Custom Search

Aug 15, 2009

พระพุทธจริยาวัตร60ปาง ปางเสด็จมหาภิเนษกรมณ์













คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ

เสฐียรพงษ์ วรรณปก

มติชน

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552

มหา ภิเนษกรมณ์ เขียนเป็นบาลีว่า มหาภินิกฺขมน
(มหา - อภินิกฺขมน = การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่)
แปลอย่างชาวบ้านธรรมดาๆ ว่า ออกบวช
พุทธรูปปางออกบวชนี้เขียนกันสองแบบ หรือสองช่วง
บางครั้งเขียนตอนทรงม้ากัณฐกะออกจากประตูเมือง
มีนายฉันทะเกาะหางม้า ท่าทางราวกับม้าพาเหาะออกจากเมืองกลางดึก
บางครั้งก็เขียนตอนเสด็จออกนอกวัง ทอดพระเนตรเห็น "เทวทูต" ทั้ง 4


เจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อเจริญวัยแล้วก็ได้รับการศึกษาศาสตร์ต่างๆ
อาจารย์ที่ถวายวิชาความรู้คงมีหลายท่าน แต่ระบุไว้เพียงท่านเดียว
คือ วิศวามิตร ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธรา
หรือพิมพา พระราชธิดาแห่งพระเจ้าสุปปพุทธะ
และพระนางอมิตา เมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษา


พระชนมายุได้ 29 พรรษา ก็ได้พระโอรสพระนามว่า ราหุล
มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ พระนามว่า ราหุล แปลว่า "บ่วง"
หมายถึงบ่วงที่ผูกมัดมิให้มีอิสระ
สาเหตุที่ราชกุมารน้อยได้พระนามนี้
ก็คือ หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะได้ทอดพระเนตร
เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ตามลำดับแล้ว
ก็มาครุ่นคิดว่า โลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์
มนุษย์ทั้งหลายถูกความทุกข์ คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ครอบงำ
จึงเวียนเกิดเวียนตายในสังสารวัฏฏ์ไม่รู้จบสิ้น


ทรงคิดหาทางว่าจะมี ทางหลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้อย่างไรหรือไม่
ก็ทรงได้ข้อเปรียบเทียบว่า สรรพสิ่งย่อมเป็นของคู่กัน
เช่น มีมืดก็มีสว่าง มีร้อนก็ต้องมีเย็น เมื่อมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ก็ย่อมมีการไม่เกิด ไม่เจ็บ ไม่แก่ ไม่ตายด้วย
ครั้นได้เห็นภาพของสมณะผู้สงบ ก็ได้ข้อสรุปว่า
การจะพ้นจากทุกข์คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้
คงต้องดำเนินวิถีชีวิตแบบท่านผู้สงบนี้
จึงตัดสินพระทัยจะออกผนวช ทันใดก็ได้รับรายงานว่า
พระโอรสน้อยประสูติแล้ว
เจ้าชายสิทธัตถะทรงรู้สึกปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง
ความรักบุตรเกิดขึ้นท่วมท้นพระหฤทัย ทรงรู้สึกว่า
ถ้าออกบวชช้าจะไม่มีโอกาสแน่นอน
เพราะความรักความผูกพันจะเจริญขึ้นเรื่อยๆ จนยากจะตัดได้
จึงเปล่งพระอุทานว่า ราหุลํ ชาตํ พนฺธนํ ชาตํ
บ่วงเกิดขึ้น เครื่องผูกพันเกิดขึ้นแล้ว


ว่ากันว่า เพราะเหตุนี้พระกุมารน้อยจึงได้พระนามว่า ราหุล

คืนวันนั้น พระองค์ทรงบรรทมไม่หลับ กระสับกระส่าย
ไม่ทรงยินดียินร้ายกับเสียงขับประโคมของประดา
นางสนมนางบำเรอที่จัดถวายแต่ ประการใด
ภาพของพวกนางที่นอนหลับใหล
ปรากฏต่อสายพระเนตรเจ้าชายผู้ลุกขึ้นมาตอนดึก
เสมือนป่าช้าผีดิบ ด้วยบางนางก็อ้าปาก กัดฟัน น้ำลายไหล
บางนางก็ผ้านุ่งหลุด บางนางนอนกอดพิณละเมองึมงำๆ
กลิ้งเกลือกไปมา ทำให้เกิดความสลดสังเวชอย่างยิ่ง


จึงทรงเรียกนายฉันนะ มหาดเล็กคนสนิทเตรียมม้ากัณฐกะ
เพื่อเสด็จออกจากพระนคร ก่อนจากได้เสด็จเข้าไปเยี่ยม
พระชายาและพระโอรสซึ่งนอนหลับอยู่
เป็นการอำลาเป็นครั้งสุดท้าย
ประทับกัณฐกะอัศวราชหนีออกจากพระนครทันที


หลักฐานจากพระไตรปิฎกบอกว่า เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช
ขณะที่พระราชบิดา และพระราชมารดาทรงเห็นๆ อยู่
แต่ไม่อยู่ในภาวะจะห้ามปรามได้
ขณะทั้งสองพระองค์ทรงกรรแสงพิลาปรำพันอยู่
เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ
นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ถือเพศเป็นบรรพชิต


หลักฐานบางแห่งฉายภาพของวสวัตตีมารปรากฏตัวต่อ
หน้าเจ้าชายสิทธัตถะยกมือห้ามออกนอกเมือง
พลางพูดว่า รออีก 7 วันเท่านั้น
เจ้าชายก็จะได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ครองพระนครกบิลพัสดุ์
และจะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ในไม่ช้า
เจ้าชายสิทธัตถะไม่ทรงเชื่อ จึงตวาดไล่พญามารหนีไป


เหล่าเทพยดา บันดาลให้ประตูเมืองเปิดออกเอง
มิต้องเสียแรงผลักแต่ประการใด
เจ้าชายสิทธัตถะติดตามด้วยนายฉันนะมหาดเล็กคนสนิท
ทั้งสองได้ควบม้าห้อตะบึงจากพระนครกบิลพัสดุ์
จนบรรลุถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ตอนรุ่งสาง


เจ้าชายเปลื้องเครื่องทรงออก
มอบพัสตราภรณ์และเครื่องประดับทั้งหลายแก่นายฉันนะ
รับสั่งให้นำไปมอบให้พระราชบิดาและพระราชมารดา
ทรงกระซิบข้างหูม้าคู่พระทัยให้กลับไปยังพระราชวังพร้อมกับนายฉันนะ
กัณฐกะอัศวราชมีน้ำตาไหลจากเบ้าตาทั้งสอง
ด้วยความอาลัยอาวรณ์ในเจ้านายของตน ล้มลง
หัวใจแหลกสลาย สิ้นชีวิต ณ ตรงนั้นเอง


พระองค์ได้ถือเพศบรรพชิต เดินดุ่มไปเดียวดาย
เพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นจาก
ความทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ด้วยประการฉะนี้แล


เจ้าชายสิทธัตถะทรงถือเพศบรรพชิตนั้น
หลายท่านสงสัยว่า ใครเป็นอุปัชฌาย์บวชให้
ทรงได้จีวรมาจากไหน โกนผมปลงหนวดหรือเปล่า
ต้องเข้าใจว่า สมัยโน้นมีนักบวชกันมากมายหลายลัทธิ
คำว่า บรรพชิตก็ดี สมณะก็ดี เป็นคำที่ใช้กันแพร่หลาย
มีเกณฑ์กำหนดว่า ผู้สละชีวิตครองเรือนมาถือวัตร
ถือศีล แบบผู้สละเรือน ก็เรียกว่า "บวช" กันทั้งนั้น
ปลงผมก็มี ไม่ปลงผม มุ่นผมเป็นชฎาก็มี
ผ้าที่นุ่งห่มก็เป็นผ้าแพรยาวๆ ผืนเดียว
หรือสองผืนส่วนมาก
ดูแขกในปัจจุบันนี้ก็จะเข้าใจว่าเขานุ่งห่มกันอย่างไร


ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเล่าว่า พระมหาสัตว์
(เป็นคำเรียกเจ้าชายสิทธัตถะคำเดียวกับ "พระโพธิสัตว์")
ทรงตัดพระเกศาให้สั้นด้วยพระขรรค์
เปลื้องเครื่องทรงของขัตติยราชกุมาร
นุ่งห่มผ้าธรรมดา (ซึ่งเข้าใจว่าคงเตรียมมาด้วย)
ตั้งพระทัยว่าจะออกแสวงหาโมกษธรรม
(คือพระนิพพาน ที่สิ้นทุกข์)
เท่านี้ก็ถือว่าได้ "บวช" แล้ว


ยังไม่มีพิธีกรรมอะไร พิธีกรรมมาตั้งขึ้นภายหลังครับ

ก่อนจะเล่าต่อไป ขอย้อนถึงสาเหตุแห่งการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ก่อน
มีคำถามแทรกเข้ามาว่าเป็นไปได้หรือที่
เจ้าชายสิทธัตถะพระชนมายุถึง 29 พรรษาแล้ว
ไม่เคยเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายเลย
เพิ่งจะมาเห็นเอาตอนนี้
คำถามนี้ผมเคยถามลูกศิษย์ระดับมหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่
บางคนยืนยันว่าเป็นไปได้ เมื่อถามว่าเพราะเหตุไร


เธอตอบว่า พระเจ้าสุทโธทนะหลังจากได้ฟังคำพยากรณ์
จากพราหมณ์ทั้ง 8 ตอนเจ้าชายน้อยประสูติแล้ว
ทรงกลัวว่าเจ้าชายจะเสด็จออกผนวช
กลัวจะไม่มีใครสืบทอดราชบัลลังก์
จึงทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่ให้
เจ้าชายทอดพระเนตรเห็นสิ่งที่ทำให้เบื่อ
หน่ายโลกียวิสัย เวลาจะทรงอนุญาตให้เจ้าชายสิทธัตถะ
เสด็จไปนอกเมืองก็ทรงรับสั่งให้ "เคลียร์พื้นที่"ก่อนทุกครั้ง
เจ้าชายจึงไม่มีโอกาสได้เห็นภาพที่ชวนให้สลดพระทัย
จึงเป็นไปได้ที่เพิ่งจะมาเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย
ตอนพระชนมายุได้ 29 พรรษา
ศิษย์ของผมว่าอย่างนั้น


แต่อีกหลายคนก็ไม่เห็นด้วย
ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ ครั้นถามเหตุผล ก็ตอบไม่ได้


ลอง มาพิจารณาดูสักนิดซิว่า ทำไมตำราจึงว่าไว้อย่างนี้
ข้อความตรงนี้น่าจะมิได้แปลตามตัวอักษรเสียแล้ว
น่าจะมีความหมายระหว่างบรรทัดกระมังครับ คือ
เจ้าชายสิทธัตถะเห็นภาพคนแก่ คนเจ็บ คนตาย แน่นอน
อาจจะเห็นทุกวันด้วย แต่การเห็นอย่างนั้นเป็นการเห็นด้วย "ตาเนื้อ"
จึงเท่ากับไม่เห็น เพราะเห็นแล้วก็ผ่านเลยไป
ไม่นำเอามาคิดให้เข้าใจสภาวธรรมทั้งหลายตามเป็นจริง
แต่พอพระชนมายุได้ 29 พรรษา เห็นสิ่งเหล่านี้แล้ว
นำมาขบคิดพินิจพิจารณาจนรู้สภาวะอันเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย
เข้าใจในเรื่องความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีเกิด มีดับ ไม่มีอะไรแน่นอน


การเห็นในช่วงหลังนี้ จึงเป็นการเห็นด้วย "ตาใน" คือปัญญา
หลังจากมืดบอดมานาน เพิ่งจะตาสว่างกันคราวนี้เอง ว่าอย่างนั้นเถอะ
เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่าอยู่มาจนพระชนมายุได้ 29 พรรษา
เพิ่งจะเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย กันคราวนี้เอง


เมื่อพระมหา สัตว์ตั้งพระปณิธานว่า จะแสวงหาทางพ้นทุกข์
ก็ทรงพิจารณาว่าจะหาจากสำนักใดดี
เนื่องจากสมัยนั้นมีสำนักปฏิบัติมากมาย
แต่ละสำนักก็อ้างว่าตนปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ทั้งนั้น
ก็ทรงทราบว่า สำนักดาบสนามว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร
มีชื่อเสียงเป็นที่ทราบกันทั่วไป จึงไปขอฝึกปฏิบัติด้วย


พูดธรรมดาก็ ว่าไปสมัครเป็นศิษย์ฝึกด้วย
ระบบที่ฝึกก็คือระบบโยคะ ฝึกสมาธิ
เพื่อให้จิตมีพลังกล้าแข็งขึ้นตามลำดับ
พระองค์ทรงฝึกอยู่กับอาฬารดาบส
จนได้ผลสัมฤทธิ์ขั้นสูงสุดของอาจารย์ คือ
ขั้นที่เรียกตามศัพท์วิชาการว่า
อากิญจัญญายตนะ (The State of Nothingness)
ทรงรู้สึกว่ายังไม่ใช่ที่สุด
จึงลาอาจารย์ไปฝึกปฏิบัติอยู่กับอาจารย์อีกคนหนึ่งชื่อ
อุทกดาบส รามบุตร ทรงฝึกระบบเดียวกัน
จนได้ผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งอันเรียกว่า
"เนวสัญญานาสัญญายตนะ"
(The State of neither Perception nor Non-Perception)
ก็ทรงเห็นว่ายังมิใช่ที่สุดแห่งทุกข์
จึงทรงดำริที่จะแสวงหาด้วยพระองค์เอง


ความจริงอาจารย์ทั้งสองท่าน
ชวนพระมหาสัตว์ให้อยู่เป็นอาจารย์สอนศิษย์อื่นๆ ต่อไป
แต่พระองค์ไม่รับ ทรงอำลาอาจารย์ทั้งสองไปแสวงหาลำพังพระองค์
ทรงหันมาบำเพ็ญตบะ คือ การทรมานตนในรูปแบบต่างๆ
เท่าที่คนสมัยนั้นคิดว่าเป็นทางบรรลุโมกษธรรม


พุทธ ประวัติช่วงนี้รวบรัดไปหน่อย ไม่พูดถึงเลยว่า
พระองค์ทรงทำอะไรบ้าง แต่รายละเอียดมีอยู่ในพระสูตรต่างๆ
ที่พระองค์ตรัสเล่าให้พระสาวกทั้งหลายฟัง
อยากทราบรายละเอียด โปรดตามไปค้นดูเถิด
ไม่มีเนื้อที่จะเล่าโดยละเอียด


ที่น่าตั้งข้อ สังเกตก็คือ ช่วงเวลา 6 ปีก่อนตรัสรู้
พระองค์ทรงทำอะไรบ้าง ทรงอยู่กับดาบสทั้งสองกี่ปี
บำเพ็ญตบะอยู่กี่ปี
ผมคิดว่าพระองค์ทรงอยู่ในสำนักของดาบสทั้งสองไม่เกินสองปี
อีกสี่ปีหลัง ทรงทรมานพระองค์เองด้วยระบบตบะวิธีต่างๆ
ลงท้ายด้วยการอดพระกระยาหาร
อันเรียกว่า ทุกรกิริยา


บางท่านว่าทรงอดพระกระยาหาร 6 ปี คงเป็นไปไม่ได้ดอกครับ
ขืนอดนานปานนั้นก็ไม่เหลืออะไรแล้ว
ความที่น่าเป็นไปได้ก็คือ ทรงใช้เวลาประมาณสองปีศึกษา
และปฏิบัติอยู่กับอาจารย์ทั้งสองสำนัก ที่เหลืออีกสี่ปี
ก็หมดไปกับการบำเพ็ญตบะทรมานตัวเอง
ด้วยวิธีอันเคร่งครัดนานาประการ
ท้ายสุดก็ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาสามขั้นตอน
ขั้นตอนสุดท้าย
ทรงอดพระกระยาหารดังที่ทราบกันดีแล้ว


หน้า 6