Custom Search

Aug 24, 2009

ชุมชนหนองราชวัตร ร่วมพิทักษ์ โครงกระดูกมนุษย์ 4,000 ปี

ยุวดี วัชรางกูร
กรุงเทพธุรกิจ
6 สิงหาคม 52
งานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ไม่ใช่ภารกิจของกรมศิลปากรเพียงฝ่ายเดียว ชุมชนท้องถิ่น
ทั้งภาครัฐและเอกชน
ล้วนมีส่วนร่วมในการค้นคว้าและสืบทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เพื่อเผยแพร่ต่อคนรุ่นหลัง

ด้วยความร่วมมือนี้เอง ทำให้โครงการสร้างเครือข่ายท้องถิ่นในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่กรมศิลปากรผลักดัน เริ่มปรากฏผลเด่นชัดขึ้นในหลายท้องที่ ภายใต้การขับเคลื่อนของสำนักศิลปากรทั่วภูมิภาค

ความฝันของเด็กน้อย

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร นำผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมพื้นที่การทำงานขุดค้นแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี และเปิดตัวศูนย์การเรียนรู้ชุมชน บริเวณใกล้เคียงกัน โดยมีปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองราชวัตร คณะนักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี และผู้แทนจาก บริษัทปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม ร่วมเป็นเจ้าภาพกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครงการคือการปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ให้เรียนรู้วิธี การทำงานขุดค้นภาคสนามและศึกษาข้อมูลทางวิชาการเพื่อพัฒนาตนเองเป็น มัคคุเทศก์น้อย ทำหน้าที่นำชมและให้ข้อมูลแก่คณะผู้เยี่ยมชมทั้งในห้องแสดงนิทรรศการภายใน ศูนย์การเรียนรู้ และบริเวณหลุมขุดค้นจริง

น้องติว -ด.ญ.สุภารัตน์ กลิ่นธูป วัย 10 ขวบ นักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 โรงเรียนวัดหนองไซ เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการนี้ น้องติวเคยทำหน้าที่นำชมประมาณ 4-5 ครั้ง และครั้งนี้ได้รับเกียรตินำอธิบดีกรมศิลปากรชมนิทรรศการ โดยมีเพื่อนต่างวัยร่วมแบ่งปันความรู้ด้วย ความสามารถในการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของโบราณวัตถุแต่ละชิ้นแสดง ศักยภาพที่ไม่ใช่เพียงแค่การท่องจำ สร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนทั่วหน้า

น้องติวเล่าว่าตนเองมีโอกาสเรียนรู้การทำงานของนักโบราณคดี ทั้งการขุดค้นจริงและการศึกษาข้อมูลวิชาการ นอกจากตนเองแล้ว ยังมีเพื่อนร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 20 คน ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 5 ถึงมัธยมปีที่ 3

การอบรมมัคคุเทศก์น้อยใช้เวลา 4 วัน วันแรกให้ข้อมูลความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี วันที่สองฝึกทำทะเบียนโบราณวัตถุภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ วันที่สามและสี่ฝึกปฏิบัติการในหลุมขุดค้น

"ปี 2546 พี่ๆ เขาเริ่มขุดหนึ่งหลุม พบโครงกระดูก 2 โครง พอมาปี 2550-2552 ขุดอีกสองหลุมหลุมใหญ่เจอโครงกระดูก 24 โครงค่ะ พี่ๆ สอนพวกหนูให้รู้จักวิธีการขุดค้น ได้ช่วยพี่ๆ ทำงานเล็กๆ น้อยๆ รู้สึกภูมิใจมากค่ะ แล้วหนูก็ไม่กลัวผีด้วย" เด็กน้อยเล่าเสียงใส ครั้นถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร น้องติวตอบชัดถ้อยชัดคำว่า

"อยากเป็นนักกรมศิลปากรเหมือนพี่ๆ ค่ะ" คำตอบใสซื่อนี้เรียกรอยยิ้มจากคนฟังได้โดยรอบ

เผยสูตร "เข้าใจ-ปฏิบัติ-คุณภาพ"

หลังการเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อธิบดีเกรียงไกร เปิดเผยถึงนโยบายในการสร้างกระบวนการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นว่า เริ่มที่ความเข้าใจ กระบวนการปฏิบัติ และการสร้างคุณภาพมาตรฐาน

"เบื้องต้นผมอยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าว่ามรดกเหล่านี้เป็นมรดกชาติและท้องถิ่นทั้งในแง่จิตใจคือคนในท้องถิ่นเกิดความภาคภูมิใจ เกิดสำนึกในความเป็นเจ้าของร่วมกัน ในแง่ภูมิปัญญาคือเกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับโบราณวัตถุในท้องที่ ถ้าสามารถทำให้ประชาชนเข้าใจคุณค่าเหล่านี้ เขาจะรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์"

ส่วนในแง่กระบวนการปฏิบัตินั้น อธิบดีเกรียงไกรเสนอว่าทุกท้องที่ควรร่วมแรงกันตามบทบาทที่พึงเป็น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล โรงเรียน วัด ชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนสามารถนำข้อมูลวิชาการจากการทำงานโบราณคดีของกรม ศิลปากร ไปบรรจุในหลักสูตรท้องถิ่นได้

"ประการสุดท้าย เราต้องการนำข้อมูลเรื่องคุณภาพมาตรฐานของกระบวนการทั้งหมดมาเผยแพร่ให้ทุกๆ ท้องถิ่น เพื่อจะได้มีความรู้และใช้ความรู้ได้เท่าๆ กัน นี่เป็นแนวคิดที่ผมมอบให้สำนักศิลปากรทั่วประเทศพิจารณาเลือกทำโครงการมา จนถึงตอนนี้เราเห็นศักภาพของแต่ละชุมชนชัดขึ้น"

นอกเหนือจากการสร้างองค์ความรู้ในงานอนุรักษ์ อธิบดีเกรียงไกรยังมองว่าสามารถพัฒนาท้องถิ่นนั้นๆ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในระยะยาว สามารถสนับสนุนให้ชาวบ้านสร้างผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นหรือของที่ระลึกบนพื้นฐาน ข้อมูลในแต่ละพื้นที่

"เช่นที่หนองราชวัตรนี้อาจทำเครื่องปั้นดินเผาทรงหม้อสามขาก็ได้ คือรายละเอียดพวกนี้เป็นเรื่องที่คนในชุมชนต้องช่วยกันคิด กรมศิลปากรมีหน้าที่แค่ส่งเสริมให้คิด และสนับสนุนข้อมูลวิชาการ"

ในอนาคตเมื่อชุมชนแต่ละแห่งสามารถสร้างศักยภาพของตนเองได้ระดับหนึ่ง กรมศิลปากรจะสนับสนุนโครงการต่อยอดองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชน เช่น การสร้างเว็บไซต์ข้อมูลทางวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น จัดทำเอกสารเผยแพร่ เป็นต้น

ต่อข้อถามที่ว่าชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิในการเก็บรักษาและดูแลโบราณวัตถุ ที่พบในท้องถิ่นได้หรือไม่ อธิบดีเกรียงไกรกล่าวว่าแม้กฎหมายจะระบุให้เก็บรักษาโบราณวัตถุไว้ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่กฎหมายก็เปิดช่องไว้ว่าชุมชนแต่ละแห่งสามารถทำหนังสือถึงกรมศิลปากร ขอยืมโบราณวัตถุในพื้นที่มาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้ท้อง ถิ่นเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอธิบดีกรมศิลปากร

"ชุมชนสามารถทำเรื่องขอยืมโบราณวัตถุสำหรับจัดแสดงในท้องถิ่นได้ปีต่อปี และต้องแสดงให้เห็นว่ามีระบบรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม กรมศิลปากรก็จะพิจารณาอนุญาต" อธิบดีเกรียงไกร กล่าวย้ำ

ผ้าป่าเพื่องานโบราณคดี

ภายหลังการค้นพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 4,000 ปี ที่บ้านหนองเปล้า หมู่ที่ 5 ต.หนองราชวัตร ตั้งแต่ พ.ศ.2546 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นเบื้องต้น พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ เครื่องมือหิน เครื่องประดับที่ทำด้วยหิน ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "หม้อสามขา" จนเป็นข่าวเผยแพร่ไปทั่ว

จากนั้น ชุมชนหนองราชวัตรจึงเกิดความสนใจและต้องการมีส่วนร่วมในงานอนุรักษ์นี้ โดยร่วมกับกรมศิลปากรเป็นเจ้าภาพจัดผ้าป่าสามัคคีเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2550 และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 เพื่อระดมทุนจัดซื้อที่ดินในแถบใกล้เคียงกันเพื่อขยายการขุดค้น เจ้าของที่ดินนาม วิมล อุบล ชาวหนองราชวัตร ยินดีขายให้ในราคามิตรภาพ ไร่ละ 70,000 บาท จำนวน 7 ไร่ 1 งาน เงินที่เหลือสมทบ "กองทุนแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร" สำหรับกิจการต่อๆ ไป ทั้งนี้ชุมชนหนองราชวัตรได้ตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นรับผิดชอบกองทุนดังกล่าว

สุภมาศ ดวงสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี เล่าว่าภาชนะดินเผาหม้อสามขานี้เคยมีรายงานการค้นพบจากแหล่งโบราณคดีบ้าน เก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี แหล่งโบราณคดีถ้ำเบื้องแบบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี รวมทั้งแหล่งโบราณคดีอื่นๆ อีกหลายแห่งในพื้นที่คาบสมุทรภาคใต้และประเทศมาเลเซีย ทำให้สามารถกำหนดอายุแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรในเบื้องต้นว่าน่าจะอยู่ใน ช่วงยุคหินใหม่ ราว 4,000-3,000 ปี มาแล้ว

อย่างไรก็ตามการขุดค้นให้ข้อมูลว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เคยมีการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีตอย่างน้อย 2 สมัย

สมัย แรกในช่วงหินใหม่ (4,000-3,500 ปีมาแล้ว) โดยใช้พื้นที่ส่วนยอดเนินของแหล่งโบราณคดีเป็นสถานที่ฝังศพ ส่วนบริเวณชายเนินของพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัย สมัยที่สอง (3,500-3000 ปีมาแล้ว) มีการใช้พื้นที่ต่อเนื่องจากสมัยแรก โดยมีการฝังศพและอยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกันทั่วทั้งเนิน

"โครงกระดูกที่พบทำให้รู้ถึงพิธีกรรมการฝังศพ สมัยแรกจะวางศพนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศเหนือเฉียงไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อย มีการฝังเครื่องปั้นดินเผา และเครื่องมือหินร่วมกับศพ เพื่ออุทิศให้กับผู้ตายมากมาย เรายังพบหม้อสามขา ลักษณะขาอ้วนป้อม เป็นภาชนะรูปแบบพิเศษของที่นี่ ในสมัยที่สองรูปแบบการฝังศพคล้ายกับสมัยแรก ต่างกันตรงการหันศีรษะศพจะหันไปทางทิศตะวันตก ส่วนหม้อสามขาที่พบก็มีลักษณะขาหม้อเปลี่ยนไป คือจะเพรียวสูงเป็นรูปกรวย และมีการเจาะรูที่ขา"

การค้นพบหม้อสามขามีนัยสำคัญต่อการศึกษาเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรมไปยัง ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสืบสาวถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของมนุษย์ในอดีต เช่น มาเลเซีย และจีนตอนใต้ (วัฒนธรรมลุงชาน) ซึ่งเป็นชุดโครงการวิจัยชิ้นสำคัญของกรมศิลปากรที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ สำรวจในพื้นที่ทางภาคใต้ของไทย โดยการนำของ ประพิศ พงศ์มาศ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักโบราณคดี

เฉพาะภารกิจการเติมจิ๊กซอว์หม้อสามขาให้สมบูรณ์นับว่าเป็นงานช้างสำหรับ คณะนักวิจัย ซึ่งจำเป็นต้องมีพื้นฐานการสร้างเครือข่ายชุมชนเพื่อการอนุรักษ์มรดกศิลป วัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาคคอยเป็นกองทัพหลัก

ข้อสำคัญก็คือการสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้ตระหนักว่า ศิลปะวัตถุและโบราณวัตถุที่ถูกเคลื่อนออกจากแหล่งถือว่า "ไม่สามารถ" ให้คำตอบได้ในทางวิชาการโบราณคดี การตีความโดยใช้พื้นฐานของประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นตัวนำจากโบราณวัตถุที่ ถูกลักลอบเคลื่อนย้ายจากแหล่งสู่ตลาดการค้าโบราณวัตถุ ย่อมให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและผิดพลาดได้โดยง่าย

ถือเป็นการทำลายทรัพยากรทางวัฒนธรรม และทำลายขุมความรู้ของท้องถิ่นในระยะยาว ไม่ว่าผู้นั้นจะรู้เท่าทันหรือไม่ก็ตาม

**************************

หมายเหตุ - ผู้สนใจรายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร และบทวิเคราะห์แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์แถบภาคกลางต่อภาคตะวันตก สามารถเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง "โบราณคดีของสังคมเกษตรกรรม จากบ้านเก่าถึงหนองราชวัตร" ระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคม 2552 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ