Custom Search

Aug 10, 2009

ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ : Mo Hotel และ เชียงใหม่วันนี้



Be My Guest
ยุทธพงศ์ ขันประกอบ
กรุงเทพธุรกิจ
วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2550



เป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินผู้สร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่อง
ทั้งภาพเขียน ภาพพิมพ์ ประติมากรรม
และงานออกแบบมากมาย ได้รับการยอมรับเพราะสามารถผสมผสาน
ชีวิตความเป็นอยู่เข้ากับงาน
ศิลปะได้กลม กลืน

ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ เกิดปัตตานี ผ่านกรุงเทพฯ
ก่อนจะมาลงเอย
ใช้ชีวิตแบบอาร์ตๆ ที่เชียงใหม่
เมื่อต้นปีเขาได้เปิด Mo Shop แกลเลอรี่
ที่รวบรวมงานศิลปะ หนังสือ กาแฟ และดนตรี
บนตึกแถวสามชั้นให้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม

ร่วมสมัยกลางเมืองเชียงใหม่

วันนี้ Mo Hotel โรงแรมอารมณ์ศิลป์ที่เป็นการผสมผสาน
ทางความคิดระหว่างเขาและเพื่อน คือโครงการล่าสุดที่กำลังแนะนำตัว
กับนักเดินทางผู้รักศิลปะ และมีกำหนดการต้อนรับผู้มาเยือนในอีกไม่ช้า


Mo Hotel ชื่อนี้มีความหมาย...เจ้าของไอเดียเล่าว่า มาจาก 'Moment'

เป็นความตั้งใจที่จะสื่อสารว่า "คนเราต้องอยู่กับปัจจุบันขณะ"

เป็นมายังไงถึงได้มาทำ Mo Hotel

จริงๆ ผมก็เป็นคนแบบว่าเรียกว่า คนทำงานศิลปะแล้วกัน ที่ผมทำอยู่ก็หลายอย่าง
ทั้ง Painting ภาพพิมพ์ ประติมากรรม ทำได้หลายอย่าง
แม้กระทั่งทางด้านตกแต่งก็เคยทำ คราวนี้ได้มาทำการ
ออกแบบด้านสถาปัตยกรรม
แต่ผมไม่ได้เป็นสถาปนิก มันเป็นเรื่องของจังหวะ จะบอกว่าโชคดีก็ได้
ที่มีคนให้โอกาสทำตรงนี้ เราก็ไม่ได้มีความรู้แบบสถาปนิก

แต่ว่ามีความสนใจและมีความท้าทาย ก็สนุกดีที่ได้มาทำมาเรียนรู้
เพราะว่าทางผมออกแบบตัวอาคารโดยการทำโมเดล โดยไม่ได้ใส่ function
ทีนี้พอมาทำจริงๆ ก็ต้องมาคุยกับสถาปนิกว่า
เขาจะจัดการพื้นที่ที่ต้องมีประโยชน์ใช้สอยยังไง


คอนเซปต์ของโรงแรมเป็นอย่างไร


ตรงนี้จริงๆ มันก็ค่อยๆ พัฒนา แต่มันมีคอนเซปต์อันหนึ่งที่ มิตร ใจอินทร์
เพื่อนผมเขาคิดขึ้นมาว่าน่าจะมีสิบสองห้องเลย เป็นสิบสองนักษัตรเกี่ยวกับ
เรื่องดาราศาสตร์ เกี่ยวกับดวงดาวที่จะโยงมาถึงเรื่องโหราศาสตร์
เราก็จะเอาตรงนี้มาเป็นคอนเซปต์หลัก ซึ่งคิดว่ามนุษย์มันควรจะเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้
เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เราก็เลยคุยปรึกษาหารือกับอาจารย์ที่ดูฮวงจุ้ย
เพราะว่าฮวงจุ้ยมันเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและความสัมพันธ์
ระหว่างธรรมชาติและมนุษย์


คุณสนใจเรื่องฮวงจุ้ยอยู่ก่อนแล้ว?

ไม่ใช่ แต่มิตร ใจอินทร์รู้เรื่องนี้เยอะ เขาสนใจมาก เขาบอกว่าเรื่องนี้
น่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่น่าจะทำ เราเองก็ไม่มีความลึกด้านนี้

คือความจริงผมไม่ค่อยมีไอเดียอะไรมากหรอก ไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่
แต่ทำได้ ผมไม่ได้เป็นคนจอมไอเดีย แต่เราต่อยอดได้
เราก็มีความคิดของเราแต่ไม่ใช่คนที่จะสร้างคอนเซปต์เหมือนอย่างมิตรเขาเป็น
คนคิดเรื่องนี้ แต่ว่าผมเป็นผู้ปฏิบัติ แต่ในขณะที่ผมเป็น
ผู้ปฏิบัติผมก็สามารถที่จะพัฒนาตัวนี้ได้ในรายละเอียด


ตามแปลนจะมีกี่ชั้น

มีสี่ชั้น แบ่งอย่างนี้เลย คือห้องแบ่งเอาไว้แล้วตามฮวงจุ้ย
คือเขามาวางให้ว่าห้องนี้มันหันหน้าไปทางทิศนี้
เพราะแต่ละนักษัตรจะมีธาตุของเขาเฉพาะอีก
ฉะนั้นธาตุเฉพาะของเขาแต่ละธาตุจะมี
ความเฉพาะว่า
ทิศไหนเป็นทิศที่เหมาะกับ ธาตุนั้น เวลานอนจะต้องหันหัวไปทิศนั้น
จะมีพลังพิเศษให้เขานอนแล้วมีความสุข อยู่สบาย
บางทีแดดหรือความมืดมันก็มีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์
ความจริงมีแต่เราไม่รู้ตัว ทุกอย่างมันมีอิทธิพลต่อมนุษย์
ความร้อน แสงแดด ลม ทั้งหมดไม่ใช่มนุษย์อย่างเดียว ธรรมชาติ ต้นไม้
อันนี้ผมว่าเป็นความพิเศษ เป็นความน่าสนใจที่จะทำให้โรงแรมนี้
มีเรื่องที่ต้องพูดถึงและมีจุดหมายหรือ ว่ามีความน่าสนใจให้ค้นหา


ถ้าดูตามแบบมีบางห้องดูเอียงๆ?

จริงๆ ไม่เอียง ที่ผมคิดแรกๆ มันจะการเป็นเอากล่องมาซ้อนๆ กัน
ในจังหวะที่เหลื่อมล้ำกัน แต่ละห้องจะอยู่เป็นอิสระไม่ใช่โรงแรม
ที่แบบเป็นบล็อกแล้วก็อยู่ห้องนี้อยู่ ติดกันสม่ำเสมอ
อันนี้ก็เหมือน
เขามีพื้นที่ของเขาเอง

แต่ละห้องจะมีศิลปิน 12 คนมาออกแบบด้วย?

อันนี้เป็นตัวที่ผมต่อยอดออกมา ตอนแรกสุดผมคิดว่าจะแต่งเองหมด
ทั้งสิบสองห้อง แต่ถึงตอนนั้นผมอาจร่อแร่แล้ว ยังไงก็ตามไอเดียที่มันแตกออกมาก็คือ
ในระหว่างที่เรากำลังเริ่มสร้าง Mo Shop ก็เปิด ตอนนั้นเราไม่ได้คิดเรื่องนี้
แต่ว่าเรามีเฟอร์นิเจอร์อย่างที่เห็นที่ได้มา จากเพื่อนๆ นักออกแบบ
บ้าง
สถาปนิกบ้าง แม้กระทั่งหนังสือจากสำนักพิมพ์โอเพ่น
สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น คนเหล่านี้ก็ได้มารวมกันที่นี้อยู่แล้ว

แล้วก็เห็นว่าความจริงคนเหล่านี้ ก็มีประสบการณ์ของเขาเองมีผลิตภัณฑ์ของเขาเอง
ถ้าโรงแรมได้มีคนเหล่านี้เข้าไปแต่งมันก็จะโยง
เพราะว่าต่อไปเราก็จะเอาผลิตภัณฑ์อย่างนี้ที่เหมาะสม
เข้าไปแต่งในห้องแต่ละห้องให้เหมาะสมกับบุคลิกของนักษัตรนั้นๆ อยู่แล้ว


แล้วก็มาคิดว่าถ้าเอานักออกแบบหรือศิลปินไปแต่งห้องปีที่เขาเกิดเลยจะน่า
สนใจกว่าไหม ผมว่ามันน่าสนใจกว่าเยอะ เพราะเขามีทั้งผลงานของเขา
ทั้งบุคลิกที่เป็นนักษัตร ฉะนั้นเราก็ไม่ต้องไปเขียนรูปว่าเกิดปีวอกห้องต้องมีรูปลิง
ไม่ต้องมีรูปลิงก็บอกนิสัยของลิง เราไม่ต้องการออกแบบว่าเป็นไทยต้องเป็นกนกอย่างเดียว
ความเป็นไทยยังมีอีกหลายอย่างที่ไม่ต้องเป็นกนก
ความเป็นไทยยังมีอีกหลายอย่างซึ่งเป็นนามธรรม

ทำไมญี่ปุ่นไม่ต้องบอกว่าเป็นญี่ปุ่น ไม่ต้องเป็นรูปอาทิตย์แดงๆ
มีหลายๆ สิ่งที่เห็นแล้วรู้เลยว่าเป็นญี่ปุ่น นั้นคือนามธรรมที่เราน่าจะสื่อแบบนั้นได้


เห็นว่างาน Functional Object ของคุณไทวิจิตโดดเด่น
ได้นำมาใช้ตกแต่งโรงแรมนี้ด้วยหรือเปล่า


Functional Object ก็คือ เป็นวัตถุหรือว่าเป็นผลิตภัณฑ์
ข้าวของที่น่าจะมีประโยชน์ใช้สอย ข้างของที่เหลือใช้แล้ว
ฐานพัดลมสมัยสามสี่สิบปีที่ผ่านมา ใช้ไม่ได้แล้ว
นำมันมาประกอบกับจินตนาการที่เรามีอยู่ หาสิ่งอื่นมาทำให้มันใช้ได้ใหม่ในรูปแบบใหม่
ฐานพัดลมแล้วหัวเป็นหมู เป็นโคมไฟ ไม่จำเป็นต้องไปเขียนรูปหมูรูปหมาในห้อง
แต่สิ่งที่เราตกแต่งสะท้อนบุคลิกมากกว่ารูปลักษณ์ที่ออกมา
เขาเกิดปีนั้นเขาก็จะสะท้อนลักษณะของคนปีนั้น เช่น ผมปีหมู
ผมชอบสนุกสนาน
เฮฮา ผมชอบสังคม แต่ในขณะเดียวกันผมชอบที่จะอยู่เงียบๆ
อ่อนนอกแข็งใน ขรึม มันก็จะสะท้อนเป็นเหมือนคนนิ่งๆ
ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่เขารวบรวมมาวิเคราะห์ออกมาว่าคนปีนี้เป็นอย่างนี้
ในปีหนึ่งมันยังมีรายละเอียดอีกว่าเดือนไหน เกิดวันอะไร
กลางคืนหรือกลางวัน เป็นสิ่งที่เข้าไปลึกๆ แล้วเรียกว่าสนุกก็ได้
เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ก็อยู่ในขั้นตอนที่กำลังพัฒนาอยู่


ตอนนี้คุณย้ายมาอยู่เชียงใหม่แล้ว?


ใช่ ย้ายมาแล้ว คือมีโครงการเกือบ 20 ปีแล้ว แต่เพิ่งจะเป็นจริงได้
เมื่อไม่นานมานี้ ย้ายมาเต็มตัวแล้วก็เพิ่งสามเดือนเอง
ที่ผมไปๆ มาๆ ก็สองสามปีแล้ว ที่ปายบ้าง เชียงใหม่บ้าง
ก็ด้วยจังหวะที่พอดีอย่างที่ว่า เพื่อนเขาก็รู้ว่า
ผมมีโครงการที่จะมาอยู่ที่นี่อยู่แล้ว เมื่อเขารู้กันก็เลยคิดว่า
จะมาทำอะไรกันอย่างนี้ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้มานะ
มีโครงการมีแพลนจะทำตั้งนานแล้วละแต่ตอนนั้นยังไม่ชัดเจน
ตอนนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะผมได้มาเริ่มสร้างบ้านแล้วก็เริ่มค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น


คิดว่าเชียงใหม่สอดคล้องกับวิถีการทำงานศิลปะ?

ถ้าเทียบเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ ก็สอดคล้องกว่ามาก
ผมไม่ใช่ใหม่กับที่นี่ ผมคุ้นเคยที่นี่
เพราะเคย
มาอยู่สามปี เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว
แต่เชียงใหม่ก็แตกต่างกันมากจากการพัฒนาของบ้านเรา
ก็เป็นไปแบบนี้ทุกแห่งแต่ที่สิ่งที่เชียงใหม่มีก็คือ

วิถีชีวิตของเขายังสะท้อนสิ่งที่เขามีออกมาได้
ในขณะที่สังคมเมือง หรือ Capitalist กำลังรุกหนักทั่วโลก


ทำไมไม่เลือกเมืองอื่นๆ อย่างภูเก็ต มันต่างกันตรงไหน

ที่ภูเก็ตมันก็ได้นะ แต่มันมีรากบางอย่างของคนที่นี่ คือวัฒนธรรมวิถีชีวิตนั่นเอง
กับคนภูเก็ตมันไม่เหมือนกัน คนภูเก็ตเป็นคนเกาะ
แล้วก็ประวัติความเป็นมาก็ไม่เหมือนกัน

คนภูเก็ตเป็นคนจีนที่ย้ายมาส่วนหนึ่งเป็นฮกเกี้ยนหรือเป็นปีนัง
หรืออะไรอย่างเนี้ย ที่นี่คนเขาอยู่มาเจ็ดแปดร้อยปี
คนล้านนาเขาอยู่มายาวนานกว่าหรือฝังลึก
เพราะฉะนั้นคาแรคเตอร์มันก็เลยไม่เหมือนกัน
ถึงมันจะเป็นเมืองท่องเที่ยวเหมือนกันแต่ฟังก์ชันก็ไม่เหมือนกันอีก
นั่นทะเล นี่ภูเขา สภาพแวดล้อมก็มีผลต่อจิตใจ มีผลต่อวัฒนธรรม
มีผลต่อความเป็นอยู่ ต่างกันชัดเจน เรื่องสำเนียงการพูดคุย
ก็เหมือนกัน
คนทางใต้จะโฉ่งฉ่าง คนทางเกาะก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
อันนี้คือธรรมชาติในแต่ละท้องถิ่น
ทำไมคนทางเหนือกินจืดคนทางใต้กินเผ็ด นิสัยใจคอก็ไม่เหมือนกัน
ในยุโรปก็ไม่เหมือนกัน อิตาลีกับสวีเดนก็ต่างกัน
มีโครงสร้างมันมีความสัมพันธ์คล้ายๆ กัน
ทีนี้ต้องย้อนมาเรื่องสิบสองนักษัตรหรือฮวงจุ้ย
ธรรมชาติมีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์


บรรยากาศด้านศิลปวัฒนธรรมที่เชียงใหม่ทุกวันนี้
เป็นอย่างไรในความเห็นของคุณ


มันเห็นชัดกว่า เพราะอยู่กรุงเทพฯ มันกระจาย มันเยอะและก็ไปมาหาสู่ลำบาก
ข่าวสาร โอเค มันดี แต่การเดินทางไม่ดีมันก็เลยเป็นไปได้ยาก
ลองคิดดูทำไมห้างสรรพสินค้าถึงประสบความสำเร็จ
เพราะมันรวมอยู่ในนั้นทุกอย่าง คนก็เลยไปห้างสรรพสินค้า

แทนที่จะมี museum ดีๆ แหล่งศึกษามันก็กลายเป็นห้างสรรพสินค้าเสียหมด
ถ้าอยู่เยอรมนีหรือญี่ปุ่นคนจะถูกปลูกฝังให้เข้าไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
มีงานใหม่ๆ ให้คนมาศึกษากัน แต่ของเรา เพราะคนไม่ได้ถูกปลูกฝัง
รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็ไม่ได้สนับสนุน
เอาแต่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องนี้
ก็เป็น culture ของการปกครองเหมือนกัน
วัฒนธรรมการเมืองแบบพรรคพวกพวกพ้องเอาผลประโยชน์เข้าตัวเอง
แล้วคนก็เป็นอย่างนี้หาทางกันเองมันก็เป็นอย่างนี้ ก็พอไปได้


โดยภาพรวมผมว่ามันก็คึกคักกว่าเดิมทั้งเชียงใหม่และกรุงเทพฯ
จากเมื่อสิบปียี่สิบปีที่แล้ว เพราะว่าข้อมูลข่าวสารอะไรก็มากขึ้นกว่าเดิม
เป็นคนจากภายนอกด้วยต่างชาติด้วย โดยเฉพาะเชียงใหม่
มีชาวต่างชาติเข้ามาเยอะ ญี่ปุ่น ฝรั่ง แล้วเราก็รับเอาวัฒนธรรมต่างชาติ
เข้ามาเยอะไม่ว่าจะเป็นการศึกษาหรืออะไร ด้วย มันเล็กกว่ากรุงเทพฯ
มันก็สนุกดีผมว่าจะดีแค่ไหน สุดยอดแค่ไหน จะเป็น
อย่างเมืองนอกไหม
ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจ เอาที่เราคาดหวังกันได้
รอไปข้างหน้าจะเห็นผลถ้าเราตั้งใจ
และทำตามที่ตั้งใจและออกแรงไปตามความตั้งใจของเราก็ต้องเห็นผลสักวัน
เชียงใหม่มีทั้งศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน สะล้อ ซอ ซึง
มีทั้งศิลปะร่วมสมัยที่หลากหลาย
มีความพยายามที่จะสืบสานอยู่ในระดับหนึ่ง


คิดว่าปัจจัยอย่างนี้จะเอื้อให้เกิดการขยับตัว
ของการสร้างงานศิลปะมากน้อยแค่ไหน


มันก็ขยับตัว ถ้ามีคนอย่างนี้และก็พยายามทำ มันก็ขยับตัวกันได้
แต่อย่าหวังทางรัฐบาลเพราะรัฐบาลทำอีกแบบหนึ่ง
สิ่งที่รัฐบาลทำมีฐานจากการพยายามหาเงินเข้ากระเป๋า
ไม่ได้คิดอะไรที่ลึกซึ้ง รูปแบบมันก็จะเดิมๆ
ประเทศที่เขาเจริญแล้วเขาพัฒนาตัวนี้กันได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ museum
หรืออะไรอย่างนี้ คนต้องเสียเงินไปเพราะคนอยากจะไป
เพราะเขาได้เรียนรู้อะไรตั้งเยอะ บ้านเราไปก็ไม่เข้า museum
ไม่ยอมเสียสตางค์เขารู้สึกว่าแพง นี่เป็นทัศนะส่วนตัว
และการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย ซึ่งไม่ได้มองอะไรมาก
เอะอะก็ท่องเที่ยว คิดอะไรมาห่วยๆ หวังจะกอบโกยเงินแล้วก็ไม่ได้สร้าง
หรือพัฒนาอะไรต่อ อยู่แค่นั้น อยู่แค่สี่ปีแปดปีหวังแต่จะโกย
จะเอาตัวนี้มาเป็นตัวหาประโยชน์ ซึ่งถ้าไม่เกิดขึ้นจากข้างในจริงๆ
ก็อยู่ได้ไม่นาน ถ้าเกิดจากภายในจริงๆ มันก็ยั่งยืน


ความยั่งยืนเขามองไม่เห็น เรื่องเวลา เรื่องอนาคต เรื่องการสั่งสม
เพราะว่ามันจะเกิดผลต่ออนาคตถ้าคุณสั่งสมตั้งแต่ตอนนี้
คุณก็จะได้อยู่ยาวกิน ยาว ออกดอกออกผลจากสิ่งนี้
หรือถ้าคุณจะกินเร็วหวังผลเร็วก็หมดเร็ว
การเพาะปลูก GMOs อะไรต่ออะไรอย่างนี้
เรื่องเดียวกันเลย สภาพแวดล้อมก็เหมือนกัน
ถ้าคุณรักษามันคุณก็กินมันยาวเลย เหมือนภูฏาน
จำกัดนักท่องเที่ยวอะไรอย่างนี้
สภาพ
แวดล้อมเขาก็ได้รับการรักษา

ลงหลักปักฐานอยู่เชียงใหม่แล้ว อยากเห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นบ้าง

ผมไม่สามารถจะเห็นแบบนักการจัดการแบบนั้น
หรือแบบรัฐบาลคืออยากจะเห็นผลเป็นรูปธรรม
อะไรเกิดขึ้นจากสิ่งที่เราทำ ก็เรียนรู้จากสิ่งนั้นเป็นธรรมชาติมากกว่า
ทำต่อไหม ทำไหวไหม เป็นธรรมชาติมากกว่า
ที่จะต้องอัดเงินเข้าไปเพื่อให้มันเกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้
เหมือนกับกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น กระแทกขึ้นมา มีชื่อ แต่มีของไหม

มีจริงไหม ฝรั่งเศสเขาไม่เคยบอกว่าเป็นเมืองน้ำหอม
แต่มันเป็นเอง เพราะเขาพัฒนาเป็นพันปี
เพราะมันมีรากเหง้า ถามว่าคนเชียงใหม่เป็นอย่างนี้ก็มันพัฒนามาเป็นอย่างนี้
ตั้งพันปี เจ็ดร้อยแปดร้อยปี ประเทศไทยชอบใส่ Label ปักป้าย
ประเทศไทยป่าชุ่ม
ชื้น แต่ที่ไหนได้ ไม่ใช่ เอา Label อย่างเดียว
แล้วบางคนหลงป้าย ความเป็นจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


สรุปก็คือแต่ละคนควรพยายามทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด

หลายคนพยายามที่จะไม่เป็นธรรมชาติของเขา
ไม่ได้บอกว่าไม่ได้ ถ้าเราพยายามด้วย
การเข้าใจธรรมชาติของตัวเองมันน่าจะสวยกว่า
เหมือนต้นไม้บางชนิดที่ต้องการดินบางอย่าง
ต้องแดด
ประมาณนี้ อากาศประมาณนี้

Presentable

มันอาจจะคล้ายกับอโรคยาศาลาในยุคโบราณ
เพียงแต่ว่าในปัจจุบันหลักการพื้นฐานแห่งปราชญ์ตะวันออกทั้งหลาย
ได้ถูกนำมาใช้อีกครั้งกับการพักอาศัยในรูปแบบของโรงแรมทันสมัย


a day ปีที่ 8 ฉบับที่ 90 เดือนกุมภาพันธ์ 2551
ภาพปก: ต้นไม้
ออกแบบ: ทรงพล จั่นลา
ภาพประกอบ: ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์