Custom Search

Apr 5, 2008

ถอดรหัส “หมอพรทิพย์”

เพลินพิศ ศรีบุรินทร์ Positioning Magazine กรกฎาคม 2549 ที่มา http://www.positioningmag.com/magazine/Details.aspx?id=50110
ประวัติการทำงานอันยาวเหยียดของ “แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์” หนึ่งใน 70 แพทย์ ด้านนิติเวชวิทยาของไทย และเธอยังเป็น 1 ในแพทย์หญิง ด้านนิติเวชที่มีเพียง 10 คนเท่านั้น เธอมีดีกรีทางการแพทย์ และเกียรติคุณทางสังคม ตลอดจนผลงานทางวิชาการด้านการแพทย์มากมาย ที่สำคัญเธอยังโด่งดังเป็น “หมอผ่าศพเพื่อพิสูจน์หลักฐาน” ที่มีความชำนาญ และผ่านการผ่าศพมาเกือบ 10,000 ศพ ในรอบชีวิตราชการ 20 ปี และเธอยังได้รับความไว้วางใจจากสังคม ด้านการตรวจ DNA พิสูจน์สายเลือดพ่อของลูก จนกลายเป็นขวัญใจสาวชาวบ้าน ดาราฮอต สาวนักการเมือง หรือสาวไฮโซที่ต่างเรียกร้องให้เธอเป็นผู้เฉลยความจริงให้ ไว้เว้นแต่การพิสูจน์หลักฐานคดีตายปริศนา ฆ่าหั่นศพ หรือฆาตกรรมอำพราง ทุกคนต่างนึกถึงเธอ แต่ชื่อ “พรทิพย์ โรจนสุนันท์” ยังฮอตและยังมีอิทธิพลต่อสังคมไทยอยู่เช่นเคย ด้วยบุคลิกสาวมั่น รูปร่างโปร่ง คล่องตัว แต่งตัวเปรี้ยว เน้นสีสันสดใส ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ และทรงผม จนหลุดกรอบภาพลักษณ์ วงการแพทย์ไทยไปสู่สไตล์ที่แตกต่าง และเธอยังมีสไตล์ฮิพฮอพอยู่ในตัว แถมเธอยังเป็น “คุณหมอคิวทอง” ที่มีตารางงานรัดตัวตลอดทั้งวัน
“ทุกเช้าหมอจะมาถึงที่ปะมาณ 6 โมงครึ่ง หากไม่มีงานข้างนอก ก็จะเคลียร์งานเอกสาร ซึ่งเยอะมาก งานเอกสารต้องใช้ความละเอียด จึงใช้เวลามาก และหากวันนั้นไม่มีงานวิทยากร หรือสอนหนังสือ จะกลับบ้านประมาณ 1 ทุ่ม และไม่จำเป็นจะไม่ทำงาน เสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้เวลากับครอบครัว”
แต่นั่นเป็นเพียง 1 วันเบาๆ ที่คุณหมอพรทิพย์เล่าให้ POSITIONING ฟังด้วยน้ำเสียงสบายๆ ปนหัวเราะ แตกต่างไปจากตารางชีวิตจริง ที่ค่อนข้างหนักจากภารกิจเพื่อสังคมมากมาย จึงไม่ใช่งานที่ง่ายนักในแต่ละวัน วันนัดให้สัมภาษณ์ POSITIONING เธอมาสายเกินเวลานัดเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง เพราะติดภารกิจเป็นวิทยากรบรรยายให้กับนักเรียนแพทย์ทหารอากาศ จึงกลับเข้าสำนักงานประมาณบ่าย 4 โมงเย็นของวันนั้น ซึ่งมีคิวให้สัมภาษณ์รายการทีวี และผู้มาติดต่องานอยู่อีก รวมทั้ง POSITIONING ประมาณ 2-3 คิว เธอปรากฏกายในชุดเสื้อสีเหลืองติดตราสัญลักษณ์ฉลองครองราชย์ครบ 60 ปี สวมกางเกงยีนส์สีเขียวปนน้ำตาล รองเท้าหนังหุ้มส้นสีดำ ด้วยใบหน้าค่อนข้างเหนื่อย และรีบกล่าวคำขอโทษด้วยสำเนียงเป็นกันเอง ก่อนจะรีบเดินเข้าห้องทำงานขนาดใหญ่ และปิดประตูให้สัมภาษณ์รายการทีวีทันที
ก่อนที่เธอจะปรากฏตัว POSITIONING สังเกตเห็นบอดี้การ์ดในชุดเสื้อสีดำ 2 คน ถือกระเป๋าหนังสีดำ และอุปกรณ์ทำงาน พร้อมอุปกรณ์สื่อสารครบมือเดินเข้ามาในสำนักงาน ก่อนหน้าคุณหมอปรากฏตัวประมาณ 5-10 นาที ถึงคิวให้สัมภาษณ์ เธอเปิดประตูรับ POSITIONING อย่างเป็นกันเอง พร้อมกล่าวคำขอโทษที่ไม่ตรงเวลา ด้วยการเปิดประตูห้องทำงานขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านในสุดของสำนักงานชั้น 2 กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้สัมภาษณ์ และหยิบแฟ้มงานเอกสารที่กองอยู่บนโต๊ะมาวางไว้ข้างหน้า เหมือนเตรียมพร้อมจะทำงานชิ้นใหม่ ภายในห้องทำงานมีโต๊ะทำงานขนาดใหญ่ 2 ตัว ด้านหน้าเป็นที่วางแฟ้มเอกสารและงานด้านวิชาการกองเป็นตั้งๆ และอีกโต๊ะหนึ่งใช้เป็นโต๊ะทำงาน ซึ่งบนโต๊ะมีตำราภาษาอังกฤษ หนังสือธรรมะ และโน้ตบุ๊ก รวมทั้งเอกสารต่างๆ วางอยู่เกือบล้นโต๊ะ ห้องทำงานโดยรอบติดตั้ง ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หน้าโต๊ะทำงาน ด้านซ้ายมีโต๊ะหมู่บูชาขนาดใหญ่ พร้อมบนตู้เอกสารในห้องทำงาน และชั้นวางหนังสือด้านหลังจัดวางพระพุทธรูปไว้อย่างเป็นระเบียบ พร้อมทั้งภาพถ่ายกับครอบครัว และภาพถ่ายในสไตล์สดใส จากนิตยสารและที่ระลึกจากรายการโทรทัศน์ อาทิ รายการทไวไลฟ์โชว์ เป็นต้น “ปกติหมอไม่เคยหอบงานกลับบ้าน และจะใช้เวลาพักผ่อนที่บ้านให้เต็มที่ งานทุกอย่างจึงอยู่ที่สำนักงาน ห้องนี้จึงมีเอกสาร ตำรา และหนังสือธรรมะที่ชอบอ่าน หรือตำราเพิ่มความรู้ เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ก่อน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับงานหนักๆ ที่สำคัญหมอจะไม่ทำตัวให้ไร้ความสุข หมอจึงชาร์จแบตเตอรี่ ให้ตัวเองทุกครั้งที่มีโอกาส” เธอบอกด้วยรอยยิ้มปนระวังตัวนิดๆ แต่เป็นกันเอง แม้ใบหน้าเธอค่อนข้างเหนื่อย แต่ยิ้มอย่างมีความสุข เมื่อพูดถึงการแต่งกาย และสีสันบนทรงผมที่ถูกซอยแล้วเซตให้ตั้งเป็นทรง ผมมีสีน้ำตาลทองสลับเขียวและแดงนิดๆ แต่งหน้าค่อนข้างหนา ปากทาด้วยลิปสติกสีม่วงอ่อนสดใส “ความสุขอย่างหนึ่งของหมอ คือการแต่งตัว เติมสีสัน และเพิ่มความสดใสให้ตัวเอง เช่น วันนี้หมอใส่เสื้อสีเหลือง เพราะเป็นนี้ช่วงฉลองครองราชย์ 60 ปีของในหลวง แต่หมอก็ไม่ทิ้งความเปรี้ยว ใส่เข็มขัดเท่ๆ กางเกงยีนส์ รองเท้าบูท หมอชอบฟังเพลงป๊อป และฮิพฮอพ ช่วยเพิ่มความสุข” เธอบอกว่า “การแต่งตัวของเรา แม้จะมีสีสันและแตกต่างจากคนอื่นๆ บางทีถูกมองเป็นเรื่องแปลก บางทีดูไม่มีสาระ จนคนไม่แน่ใจว่าแท้จริงแล้วหมอพรทิพย์เป็นแบบไหนกันแน่ มีสาระหรือไม่มีสาระ” แต่จริงๆ แล้วเป็นกลยุทธ์การชาร์จแบตเตอรี่ เพื่อหาความสุขในชีวิตของเธอ “หมอชอบแต่งตัว ชอบใส่กำไล ตุ้มหู และทำสีผม เพื่อเพิ่มสไตล์ให้ตนเอง หมอมีความสุข แต่เราก็ต้องดูกาลเทศะ ไม่ใช่แต่งสีดำไปงานแต่งงาน หรือแต่งสีชมพู ไปงานศพการแต่งตัวคือการเติมความสุข” เธอบอกว่า ปัจจุบันสังคมไทยให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากเกินไป และหลายๆ ครั้งเธอจึงเป็น หนึ่งในบุคคลที่สังคมมักกล่าวถึง และมักยึดติดในการทำงานด้านพิสูจน์หลักฐานของเธอ “ไม่ใช่หมอคนเก่งนะ แต่หมอมีโอกาส หมอได้ทำงานที่ตนเองถนัด แต่การที่เราเป็นข่าวบ่อยไม่ใช่ชอบพีอาร์ หมอไม่เคยเดินไปหาสื่อ ไม่ต้องขอร้องให้สื่อเข้ามาสัมภาษณ์หมอ สื่อเข้ามาคุยกับหมอเอง แต่บางครั้งหมอก็ต้องพูด เพื่อชี้แจงความจริง และอธิบายวัตถุประสงค์การทำงานที่แท้จริงของเรา จริงๆ แล้วหมอเป็นคนไม่มีเป้าหมายในชีวิตนะ วันนี้มาถามว่าหมอพรทิพย์ ตั้งเป้าหมายสูงสุดในชีวิตไว้ยังไง ไม่มี แค่ทำวันนี้ให้ดีที่สุด และมีความสุขกับทุกวันก็พอแล้ว ไม่ต้องการลาภยศสรรเสริญ แต่ผลของการทำงาน สิ่งเหล่านี้เข้ามาหาเราเอง” เธอควบตำแหน่งรองผู้อำนวยการ และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่เธอได้รับมอบหมายจากกระทรวงยุติธรรม ให้เป็นผู้ดูแล และบุกเบิกงานด้านพิสูจน์หลักฐาน และกำลังดำเนินการ จัดตั้งศูนย์พิสูจน์บุคคลสูญหาย ซึ่งเธอบอกว่าเป็นงานที่ยากและท้าทายในวันนี้ “ไม่ใช่หมอทำงานตรงนี้ไม่ได้ หรือไม่อยากทำ แต่ทุกวันนี้ทำงานค่อนข้างลำบาก ยากที่สุดตรงการสื่อเป้าหมาย การทำงานให้คนส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะเราเป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้ปฏิบัติ หลายๆ ครั้งจึงมักขัดกับนโยบาย หรือกรอบระบบราชการที่วางไว้ บางครั้งต้องยืดหยุ่น”
เธอยกตัวอย่างกรณีกระทรวงยุติธรรมมอบหมายให้เธอ ไปดูแลศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจาคลื่นยักษ์ “สึนามิ” ณ วัดย่านยาว อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เธอกลับถูกมองในฐานะการสร้างข่าวใช้วิกฤตสร้างโอกาส และประชาสัมพันธ์ตนเอง ตลอดจนมีกรณีขัดแย้ง ด้านกระบวนการทำงานกับหน่วยงานตำรวจ ซึ่งเธอบอกว่าสร้างความเจ็บปวด และบั่นทอนจิตใจ จากการทุ่มเทการทำงานเป็นอย่างมาก “หมอแทบไม่เชื่อเลยว่าคนไทยจะลืมวันแห่งความเลวร้าย และบรรยากาศแห่งความสูญเสียจากภัย “สึนามิ” ในตอนนั้น ท่ามกลางความเจ็บปวด สูญเสีย และไร้ที่พึ่งของคนนับแสน หมอรู้เพียงแต่ว่าเราจะทำทุกอย่างเพื่อช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ทุกคนรอดชีวิต และบรรเทาความเจ็บปวด ความหิวโหยเท่านี้จริงๆ” ทุกวันนี้เธอเปรียบตัวเองเป็นนักรบที่ไม่สามารถบอกตำแหน่งได้ เพราะเธอเองก็ไม่รู้ขนาดของสงคราม แต่ในฐานะเลือดนักรบก็ต้องเดินหน้างานในความรับผิดชอบต่อไป เพื่อให้งานบรรลุตามเป้าหมาย
“ทุกวันนี้หมอใช้ปัญหาและบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาสอนตัวเองให้เข้มแข็ง และรู้จักที่จะป้องกันตัวเอง เพื่อความอยู่รอด และสามารถทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด แต่ถามว่าผลสรุปจะอยู่ตรงไหนอันนี้หมอไม่รู้” เธอบอกด้วยใบหน้าปนเศร้าถึงเหตุการณ์ที่สร้างความเจ็บปวดและท้อแท้ที่สุดในชีวิต จากการถูกถวายฎีกาปัญหาการทำงานในช่วยเหลือผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์ “สึนามิ” เพราะเธอไม่มีโอกาสชี้แจง แต่เธอหวังว่าเวลาและผลงานจะเป็นตัวอธิบาย "หมอไม่เคยลืมเหตุการณ์นี้ และยังเจ็บปวดทุกครั้งที่นึกถึง" นั่นเป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบจากการทำงานด้านพิสูจน์หลักฐาน และงานด้านนิติวิทยาของเธอ แต่ “พรทิพย์ โรจนสุนันท์” เธอยังมีแววตาที่มุ่งมั่น และพร้อมจะทุ่มเทในการทำงานต่อไป แม้ร่างกายเธอต้องการเวลาพัก และเยียวยาโรคมะเร็งไทรอยด์ที่กำลังคุกคามเธอ ไม่ต่างจากผลกระทบจากคู่กรณีผู้เสียหายจากการพิสูจน์หลักฐาน เพื่อคลีคลายคดีต่างๆ ที่หลายครั้งถูกขู่ฆ่า วางระเบิด หรือถูกฟ้องร้อง เพื่อขอถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แต่ทุกวันนี้เธอบอกว่า “ใจหมอยังเต็ม 100% หากเขายังอยากให้เราทำ แม้จะเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง ก็ขอเวลาพักแป๊บเดียว หมอใช้เวลาไม่นาน แล้วรีบลุกขึ้นใหม่ บอกตัวเองว่าต้องเข้มแข็งกว่าเดิม” ก่อนที่เธอจะพูดถึงงานเขียนหนังสือ ด้วยรอยยิ้มและแววตาเป็นกันเองมากขึ้นว่า “เวลาว่างจะอ่าน และเขียนหนังสือ ช่วยให้เราได้ผ่อนคลาย เราได้หยุดเพื่อรวบรวมสมาธิ เรียบเรียงข้อมูล เหมือนเราหลุดเข้าไปอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่งวันนี้รู้สึก หมอจะเขียนได้ตีพิมพ์ประมาณ 27 เล่มแล้ว" โดยมีผลงานสร้างชื่อ อาทิ "สืบจากศพ" และ"สู้เพื่อศพ" เธอมีแผนอนาคตคร่าวๆ ที่อยากเป็นครูสอนนักเรียนอนุบาล และใช้ชีวิตบั้นปลายในการสอนหนังสือ “จริงๆ แล้วหมอเป็นคนชอบสอนหนังสือ รักงานวิชาการ แต่ปัจจุบันทำได้ไม่เต็มที่ เพราะภาระหน้าที่งานด้านนิติวิทยา และการผลักดันงานตั้งศูนย์พิสูจน์บุคคลสูญหาย จึงไม่มีโอกาสทำงานตรงนั้น แต่ทุกวันนี้หมอก็สอนหนังสือนะ แบ่งเวลาที่เหลือจากงานหลักไปเป็นวิทยากร สอนหนังสือบ้าง” ด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องการออกข้อสอบ และอยากสอนให้ เด็กค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง เพราะเด็กเป็นวัยที่สะอาด และพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยไม่มีอคติ ซึ่งสื่อถึงความรู้สึกในการทำงาน และความเป็นคนค้นหาความคำตอบในชีวิตของเธอ “หนังสือที่หมอชอบอ่าน อาทิ ธรรมะ หรือพระบรมราโชวาท ยกเว้นตำราทางวิชาการ หมอชอบอ่านธรรมะแบบสั้นๆ คล้ายๆ How to เพื่อให้อ่านเข้าใจง่าย และสามารถประยุกต์ใช้งานได้ทันที อาทิ หนังสือธรรมะของท่าน ว.วชิรเมธี ท่านสรุปธรรมะให้เข้าใจได้เร็ว” นี่เป็นเพียงบทบาทที่หนักของผู้หญิงที่ชื่อ “พรทิพย์ โรจนสุนันท์” แต่บั่นปลายจะมีบทสรุปตรงไหน คงต้องอาศัยเวลาเป็นคำตอบ แต่ทุกวันนี้ชื่อ “คุณหมอพรทิพย์” กลายเป็นคำตอบที่ช่วยคลี่คลายคดีชีวิตให้คนในสังคมได้ไม่น้อย
Profile Name : พญ.คญ. พรทิพย์ โรจนสุนันท์
Birth Date : 21 ธันวาคม 2497
Education :
2502-2516 อนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทยาศาสตร์ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
2516-2522 แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2525 หนังสืออนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี
2526 ผู้เชี่ยวชาญพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2538 หนังสืออนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี
2541 Forensic Anthropology จาก Armed Forces Institute of Pathology Washington, DC,USA.
2542 Forensic Pathology จาก Armed Forces Institute of Pathology Washington, DC,USA.
Career Highlights:
เริ่มเป็นแพทย์ฝึกหัด ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ต่อมาเป็นหัวหน่วยนิติเวช
และหน่วยตรวจศพ ภาควิชาพยาธิวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี
2533 หัวหน้าหน่วยนิติเวชและหน่วยตรวจศพ ภาควิชาพยาธิวิทยา ร.พ.รามาธิบดี 2541
กรรมการสภาคณาอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล
2541-42 ประธานสภาอาจารย์รามาธิบดี
2542-44 กรรมการแพทยสภา และโฆษกแพทยสภา
2544 โฆษกกระทรวงยุติธรรม
2545 รักษาราชการแทนรองผู้อำนวยการกองแพทย์ สถานพินิจฯ ผู้อำนวยการ (นายแพทย์ 8)
กองแพทย์ สถานพินิจฯ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ 2548 รองผู้อำนวยการ
และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
Family : สมรสกับ “วิชัย โรจนสุนันท์” มีธิดา 1 คน ชื่อ "ญารวี โรจนสุนันท์"
Work Philosophy : มี 4 ข้อ คือ
1. ถ้าทำงานอะไรต้องทำด้วยความรัก และศรัทธาในงานนั้นๆ
2. ต้องเข้าใจสัจธรรมว่าทำอะไร ไม่ได้ดั่งใจเสมอ และไม่ท้อถอย
3. ทำสิ่งที่ดี และตระหนักว่าไม่ทำให้คนอื่นและตนเองเดือดร้อน
4. ทำงานเพื่อให้สังคมดีขึ้น การเป็นคนดีแต่ไม่กล้าทำความดีนั้น ไม่มีประโยชน์
Lifestyle :
- การแต่งกายอย่างมีสีสัน ทั้งเสื้อผ้า และเครื่องดับ เป็นความสุขเหมือนการชาร์จแบตฯ
หลังทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย
-ฟังเพลงป๊อป และฮิพฮอพ
-อ่านหนังสือและเขียนหนังสือ
พิมพ์แล้วประมาณ 27 เล่ม ที่โด่งดัง เช่น “สืบจากศพ” และ “สู้เพื่อศพ”
-อ่านหนังสือธรรมะ

ภาพจากคอนเสิร์ต แบบเบิร์ดเบิร์ด
ทั้งนี้ขออนุญาต บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
ในการเผยแพร่เพื่อการศึกษา มิใช่เพื่อการพาณิชย์