Custom Search

Aug 5, 2009

มองลึก นึกไกล ใจกว้าง การบริหารชีวิตให้พอดีกับเวลา


ว.วชิรเมธี


สัจธรรมข้อที่หนึ่ง คือ เราจะอยู่ไม่เกิน ๑๐๐ ปี
ต้องรู้ว่าชีวิตแสนสั้นพระพุทธศาสนาบอกว่า
ชีวิตเหมือนหยาดน้ำค้าง เวลาเราตื่นมาตอนเช้าเราเดินจงกลม

จากทิศเหนือไปทิศใต้ในระยะ ๑๐ เมตร

ขณะที่ก้าวแรกเริ่มออกเดินจงกรม เราเห็นหยาดน้ำค้างพราวใส
พอเดินไปแล้ว เดินกลับ
หยาดน้ำค้างสลายตัวไปแล้ว
แค่ชั่วเวลาเดินไปและเดินกลับ
ชีวิตเป็นดั่งหยาดน้ำค้าง
คือมีระยะเวลาแสนสั้น เวลาเราขับรถไปบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์
เราเห็นพยับแดดที่ร้อนระอุเหมือนมหาสมุทรกระจายอยู่เต็มท้องถนน
ขับรถฝ่าเข้าไปมีแต่ความว่างเปล่าคุณคว้าเอาอะไรมาไม่ได้หรอก
มันคือพยับแดด สมบัติต่างๆ มันคือพยับแดดทั้งนั้น
วูบวาบ ชวนให้หวั่นไหว

แต่ไร้ซึ่งตัวตน

บางครั้งพระพุทธองค์ก็ตรัสว่าชีวิตเหมือนฟองของน้ำ
เวลาฝนตกลงมากระทบพื้นดิน
เราจะเห็นฟองของน้ำ แต่เชื่อไหมว่าแป๊บเดียว
ฟองน้ำนั้นก็ดับสลายไป วันเวลาของชีวิตก็สั้นอย่างนั้น

บางครั้งพระพุทธองค์ก็ตรัสว่าชีวิตสั้นเหมือนรอยขีดบนผืนน้ำ
เอาไม้ขีดบนพื้นน้ำ
แต่น้ำกลับรวมเข้าด้วยกันได้โดยเร็ว รอยขีดก็หายไป
ชีวิตมันสั้นขนาดนี้

ท่ามกลางชีวิตที่สั้นขนาดนี้ ถ้าเราไม่บริหารชีวิตให้ดี
ชั่วชีวิตของเราจะหนักไปทางหาเงิน
เราออกบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ และกลับเข้าบ้านตอนสองทุ่มสามทุ่ม
เราทำเพื่ออะไร บางคนตอบแบหรูมาก
ทำเพื่อมนุษยชาติ อาตมาว่ามันไม่ตรง เอาจริงๆ ว่า
ทำเพื่อมนุษยชาติหรือว่าทำเพื่อเงิน ก็ตอบให้ดูดีว่า
บังเอิญว่าเงินมันพ่วงอยู่กับมนุษยชาติ
เหมือนคนอยากได้เชือกไปขโมยเชือกมา แล้วมีควายเดินตามมา
ควายมาจากไหน บังเอิญมันติดเชือกมา

เพราะฉะนั้น วัน เวลาในชีวิตแสนสั้น ถ้าเราบริหารไม่เป็น
ทั้งชีวิตจะทุ่มไปเพื่อรับใช้ความ
ต้องการของเรา ที่เราทำทุกวันนี้ก็คือ
ความต้องการยืนถือธงอยู่ตรงหน้าแล้วให้เราวิ่งเข้าเส้นชัย
พอเราวิ่งตามความต้องการไปเรื่อยๆ ใกล้ถึงเส้นชัย
ปรากฏว่าเส้นชัยนั้นมันย้ายที่ออกไปอีก
เส้นชัยแห่งความต้องการของมนุษย์อุปมาดั่งเส้นขอบฟ้า
มนุษย์ที่ไม่รู้จักเส้นชัยของตัวเองก็คือ
มนุษย์ที่ขับรถไปเพื่อที่จะไปให้ถึงเส้นขอบฟ้า
ขับไปเถอะ ขับอย่างไรก็ไม่ถึง
ฉะนั้น นักเศรษฐศาสตร์จึงรู้ทันว่า

ความต้องการของมนุษย์นั้นไร้ขีดจำกัด

พอรู้จุดอ่อนอย่างนี้
นักเศรษฐศาสตร์แทนที่จะบอกให้มนุษย์รู้จัก
พอกลับส่งต่อให้นักการตลาดยั่วให้อยากและกระตุ้นให้ซื้อ
ถ้าเราจะวิ่งตามความต้องการซึ่งนักการตลาดสร้างขึ้นมาเรื่อยๆชีวิตนี้
จะหมดไปกับการสนองความ
ต้องการทั้งๆ ที่ชีวิตก็แสนสั้น
แต่เราก็เอาไปตอบสนองวัตถุประสงค์เดียว
คือตอบสนองต่อความอยากยิ่งตอบสนองก็ ยิ่งค้นพบถึงความว่างเปล่า

ดังนั้น สัจธรรมชีวิตประการที่หนึ่ง เราต้องตระหนักว่าเราอยู่ไม่ถึงร้อยปี

ชีวิตแสนสั้นดังนั้น ต้องรีบจัดการบริหารชีวิตทันที
ในภาษาบาลีแบ่งช่วงชีวิตออกเป็นช่วงดังนี้คือ
๒๕ ปีแรก ศึกษาหาความรู้
๒๕ ปีที่สอง สร้างเนื้อสร้างตัวให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง
๒๕ ปีที่สาม เพื่อสังคมอุดมสุข
๒๕ ปีสุดท้าย ทำวีซ่าเตรียมไปศึกษาต่อเมืองนอก

คำถามก็คือ มีใครบ้างแบ่งชีวิตเป็นแบบนี้
๒๕ ปีแรก เรียนมาแบบล้มลุกคลุกคลาน อยากได้เกรดดีแต่ขี้เกียจ
เรียนหนังสือจบมาเกรด ๒.๑ เศษๆ คาบเส้น
๒๕ ปีที่สอง ทำงานยังไม่เป็นโล้เป็นพาย ก็แต่งงานกันก้อนเกลือกิน
ถัดมาก็เทน้ำปลาใส่ถ้วยเอาข้าวเหนียวจิ้มน้ำปลากิน

อยู่มาจนจะเกษียณหนี้สินบาน
๒๕ ปีที่สาม ยังไม่ทันทำอะไรให้สังคมเลย เจ็บออดๆ แออๆ
บริจาคร่างกายให้โรงพยาบาล หมอก็ไม่อยากจะรับร่างกายคนขี้โรค
สุดท้าย ยังไม่ทันได้อยู่ถึง ๒๕ ปีสุดท้ายก็ตายเสียก่อนแล้ว

เห็นไหมว่าถ้าเราไม่บริหารจัดการชีวิตให้ดีจะทุกข์เหลือเกิน
นี้คือสัจธรรมที่หนึ่ง
ชีวิตแสนสั้นเราต้องบริหาชีวิตให้ดี

วิธีอยู่กับคนที่เราเกลียด

ว.วชิรเมธี

รู้ไหมว่า เรามีเวลาอยู่ในโลกนี้คนละกี่ปี
ชีวิตนั้นสั้นยิ่งกว่าหยดน้ำค้างเสียอีก
จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า

ถ้าเราใช้เวลาอันแสนสั้นนี้ไปมัว
หลับๆตื่นๆอยู่ในความรัก โลภ โกรธ หลง

หมั่นไส้คนนั้น ปลาบปลื้มคนนี้
ริษยาเจ้านายใส่ไคล้ลูกน้อง

ปกป้องภาพลักษณ์ (อัตตา) กด (หัว)
คนรุ่นใหม่หลงใหลเปลือกของชีวิต
โดยลืมไปเลยว่าอะไรคือสิ่งที่ตนควรทำอย่างแท้จริง
คิดดูเถิดว่า เราจะขาดทุนขนาดไหน

ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ เขียนบทกวีไว้ว่า

''น้ำไหลอายุขัยก็ไหลล่วงใบไม้ร่วงชีพก็ร้างอย่างความฝัน
ฆ่าชีวาคือพร่าค่าคืนวัน จะกำนัลโลกนี้มีงานใด''

คนเราไม่ควรพร่าเวลาอันสูงค่าด้วยการปล่อยตัวปล่อยใจ
ให้ตกเป็นทาสของความชอบ ความชัง มากนัก
เพราะถ้าเราวิ่งตามกิเลส กิเลสก็จะพา
เราวิ่งทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่อไปไม่รู้จบ
กิเลสไม่เคยเหนื่อย แต่ใจคนเราสิ
จะเหนื่อยหนักหนาสาหัสไม่รู้กี่เท่า

ควรคิดเสียใหม่ว่า เราไม่ได้เกิดมา
เพื่อที่จะชอบหรือไม่ชอบใคร
หรือเพื่อที่จะให้ใครมาชอบหรือมาชัง
แต่เราเกิดมาสู่โลกนี้เพื่อทำใน
สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะทำ
เอาเวลาที่รู้สึกแย่ๆ กับคนอื่นนั้น
หันกลับมามองตัวเองดีกว่า
ชีวิตนี้เรามีอะไรบ้างที่เป็นแก่นสาร
มีงานอะไรบ้างที่เราควรทำ
นอกจากนั้นก็ควรมองกว้างออกไปอีกว่า
เราได้ทำอะไรไว้ให้แก่โลกบ้างแล้วหรือยัง

คนทุกคนนั้นต่างก็มีดีมีเสียอยู่ในตัวเอง
ถ้าเราเลือกมองแต่ด้านเสียของเขา
จิตใจของเราก็เร่าร้อน หม่นไหม้

เวลาที่เสียไปเพราะมัวแต่สนใจด้านไม่ดี
ของคนอื่นก็เป็นเวลาที่ถูกใช้ไปอย่างไร้ค่า

บางที่คนที่เราลอบมอง ลอบรู้สึกไม่ดีกับเขานั้น
เขาไม่เคยรู้สึกอะไรไปด้วยกันกับเราเลย
เราเผาตัวเราเองอยู่ฝ่ายเดียว
ด้วยความหงุดหงิด ขัดเคืองและอารมณ์เสีย
วันแล้ววันเล่า สภาพจิตใจแบบนี้
ไม่เคยทำให้ใครมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมาได้เลย

ลองเปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองโลกเสียใหม่ดีกว่า

คิดเสียว่าคนเราไม่มีใครดีพร้อมหรือ
เลวไม่มีที่ติไปเสียทั้งหมดหรอก
เราอยู่ในโลกกันคนละไม่กี่ปี
ประเดี๋ยวเดียวก็จะล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว
มาเสียเวลากับเรื่องไร้สาระทำไม

อะไรที่ควรทำก็รีบทำเถิดปล่อยวางเสียบ้าง
ความโกรธ ความเกลียดนั้น
ไม่มีคุณค่าอะไรต่อชีวิตอันแสนน้อยนิดนี้เลย
มุ่งไปข้างหน้า ไปหาสิ่งที่มีคุณค่าให้ชีวิตดีงามดีกว่า

วิธีที่แนะนำทั้งหมดนั้น นักภาวนาเรียกว่า
''การกลับมาอยู่กับตัวเอง''
กล่าวคือ ถ้าเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอยู่กับคนที่ไม่ถูกโฉลก
แทนที่จะปล่อยใจให้อยู่กับ ความรู้สึกแย่ๆไปตลอด
ก็ควรหันกลับเข้ามา ''มองด้านใน''
แก้ไขที่ตัวเอง อย่ามุ่งแก้ไขที่คนอื่น
เพราะยิ่งพยายามแก้ไขคนอื่น ก็ยิ่งยุ่งเหมือนลิงทอดแห
ยิ่งเราให้ความสำคัญกับคนที่เราเกลียดมากเท่าใด
สภาพจิตใจก็ยิ่งแย่ลงมากเท่านั้น

วิธีที่ดีที่สุดในการอยู่กับคนที่เรารู้สึกไม่ดีหรือเป็นปฏิปักษ์ก็คือ
การดึงความรู้สึกจากเขามาอยู่เราทุกขณะ
หรือถ้าเช่นนั้นก็ย้ายตัวเองออกไปเสียจาก
สภาพแวดล้อมเช่นนั้นให้เร็วที่สุด
อย่าอยู่นานจนทุกข์นั้นกลัดหนองเป็นมะเร็งร้ายในอารมณ์

ปราชญ์จีนบอกว่า
''ถ้ามีขุนเขาขวางท่านอยู่ข้างหน้า
อย่าเสียเวลาย้ายขุนเขา
แต่จงย้ายตัวเอง ''

ดังนั้นเราควรจะย้ายภูเขาที่อยู่ข้างใน
หรือจะย้ายภูเขาที่อยู่ข้างนอก?