Custom Search

Aug 1, 2009

พระพุทธจริยาวัตร60ปาง ปางอัญเชิญจุติ




คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ

เสฐียรพงษ์ วรรณปก

มติชน

วันที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2552






ดู เหมือนท่านศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยพูดหรือเขียนไว้ในที่ไหนจำไม่ได้แล้ว
(แก่แล้วความจำเสื่อม) ว่า พุทธประวัตินี้แปลกนัก
ผู้เขียนจงใจที่จะเขียนให้เป็น "ธรรมประวัติ" คือ
แทนที่จะทำให้ผู้อ่านอ่านแล้วมีความรู้สึกว่าได้อ่านชีวประวัติบุคคลในประวัติศาสตร์
กลับมีความรู้สึกว่าอ่านประวัติแห่งพระธรรม อะไรทำนองนั้น


แรกๆ ผมก็ไม่เข้าใจที่ท่านศาสตราจารย์พูด (หรือเขียน)
พอพิจารณาไปก็เห็นจริงด้วย ประวัติพระพุทธเจ้าในอดีตทุกพระองค์
รวมถึงในอนาคตอีกหลายสิบหลายร้อยองค์ (ดังในหนังสือ อนาคตวงศ์)
มีข้อเท็จจริงคล้ายกัน เป็นกษัตริย์ออกบวช สาเหตุออกบวชก็เช่นเดียวกัน
ตรัสรู้เรื่องเดียวกัน ประกาศศาสนาในทำนองเดียวกัน
ทุกอย่างมีโครงสร้างอยู่แล้ว เพียงเปลี่ยนบุคคลที่เป็นพระพุทธเจ้ามาสวมเท่านั้น


นี้แลที่ท่านว่าธรรมประวัติ

กล่าว เฉพาะพระพุทธเจ้าของเรา ท่านก็ดำเนินเรื่องมาตั้งแต่กาลก่อน
ยาวไกลทีเดียว เริ่มด้วยแนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ คือ
บุคคลผู้ตั้งปณิธานเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ท่านผู้นี้ได้ตั้งรับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าในอดีตทรงพระนามว่า
ทีปังกร แล้วก็บำเพ็ญบารมี 10 ประการ มาชาติละข้อๆ


บารมีนั้นตามศัพท์แปลว่า "คุณธรรมที่ให้ถึงฝั่ง"
อันหมายถึงคุณธรรมที่ทำให้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณบารมี
ในความหมายนี้ มิใช่ "ที่สุด" แต่เป็น "เครื่องมือให้ถึงที่สุด"
ที่แปลบารมีว่า "ความเต็มเปี่ยม" นั้นหมายความว่า
เมื่อคุณธรรมทั้ง 10 ประการนั้นสมบูรณ์แล้ว
พร้อมที่จะทำให้ผู้บำเพ็ญนั้นบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ


พูดให้สั้น เมื่อบารมีได้รับการบำเพ็ญจนสมบูรณ์ทุกข้อแล้ว
จึงเป็นความเต็มเปี่ยมหรือความพร้อมที่จะได้บรรลุ


บารมี 10 ประการนั้นคือ เนกขัมมะ (ออกจากกาม) เมตตา
(ความรักใคร่ ปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์) วิริยะ (ความพยายาม)
อธิษฐาน (ความตั้งจิตมั่น) ปัญญา (ความรอบรู้) ศีล (การรักษาศีล)
ขันติ (ความอดทน) อุเบกขา (ความวางเฉย)
สัจจะ (ความสัตย์) ทาน (การให้)


บุคคลคนเดียวอันเรียก ว่า พระโพธิสัตว์นี้ จะบำเพ็ญบารมีแต่ละข้อตามลำดับ
พระเตมีย์ใบ้ บำเพ็ญเนกขัมมบารมี
พระสุวรรณสาม บำเพ็ญเมตตาบารมี
พระมหาชนก บำเพ็ญวิริยบารมี
พระเนมิราช บำเพ็ญอธิษฐานบารมี
พระมโหสถ บำเพ็ญปัญญาบารมี
พระภูริทัต บำเพ็ญศีลบารมี
พระจันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี
พระนารทะ บำเพ็ญอุเบกขาบารมี
พระวิธุรบัณฑิต บำเพ็ญสัจจาบารมี
พระเวสสันดร บำเพ็ญทานบารมี


โบราณาจารย์ย่อให้ท่องจำง่ายดังนี้

พระโพธิสัตว์ เต. ช. สุ. เน. ม. ภู. จ. นา. วิ. เว.

นามบารมี เน. วิ. เม. อ. ปัญ. สี. ขัน. อุ. สัจ. ทา.

เวลา ท่องจะท่องไปทางขวางก็ได้ (เต-ช-สุ-เน-ม-ภู-จ-นา-วิ-เว)
หรือจะท่องนามพระโพธิสัตว์คู่กับบารมีก็ได้
(เต-เน-ช-วิ-สุ-เม-เน-อ-ม-ปัญ-ภู-สี-จ-ขัน-นา-อุ-วิ-สัจ-เว-ทา)


เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีทั้ง 10 ครบถ้วนบริบูรณ์แล้วทั้ง 3 ขั้น
จึงจะพร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


บารมี 3 ขั้น คือ (1) บารมี (บารมีระดับธรรมดาๆ ไม่เข้มเท่าใดนัก) (2) อุปบารมี
(บารมีระดับเกือบจะอุกฤษฏ์) และ (3) ปรมัตถบารมี (บารมีระดับอุกฤษฏ์)


ตำราท่านยกตัวอย่างทานทั้ง 3 ขั้นว่า การบริจาคสิ่งของนอกกายให้เป็นทานเรียกว่า
บารมีธรรมดา


การบริจาคอวัยวะร่างกายบางส่วนให้เป็นทาน เรียกว่า อุปบารมี

การบริจาคชีวิตให้เป็นทาน เรียกว่า ปรมัตถบารมี

เมื่อ บารมีครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว พระโพธิสัตว์ก็ไปเกิดเป็น
เทพบนสวรรค์ชั้นดุสิตมีนามคล้ายนามของชั้นนี้ว่า สันดุสิตเทพบุตร
เสวยสุขอันเป็นทิพย์อยู่บนสรวงสวรรค์รอวันเวลาจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า


เมื่อ ได้เวลาอันเหมาะสม ท้าวมหาพรหมและเทพบนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น
มาชุมนุมต่อหน้าสันดุสิตเทพบุตร ทูลอัญเชิญให้จุติลงมาบังเกิดในมนุษย์โลก


สันดุสิตเทพบุตรพิจารณาดู "ปัญจมหาวิโลกนะ"
(การตรวจตราดูอันยิ่งใหญ่ ถึงเงื่อนไข 5 ประการ) คือ


(1) ตรวจดูกาลว่าได้เวลาอันเหมาะสมจริงหรือไม่

(2) ตรวจดูประเทศ ประเทศหรือถิ่นที่จะไปบังเกิดเป็นมัธยมประเทศ
หรือ "จุงกั๋ว" หรือไม่ (แน่ะ เดาะภาษาจีนเสียด้วย)


(3) ตรวจดูตระกูล ว่าตระกูลที่จะไปบังเกิดเป็นตระกูลสูงเช่นกษัตริย์หรือไม่
และกษัตริย์เมืองใด


(4) ตรวจดูมารดา พระมารดาที่จะอุ้มพระอุทรจนมีพระประสูติกาลคือใคร
เหมาะสมหรือไม่


(5) ตรวจดูอายุ อายุขัยที่จะอยู่ในมนุษย์โลกเท่าใด

เมื่อ เห็นว่าเงื่อนไขทั้ง 5 ประการพร้อมแล้ว
สันดุสิตเทพบุตรก็รับอัญเชิญท้าวมหาพรหมและเหล่าเทพยดา
เพื่อมาอุบัติในมนุษย์โลก พระโพธิสัตว์จึงลงมาปฏิสนธิในพระครรภ์
ของพระนางสิริมหามายา พระอัครมเหสีแห่งพระเจ้าสุทโธทนะ
กษัตริย์ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ ณ วันเพ็ญเดือน 8 ปีระกา
ก่อนพุทธศักราช 80 ปี (โหรเขาคำนวณว่าอย่างนั้น)
พุทธประวัติปางนี้เรียกว่า ปางอัญเชิญพระบรมโพธิสัตว์จุติ
นับเป็นปางแรกสุดแล


อาทิตย์หน้าจะมาว่าถึงปางอื่นให้ฟังต่อครับ

หน้า 6