Custom Search

Aug 29, 2009

เติม (สิ่งดีๆ) ให้เต็ม


คอลัมน์ แท็งก์ความคิด
นฤตย์ เสกธีระ
max@matichon.co.th
มติชน
วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ปีนี้... สิ่งต่างๆ รอบตัว ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม
อุดมไปด้วยข่าวร้าย การเมืองขาดเสถียรภาพ
เศรษฐกิจตกต่ำ การจับจ่ายใช้สอยฝืดเคือง
สังคมแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย
เกิดความแตกแยกทางความคิด ร้าวฉาน
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแต่ความรุนแรง
คนไทยฆ่าฟันกันเอง
เรื่องราวที่ปรากฏจึงมีความหดหู่
แต่ในขณะที่ทุกอย่างดูเลวร้าย
กลับปรากฏสิ่งดีๆ ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
นั่นคือ ความหิวกระหายอยากเห็นความสามัคคี
ความหิวกระหายอยากเห็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ความซาบซึ้งถึงคุณค่าของความพอเพียง
และอื่นๆ ที่เป็นคุณงามความดี
ดูอย่างวงการที่เปลี่ยนแปลงชัดแจ้งคือวงการโฆษณา
สองสามปีที่ผ่านพ้น โฆษณาทางโทรทัศน์มีเนื้อหาสาระดีๆ เยอะแยะ
หลายโฆษณามุ่งพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
หลายโฆษณาสะกิดใจ เตือนคนไทยให้รักกัน
หลายโฆษณาแม้จะมีเนื้อหาแบบเดิมๆ
แต่การนำเสนอหันมาใช้วิธีการสร้างสรรค์
โฆษณาพวกนี้ เมื่อได้ดูแล้ว ทำให้รู้สึกได้ถึงความอิ่มเอม
เห็นความดี ทำให้มีความสุข
นอกจากวงการโฆษณาแล้ว
วงการธุรกิจอื่นๆ ก็เริ่มใส่ใจต่อการทำความดี
หลายธุรกิจหันมาใส่ใจต่อกิจกรรมที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม
เติมสิ่งดีๆ ที่สังคมขาด....ให้เต็ม
และเมื่อธุรกิจหันมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น
สังคมก็เริ่มเติมสิ่งที่ธุรกิจขาดแคลนเป็นการตอบแทน
สิ่งที่สังคมมอบให้แก่ธุรกิจก็คือความรู้สึกดีๆ
ที่มีต่อธุรกิจนั้นๆ ครับ
อย่างน้อยที่สุด แทนที่สังคมจะมองว่า
ธุรกิจมีแต่ผลประโยชน์และการกอบโกย
เมื่อสังคมรู้จักนำสิ่งดีๆ ไปเติมเต็มส่วนที่สังคมขาด
ความรู้สึกที่ดีต่อธุรกิจนั้นๆ ย่อมเกิดขึ้น

วันนี้ ผู้คนต้องการสิ่งดีๆ มาเติมใส่ส่วนที่ชีวิตโหยหา
ชีวิตคนไทยโหยหาความรู้ที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ
ชีวิตคนไทยโหยหา "วิธีคิด วิธีทำ" ในเรื่องต่างๆ
ชีวิตคนไทยโหยหาความมั่นใจ และบางชีวิตก็โหยหาความอบอุ่น
ดังนั้น เมื่อใดที่หน่วยงานรัฐ หน่วยงานภาคเอกชน
และหน่วยงานภาคประชาชน สามารถเติมสิ่งดีๆ เหล่านี้ให้แก่ผู้โหยหา
สังคมก็จะตอบรับอย่างเต็มที่ครับ
อย่างงานกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในช่วงปีนี้
ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่มุ่งเติมเต็มสิ่งดีๆ ให้แก่ประชาชนทั้งสิ้น
อย่างวันก่อนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดงาน
"68 ปีอาชีวะไทย ก้าวไกล สู่อนาคต"
เป็นงานเติมเต็มสิ่งดีๆ ให้แก่ชาวอาชีวะ
"อาชีวะ" นั้นคือผู้สร้าง ไม่ใช่ผู้ทำลาย
เติมเต็มสิ่งดีๆ ให้แก่ประชาชนคนทั่วไป
ด้วยการฝึกอบรมอาชีพ
เมื่อแต่ละฝ่ายเติมเต็มสิ่งดีๆ ให้แก่กันและกัน
ผลลัทธ์ที่ตามมาคือ
ประชาชนแห่กันไปร่วมงานจนล้นหลาม
เช่นเดียวกับงาน "มหกรรมอาหารปลอดภัย สู้ภัยเศรษฐกิจ"
ที่สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดขึ้น
งานนี้สถาบันอาหารนำอาหารรับรองคุณภาพ
มาจำหน่ายให้ประชาชนในราคาถูก
คือเอาสิ่งดีๆ มาให้แก่ประชาชนผู้ยังขาด
ถือเป็นการเติมเต็มสิ่งดีๆ ให้แก่สังคม
ในที่สุด สังคมก็ตอบรับ ...ประชาชนแห่กันไปร่วมงานกันคึกคัก
ผู้ประกอบการมีโอกาสได้พิสูจน์คุณภาพ
และความอร่อยของสินค้าอาหาร
ประชาชนมีโอกาสได้ของดีราคาถูก
จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างที่ปรากฏคือการเติมเต็มซึ่งกันและกัน
การเติมเต็มเช่นนี้ ทำให้เกิดเป็นความสุข
ทั้งฝ่ายประชาชน และผู้ประกอบการ ล้วนมีความสุข
สุขที่ฝ่ายหนึ่งนำสิ่งที่ล้นมาเติมสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งขาด
สุขที่ฝ่ายหนึ่งได้รับสิ่งที่ขาดจากคนที่มีสิ่งนั้นล้น
วิธีการเยี่ยงนี้ พวกเราคนธรรมดาๆ ก็ทำได้นะครับ
จำได้ไหมครับว่า พวกเราแต่ละคนมีดีไม่เหมือนกัน
แต่ทุกคนมีดี!
ทีนี้ถ้าคนหนึ่งสามารถนำสิ่งดีๆ ที่ตัวเองมีล้น
ไปเติมให้อีกคนหนึ่งที่เขาขาด
และยอมรับสิ่งที่เราขาด จากคนอีกผู้หนึ่งที่มีสิ่งนั้นล้น
นั่นคือการเติมเต็มสิ่งดีๆ ให้แก่กันและกัน
นั่นคือการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
นั่นคือการผลักดันส่งเสริมกัน
แม้แต่คำตำหนิ หากเป็นการ "ติเพื่อก่อ"
ก็ยังถือเป็นสิ่งดีๆ ที่ควรรับฟัง
เพราะเมื่อฟังแล้วนำมาปรับปรุง ย่อมทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น
เรื่องแบบนี้คงไม่ยากนะครับ แค่เติมสิ่งดีๆ ให้แก่กันและกัน
สวัสดี

หน้า 17