เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
ปีที่ 31 ฉบับที่ 11208
หลายท่านมักจะมองเรื่องกรรมเป็น "สูตรสำเร็จ"
ผู้รู้จักคุ้นเคยกันท่านหนึ่งถามว่า คนที่แย่งสามีคนอื่นไป
จะต้องได้รับกรรมคือถูกแย่งสามีหรือไม่การมองแบบนี้
เรียกว่า "แบบสูตรสำเร็จ" คือทำอย่างใด
ก็ต้องได้อย่างนั้นจริงๆ ไม่ผิดเพี้ยน
ฆ่าเขาและฆ่าโดยวิธีใด
ก็จะถูกฆ่าด้วยวิธีนั้นเช่นเดียวกัน
แย่งสามีเขาไป ก็ต้องถูกคนอื่นแย่งสามี
เช่นเดียวกันความจริงผลกรรมที่ทำมันอาจเป็นอย่างนั้นก็ได้
แต่มิใช่ว่าจะเป็นอย่างนั้นทุกกรณี เขาคนที่ทำชั่วนั้นๆ อาจได้รับผลอย่างอื่น
ไม่ตรงเผงอย่างนั้น แต่เป็นผลคล้ายๆ กันยกตัวอย่างเรื่องจริงเรื่องหนึ่ง
นายคนหนึ่งเป็นคนมีอำนาจและมีอิทธิพลมาก ได้ทำกรรมชั่วช้ามากมาย
ทำให้ผู้คนเขาเดือดร้อนมามาก จนผู้คนเขาสาปแช่งว่า
เมื่อใดมันจะวิบัติฉิบหายเสียที แต่เขาก็เจริญร่ำรวย อยู่อย่างอู้ฟู่ อ้าฟ่า
ในสายตาของประชาชนวันดีคืนดี ลูกชายสุดที่รักของเขาก็ถูกรถบรรทุกบี้ตาย
ขณะกลับจากท่องราตรียามดึกคืนหนึ่ง เขามีบุตรชายโทน
หวังจะให้รับมรดกหมื่นล้านแสนล้าน ที่เขากอบโกยเอาไว้
แต่ก็มาเสียลูกรักไปเขาได้รับความทุกข์แสนสาหัส
ความทุกข์เพราะเสียลูกชายสุดที่รักคนเดียวไป
ได้ทรมานจิตใจเขาสิ้นระยะเวลายาวนานอย่างนี้แหละครับที่ว่า
เขาทำอย่างใด ไม่จำเป็นต้องได้รับผลอย่างนั้น
แต่จะได้รับผล "คล้ายๆ กัน" นายคนนี้ข่มเหงรังแกคนมากมาย
ทุจริตคอร์รัปชั่นมามาก เขาไม่จำเป็นจะต้องถูกคนอื่นข่มเหงตอบ
และไม่จำเป็นต้องถูกคนอื่นโกงตอบแต่เขาก็ได้รับผลกรรมที่หนักหนาสาหัส
ไม่แพ้กรรมที่ทำคือ ต้องเสียบุตรชายคนเดียวไปคนแย่งสามีคนอื่นไป
ก็ไม่จำต้องถูกผู้หญิงอีกคนมาแย่งเอาสามีไป
แต่อาจได้รับผลกรรมอย่างอื่นที่ร้ายแรงพอๆ กัน
เช่นทั้งๆ ที่อยู่กินด้วยกันกับสามี (ที่แย่งเขามา)
แต่ก็ไม่มีความสุขอย่างที่คาดหวังไว้เลย มีแต่ความเจ็บช้ำใจ
เพราะสามีตัวดีทำให้ อะไรทำนองนี้นอกจากจะไม่ใช่ "สูตรสำเร็จ" แล้ว
กรรมที่ทำไว้ อาจไม่ให้ผลก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขใหม่ที่เราทำเพิ่มภายหลังด้วย
ที่พูดนี้เป็นฉันใดคืออย่างนี้ครับ ตามหลักกฎแห่งกรรมมีว่า
"หว่านพืชเช่นไรย่อมได้ผลเช่นนั้น ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี
ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว"
ท่านเปรียบการทำกรรมและการรับผลของกรรม
เหมือนการหว่านพืชและการได้ผลแห่งพืชนั้นเช่นสมมุติว่า
เราหว่านหรือเพาะถั่วงา เราก็ย่อมได้ต้นถั่วต้นงา และได้ผลถั่วผลงา
เราจะได้ต้นพริกไทยเป็นต้นหาได้ไม่ พืชชนิดไหน
ก็จะงอกออกมาเป็นต้นไม้ชนิดนั้น และให้ผลชนิดนั้นชนิดของพืชนั้นไม่กลายพันธุ์แน่นอน
แต่ผลที่ได้อาจเต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือได้น้อยลง หรืออาจไม่ได้ผลเลยก็ย่อมเป็นได้
เพราะเงื่อนไขอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องถ้าดูแลดี เอาใจใส่ รดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย ฯลฯ
ก็ย่อมจะได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าปลูกแล้วไม่สนใจดูแล ปล่อยตามมีตามเกิด
ก็อาจได้ผลบ้างแต่ไม่มากเท่าที่ควร หรือปล่อยทิ้งไว้ สัตว์มาเหยียบย่ำ
หรือคนมารื้อทิ้งเสีย ก็อาจไม่ได้ผลเลยก็ได้เรื่องของกรรมที่ทำก็เหมือนกัน
ทันทีที่ทำ แนวโน้มที่มันจะให้ผลย่อมมี ถ้าไม่มีอะไรมาขัดขวาง
มันก็จะให้ผลตามลักษณะของกรรมที่ทำ เพราะเหตุนี้แหละพระท่านจึงว่า
"ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว"
(ให้สังเกตคำว่า "ย่อมได้" ท่านมิได้พูดว่า "ต้องได้")
ท่านจึงเปรียบการให้ผลของกรรมที่ทำเหมือนสุนัขไล่เนื้อกรรมเหมือนสุนัข
คนที่ทำกรรมเหมือนเนื้อ ลองวาดภาพดูเนื้อที่สุนัขไล่ล่าเอาชีวิต
แนวโน้มที่สุนัขมันจะทันนั้นย่อมมีมาก มันทันเมื่อใด มันก็กัดเนื้อเมื่อนั้น
กรรมก็เหมือนกัน มันไล่ตามสนองคนทำกรรมทุกระยะ
เมื่อมัน "ทัน" เมื่อใดมันก็สนองผลเมื่อนั้น
แต่โอกาสที่สุนัขมันไล่ไม่ทันเนื้อก็ย่อมมี สุนัขมันอาจเป็นสุนัขแก่
เรี่ยวแรงถดถอยไล่ไปหอบแฮ่กๆ ไป
ไม่ทันเนื้อหนุ่มที่หนีสุดชีวิตก็เป็นได้ หรือสุนัขมันไล่ไปๆ
เกิดขี้เกียจหยุดไล่เอาดื้อๆ หรือกำลังจะทันอยู่พอดี
เนื้อมันวิ่งหายเข้าไปในหลืบเขาหรือป่าทึบ
สุนัขมองไม่เห็น วิ่งไล่ไปผิดทิศทางก็ได้อย่างนี้แหละเรียกว่า "โอกาส"
หรือ "เงื่อนไข" ใหม่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกรรมที่ทำไว้
(ทั้งกรรมดีและกรรมชั่วนะครับ คนส่วนมากพอพูดถึงกรรม
ก็นึกแต่กรรมชั่วอย่างเดียว)
มีแนวโน้มที่จะสนองผล แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปตามนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์
ย่อมมี "โอกาส" หรือ "เงื่อนไข" ใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วยโอกาส
หรือเงื่อนไข ที่ว่านี้ก็คือ กรรมใหม่ที่เราทำนั้นเอง
สมมุติว่าเราทำกรรมชั่วบางอย่างไว้ เรามีโอกาสทำกรรมดีในเวลาต่อมา
และทำบ่อยๆ ทำมากๆ ด้วย กรรมชั่วที่ทำไว้ก่อนนั้น
มันก็รอจังหวะจะสนองผล ดุจสุนัขกำลังไล่ล่าเนื้อ แต่กรรมดีใหม่ๆ
ที่เราทำไว้ก็มีมาก มันอาจทำให้กรรมเก่านั้นเบาบาง
หรือจางหายไปจนไม่สามารถให้ผลเลยก็ได้หลักวิชาเรื่องกรรมมีว่า
- กรรมบางอย่างทำแล้วให้ผลทันตาเห็น
หรือให้ผลไม่ช้าไม่นานหลังจากทำ
เช่นอาจเป็นเดือนนั้น ปีนั้น
- กรรมบางอย่างไม่ให้ผลทันที แต่จะให้ผลในกาลข้างหน้า
เช่นเดือนหน้า ปีหน้า หรือชาติหน้า
- กรรมบางอย่างให้ผลในโอกาสต่อๆ ไป เช่น เดือนต่อๆ ไป หรือปีต่อๆ ไป
หรือชาติต่อๆ ไป
- กรรมบางอย่างไม่มีโอกาสให้ผลเลย
กลายเป็นอโหสิกรรมไปดูอย่างองคุลีมาลโจรสิครับ
ฆ่าคนมากมายหลายชีวิต แต่ในบั้นปลายแห่งชีวิต
ได้พบพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมบรรลุเป็นพระอรหันต์
กรรมชั่วที่ทำไว้ จ้องจะ "ตะครุบ" อยู่พอดี
แต่ "เงื่อนไขใหม่" ที่แรงกว่า (คือการบรรลุพระอรหันตผล)
มาขัดจังหวะพอดิบพอดี กรรมที่ทำไว้ก็เลยกลายเป็น
"อโหสิกรรม"เจ๊าไปเลย มันเป็นอย่างนั้นเสียล่วย !
ทุกอย่างเป็นอนิจจัง กฎแห่งกรรมก็ตกอยู่ในความเป็นอนิจจัง
เปลี่ยนแปลงได้ และคนที่จะเปลี่ยนก็คือตัวเราเอง
ใครเผลอทำอะไรไม่ดีไว้ ก็ไม่ต้องตกใจรีบสร้างความดี
ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และอื่นๆ อีก
(มีอะไรบ้างจะนำมาเล่าทีหลัง) ทำให้บ่อยๆ ทำให้มากๆ
สิ่งเหล่านี้จะช่วย "สลายพลังกรรมชั่ว" ทีละนิดๆ
จนกระทั่งหมดไปในที่สุด
หน้า 6