Custom Search

Apr 20, 2008

ประภาส ชลศรานนท์ : PRAPAS.COM

คณิตศาสตร์อธิบายธรรม
คุยกับประภาส
ประภาส ชลศรานนท์

เรียนคุณประภาส

ดิฉันอ่าน "แม่เภามาเยี่ยม" ในมติชนวันอาทิตย์แล้ว มีความเห็นสอดคล้องกับ"แม่เภา"
ในบางสิ่งบางอย่างที่ "แม่เภา"แสดงออกมาให้ลูกสาวได้ทราบในวันนั้น อย่างน้อยที่สุด
"แม่เภา"มีมุมมองแตกต่างไปจากมุมมองของ "พิมพ์ดี" ในการรับรู้ความเป็นไปของ
สิ่งแวดล้อม แต่"แม่เภา" ก็ไม่อาจที่จะอธิบายความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้นให้ลูกทราบได้
ดิฉันจึงขออนุญาตชี้แจงมายัง "หนูพิมพ์ดี" ว่า
คนเรามีทางเลือกที่จะมีความสุขในชีวิตได้ 4 ทาง คือ
1.เลือกที่จะมีความทุกข์บนความทุกข์ของผู้อื่นเช่น เวลาที่เราเจ็บป่วยไม่สบายเราเจ็บปวด
แล้วแสดงอาการโอดโอยเศร้าหมองออกมา นอกจากใจเราจะเป็นทุกข์แล้ว
เรายังสร้างความทุกข์ให้กับบุคคลที่มารับรู้ความเจ็บปวดกับเราด้วย
2.เลือกที่จะมีความสุขบนทุกข์ของผู้อื่นเช่น พูดหรือกระทำการให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย
ทำให้เขาได้รับความทุกข์ โดยที่เรามีความสุขและสะใจที่ได้กระทำเข่นนั้น
3.เลือกที่จะมีความทุกข์บนความสุขของผู้อื่น อันนี้เราทำตัวของตัวเองในการที่
จะยอมทนทุกข์ทรมานเพื่อคนที่เรารักอย่างไม่ลืมหูลืมตา เพื่อให้เขามีความสุข
โดยไม่คำนึงว่าเราจะทรมานใจและร่างกายเพียงใด
ทำไมเราจะต้องทรมานตัวเองถึงขนาดนั้น ทำร้ายร่างกายและจิตใจของตัวเองทำไม
4.เลือกที่จะมีความสุขบนความสุขของผู้อื่นเราควรพิจารณาพูดและกระทำทุกสิ่งที่ทำให้
ทั้งเราและผู้อื่นมีแต่ความสุข จะทำให้เราสบายใจ ทุกหัวข้อที่เขียนมา
แสดงถึงความมีสติของเราที่จะเลือกดำเนินชีวิตอ่านให้เข้าใจแล้วจะทราบว่า
เราควรเลือกข้อไหน เราเลือกชีวิตของเราเองได้นะคะ ชีวิตเกิดขึ้นมาแล้วดำเนินไป
แล้วก็แตกสลายไปในที่สุด ไม่มีสิ่งใดที่เป็นของของเราเลย
เพราะฉะนั้นเมื่อเราเกิดมาแล้วควรทำแต่ความดี และมีแต่ความปรารถนาดีต่อกันไว้ดีกว่า
ความเห็นนี้ได้มาจากการที่ดิฉันได้ไปอบรมการพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา
และสันติสุขจากบ้านกรินชัยที่โคราชของคุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย มาค่ะ
จึงขอเอามาเผยแพร่เป็นวิทยาทานแก่ท่านทั้งหลายด้วย

สิริพรรณ
_____________________

พี่ประภาส
เคยอ่านเจอว่า ไอน์สไตน์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้หาคำตอบด้วยการทดลอง
แต่ได้ใช้คณิตศาสตร์อธิบายปรากฏการณ์ของจักรวาล
และภายหลังจึงมีนักวิทยาศาสตร์มาทดลองพิสูจน์พบว่าทฤษฎีของไอน์สไตน์เป็นเรื่องจริง
ถ้าเป็นอย่างงี้..ไอน์สไตน์ก็ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์แต่เป็นนักคณิตศาสตร์มากกว่า
ใช่ไหมครับ

ไก่
________________________________
จดหมายสองฉบับนี้อันที่จริงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน เขียนมาพูดคุยคนละประเด็น
แต่ที่ผมนำมาลงไว้ด้วยกันก็เพราะจดหมายฉบับหนึ่งผมนำมาใช้ใน
การตอบจดหมายอีกฉบับหนึ่ง
ก่อนอื่นคงต้องขอแสดงความขอบคุณต่อคุณสิริพรรณเป็นอย่างมาก
ที่ได้เอื้อเฟื้อเขียนมาแจกแจงข้อธรรมอันดีแก่พิมพ์ดีลูกสาวแม่เภาคง
ไม่เพียงแต่พิมพ์ดีหรอกครับที่จะได้ข้อคิดดีๆต่อชีวิต
ทั้งสี่ข้อนี้ไปผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านที่นั่งแช่ทุกข์อยู่
ก็คงจะได้ฟื้นธรรมในเรื่องนี้กันบ้างส่วนที่คุณสิริพรรณ
แสดงความเห็นมาว่าแม่เภาอาจจะไม่สามารถอธิบายหลักธรรมอันลึกซึ้งแก่ลูกสาวได้นั้น
ใครที่ติดตามแม่เภามาตลอดก็อาจจะพอคิดเข้าข้างแม่เภาได้ว่า
บางทีแม่เภาอาจจะมีวิธีสอนของแกไปอีกแบบหนึ่ง
ก็ได้ทีนี้มาที่จดหมายของคุณไก่บ้างเป็นเรื่องจริงครับ...
ที่ไอน์สไตน์ไม่ได้เป็นผู้ทดลองพิสูจน์ทฤษฎีที่ตัวเองเขียนขึ้นมา
จากสูตรทางคณิตศาสตร์
หลายทฤษฎีนักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังเป็นผู้พิสูจน์เห็นจริง
เช่นเรื่องแสงเดินทางเป็นเส้นโค้งตามความโค้งของอวกาศก็มาพิสูจน์กัน
โดยต้องอาศัยตอนเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา
เพื่อวัดตำแหน่งว่าดวงดาวเพี้ยนไปแค่ไหนหรือแม้แต่ทฤษฎีที่ว่า
เมื่อเราอยู่บนความเร็วที่มากขึ้น เวลาจะเดินช้าลงก็ต้องรอมาพิสูจน์
เมื่อเราสามารถประดิษฐ์นาฬิกาอะตอมที่เที่ยงตรงเอามากๆ
และวัดหน่วยเป็นเศษเสี้ยวของเสี้ยวของเสี้ยววินาทีได้
คุณไก่แสดงความคิดเห็นว่า เพราะแค่ไอน์สไตน์คิดและคำนวณ
ไม่ได้เป็นผู้ทดลองพิสูจน์ไอน์สไตน์จึงไม่น่าใช่นักวิทยาศาสตร์
แต่เป็นแค่นักคณิตศาสตร์ต่างหาก
เรื่องนี้มันก็อยู่ที่ว่าเอาอะไรมาวัดการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์
ไม่จำเป็นต้องเห็นจริงแค่ประสาทสัมผัสหูตาจมูกหรอกครับ
ถ้ามีใครบอกว่าอวกาศนั้นโค้ง
แล้วเราดันไปถามว่ามันโค้งอย่างไร ในเมื่อดูด้วยตามันก็ดู
ไม่ออกเอียงคอดูก็ดูไม่ออก
ตีลังกาดูก็ดูไม่ออก
จริงๆ นะครับต่อให้ถึงขนาดนั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะพิสูจน์ไม่ได้
เรารู้ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงโลกได้อย่างไร
โดยไม่ต้องเอาตลับเมตรไปดึงวัดทีละเมตรสองเมตร
แต่เรารู้จากการคำนวณครับ
จากการวัดมุม จากการแทนค่า จากสูตรสามเหลี่ยมง่ายๆ
คล้ายๆที่เราเขียนบนกระดาษที่โรงเรียน เรารู้ได้ด้วยคณิตศาสตร์นั่นเอง
ต้องบอกคุณไก่ก่อนนะครับว่านักวิทยาศาสตร์ยอมรับตัวเลขทางคณิตศาสตร์ว่า
เป็นการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งเป็นการพิสูจน์ที่น่าเชื่อถือเอามากๆ ด้วย
แทบจะแยกกันไม่ออกหรอกครับ..ระหว่างคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์เพราะ
ถ้าจะเปรียบวิทยาศาสตร์เป็นร่างกายมนุษย์ คณิตศาสตร์
นี่ก็กระดูกทุกชิ้นของร่างกายดีๆ นี่เองไม่แต่วิทยาศาสตร์เท่านั้น
ที่มีคณิตศาสตร์เป็นโครงร่างแทบจะทุกอารยธรรมของมนุษย์
ล้วนใช้คณิตศาสตร์เป็นตัวเริ่มจำเรื่อง 1 + 1 = 2
ที่ผมเคยเขียนเมื่อสี่ห้าปีก่อนได้ใช่ไหมครับอย่างน้อยที่สุด
คณิตศาสตร์นี่แหละจะเป็นตัวอธิบายทุกสรรพสิ่งได้ดีนัก
กลับไปอ่านจดหมายของคุณสิริพรรณอีกทีก็ได้ การจำแนกแยกแยะ
เรื่องเหตุแห่งทุกข์และเหตุแห่งสุขจากทุกข์และสุขของผู้อื่น
ที่คุณสิริพรรณอธิบายนั้นผมถือเป็นการอธิบายหลักธรรมด้วยคณิตศาสตร์อย่างหนึ่ง
ลองดูดีๆ สิครับ คล้ายๆการอธิบายการรวมตัวของโครโมโซมจากพ่อ-แม่จน
เกิดเป็นเพศของทารกเลยทีเดียว
ใครที่เคยเรียนชีววิทยาคงนึกออกโครโมโซมสองตัว x กับ y
วมกันเป็นอะไรได้บ้าง xx, xy , yy
อธิบายสุขทุกข์ของตัวเองกับสุขทุกข์ของคนอื่นก็เช่นกัน
จับคู่สลับขาไปมาการแยกหมวด การจับคู่ ฯลฯ พวกนี้นี่คณิตศาสตร์ทั้งนั้นนะครับ
เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัวยกตัวอย่างง่ายๆ
แม่เภานั้นเข้าใจชีวิตและความจริงในเรื่องการเลือกสุขและทุกข์ให้ชีวิตเป็นอย่างดี
แต่แม่เภาไม่เคยอธิบายออกมาให้ลูกสาวเข้าใจในรูปแบบของสูตรทางคณิตศาสตร์
อย่างที่คุณสิริพรรณอธิบายมาซึ่งผมเชื่อว่าใครก็ตามที่มาอ่านจดหมายของสิริพรรณแล้ว
ก็ต้องรู้สึกว่ามันครอบคลุมชัดเจนดี
คุณสิริพรรณทำให้เห็นได้ว่า คณิตศาสตร์นั้นอธิบายธรรมะ
ได้ดีไม่แพ้อธิบายจักรวาลไอน์สไตน์ก็เชื่ออย่างนั้น
ครั้งหนึ่ง เฮดวิก บอร์น
เพื่อนของเขาถามเขาว่า "คุณเชื่อจริงๆหรือว่า วิทยาศาสตร์อธิบายได้ทุกปรากฏการณ์"
ไอน์สไตน์ตอบว่า "ใช่ มันอธิบายได้ทุกสรรพสิ่งไม่เชื่อคุณลองบรรยายซิมโฟนี่
ของบีโธเฟนด้วยการสั่นของคลื่นความดันดูสิ"
ในสายตาของผมแล้ว ไอน์สไตน์เป็นนักวิทยาศาสตร์ยิ่งกว่านักวิทยาศาสตร์คนไหนๆ
เพราะเขามองทุกสรรพสิ่งเป็นวิทยาศาสตร์หมด บุคคลที่ผมจะยกตัวอย่างต่อไปนี้
ผมจะลองเขียนดูนะครับว่าพวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์แขนงกันไหนกันบ้าง
คุ้นชื่อทุกคนนั่นแหละครับ
โมซาร์ตผู้ค้นพบความสัมพันธ์ของคลื่นเสียงและนำมา
สร้างอนุกรมไล่เรียงและจับคู่ความถี่เสียงจนเกิดเป็นคลื่นเสียงกล่อมโลก


ซิกมันด์ ฟรอยด์ ผู้จับแยกหมวดกมลสันดานและความคิดมนุษย์และอธิบายความสัมพันธ์ของพฤติกรรมในเวลาช่วงต่างๆ ของชีวิตมนุษย์ โดยมีวิชาสถิติเป็นข้ออิงหลัก

ปิกัสโซ่ ผู้นำเอาสัดส่วนของรูปทรงเรขาคณิตมาประกอบกันกับค่าแตกต่างของสเปกตรัมของแสงสร้างเป็นภาพสองมิติที่สะท้อนเข้าไปในจอตา ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนบางตัวออกมาได้


คนสุดท้ายครับ นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
เจ้าชายสิทธัตถะ พระองค์ทรงค้นพบสูตรทางคณิตศาสตร์
ที่สามารถอธิบายส่วนที่ลึกที่สุดของมนุษย์ทุกผู้คนบนโลก
นึกดูดีๆสิครับ สี่ข้อนี้สัมพันธ์กันอย่างไร ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค