มติชน
วันที่ 31 สิงหาคม 2550
มีใครเคยเพ้อว่าตัวเองถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 บ้างยกมือขึ้น
ใครเขินจะแอบยกมือก็ไม่ว่ากัน จะมีบ้างที่เสียงแข็งปฏิเสธว่า
ไม่เคยคิดเรื่องอะไรอย่างที่ว่านี้เลย แต่เชื่อว่าคงจะเป็นเปอร์เซ็นต์
ที่ต่ำเหลือเกิน นั่นหมายความว่า หลายๆ คนก็อยากจะรวยเป็นเศรษฐี
ทุกวันนี้แม้จะมีหนังสือประเภทฮาวทูที่ว่าด้วยการมุ่งสู่ความรวยอยู่เกลื่อนกลาดมากมาย
แต่เหตุไฉนคนอ่านจบแล้วไม่เห็นรวยขึ้นสักที
ลองมาดู 'สูตรลับ เศรษฐี' ของ เฉลียว สุวรรณกิตติ
อดีตรองประธานกรรมการเทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น
ซึ่งปัจจุบันคือ ทรู หรือ
นามปากกาที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้ว่า ปัญญลักษณ์ สุวรรณฯ
จากสำนักพิมพ์ Organic books เป็นอีกหนึ่งเล่มที่อาสาพาตัวไป
วางบนแผงหนังสือเพื่อท้าทายให้คน
ที่อยากจะรวยเลือกหยิบไปเป็น
คู่มือการสร้างฐานะให้เป็นเศรษฐีหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่
'ฮาว ทู' ธรรมดา ที่อ่านแล้วก็แล้วกัน
เพราะใครที่คิดจะหยิบไปอ่านหนังสือเล่มนี้มีคำเตือน
บอกเอาไว้แล้วว่า
'ไม่เหมาะกับผู้ที่มีทัศนคติพื้นฐานไปในทางลบ
เห็นอะไรเป็นเรื่องท้อถอย หัวสมองเต็มไปด้วยคำปฏิเสธ
ไอ้โน่นก็ไม่ ไอ้นี่ก็ไม่
ถ้ารู้ว่าเป็นคนประเภทนี้ควรไปปรับทัศนคติเสียก่อน
ให้มี 'Gut' (ความอดทน) ที่จะต่อสู้ชีวิต
ยอมเหนื่อยยากเพื่อความสำเร็จ หากไม่ยอมเปลี่ยนทัศนคติ
อย่าอ่านหนังสือเล่มนี้เลย...เสียเวลาเปล่าให้ผู้อื่นไปเถิด...'
หรือ ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์
ที่เป็นตัวแทนกล่าวเปิดงานวันเปิดตัวหนังสือ ก็พูดติดตลกในงานว่า
'ใครไม่อยากเป็นเศรษฐีก็อ่าน (หนังสือเล่มนี้) ได้
จะได้รู้วิธีเลี่ยงที่จะไม่ต้องเป็นเศรษฐี...'
เล่นเอาขำกันทั้งงาน
สูตรลับ เศรษฐี เล่มนี้ ผู้เขียนบอกว่า เป็นการเขียนเป็นเรื่องเป็นราวแบบยาวๆ
เป็นเล่มแรกในชีวิต หากจะพูดคำใหญ่คำโต ก็ต้องบอกว่าเป็นการทดแทนคุณแผ่นดิน
โดยเนื้อหาที่เขียนมาจากการเฝ้าสังเกตและทำวิจัย แล้วนำมาเขียน
บอกเล่าเป็นภาษาชาวบ้าน
'ผมกระทบไหล่มาหมดแล้ว ตั้งแต่คนที่รวยแบบธรรมดา จนถึงมหาเศรษฐีของไทย
และต่างประเทศ รู้แม้กระทั่งอภิมหาเศรษฐีใช้เงินกันยังไง หนังสือเล่มนี้เป็น
ข้อมูลที่รวบรวมจากการเฝ้าสังเกตและค้นหาสูตรลับของคนเหล่านี้
ซึ่งได้ลักษณะร่วม
ของคนที่จะเป็นเศรษฐีตกผลึกมา 12 ข้อ ส่วนสูตรของอภิมหาเศรษฐีนั้น
เลิกคิดแล้ว...เพราะคุณสมบัติของคน
ที่จะเป็นอภิมหาเศรษฐีมันมีมากกว่า 12 ข้อ และหลายข้อนั้นต้อง
เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้' ปัญญลักษณ์บอก
แต่เพียงแค่สูตรลับ 12 ข้อนี้ ปัญญลักษณ์บอกว่า
หากใครปฏิบัติได้จริง
แม้จะไม่ได้ติดอันดับเศรษฐีระดับประเทศ แต่มั่นใจว่า
'ต้องดีกว่าเดิมแน่นอน'
เนื้อหาในหนังสือแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ประกอบด้วย
ส่วนแรก 'สูตรลับข้อแรกและคำเตือน' ผู้เขียนบอกว่า
ข้อแรกของการที่จะเป็นเศรษฐีได้นั้น
ต้องมีใจอยากจะรวยเสียก่อน เพราะหลายคนมักจะคิดว่าเงินไม่ได้
มีความสำคัญกับชีวิตเสมอไป แต่โลกของความเป็นจริงเราปฏิเสธไม่ได้
เทคนิคในการสร้างจิตใจให้อยากจะรวยที่ได้ผลอย่างหนึ่งคือ
ให้รู้จักความทุกข์ทรมานที่เกิดจากความยากจนให้มาก ที่สำคัญเมื่อแก่ตัวไป
แล้วถ้ายากจนก็จะมีความทุกข์สุดขีด
นั่นเป็นเพราะคนแก่เหล่านี้ไม่ได้สร้างฐานะมาตั้งแต่วัยที่ควรจะเป็น
สูตรลับเศรษฐีผู้เขียนเขียนเตือนไว้ในตอนท้ายว่า เงินไม่สามารถบันดาลได้ทุกอย่าง
เงินซื้อความสุขไม่ได้ จะเห็นว่าเศรษฐีหลายคนชีวิตไม่มีความสุข ดังนั้น
การจะมีความสุขได้จะต้องมีศิลปะในการดำรงชีวิตด้วย
ส่วนที่สอง 'คุณสมบัติพิเศษของเศรษฐี' ซึ่งตกผลึกเป็น 12 ข้อ
นับแต่
1.เป็นคนเก่งรอบตัว
2.เป็นผู้รู้จักใช้โอกาสของชีวิตได้อย่างเต็มที่
3.มีวิสัยทัศน์และลางสังหรณ์
4.มีนิสัยเรียนรู้และชอบศึกษาโดยไม่จำกัด
5.มีลักษณะผู้นำ
6.มีศิลปะและรู้จักใช้เทคนิคของทฤษฎีหน้าหนาใจดำ
7.รู้จักเลือกพี่เลี้ยงและผู้สนับสนุนอย่างถูกต้องและถูกจังหวะ
8.มีความสามารถในการสร้างเครือข่าย
9.สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสทุกกรณี
10.ช่างคิดและช่างทำ เป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติ
11.รู้ค่าของเงิน
12.มีดวงดีและมีทัศนคติที่ดี
แต่ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเพียง 2-3 ข้อ มาเล่าให้ฟังกันเป็นน้ำจิ้มก่อน
การเป็นคนเก่งรอบตัว ผู้เขียนอธิบายไว้ว่า คนที่จะเก่งรอบตัวจะต้องเก่งตน เก่งคน
และเก่งงานการเก่งตน ต้องค้นพบว่าตัวเองมีพรสวรรค์ และพรแสวงอะไรบ้าง
จะพัฒนาให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างไร หรือเรื่องคุณสมบัติประจำตัว
ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างเรื่องความจำเป็นเลิศ เพราะคุณสมบัติประจำตัว
ที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต
โดยอธิบายว่ามนุษย์
เราจะมีช่องทางการจำได้ดีแตกต่างกัน
บางคนจำได้ดีจากการอ่าน บางคนก็จำได้ดีจากการฟัง
บางคนก็จำได้ดีจากการเคลื่อนไหวขีดเขียน
อย่างตัวผู้เขียนเองจะจำได้ดีมากจากการจดบันทึกขีดเขียน
เรียกว่าขอให้ผ่านการจดการเขียนเถอะรับรองจำแม่นแน่นอน
ดังนั้น ใครที่เชื่อในทฤษฎีนี้จะต้องวิเคราะห์ตัวเองให้ถ่องแท้ว่า
เกิดมานั้นพระเจ้าสร้างช่องทางป้อนข้อมูลเข้าหน่วยความจำประจำตัว
ของเราทางใด
ทางตา ทางเสียง หรือทางเคลื่อนไหว
แล้วให้ฝึกจำด้วยวิธีนั้นๆ อย่าไปฝืนนิสัย
นอกจากนี้ แต่ละคนยังมีประสิทธิภาพในการทำงานที่แตกต่างกัน
เด็กไทยร้อยทั้งร้อยถูกปลูกฝังเรื่องการท่องตำราตอนเช้ามืด
และให้นอนแต่หัวค่ำ
แต่ความจริงแล้วเวลาในการทำงานที่มีประสิทธิภาพของมนุษย์
แต่ละคนนั้นย่อมต่างกันไป
บางคนเป็นมนุษย์ประเภท 'เก่งตอนเช้า' บางพวกเป็นประเภท 'ดีตอนเย็น'
ฝรั่งเขามีคำเรียกเรียกพวกนกที่หากินตอนเช้าว่า 'เออร์ลี่ เบิร์ด' (Early Bird)
หรือประเภทนกฮูก (Owl)
จุดนี้เองเราต้องค้นหาตัวเองให้พบว่ามีประสิทธิภาพการทำงานตอนไหน
เนื่องจากคนมีธาตุในร่างกายที่ไม่เหมือนกัน อธิบายทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้
แต่สังเกตให้ดีจะได้ผลชัดเจน
ผู้เขียนเองได้ยกตัวอย่างเรื่องของตัวเองให้เห็นว่า สมัยเรียนอยู่เมืองไทย
พ่อแม่ให้ตื่นมาท่องหนังสือตอนเช้า และไล่ให้เข้านอนหัวค่ำ เป็นแบบนี้เกือบทุกวัน
แต่ผลการเรียนก็อยู่ระดับปานกลาง
แต่เมื่อไปศึกษาต่างประเทศไม่มีพ่อแม่คอยปลุก ก็ตื่นสายได้
เพราะชั้นเรียนเริ่มตอนสิบโมงเช้า
และสามารถอ่านหนังสือดึกๆ ได้โดยไม่ง่วง ปรากฏว่าการเรียน
ในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีมากตลอด
กระนั้นด้วยมาตรฐานของสังคมที่กำหนดเวลาไว้แน่นอน
จึงทำให้พวกที่เป็น 'นกฮูก'
ออกจะเสียเปรียบอยู่บ้าง
มาถึงการ เก่งคน ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของผู้ที่อยากประสบความสำเร็จ
เพราะหากเราเก่งคนเราก็สามารถใช้คนรอบตัวให้เกิดประโยชน์
แบ่งเป็น คนชั้นบน
ได้แก่ หัวหน้า หรือผู้บังคับบัญชา คนระดับเดียวกัน ได้แก่
เพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนฝูง และคนระดับล่าง หมายถึงลูกน้อง
และผู้ใต้บังคับบัญชา
หรือผู้ที่ให้บริการต่างๆ แก่เรา
ในข้อนี้ถือเป็นเรื่องยาก ต้องมีศิลปะสูงพอสมควร
จะต้องแยกแยะวิธีปฏิสัมพันธ์กับคน
แต่ละกลุ่มคนละแบบกัน ต้องหัดเรียนรู้นิสัยใจคอคนที่เราต้อง
เข้าไปเกี่ยวข้องทุกระดับ
ดังคำโบราณบอกว่า คนจะประสบความสำเร็จได้นั้น ลูกน้องต้องหนุน
เพื่อนฝูงต้องประคับประคอง และนายต้องดึงต้องอุ้ม
สุดท้าย เก่งงาน จะต้องเรียนรู้งานได้เร็ว มองงานได้มุมกว้าง
ไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนตาบอดคลำช้าง และต้องทำงานเป็น
ซึ่งประกอบด้วยหลายมิติ
อาทิ รู้หน้าที่รับผิดชอบของตน รู้จักมอบหมายการงาน
ไม่ใช่รวบมาทำแต่คนเดียว
งานก็ไม่คืบ หรือในการบริหารงานเรื่องของ 'เวลา' ก็จำเป็น
หากบริหารเวลาเป็น หรือบริหารเวลาเป็นหมู่คณะ จะทำให้เวลาที่
วันหนึ่งมีเพียง 24 ชั่วโมง
นั้นจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า
ที่สำคัญต้องทำงานด้วย ใจรัก ภาษาอังกฤษใช้คำว่า 'passion'
เพราะเมื่อใจรักผูกพันในเรื่องใดแล้ว ก็จะทุ่มเทอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย
เป็นตัวที่ก่อให้เกิดพลังในการทำงานเป็นอย่างมาก
คุณสมบัติอีกข้อหนึ่งคือ มีศิลปะและรู้จักใช้เทคนิคของทฤษฎีหน้าหนาใจดำ
ฟังดูทะแม่งว่าไม่น่าเป็นคุณสมบัติของคนประสบความสำเร็จได้
แต่ปัญญลักษณ์เฉลยว่า ข้อนี้ไม่ใช่คุณสมบัติชั่วร้ายอย่างที่คิด
เพราะความหมายของคำนี้ อาจารย์หลี่ ซ่ง จาง ซึ่งเป็นผู้บัญญัติเมื่อ 100 ปีที่แล้ว
ให้ความหมายเอาไว้ว่า
(หน้า) หนา หมายถึง คนที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ไม่ให้ปรากฏอาการออกทางสีหน้า
ไม่ว่าจะรู้สึกรัก ชอบ หรือเกลียด โกรธ เพียงไหน
ส่วน (ใจ) ดำ หมายถึง คนที่มีจิตใจเข้มแข็ง กล้าตัดสินใจแม้จะฝืนความรู้สึกก็ตาม
'ในภายหลังมีคนเอาเรื่องนี้มาเขียนเป็น best seller ในอเมริกา เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน
ให้ลองสังเกตผู้ใหญ่ที่เขาประสบความสำเร็จดู ตรงนี้ไม่ได้แปลว่าใจโหดร้ายอำมหิต
แต่เราต้องกล้าตัดสินใจในสิ่งที่ถูก แม้ว่าต้องฝืน เช่น
ลูกน้องใกล้ชิดทำผิดก็ต้องลงโทษ แต่หากคนที่
ฝึกวิชานี้สำเร็จแล้วเอาไปใช้ในทางชั่ว ไปล่อหลอก
ตลบตะแลงคน ในตำราเขาก็แช่งไว้' ปัญญลักษณ์เล่าอย่างอารมณ์ดี
ปัญญลักษณ์เล่าต่อว่า ตำรานี้อาจารย์หลี่ได้เขียนไว้เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ชื่อว่า
'ทฤษฎีหนาและดำ' บรรยายถึงสภาพสังคมในยุคนั้น ที่ผู้คนทุกระดับ
โดยเฉพาะชนชั้นสูงมักจะใส่หน้ากากเข้าหากัน และคุณธรรมก็เสื่อมทราม
จึงเขียนเรื่องนี้เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรู้เท่าทันพฤติกรรมของสังคม
ถ้อยคำในหนังสือเต็มไปด้วยคำเสียดสีถากถาง จึงถูกทางการเก็บทำลายหมด
แต่เพิ่งมีผู้ที่ลักลอบเก็บต้นฉบับไว้นำมาเผยแพร่
คุณสมบัติข้อนี้ต้องฝึกฝนเป็นไปโดยธรรมชาติ อย่าให้เป็นการเสแสร้งจนคนอื่นจับได้
ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลเสียแก่เจ้าตัว
และต้องอย่าลืมด้วยว่า ทั้งหลายทั้งปวงต้องอยู่ภายใต้
กรอบของคุณธรรมที่ดี
คุณสมบัติอีกข้อที่ยกมาเป็นตัวอย่าง คือ รู้ค่าของเงิน
ปัญญลักษณ์เล่าว่า จากการสังเกตบรรดาเศรษฐีถึงพฤติกรรมการ
ใช้เงินของเขา
พบว่าทุกคนใช้เงินอย่างรู้จักค่า ตรงนี้ไม่ใช่การตระหนี่ถี่เหนียว
แต่เป็นการใช้เงินที่หวังผลให้คุ้มค่า
พฤติกรรมเศรษฐีที่สังเกตเห็น อาทิ การกินอาหารตามภัตตาคารต่างๆ
เขาจะกินแบบพอเพียง ไม่สั่งของเหลือฟุ่มเฟือยจนต้องห่อกลับบ้าน
แต่หากต้องเลี้ยงดูแขกที่ทำประโยชน์ให้ ก็จะสั่งอาหารอีกแบบหนึ่ง
เพราะเศรษฐีเขาคิดว่าการเลี้ยงแขกเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง
หลายคนใช้ชีวิตสมถะเพราะรู้ค่าของเงิน ส่วนลูกหลานเศรษฐี
ที่ฟุ่มเฟือยกันนั้น
เนื่องจากไม่รู้ค่าของเงิน ซึ่งจะมีแต่ทำให้จนลง
คุณสมบัติข้อนี้เองทำให้นึกภาพออก
เพราะเคยเห็นบรรดาเศรษฐีมีเงินระดับเจ้าสัวหลายรายที่ยังใช้
โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า
ราคาไม่กี่พัน แต่กลับเคยเห็นคนทำงานกินข้าวแกง นั่งรถเมล์
ใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องละหลายหมื่น
ส่วนหัวข้อเรื่องการ 'ฝึกตนบนเส้นทางเศรษฐี' นั้น จะเป็นการชี้แนว
ทางให้นำไปปฏิบัติ
สร้างแผนที่ชีวิตของตัวเองตามแบบฉบับของแต่ละคน
อาทิ การสร้างนิสัยที่ดี เทคนิคในการวาดแผนที่ชีวิต
การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์
คำนึงถึงสุขภาพกายบ้าง รักษาสุขภาพจิตให้ดี เป็นต้น
นอกจากนี้ หนังสือยังมีภาคผนวกในตอนท้ายถึงคู่มือต่างๆ เช่น
คู่มือมนุษย์เงินเดือน
ที่มีการปลูกฝังมานานว่าเป็นมนุษย์เงินเดือน ลูกจ้าง หรือข้าราชการ
ไม่มีวันรวย ซึ่งผู้เขียนบอกว่าความเชื่อนี้ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว
เพราะหากมนุษย์เงินเดือนวางวิถีชีวิตให้ถูกต้อง มีระเบียบแบบแผน
ก็มีโอกาสรวยได้ ถึงแม้ว่าจะรวยไม่เท่าบรรดาเถ้าแก่ก็ตาม
โดยข้อหนึ่งบอกถึงกลยุทธ์สำหรับมนุษย์เงินเดือน
เริ่มจากพยายามทำงานในหน้าที่ให้ก้าวหน้าให้เร็วที่สุด
ต้องเป็นคนใช้จ่ายอย่างมัธยัสถ์
รู้จักเก็บหอมรอมริบ นำเงินทองที่เก็บหอมรอมริบได้ไปลงทุนหาประโยชน์
ให้งอกเงย
ต้องหาทางประกอบอาชีพเสริมเท่าที่โอกาสเปิดและไม่เป็นการเสียหาย
ต่องานหลัก
และใช้เป็นฐานเพื่อแปลงสภาพตัวเองให้เป็นเถ้าแก่เมื่อมีโอกาส
และยังอีกหลายหัวข้อที่ล้วนแต่เป็นช่องทางและโอกาสที่แล้วแต่ว่า
ใครจะไขว่คว้า
เพราะหนังสือเล่มนี้บอกไว้แล้วว่า อ่านอย่างเดียวไม่เกิดอะไร
แต่อ่านแล้ว ต้องลงมือทำ นั่นแหละจึงจะเกิดผล