Custom Search

Aug 5, 2009

สมบัติผู้ดี


โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
มติชน
วันที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ผู้ เขียนได้รับเชิญไปพูดเรื่อง "ย้อนพินิจสังคมไทยในสมบัติผู้ดี" ของ
งานสัมมนา "100 เอกสารสำคัญสรรพสาระประวัติศาสตร์ไทยครั้งที่ 1"
ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม เมื่อไม่นานมานี้

ซึ่งผู้เขียนออกจะสนุกกับการพูดครั้งนี้จึงอยากจะแชร์กับ
ท่านผู้อ่านที่เคารพเผื่อว่าจะสนุกด้วยกัน

สมบัติ ผู้ดีคือหลัก 10 ประการของผู้ที่มีกาย วาจา ใจ อันสุจริต
ซึ่งมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)
เสนาบดีกระทรวงธรรมการในสมัยรัชกาลที่ 6 ขณะที่มีบรรดาศักดิ์
เป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ได้เรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ "สมบัติของผู้ดี"
เมื่อปี พ.ศ.2455 แต่เรียกกันโดยทั่วไปว่าสมบัติผู้ดี

ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีใครเคยได้ เห็นหรืออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วแต่ก็ยัง
เป็นหนังสือที่กล่าวขวัญอ้างอิงกัน อยู่เสมอโดยใช้เป็นเครื่องมือการด่าว่า
ประชดประชันหรือสั่งสอนบุคคลหรือกลุ่มคนที่ผู้ที่อ้างถึงหนังสือสมบัติผู้ดี
นี้รู้สึกขัดหูขัดตา ไม่ชอบเสียเป็นส่วนใหญ่

ดังตัวอย่างข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์ต่างๆ ของปีนี้ เช่น

" ว.วชิรเมธี"ผุดหลักสูตรสมบัติผู้ดีเณร แก้ปัญหาพระตุ๊ด เณรแต๋ว
หลักสูตรแรกของประเทศไทย หวั่นล้นวงการสงฆ์ประชาชนเสื่อมศรัทธา
เริ่มนำร่อง พ.ค.นี้ที่โรงเรียนเตรียมสามเณร วัดครึ่งใต้ จ.เชียงราย
หากสำเร็จพร้อมของผลทั่วประเทศ"

"เพื่อไทย โวย กกต.ของปลอม เหตุไม่เร่งสอบ กรณี
บุญจงแจกเงินแนบนามบัตร มอบหนังสือ"สมบัติผู้ดี"ให้นายกฯ-กษิต"

"สมบัติผู้ดีแตก"แม่ลิเดีย"เดือนสุดขีด บุกไปด่า"หมอกฤษณ์"ขู่ให้กราบตีนขอโทษ"

" เหลิมแผ่นเสียงตกร่อง ท้าพันธมิตร ตั้งพรรคการเมืองแข่ง เหน็บ
สนธิเป็นนายกฯ ทุกอย่างจบ อ้างซ้ำซากพันธมิตรชุมนุมปิดถนน
ทำเดือดร้อน แถมข่มขู่ ด่าทอ ไร้สมบัติผู้ดี แต่เมินพูดถึง
ม็อบ นปก.ที่ตามราวีพันธมิตรไปทุกที่"

การที่จะย้อนพินิจสังคมไทยในสมบัติ ผู้ดีดังที่เป็นหัวเรื่อง
ของการอภิปรายครั้งนี้ก็คงต้องพิจารณาถึงบริบทของ
ช่วงเวลาที่มีการเขียนหนังสือเรื่องสมบัติของผู้ดีขึ้นในครั้งแรกซึ่งจำเป็น
ที่จะต้องพิจารณาประวัติและประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ประกอบ
เข้าไปด้วยจึงจะทำให้พอเห็นรูปภาพรวมของประวัติศาสตร์ได้ชัดขึ้นบ้าง

ต้น ตระกูลของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ โอรสของรัชกาลที่ 2
ต้นตระกูลมาลากุลซึ่งเจ้าพระยาพระเสด็จฯ
ได้รับการศึกษาอย่างดีตามแบบของสุขุมาลชาติในสมัยนั้นซึ่งต้องประกอบด้วย
ความรู้ทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักสำคัญ

เจ้าพระยาพระเสด็จฯเป็นนัก เรียนประจำของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
มีผลการเรียนดีเลิศ ซึ่งสอบได้ประโยคที่ 2 ในจุลศักราช 1248 หรือ พ.ศ.2429
ต่อจากนั้นท่านได้เข้ารับราชการจนได้ดำรงตำแหน่งเป็นพระมนตรีพจนกิจได้รับ
การไว้วางพระราชหฤทัยจากรัชกาลที่ 5 ให้เป็นผู้อภิบาล
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระราช
อิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
เมื่อครั้งยังทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ

และได้เป็นผู้ดูแลพระโอรส และนักเรียนไทยในยุโรป
โดยดำรงพระยศพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์
เอกอัครราชทูตพิเศษไทยประจำอังกฤษและยุโรป
(ระหว่าง พ.ศ.2434-2445)
ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชสมัยของพระนางวิคตอเรีย

แม้ว่า พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ จะเป็นผู้สำเร็จการศึกษา
จากสถาบันภายในประเทศ
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นผลผลิตของสังคมไทย
ในช่วงก่อนที่จะมีการเปิดประเทศรับเอาวิทยาการ
จากตะวันตกอย่างเอิกเกริกในเวลาต่อมา
แต่ด้วยเหตุที่ได้เดินทางไปเป็นพระอภิบาล
และผู้ดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษอยู่หลายปี
ทำให้ความคิดของพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์
ก้าวหน้ากว่านักการศึกษาและ
ระบบราชการไทยในขณะนั้นอยู่ไม่น้อย

ท่านได้ชักชวนผู้คนให้มาเรียนหนังสือพร้อมกับข้อความ
"It is always safe to learn"
บ่งบอกนัยของยุคสมัยดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

เมื่อ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการแล้ว
ท่านก็ได้เรียบเรียงหนังสือ "สมบัติของผู้ดี" ขึ้นใน พ.ศ.2455
โดยผสมผสานแนวทางสัปปุริสธรรมของพระพุทธศาสนา
เข้ากับลักษณะของ English gentlemanเข้าไว้ด้วยกัน

คุณสมบัติของผู้ดีในหนังสือสมบัติผู้ดีได้อธิบายไว้ใน 10 ภาค
แต่ละภาคครอบคลุมทั้งกายจริยา วจีจริยาและมโนจริยา
ซึ่งมีความหมายดังนี้

กายจริยา หมายถึง ทำดี เช่น เดินดี ยืนดี นั่งดี นอนดี

วจีจริยา หมายถึง การพูดจาให้เรียบร้อย

มโน จริยา หมายถึง การคิดนึกในทางดี
(คำอธิบายนี้อ้างจากข้อเขียนของ ม.ล.ป้อง มาลากุล บุตรชายคนที่ 5
ของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ในหนังสือสมบัติของผู้ดี
ที่ทางการวิชาการกระทรวงศึกษาธิการพิมพ์ขึ้นใน พ.ศ.2527)

ใน 10 ภาคของหนังสือสมบัติของผู้ดีสามารถสรุปย่อได้ดังนี้คือ

1.ผู้ดีย่อมรักษาความเรียบร้อย ไม่ใช่กิริยาอันกล้ำกรายบุคคล
ไม่สอดสวนวาจาหรือแย่งชิงพูด ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านกำเริบหยิ่งยโส

2. ผู้ดีย่อมไม่ทำอุจาดลามก ใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวอันสะอาดเรียบร้อย
ไม่กล่าวถึงสิ่งโสโครกพึงรังเกียจในท่ามกลางชุมชน พึงใจที่จะรักษาความสะอาด

3. ผู้ดีย่อมมีสัมมาคารวะ ย่อมนั่งด้วยกิริยาสุภาพโดยเฉพาะหน้าผู้มีบรรดาศักดิ์
ไม่พูดจาล้อเลียนผู้ใหญ่ เคารพยำเกรงบิดามารดาและอาจารย์
นับถือและอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ มีความอ่อนหวานต่อผู้น้อย

4.ผู้ดีย่อม มีกิริยาเป็นที่รัก ไม่ทำกิริยารื่นเริงเมื่อเขามีความทุกข์
ไม่เที่ยวติเตียนสิ่งของที่เขาตั้งแต่งวางไว้ในบ้านที่ตนไปสู่
ย่อมไม่พูดให้เพื่อนเก้อกระดาก
ไม่เคาะแคะสตรีกลางที่ประชุมและย่อมรู้จักเกรงใจคน

5.ผู้ดีย่อมเป็น ผู้สง่า มีกิริยาผึ่งผายองอาจ จะยืนนั่งอยู่ในลำดับอันสมควร
พูดจาฉะฉานชัดถ้อยความ มีความรู้จักงามรู้จักดี
มีอัชฌาสัยอันกว้างขวางเข้าไหนเข้าได้มีอัชฌาสัยเป็นนักเลง
ใครจะพูดหรือเล่นอันใดก็เข้าใจและต่อติด

6.ผู้ดีย่อมปฏิบัติการงานดี ทำการอยู่ในระเบียบแบบแผน
ไม่ละเลยที่จะตอบจดหมาย พูดสิ่งใดย่อมเป็นที่น่าเชื่อถือได้
เป็นผู้รักษาความเป็นผู้รักษาความสัตย์ ไม่เป็นผู้เกียจคร้าน

7. ผู้ดีย่อมเป็นผู้ใจดี เมื่อเห็นเหตุร้ายหรืออันตรายจะมีแก่ผู้ใดต้องรีบช่วย
ไม่เยาะเย้ยถากถางผู้กระทำความผิด ไม่ใช้วาจาอันข่ม
ใช้วาจาอันข่มขี่ ไม่มีใจอันโหดเหี้ยมเกรี้ยวกราดแก่ผู้น้อย
เอาใจโอบอ้อมอารีแก่ผู้อื่น

8. ผู้ดีย่อมไม่เห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว เป็นผู้ใหญ่จะไปมาลุกนั่ง
ย่อมไว้ช่วงให้ผู้น้อยมีโอกาสบ้าง ไม่ขอแยกผู้หนึ่งมาจากผู้ใดเพื่อพา
ไปพูดจาความลับกัน ไม่มีใจมักได้
ไม่พึงใจหยิบยืมข้าวของเงินทองซึ่งกันและกัน

9.ผู้ดีย่อมรักษาความ สุจริตซื่อตรง ไม่ละลาบละล้วงเข้าห้องเรือนแขก
ก่อนเจ้าของบ้านเขาเชิญ ไม่ซอกแซกไต่ถามธุระส่วนตัว
หรือการในบ้านของเขา เป็นผู้รักษาความไว้วางใจของผู้อื่น

10.ผู้ดีย่อมไม่ประพฤติชั่ว ไม่เป็นพาลเที่ยวเกะกะระรั้วและกระทำร้ายตน
ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เจ็บอายเพื่อความสนุกยินดีของตน
ไม่เป็นพาลทะเลาะวิวาท ไม่เป็นผู้สอพลอ ประจบ ประแจง
ไม่นินทาว่าร้ายกันและกัน ไม่ปองร้ายผู้อื่น มีความเหนี่ยวรั้งใจตนเอง
เป็นผู้มีความละอายแก่บาป

เมื่ออ่านสรุป ของ "สมบัติของผู้ดี" แล้วลองพิจารณาสัปปุริสธรรม
ซึ่งเป็นธรรมของสัตบุรุษซึ่งก็เทียบได้กับ
สุภาพบุรุษ (gentleman) หรือผู้ดีอังกฤษนั่นเอง

สัปปุริสธรรมคือธรรมของ สัตบุรุษมี 7 อย่างคือ
คนดีต้องมีคุณสมบัติ 7 อย่างคือ
เป็นผู้รู้จักเหตุ, รู้จักผล, รู้จักตัวเอง, รู้จักประมาณ, รู้จักจังหวะเวลาที่เหมาะสม,
รู้จักประชุมชนคือทำตัวให้เหมาะสมกับชุมชนที่อยู่ด้วย, รู้จักเลือกคนที่จะคบหา

เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่าสมบัติผู้ดีของ เจ้าพระยาพระเสด็จฯ
น่าจะได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาเป็นหลักเพียงแต่ปรับให้เข้ากับสมัยนิยม
ที่นิยมความเป็นสุภาพบุรุษอังกฤษแต่มีสิ่งที่น่าสนใจและน่าสังเกต
คือสมบัติ ของผู้ดีภาค 5 ดังที่
คัดลอกมาทั้งหมดจากหนังสือสมบัติของผู้ดีดังนี้

ภาค ห้า ผู้ดี ย่อมเป็นผู้มีสง่า, กาย จริยา คือ
(1) ย่อมมีกิริยาอันผึ่งผายองอาจ
(2) จะยืนนั่งย่อมอยู่ในลำดับอันสมควร ไม่เป็นผู้แอบหลังคนหรือหลีกเข้ามุม
(3) ย่อมไม่เป็นผู้สะทกสะท้าน งกเงิ่นหยุดๆ ยั้งๆ

วจี จริยา คือ (1) ย่อมพูดจาฉะฉานชัดถ้อยความไม่อุบอิบอ้อมแอ้ม

มโน จริยา คือ
(1) ย่อมมีความรู้จักงามรู้จักดี
(2) ย่อมมีอัชฌาสัยอันกว้างขวาง เข้าไหนเข้าได้
(3) ย่อมมีอัชฌาสัยเป็นนักเลง ใครจะพูดหรือเล่นอันใดก็เข้าใจและต่อติด
(4) ย่อมมีความเข้าใจว่องไวไหวพริบ รู้เท่าถึงการณ์
(5) ย่อมมีใจอันองอาจกล้าหาญ

ความสง่าในภาษาอังกฤษคือ Dignify ส่วนอัชฌาสัย
คือ นิสัยใจคอ ส่วนนักเลงคือผู้ใฝ่ในการใดการหนึ่ง
และเป็นคนมีน้ำใจกว้างขวางไม่เห็นแก่ตัว
ดังนั้นผู้ดีนั้นต้องเป็นคนผึ่งผายมีเชาวน์ไหวพริบดี
เข้าไหนเข้าได้เป็นคน เฮฮา ไม่เชย ไม่ล้าสมัย

ที่ว่าน่าสนใจก็เพราะว่าช่วงที่เจ้าพระยาพระ เสด็จฯ
เขียน "สมบัติผู้ดี" นั้นเป็นสมัยของพระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่เจ็ด
เป็นกษัตริย์อังกฤษซึ่งลักษณะของ
พระองค์เป็นผู้ที่สง่าและมีอัชฌาสัยอันกว้างขวางร่าเริงและเป็นนักเลงนั้น

ตรงกันข้ามกับพระราชมารดาที่ทรงไว้ตัวและ
โศกเศร้าด้วยการฉลองพระองค์สีดำช่วง 40 ปี
หลังของรัชกาลของพระองค์ในความเห็นของผู้เขียน
สรุปว่าผู้ดีคือสัตบุรุษที่ ผึ่งผายมีเชาวน์ไหวพริบดี
เข้าไหนเข้าได้ เป็นคนเฮฮา ไม่เชย ไม่ล้าสมัย


หน้า 6