States หรือตราประทับของสหรัฐอเมริกา นายโอบามาจะเป็นอเมริกันชนคนที่ 44 ที่ได้ใช้ตรานี้ประทับเพื่อรับรองลายมือชื่อของตนเองบนเอกสารสำคัญที่เป็นเรื่องระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับที่ จอร์จ วอชิงตัน โธมัส เจฟเฟอร์สัน อับราฮัม ลินคอล์น ธีโอดอร์ รูสเวลท์ แฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ จอห์น เอฟ เคนเนดี โรนัลด์ เรแกน บิล คลินตัน จอร์จ ดับเบิลยู บุช ฯลฯ เคยใช้มาก่อน ผมเรียนผู้อ่านท่านที่เคารพตั้งแต่เมื่อตอนที่เริ่มเขียนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นปีแรกๆ ว่า สหรัฐอเมริกามีแผนการอยู่ 2 อย่าง คือ แผนระยะยาว และแผนระยะสั้น หลายท่านถามผมว่า แผนระยะยาวหรือยุทธศาสตร์ชาติของสหรัฐฯเป็นยังไง ผมแนะนำให้ท่านไปเอาธนบัตรใบละ 1 ดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกามาพิจารณา ท่านก็จะพบบุคลิกภาพของประเทศนี้ที่คณะผู้ก่อตั้งประเทศสั่งเยาวชนคนรุ่นหลังไว้ว่าจะต้องทำอย่างไร ประธานาธิบดีคนใด หรือคณะผู้นำประเทศชุดไหนไม่ทำตามไม่ได้ ผู้นำที่มีแนวโน้มแหกแหวกแนว ก็จะโดนฆ่าทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นอับราฮัม ลินคอล์น (โดนฆ่าเมื่อ 14 เมษายน 2408) วิลเลียม แม็คคินลีย์ (โดนฆ่าเมื่อกันยายน 2444) และ จอห์น เอฟ เคนเนดี (โดนฆ่าเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2506) คำสั่งของคณะผู้ก่อตั้งประเทศอยู่ในตราประทับที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.25 นิ้ว ด้านหน้าของตราเป็นรูปนกอินทรีหัวขาวกำลังกางปีก ซึ่งหมายถึง คณะฯ ต้องการให้ประเทศใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นทรงแสนยานุภาพ ที่ปากของนกอินทรีคาบม้วนกระดาษที่เขียนข้อความเป็นภาษาละตินว่า E PUBLIUS UNUM ซึ่งหมายถึง out of many, one แปลเป็นไทยก็คือ จากความหลากหลายมารวมเข้ากันเป็นหนึ่งเดียว ในกรงเล็บซ้ายของนกอินทรีมีลูกธนูอยู่ 13 ดอก อันนี้หมายถึงสงคราม ถ้าท่านเลื่อนสายตาไปดูที่กรงเล็บขวา ท่านจะเห็นช่อมะกอกเทศซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ ช่อมะกอกเทศมีใบอยู่ 13 ใบ และลูกมะกอกเทศ 13 ลูก หน้าของนกหันไปทางช่อมะกอกเทศ อันนี้ก็คือ คณะฯ สั่งให้คณะผู้นำสหรัฐอเมริการุ่นหลังให้นิยมสันติภาพมากกว่าสงคราม แต่ก็พร้อมที่จะให้ทำสงครามเพื่อปกป้องประเทศชาติ ตรงหน้าอกของนกอินทรีมีโล่ตกแต่งด้วยแถบสีขาวสลับแดงอยู่ 13 แถบ สีขาวของแถบเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ผุดผ่องของประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่ ส่วนสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความทรหดอดทนและกล้าหาญ เหนือแถบทั้ง 13 แถบมีแถบแนวนอนสีน้ำเงิน อันนี้หมายถึงประธานาธิบดีและสมัชชาแห่งสหรัฐฯ สีน้ำเงินใช้เป็นสัญลักษณ์ของความไม่ประมาท ความอุตสาหะ และความยุติธรรม การที่แถบสีขาวสลับแดงทั้ง 13 แถบอยู่ข้างใต้และกลายเป็นฐานให้กับแถบสีน้ำเงิน อันนี้ก็คือ คณะฯ ต้องการให้รัฐเริ่มแรกทั้ง 13 แห่งที่มารวมกันเข้าเป็นสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่ต้องสนับสนุนค้ำจุนคนที่เป็นประธานาธิบดีและสมัชชาแห่งสหรัฐฯ โล่ซึ่งตกแต่งด้วยแถบสีขาว แดง และน้ำเงิน สื่อความหมายถึงธงชาติสหรัฐอเมริกาด้วย ผู้อ่านท่านลองสังเกตโล่ประจำตระกูล โล่ประจำประเทศ หรือประจำรัฐของที่อื่น โดยเฉพาะของพวกยุโรป ท่านจะพบว่าจะต้องมีรูปสัตว์ในจินตนาการประคองโล่ไว้ แต่โล่ของสหรัฐอเมริกาไม่มี เพราะคณะผู้ก่อตั้งสั่งให้คนรุ่นต่อไปให้พึ่งแต่คุณธรรมของตัวเองเท่านั้น ไม่ต้องเอาประเทศไปพึ่งหรือไปอิงใครหรือประเทศใดในโลก ผู้อ่านท่านครับ พรุ่งนี้นิติภูมิขออนุญาตกลับมารับใช้กันต่อถึงคำสั่งที่คณะผู้ก่อตั้งประเทศสั่งไว้ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีคนที่ 1 นายจอร์จ วอชิงตัน ยันมาจนถึงประธานาธิบดีคนที่ 44 ซึ่งรับตำแหน่งครั้งแรกในวันนี้ นายบารัก ฮุสเซ็น โอบามา.
|