Custom Search

Aug 29, 2009

พระพุทธจริยาวัตร60ปาง ปางผจญมาร



คอลัมน์ รื่ยร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน ภาพ/เรื่อง
วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552 


 หลังจากทรงเลิกทุกรกิริยาและหลังจากศิษย์ทั้งห้าละทิ้งไปแล้ว ทุกอย่างดูเหมือนจะเอื้อให้พระปณิธานของพระองค์บรรลุผลสัมฤทธิ์เร็วขึ้น เพราะพระพลานามัยก็สมบูรณ์ขึ้น และพระองค์ได้อยู่เพียงลำพัง ไม่มีผู้คนรบกวน เช้าวันนั้น (วันที่จะตรัสรู้) พระมหาสัตว์ประทับใต้ต้นไทร สาวใช้ของนายหญิงธิดาของนายบ้านอุรุเวลาเสนานิคมมาเห็นพระองค์แล้วรีบกลับไป รายงานนายหญิงว่าเทพารักษ์ท่านนั่งรอนายหญิงอยู่ นายหญิงที่ว่านี้ ชื่อ สุชาดา เคยบนเทพที่ต้นไทรไว้ว่าถ้าได้แต่งงานกับคนมีตระกูลเสมอกันและมีบุตรชายคน แรก ก็จะแก้บนด้วยข้าวมธุปายาสอย่างดี ครั้นได้แต่งงานกับบุตรเศรษฐี (ว่ากันว่า บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี) ได้ย้ายไปอยู่กับตระกูลสามีแล้วก็ลืมเสีย จนกระทั่งบุตรชายเป็นหนุ่มแล้วจึงนึกได้ จึงได้กลับมาทำพิธีแก้บนที่บ้านเกิด สั่งให้สาวใช้ไปปัดกวาดโคนต้นไทรให้สะอาด ได้ยินสาวใช้รายงานดังนั้นนางก็ดีใจ เอาข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองปิดอย่างดี แล้วก็รีบนำไปยังต้นไทร ไปถึงก็ไม่กล้ามองตรงๆ ยื่นถาดข้าวมธุปายาสให้แล้วก็รีบกลับบ้าน

พระมหาสัตว์เสวยข้าว มธุปายาสนั้นแล้ว ก็ลงไปล้างพระโอษฐ์ที่ลำธารอันมีนามว่า เนรัญชรา ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่าถ้าจะได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณดังปรารถนาก็ให้ปรากฏ นิมิตล่วงหน้าด้วยเถิด แล้วทรงลอยถาดทอง ทันใดนั้นถาดทองก็ไหลทวนกระแสน้ำไประยะหนึ่งแล้วก็จม ตำนานแต่งเพิ่มไปอีกว่า ถาดนั้นจมไปยังนาคพิภพ ไปซ้อนกับถาดอีกสามใบ เสียงถาดกระทบกันดังกริ๊ง ทำให้พญานาคซึ่งหลับอยู่ตื่นขึ้นมาแล้วก็ร้องว่า "อ้อ มาตรัสรู้อีกหนึ่งองค์แล้วหรือ" แล้วก็หลับต่อไป

ข้อความที่ กล่าวมาคงเป็นเพียงภาษาสัญลักษณ์ ต้องการบอกว่า การที่ถาดลอยน้ำ แสดงว่าพระมหาสัตว์จะได้ตรัสรู้ธรรมอันสูงสุด และได้สั่งสอนประชาชนให้รับรู้ตามอย่างกว้างขวาง และธรรมนั้นก็ดี วิถีดำเนินชีวิตที่พระองค์ทรงวางไว้ให้หมู่ชนผู้ปฏิบัติตามพระองค์ในกาลต่อ มาก็ดี เป็นสิ่งที่ "ทวนกระแสโลก" โดยทั่วไป

พญานาคขี้เซาที่หลับ ทั้งกัลป์นั้นเป็นตัวแทนของหมู่สัตว์ที่หลับใหลอยู่ด้วยอำนาจกิเลสนิทรา การตื่นมาเพียงชั่วครู่แล้วหลับต่อไปเท่ากับบอกว่า แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นแล้ว ทรงประกาศสัจธรรมอย่างไม่เห็นแก่เหนื่อยยากพระวรกาย ก็มีเพียงคนจำนวนน้อยที่ได้ปฏิบัติและรู้ตามพระองค์ คงมีอีกมากมายที่ยัง "หลับใหล" อยู่ด้วยอำนาจกิเลสนิทรา อะไรทำนองนั้น ทั้งหมดนี่ก็เดาเอาครับ ผิดถูกอย่างไรขออภัยด้วย

ตกบ่ายพระมหาสัตว์ก็ข้ามน้ำไปยังฝั่งตะวัน ตก (น้ำในแม่น้ำเนรัญชราในช่วงนั้นคงไม่ลึก พอลุยข้ามไปได้) ทรงพบคนตัดหญ้าคนหนึ่งชื่อโสตถิยะ เขาได้ถวายหญ้ากุศะ 8 กำ หญ้ากุศะแปลกันว่า หญ้าคา แต่ดูจริงๆ แล้วไม่ใช่หญ้าคา พระองค์เอาหญ้ากุศะ 8 กำนั้นลาดเป็นที่นั่ง ณ โคนต้นอัสสัตถะ (ต่อมาเรียกว่า ต้นโพธิ์) ประทับผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระปฤษฎางค์พิงต้นอัสสัตถะ ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า "ตราบที่ยังไม่บรรลุสิ่งที่พึงบรรลุได้ ความพยายามของบุรุษ ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ แม้เลือดและเนื้อจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนังและกระดูกก็ตามที เราจะไม่ลุกขึ้นจากอาสนะนี้"

ทรงนั่งสมาธิเข้าฌาณ ใช้ฌาณนั้นเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาแนวดิ่งต่อไป ว่ากันว่าพญามารนาม วสวัตตี ผู้ตามผจญพระมหาสัตว์มาตลอด ตั้งแต่วันเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกผนวช) มาแล้ว คอยหาช่องโอกาสอยู่เสมอ แม้ขณะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา พญามารเธอก็ไปกระซิบบอกให้ปรินิพพานเสียเถอะ พระมหาสัตว์ตรัสว่า ตราบใดที่ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์จะยังไม่ปรินิพพาน มาวันนี้เห็นพระมหาสัตว์ทำท่าว่าจะก้าวล่วงวิสัยของตน จึงเดือดร้อนใจมาก ยกทัพมหึมา มาผจญพระองค์ ฉากนี้ตำราขียนไว้น่ากลัวพิลึก

วสวัตตีชี้นิ้วสั่งพระมหาสัตว์เลยว่า "นี่มันอาสนะของข้า ท่านจงลุกขึ้นเดี๋ยวนี้"

พระมหาสัตว์บอกว่า "หาใช่ของท่านไม่ ของเรา เราเอาหญ้ากุศะที่นายโสตถิยะถวายมาปูเป็นอาสนะนี้"

" ท่านว่าเป็นอาสนะของท่าน ท่านมีพยานไหม" พญามารรุก "แต่ข้ามีพยานนะ ลูกน้องทั้งหมดของข้านี้เป็นพยานได้" แล้วหันไปถามลูกน้องว่า "ใช่ไหมวะ"

"ใช่ครับ เจ้านาย" เสียงลิ่วล้อพญามารร้องตอบ

"เห็นไหม ทั้งหมดเขายืนยันว่าอาสนะนี้เป็นของข้า แล้วท่านเล่า มีพยานไหม" มารรุกฆาต

พระมหาสัตว์ทรงชี้พระดรรชนีลงที่พื้นดิน ตรัสว่า "ขอให้วสุนทราจงเป็นพยาน"

วสุ นทรา เป็นนามหนึ่งของแผ่นดิน ทันใดนั้น แม่พระธรณีก็โผล่ขึ้นจากพื้นดิน บีบมวยผม บันดาลให้กระแสน้ำไหลบ่ามาอย่างแรง ท่วมกองทัพพญามาร พัดพาหายไป ณ บัดดล เป็นอันว่ากองทัพพญามารได้พ่ายแพ้อย่างหมดท่า แถมท้ายตรงนี้หน่อยว่าพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นปางนั่งสมาธิ พระหัตถ์ขวาวางที่พระเพลา ชี้พระดรรชนี (ความจริงทั้งห้านิ้ว) ลงพื้นดิน พระพุทธรูปปางนี้ เรียกว่า ปางมารวิชัย (อ่าน มา-ระ-วิ-ไช) หรือ "ปางผจญมาร" ชาวบ้านเรียกปางสะดุ้งมาร เพราะความเข้าใจผิด

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่ง พระพักตร์ไม่ค่อยสวย ตรัสล้อว่า "องค์นี้ท่าจะสะดุ้งมาร" หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ตอนนั้นเป็นผู้รับผิดชอบดูแลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จำเอาไปเขียนบรรยายพระปางมารวิชัยว่า "ปางสะดุ้งมาร" คนเลยเข้าใจตามนั้น แม้ภายหลังจะแก้ไขแล้วก็ยังมีคนเรียกอย่างนั้นต่อมา

เหตุการณ์ข้าง ต้น เป็นภาษาสัญลักษณ์มากกว่าจะตีความตามตัวอักษร พญามาร เป็นสัญลักษณ์แทนกิเลสที่เป็นหัวหน้า 3 ตัวอันเรียกว่า อกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ ส่วนเสนามารก็ได้แก่กิเลสเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นบริวารของโลภะ โทสะ โมหะนั้น การที่พระมหาสัตว์ผจญมารก็คือ ทรงกำลังต่อสู้กับอำนาจของกิเลสเหล่านี้นั้นเอง

แม่พระธรณี เป็นสัญลักษณ์บารมีทั้ง 10 ที่เคยบำเพ็ญมา การอ้างแม่พระธรณีก็คือทรงอ้างถึงคุณงามความดีที่ทรงบำเพ็ญมาเป็นกำลังใจใน การต่อสู้กับอำนาจของกิเลสนั้นเอง เพราะทรงมีบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาเต็มเปี่ยม พระองค์จึงสามารถเอาชนะอำนาจของกิเลสทั้งปวงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด ดังนี้แล