Custom Search

Aug 14, 2009

อายุยืน

ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฟื้นฟู ส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม
และอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์)
พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๕๓๓

ผู้เขียน: ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์

7 11/1979

“ออกกำลังวันละนิดจิตแจ่มใส ถ้าไม่อยากหัวใจวาย ต้องออกกำลังกายทุกวัน”


คนธรรมดาทุกคนอยากอายุยืน แม้ผู้ที่ยืนอยู่ในความทุกข์พวกนี้
มีความหวังว่าถ้าอยู่นานๆไปอาจจะเปลี่ยนแปลงสภาพนั้นๆ ได้
ส่วนพวกที่อยู่ในความสบายก็อยากจะเสวยสุขอยู่ต่อไปอีกนานๆ


คนส่วนมาก คิดว่าอายุของใครจะยืนยาวเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับ
โชคหรือดวงชะตาหรือกุศล อกุศลกรรมแต่เก่าก่อน
มีส่วนน้อยที่เข้าใจว่าบุญกรรมที่เราทำในปัจจุบัน ก็มีส่วนให้
อายุยืนหรืออายุสั้นด้วย กฎแห่งกรรมที่แสดงว่า
“กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เป็นไป”
ทำให้เข้าใจว่ากรรมของบุคคล
ย่อมทำให้ผู้นั้นตายเร็วหรือตายช้าได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยมีพระดำรัสกับพระอานนท์ว่า
คนเราอาจมีอายุยืนถึงหนึ่งกัป (หนึ่งร้อยปี) ได้
โดยการเจริญอิทธิบาทภาวนา นี่หมายความว่า
เราอาจทำตัวเองให้มีอายุยืนถึงร้อยปี
ผู้ที่อยากอายุยืนจึงสมควรจะสนใจพุทธภาษิตข้อนี้


อิทธิบาทเป็นกุญแจ
ของความสำเร็จ
ประกอบด้วยฉันทะความพอใจ วิริยะความพากเพียร
จิตตะความเอาใจใส่ และวิมังสาความครุ่นคิด
อิทธิบาทที่จะช่วยให้อายุยืนก็ต้องประกอบด้วยความพอใจ
หรือปรารถนาที่จะมีอายุยืน ความเพียรพยายาม
ในการที่จะทำตนเองให้ อายุยืน ความเอาใจใส่สอดส่องในเรื่อง
ที่จะช่วยให้อายุยืน และความใคร่ครวญครุ่นคิดในเรื่องอายุยืน
พูดง่ายๆ ว่าทำอะไรๆ ก็ต้องนึก
และพยายามในเรื่องที่จะช่วยให้อายุยืนอยู่เสมอ


พระพุทธภาษิตอีกข้อ หนึ่งแสดงว่า ผู้ฆ่าสัตว์มักย่อมมีอายุสั้น
โดยมากเข้าใจกันว่าผลของบาปกรรมนี้จะปรากฏต่อในชาติหน้า
หรือชาติต่อๆไป แต่ถ้าคำนึงตามเหตุผลก็จะเห็นว่า
ผลอาจปรากฏในชาตินี้ก็ได้ เพราะการฆ่าเป็นกรรมหนัก
ย่อมส่งผลแรงและเร็ว ยิ่งฆ่าคนก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก
อาจส่งผลให้ถูกประหารโดยกฎหมายหรือโดยอาฆาตในชาตินี้เอง
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้อายุสั้น
ก็คือ การงดเว้นจากฆ่าสัตว์ ในอีกทางหนึ่งการให้ชีวิตแก่สัตว์
เช่น ช่วยให้พ้นจากการถูกฆ่าหรือจากการฆ่า
ถ้ากระทำมากๆ และเสมอๆ ก็อาจจะช่วยให้อายุยืนได้
ดังนั้นผู้ที่เชื่อในข้อนี้ จึงพยายามประกอบกุศลกรรม
เช่น โดยการปล่อยสัตว์ที่กำลังจะถูกฆ่า
หรือช่วยต่อชีวิตให้คนที่กำลังจะตายเช่น
โดยการบริจาคเลือด การปฏิบัตินี้จะได้ผลหรือไม่เพียงใ
ยากแก่การที่จะพิสูจน์ แต่ปรากฏให้เห็นบ่อยๆ ว่า
พวกนักบริจาคโลหิต มักจะมีร่างกายแข็งแรงขึ้น
และสุขภาพดีขึ้นกว่าเดิม


ถ้าคิดคำนึง ตามแนวเดียวกันที่ผ่านมานี้ก็อาจจะเห็นว่า
การผิดศีลข้ออื่นๆ ในศีลห้า จะเป็นด้วยการลักทรัพย์
การผิดลูกผิดเมียผู้อื่น การพูดปด หรือแม้การดื่มสุราก็ตาม
ถ้ากระทำบ่อยๆ และหนักๆ ก็อาจจะส่งผลให้อายุสั้นได้ทั้งนั้น
ดังนั้นน่าจะถือเอาได้ว่าใครอยากอายุยืนควร
จะถือศีลห้าเป็นนิจศีล พูดง่ายๆ ว่า การถือศีลห้าช่วยให้อายุยืน


คิดตามหลักวิชาแพทย์ ผู้ที่จะอายุยืนจะต้องมีสุขภาพดี
ต้องไม่มีโรคร้ายประจำตัว และต้องรู้จักรักษาตัว
สุขภาพดีอาจมีมาตั้งแต่ดั้งเดิมหรือตั้งแต่เกิด
แปลว่าเป็นผลของกรรมเก่า
ในบางกรณีสุขภาพแต่เดิมอาจจะไม่ดี
แต่ดีขึ้นด้วยการบริหารร่างกายอย่างนี้เป็นกรรมปัจจุบัน
โรคร้ายบางอย่างเป็นกรรมพันธุ์ นี่เป็นกรรมเก่า
บางทีกรรมปัจจุบัน คือ การไปหาแพทย์ให้รักษา
อาจจะช่วยยับยั้งผลของกรรมนั้นๆ ได้ บางทีก็ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม มีแนวปฏิบัติตนอยู่ซึ่งอาจจะส่งผลเป็นความมีอายุยืน
ดังจะขยายความต่อไปนี้


การปฏิบัติทางกาย
หรือกายกรรมประกอบด้วยการกิน
การบริหารกาย และการพักผ่อน การกินต้องกินอาหารที่ดีและงดอาหารที่ไม่ดี
อาหารที่ดี ได้แก่ อาหารสะอาด มีประโยชน์ต่อร่างกาย และเหมาะสมกับวัย
วัยเด็กต้องกินอาหารมากเพราะเด็กๆ คึกคักว่องไววิ่งเต้นมาก
เปลืองพลังงาน แล้วยังต้องสร้างกระดูกและเลือดเนื้อเพื่อการเติบโตอีก
เด็กๆ จึงต้องกินมากและกินอาหารทุกๆ อย่าง
ส่วนผู้ใหญ่นั้นการเติบโตก็สุดสิ้นแล้ว การกระโดดโลดเต้นก็มีน้อย
ความต้องการอาหารจึงลดลง นอกจากนั้นเมื่ออายุเข้าวัยกลางคน
อาหารประเภทมันมากและหวานจัดกลายเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเหมาะ
จำต้องกินให้น้อยลงเพื่อป้องกันเหตุ แทรกซ้อนบางประการ


การบริหารกาย
ได้แก่ การเคลื่อนไหวให้พอเพียง
กับความต้องการของธรรมชาติ อาจจะเป็นการประกอบอาชีพที่ใช้กำลังกาย
การเล่นกีฬา หรือการออกกำลังกายโดยวิธีหนึ่งวิธีใดก็ได้
ข้อสำคัญต้องให้มีการเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ในวันหนึ่งๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดินและวิ่งเพื่อให้รู้สึกเหนื่อยบ้าง
นอกจากนี้การรักษาความสะอาดก็เป็นส่วนประกอบอีกประการหนึ่ง


การพักผ่อน
ได้แก่ การนอน และการหยุดประกอบกิจการ
หรือการออกกำลังกาย เรื่องนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า
การกินอาหารเท่าใดนัก เนื่องด้วย เป็นโอกาส
ที่ร่างกายจะฟื้นสภาพจากความเหน็ดเหนื่อยและซ่อมแซม
ส่วนที่บุบ สลาย หรือ สึกหรอให้กลับคืนเป็นปกติ


กล่าวได้ว่า การปฏิบัติทางกายนี้ ประกอบด้วยการสร้าง
การฝึกฝนและการอนุรักษ์ ทุกๆ อย่างเป็นองค์ประกอบที่จำเป็น
หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปร่างกายจะไม่อาจดำรงสภาพปกติไว้
ปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปนานๆ ก็จะเกิดความเสื่อมโทรม
ซึ่งนำไปสู่ความเจ็บไข้และความมีอายุสั้นในที่สุด

การปฏิบัติทางใจ
ได้แก่ การรักษาให้ใจสงบ เรื่องนี้เป็นข้อที่ยากที่สุด
เนื่องจากต้องฝืนธรรมชาติของใจ
ใจของมนุษย์และสัตว์คอยแต่จะโลดแล่นไปมา
จับนี่ทิ้งนั้นหรือจับนั่นทิ้งนี่อยู่ตลอดเวลา
อาการเช่นนี้ทำให้ใจไม่อยู่สุข ไม่ได้พักผ่อน
ต้องอ่อนกำลังลงและไม่สามารถจะจดจ่ออยู่กับ
เรื่องหนึ่งเรื่องใดได้เป็นเวลานานๆ ใจที่เป็นอย่างนี้ย่อมมีประสิทธิภาพต่ำ
แล้วก็ทำให้กายตกต่ำไปด้วย ทั้งนี้เพราะ จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว
เมื่อนายโลเลสั่งการอย่างโน่นทีอย่างนี้ทีบ่าวก็ไม่ได้พักและพลอยเสื่อม
สมรรถภาพไปด้วย การทำให้ใจสงบ เช่น
โดยวิธีทำสมาธิตามแนวของพระพุทธศาสนา
นอกจากนำให้ใจสงบระงับได้ดี
ยังช่วยให้กายสดชื่นและแข็งแรงไปด้วย


การปฏิบัติเพื่ออายุยืนจะต้องกระทำทั้งทางกายและทางใจ
เพราะกายและใจนั้นเกี่ยวโยงกันและต่างอาศัยซึ่งกันและกัน


ถ้าหากไม่มีอุบัติเหตุ เช่น
โรคร้ายที่รักษาไม่ได้หรือภยันตรายที่หลบเลี่ยงไม่ได้
ผู้ที่รู้จักอบรมคือฝึก กายและใจอย่างถูกต้อง
อาจจะมีอายุยืนถึงร้อยปีก็ได้
อย่างนี้มิใช่เป็นการสุดวิสัย