Custom Search

Nov 15, 2008

เศรษฐีพันล้านที่ยากจน



เงินต่อเงิน
ผลงานลำดับสามในชุด
“การจัดการการเงินส่วนบุคคล” (personal finance management)
ต่อจาก เงินทองของ (ไม่) หมู และ เงินไหลมา เขียนโดย วรากรณ์ สามโกเศศ
เป็นการรวมเรื่องจำนวน 45 เรื่องที่เคยลงคอลัมน์ “รู้ก่อนรวยกว่า” ในนิตยสาร แพรว
แล้วนำมาจัดระบบการนำเสนอใหม่ โดยแบ่งเป็นห้าภาค ได้แก่
ภาค 1 สุดแต่ใจจะไขว่คว้า
ภาค 2 ออมเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
ภาค 3 ฉลาดใช้อย่างมีสติ
ภาค 4 อย่าปล่อยให้หนี้ลอยนวล
ภาค 5 รู้ไว้ก่อนลงทุน และ
ภาค 6 ด้วยรักและแบ่งปัน
เนื้อหาในหนังสือเป็นการให้ความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับการใช้และรักษาเงินทอง
เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน รวมทั้งแนะวิธีการมีความสุขจากเงินที่หามาได้อย่างยั่งยืน
- หนังสือ a book เงินต่อเงิน


อาหารสมอง
วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชนรายสัปดาห์
วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2551
ปีที่ 28 ฉบับที่ 1444

ก่อนหน้าที่นักอวกาศจะขึ้นบินในโครงการหมุนรอบโลก 20 ปี ก็โทรศัพท์ไปหา
โบรกเกอร์ว่าอยากลงทุนในหุ้นสัก 100,000 บาท
เพื่อที่ว่าเมื่อกลับลงมาจะได้เงินก้อนใหญ่ 20 ปีผ่านไป
ทันทีที่ลงจากยานอวกาศก็โทรศัพท์ไปหาโบรกเกอร์ทันทีถามว่า
หุ้นที่ลงทุนไว้เป็นยังไงบ้าง ก็ได้รับคำตอบว่าตอนนี้มูลค่ามันสูงถึง 3 ล้านบาท
นักอวกาศดีใจมากเพราะต่อนี้ไปจะสบาย
ทันใดนั้นเองโอเปอร์เรเตอร์บอกว่าเวลา 3 นาทีของคุณหมดแล้ว
ถ้าจะพูดต่อกรุณาหยอดเงินอีก 1 ล้านบาทด้วย
ผู้อ่านอาจหัวเราะกับโจ๊กนี้ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่ามันเว่อร์ไปหน่อย
แต่บัดนี้ที่ว่าเว่อร์นั้นได้กลายเป็นเรื่องจริงแสนเศร้าของประเทศ Zimbabwe
ประเทศที่ผู้คนกำลังเดือดร้อนแสนสาหัส ขาดแคลนไปทุกสิ่ง
เงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 100,000 เปอร์เซ็นต์ในปี 2007
Zimbabwe อยู่ในทวีปอาฟริกา ไม่มีทางติดต่อกับทะเล
ล้อมรอบโดย South Africa, Botswana, Zambia และ Mozambique
มีประชากรประมาณ 13 ล้านคน มีพื้นที่ประมาณร้อยละ 80 ของประเทศไทย
เมืองหลวงชื่อ Harare หรือ Salisbury เดิม
ชื่อเดิมของ Zimbabwe ก็คือ Rhodesia ในทศวรรษ 1880
บริษัท British South Africa นำโดย Cecil Rhodes
พยายามผลักดันให้เป็นดินแดนของอังกฤษที่ปกครองโดยคนผิวขาว
ชื่อดั้งเดิมใน ค.ศ.1898 คือ South Rhodesia
Cecil Rhodes ผู้ที่เชื่อศรัทธาอย่างแรงกล้าในความเป็นยอดของคนผิวขาว
และความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรอังกฤษ ทำธุรกิจในเรื่องทรัพย์ในดินและบนดิน
และถูกกล่าวหาว่าค้าทาสด้วย เขาเป็นผู้ให้ Rhodes Scholarship

แก่นักศึกษาผู้มาจากดินแดนที่ขึ้นหรือเคยขึ้นกับอังกฤษ
และจากประเทศเยอรมันนีไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด
ทุนนี้ยิ่งใหญ่มากผู้มีชื่อเสียงในโลกหลายคนเคยได้รับทุน
ประธานาธิบดีคลินตันก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับทุน

ในปี 1965 Ian Smith ผู้นำ Rhodesia
ก็ประกาศแยกประเทศเป็นอิสระจากอังกฤษโดยให้คนขาว
เป็นผู้ปกครองคนดำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
สงครามต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มใต้ดินที่นำโดยคนผิวดำระเบิดขึ้น
ผู้นำที่โดดเด่นคนหนึ่งคือนาย Robert Mugabe
ซึ่งต่อมาก็ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดี
และมีการเปลี่ยนชื่อจาก Zimbabwe เป็น Rhodesia ในปี 1980
Mugabe เป็นคาธอริกที่เคร่งครัด ไม่กินเหล้า

ไม่สูบบุหรี่ เรียนหนังสือได้ถึง 7 ปริญญา
ระหว่างต่อสู้กับผู้นำผิวขาวเคยติดคุกถึง 10 ปี

เขาเป็นฮีโร่ของคนพื้นเมืองจนเป็นผู้นำในปี 1980
และครองอำนาจต่อเนื่องกันมานาน 28 ปี
จากฮีโร่แสนดีก็กลายเป็นปีศาจในที่สุด
และดูเหมือนในปีนี้ที่เขามีอายุ 84 ปี ชีวิตการเมืองของเขา
กำลังจะจบลง
แพ้การเลือกตั้งที่เพิ่งมีไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2551
ที่นับคะแนนกันเสร็จแล้ว แต่ทั้งสองฝ่ายต้องสู้กันอย่างหนักว่าใครเป็นผู้ชนะ
Mugabe เป็นนักสังคมนิยมแบบเรียนรู้ด้วยตนเอง
เริ่มต้นด้วยอุดมการณ์ และจบลงด้วยคอรัปชั่น
ในช่วงวลาครอบครองอำนาจ เขาส่งเสริมการแย่งชิงที่ดิน
ที่มีค่าของคนผิวขาวกลับคืนมาสู่คนผิวดำ
ควบคุมราคาสินค้าอย่างเข้มงวด ไม่มีการลงทุนจากต่างประเทศ
รัฐมีบทบาทในเศรษฐกิจอย่างมาก กฎเกณฑ์ภาครัฐมีมากมายหยุมหยิม ฯลฯ
โดยดำเนินไปอย่างสวนทางกับสิ่งแวดล้อมในระดับโลก

ในที่สุดเมื่อไม่นานมานี้เขาก็ประกาศยอมกลับลำนโยบายเดิม
ปรับให้เป็นไปตามกระแสโลก แต่เขาก็พูดอย่างเดียวแต่ไม่ทำ
เมื่อที่ดินเกษตรดีๆ ที่ยึดมาจากคนผิวขาวเกือบครึ่งหนึ่งนอนอยู่เฉยโดยไม่มีการผลิต
การขออนุญาตประกอบธุรกิจ หรือกิจกรรมเศรษฐกิจ
ต้องผ่านกระบวนการขออนุญาตยืนยาว
ภาครัฐไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร คอรัปชั่นอยู่ทุกหัวระแหง
ผู้นำยังอยู่ในโลกเก่าอย่างไม่ทันการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ
ผลที่เกิดขึ้นก็พอคาดเดาได้

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ของประเทศเลวร้ายลงเป็นลำดับ
พร้อมกับความโหดร้ายทารุณ ปราบปรามประชาชน
และฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านด้วยกองทัพและกลุ่มติดอาวุธที่รัฐจัดตั้งขึ้น
ความหวาดกลัวครอบงำไปทั่วประเทศพร้อมกับความอดยาก
นาย Mugabe โกงเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา ศาลสูงก็ถูกครอบงำ
ตัดสินให้มีการเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์ ฝ่ายค้านและพวกต่อต้านถูกฆ่าตายอยู่บ่อยๆ
รัฐบาลออกกฎหมายให้จองจำผู้ต้องสงสัยได้หนึ่งเดือนในข้อหาคอรัปชั่น
โดยผู้ต้องหาเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าตนเองบริสุทธิ์
ก่อนหน้านี้ 5 ปี คือในปี 2003 ขนาดของเศรษฐกิจลดลงไป 1 ใน 3
ผลผลิตอุตสาหกรรมหายไปร้อยละ 40 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 70
ในปี 2004 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 1,000 อาหารขาดแคลน
และสิ่งอุปโภคเริ่มขาดแคลนหนักมือขึ้น สถิติ HIV ก็เลวร้ายอย่างน่ากลัว
ทุกวันผู้คนนับร้อยๆ คนเข้าคิวเพื่อขอหนังสือเดินทางเพื่อเดินทางออกนอกประเทศ
สิ้นปี 2004 ชาว Zimbabwe จำนวน 3.4 ล้านคนหรือ 1 ใน 4 ของประชากร
อพยพไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน
(Botswana ประเทศเพื่อนบ้านสร้างรั้วไฟฟ้ายาว 480 กิโลเมตรตลอดชายแดน
เพื่อกันการอพยพ)ยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา
การที่ที่ดินชั้นดีไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์
ทำให้ขาดแคลนผลิตผลเกษตรที่เป็นอาหาร
นโยบายต่อต้านต่างประเทศ ทำให้ควบคุมการนำสินค้าเข้า และส่งสินค้าออก
และเมื่อบวกกับระบบ เรตเทปของการบริหาร การบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ
และคอรัปชั่นทุกจุด ระบบเศรษฐกิจก็เป็นง่อยพร้อมความหวาดกลัวทางการเมือง
ทั้งหมดรวมกันทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าอุปโภค และบริโภคอย่างหนัก
และผลพวงอันหนึ่งที่ตามมาก็คือ ภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก

ในปี 2007 เงินเฟ้ออยู่ในอัตรา 100,000 เปอร์เซ็นต์
รัฐบาลพิมพ์ธนบัตรใหม่สีแดงมูลค่าใบละ 10 ล้านเหรียญ (ซิมบับเว)
ซึ่งสามารถซื้อกระดาษชำระได้ 2 ม้วน หรือขนมปังหนึ่งก้อน โคคา-โคล่า
หนึ่งขวดมีราคา 5 ล้านเหรียญ ค่ารถเมล์ประมาณ 10 ล้านเหรียญ
10 กิโลกรัมของข้าวโพดที่ครอบครัว 4 คนอยู่ได้ 2-3 วัน ราคา 45 ล้านเหรียญ
เนื้อวัวชั้นเลวมีราคา 30 ล้านเหรียญต่อครึ่งกิโลกรัม
น้ำมันเบนซินมีราคาลิตรละ 32.5 ล้านเหรียญ
(อาทิตย์ที่แล้วมีราคา 25 ล้านเหรียญ คาดว่าอาทิตย์ต่อไปจะมีราคา 40 ล้านเหรียญ)
บำนาญของข้าราชการระดับกลางเดือนละประมาณ 60,000 เหรียญ
ค่าจ้างคนงานเกษตรเดือนละ 30 ล้านเหรียญ คนงานในโรงงาน
(ถ้าโชคดีมีงานทำเพราะอัตราว่างงานสูงถึงร้อยละ 80)
ค่าจ้างเดือนละ 300 ล้านเหรียญ
อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเหรียญซิมบับเวกับเหรียญสหรัฐตามอัตราตลาดมืด
คือ หนึ่งเหรียญสหรัฐเท่ากับ 35 ล้านเหรียญซิมบับเว
อัตราทางการคือ 1 เหรียญสหรัฐเท่ากับ 30,000
(ต่างกัน 1,166 เท่า จนฉ้อฉลกันสนุก เช่น
ข้าราชการแอบเอาเหรียญสหรัฐมาขายในตลาดมือ
และเอาเหรียญซัมบับเวไปแลกเป็นเหรียญสหรัฐกลับในอัตราทางการ)
ผลงาน Mugabe ที่เด็ดกว่านี้ก็คืออายุขัยเฉลี่ยของประชากรลดจาก 65 เหลือ 35 ปี
ในช่วงที่เขาครองอำนาจ ประชากรผู้ใหญ่ติดเชื้อ HIV 1 ใน 5 คน
คนอดอยากหนักในชนบท 6 ล้านคน (มีข่าวว่าต้องจับยีราฟกิน)
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเกือบหมด
ประเทศมีเงินสดสกุลต่างประเทศน้อยมากที่จะนำเข้าน้ำมัน ฯลฯ
ตลาดมืดเพื่อซื้อขายสินค้าทุกชนิดเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด "ที่มืด"
ก็เพราะรัฐบาลควบคุมราคาสินค้าในระดับที่น่าขบขันอย่างแข็งขัน
แต่ไม่ได้ผล คนจึงไปซื้อขายกันลับๆ อย่างเปิดเผย
ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตไม่มีของขาย เพราะถูกจัดส่งไปขายให้คนมีฐานะ
ในราคาสูงไปหมดแล้ว
สถานการณ์เลวร้ายลงทุกวันในทุกด้าน ทุกคนดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
สภาวะเงินเฟ้อที่เลวร้ายทำให้ผู้คนสับสน ระหว่างหน่วยพันล้าน (Billions)
และล้านล้าน (Trillions)
ถ้าจะเรียกประชาชน Zimbabwe ว่าเป็น Poor Billionaires (เศรษฐีพันล้านที่ยากจน)
ก็คงจะไม่ผิด เพราะถึงจะมีเงินเป็นพันล้าน (เหรียญซิมบับเว)
แต่ก็สุดยากจน มีเงินมากมายก็ไม่ทำให้มีสินค้าบริโภคได้
สิ่งที่ให้เกิดสุขคือของจริงที่บริโภคได้ ไม่ใช่เงิน
หลายคนคงจำอมตะวาจาของ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ได้ ที่ว่า
เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง"

เครื่องเคียงอาหารสมอง
ผมได้สังเกตจนเข้าใจและยังไม่เข้าใจอะไรหลายอย่างดังต่อไปนี้
คิดว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงคล้ายผม

o เหตุใดมอเตอร์ไซด์รับจ้างจึงชอบไปจอดออกันบนสะพานที่ค่อนข้างสูง
ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตราย เพราะปกติสะพานจะแคบกว่าถนนอยู่แล้ว
นอกจากนี้สะพานสูงมีจุดที่มองไม่เห็นรถที่สวนมาอยู่ชั่วขณะหนึ่ง
(ไม่รู้ว่าจะมีคนบ้าแซงบนสะพานตรงจุดนี้หรือไม่)
บนหลายสะพานในกรุงเทพฯ รถมอเตอร์ไซด์จอดออกันเต็ม
จนพื้นที่สวนกันบนสะพานแคบกว่าเดิมมาก
ยิ่งไปกว่านั้นบางแห่งเอาเก้าอี้มาตั้งบนพื้นที่ถนนอีกด้วย
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะทำให้สามารถมองเห็นลูกค้าที่กำลังคอยขึ้นรถได้กว้างไกล
ทั้งสองข้างมากที่สุด จนสามารถแย่งชิงลูกค้าจากคันอื่นๆ
ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า อย่างนี้เรียกว่าได้ประโยชน์ส่วนตัวแต่เสียประโยชน์ส่วนรวม
ตำรวจผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ทั้งสองลักษณะต้องทำงานหนักกว่าเดิมครับ

o ตอนผมเป็นเด็ก ผมเห็นผู้ใหญ่กรวดน้ำหลังจากถวายของพระแล้วและ
พระเริ่มสวด "สัพพีติโย ..." ด้วยการใช้นิ้วชี้ซ้าย แตะขอบขัน
หรือภาชนะรองรับน้ำจากคนโท และ ค่อยๆ เทน้ำผ่านนิ้วชี้ลงขัน
ญาติมิตรคนอื่นก็อาจเอานิ้วชี้แตะขอบขัน แสดงการร่วมด้วย
หรือคนอื่นอาจเอามือสัมผัสตัวผู้กรวดน้ำต่อกันทำนองว่า มีส่วนร่วมด้วย
หลังจากนั้นก็เอาน้ำไปเทใต้ต้นไม้
(ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันเจ้าหน้าที่เอาไปเทลงท่อหรือเปล่า)
ปัจจุบันผมเห็นแต่การเทน้ำลงขันเฉยๆ (คล้ายพระนเรศวรหลั่งน้ำสิโณทก)
ไม่มีการใช้นิ้วแตะขอบขันกันอีกต่อไป การกรวดน้ำวิธีนี้ผมรับได้
เพราะวันเวลามันเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเขาอาจกรวดน้ำกันพิสดารกว่านี้
หรืออาจเหมือนในปัจจุบันก็เป็นได้ ที่เขียนเรื่องนี้ก็เพราะสงสัยเท่านั้น

o เมื่อก่อนเวลาใส่บาตรหน้าบ้าน ผู้ใหญ่จะให้ถอดรองเท้า พระก็จะรับบาตรเฉยๆ
เอาของที่ ใส่บาตรไม่ได้ใส่ย่าม แต่ในปัจจุบันบางองค์จะมีคนขี่ซาเล้ง
คอยตามรับของจากพระใส่รถ เมื่อใส่บาตรเสร็จพระก็ต้องสวดให้พร
ยาวบ้างสั้นบ้างแตกต่างกันไปแต่ละองค์ การสวดให้พรของพระเวลาใส่บาตรนี้
เพิ่งเห็นเมื่อสัก 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง
ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะคนในยุคทุนนิยมปัจจุบัน
ต้องการอะไรกลับคืนมาจากการเสียเงินซื้อของใส่บาตรมากขึ้นหรือเปล่า
(การได้รับพรพร้อมไปกับการได้รับบุญทำให้การใส่บาตร คุ้มค่ายิ่งขึ้น?)
ถึงอย่างไรวาทกรรมนี้ก็ยังดีกว่าการถวายสังฆทาน
ที่คำถวายนั้นขอให้ของที่ถวายก่อให้เกิดสุขแก่ผู้ถวายไปชั่วกัลปวสาน
ผมว่าอย่างนี้มันค้ากำไรเกินควรมากไปครับ

น้ำจิ้มอาหารสมอง
The most important thing a father can do for his children
is to love their mother. (Theodore Hesburgh)

สิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อสามารถทำเพื่อลูกได้คือรักแม่ของเขา
หน้า 45