Custom Search

Apr 15, 2008

ยั้งคิด ย้ำธรรม: พระไพศาล วิสาโล กับ ท่าทีของชีวิต

คอลัมน์ อาทิตย์เที่ยงวัน เชตวัน เตือประโคน ( http://chetawan.multiply.com/reviews/item/9 )
มติชน
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2551


ทันทีที่เห็นหนังสือ "ยั้งคิด ย้ำธรรม"
ผลงานของ "พระไพศาล วิสาโล"
วางอยู่บนโต๊ะของหัวหน้างาน โดยไม่รอช้า
ผมหยิบติดมือ นำติดตัวมาอ่าน
โดยไม่ได้ขออนุญาตจากผู้เป็นเจ้าของ (อย่างเป็นทางการ)
เป็นการขโมยหรือเปล่า ไม่แน่ใจ?
แต่เชื่อมั่นว่า หากเจ้าของหนังสือรู้ก็คงจะยินยอม และยินดีเป็นอย่างยิ่ง
มิหนำซ้ำอาจถึงขั้นผลักไสให้หยิบเล่มอื่นๆ ไปอ่านเพิ่มเติมอีกเรื่อยๆ และเรื่อยๆ
(ดังที่เธอเคยทำอยู่บ่อยๆ กับการพยายามยุยงส่งเสริมให้คนอื่นอ่านหนังสือ)
ผมเป็นแฟนหนังสือของพระไพศาล วิสาโลไม่ถึงขั้นกรี๊ดกร๊าด
เหมือนวัยรุ่นที่คลั่งไคล้ดารานักร้อง เพราะว่าในสถานะหนึ่ง
คนที่เราชื่นชมนั้นเป็นพระ อยู่ในเพศบรรพชิต ที่ต้องไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม
หรือต่อให้กรี๊ดจนสลบ ท่านก็คงจะไม่หันมามองเป็นแน่ครั้งหนึ่ง
ผมเคยเจอพระไพศาลในงานเปิดตัวหนังสือ

บนอาคารแห่งหนึ่งริมถนนสาธร วันนั้น

หลังจากที่งานจบเสร็จสรรพ ท่านกำลังจะเดินทางกลับ

ผมและเพื่อนอาสาเข้าไปช่วยถือของ หอบหิ้วสัมภาระของท่าน

(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือ) เราเรียกแท็กซี่ให้ไปส่งที่ท่าเรือสะพานตากสิน

ก่อนจะนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาลงที่ท่าวังหลัง จากนั้นก็เดินเท้าไปยัง

"มูลนิธิโกมลคีมทอง" ที่ตั้งอยู่ย่านพรานนก

สำหรับพระไพศาล วิสาโล ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ
ท่านก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์หลังจากที่จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ไม่นาน
กระทั่งได้กลายมาเป็นพระที่มีบทบาทต่อการเผยแพร่ธรรมะ
ทั้งในรูปแบบการบรรยาย การปฏิบัติ...รวมถึงงานเขียนพระไพศาล
หรือที่ในหมู่ผู้ใกล้ชิดเรียก "หลวงพี่เตี้ย" เป็นพระผิวขาว ร่างเล็ก
แต่เวลาเดินคล้ายกับท่านจะติดจรวดพ่วงเพิ่ม ก้าวขา ปุ๊บปั๊บ
ก็หายลับไปหลังกำแพงผู้คน จำได้ว่าวันที่ช่วยท่านถือข้าวของนั้น
ผมและเพื่อนต้องออกแรงวิ่งตามอยู่บ่อยครั้งนั่นคือภาพของพระไพศาล

ที่ผมจำได้กระทั่งได้มาอ่านหนังสือเล่มนี้ "ยั้งคิด ย้ำธรรม" ผลงานเล่ม
ล่าสุดของท่าน ที่จัดพิมพ์โดย "สำนักพิมพ์มติชน" หนังสือเล่มนี้เป็น
รวมบทความที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในต่างกรรมต่างวาระ แต่โดยเนื้อหา
โดยภาพรวมของหนังสือตลอดทั้งเล่ม ผู้เขียนกำลังพูดถึงเรื่องของ

"จิต" อันเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิด "ความคิด"

ที่สุดแล้ว
ความคิดนี่เองที่จะเป็นตัวกำหนด "ท่าทีต่อชีวิต" ของเรา
ดังเช่นในตอนหนึ่ง
ที่เล่าถึงพระเซ็นอายุ 60 ปี และลูกศิษย์ที่ช่วยกันขนหินสร้างวัด
ลูกศิษย์ซึ่งยังหนุ่มแน่น ขนหินได้ครึ่งวันก็เหนื่อย
แต่พระชรากลับขนหินได้ตลอดทั้งวัน
โดยไม่มีทีท่าว่าจะเหนื่อย และหยุดพัก ซึ่งทำให้ผู้เป็นศิษย์แปลกใจมาก
เลยถามอาจารย์ว่า ทำงานทั้งวันได้อย่างไร
"ก็ผมพักตลอดเวลานี่" ท่านอาจารย์ตอบเป็นคำตอบแบบเซ็น ที่เรียบง่าย ไม่เยิ่นเย้อ

ในข้อเขียนชิ้นนี้ของพระไพศาล
ท่านสรุปว่า
..."คนส่วนใหญ่เวลาขนหิน ไม่ได้ขนด้วยกายเท่านั้น ใจก็ขนด้วย
ขนหินไปก็บ่นในใจว่าเมื่อไหร่จะเสร็จสักที ขนแบบนี้ย่อมเหนื่อยเร็ว"
เมื่อเราทำงาน เราไม่ได้เหนื่อยแต่กายอย่างเดียว แต่ใจของเรามักเหนื่อยด้วย
เพราะใจไปยึดติดกับงานมากเกินไป เรียกว่าจิตไม่ว่าง
การทำงานด้วย "จิตว่าง" คือการทำงานโดยที่ใจไม่ไปยึดติดกับผลงาน
ไม่สำคัญมั่นหมายว่างานจะต้องเป็นไปตามใจปรารถนา"
เป็นการสอนให้รู้จักตัดความเป็น "ตัวกู ของกู"ข้อเขียนหลายชิ้นในหนังสือเล่มนี้
ของพระไพศาล สอนให้เรามีท่าทีต่อชีวิต ปรับเปลี่ยนความคิดเสียใหม่
เพราะคนเราจะสุขหรือทุกข์ไม่สำคัญที่ว่ามีอะไรมากระทบ
หากแต่อยู่ตรงที่เรารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่มากระทบนั้น หรือทำอย่างไรกับมันต่างหาก
เพราะในบางครั้งแม้มีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น
หากทำใจยอมรับได้ เราก็จะไม่ทุกข์ แปรเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสสรุปก็คือ
คนเรานั้น
"ทุกข์เพราะความคิด" ยิ่งกว่าอะไรอื่น ใช่ไหมว่า
ในหลายๆ ครั้งเรามักจะคิดไปเอง จิตใจไม่อยู่ในที่ที่มันควรอยู่ ล่องลอย ฟุ้งซ่าน
บ้างก็ถึงขั้นเป็นบ้าไปเลยก็มี นั่นเพราะความคิดในแบบที่ว่านี้ไม่มีสติกำกับ
ใจแกว่งไกวไปแกว่งมาตามสิ่งที่กระทบนั่นเองฟังดูเหมือนจะง่าย
แต่สำหรับปุถุชนอย่างเราๆ ล่ะ จะให้คิดไปในทางที่ดีเป็นเรื่องที่ยากเอาการ
แต่ "จิต" ก็เหมือนกับสิ่งอื่นทั่วไป คือ สามารถฝึกได้ไม่ว่าจะโดยการ
สงบด้วยลมหายใจ การเดินจงกรม การเดินเท้า การอาบน้ำ การกินอาหาร
การเดินทาง การทำงาน การใช้เทคโนโลยี การเที่ยวธรรมชาติ
หรือแม้แต่ก่อนจะเข้านอน กล่าวได้ว่า สามารถฝึกจิตได้ในทุกขณะ
เช่นเดียวกับหนังสือเล่มนี้ที่สามารถอ่านได้ในทุกขณะ เรียนรู้จักปรับความคิดเสียใหม่
เพื่อนำไปสู่ท่าทีของชีวิตที่สงบโดยแท้