Custom Search

Nov 26, 2008

ข้อคิดเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจ (2551)

วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน
เกี่ยวกับผลจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ที่ประชุมได้แสดงความเห็นกันหลายประการ
ผมขอนำบางประเด็นมาเผยแพร่ต่อและขอแถมความเห็นส่วนตัวด้วย
สถาบันคลังสมองแห่งชาติผู้ริเริ่มการหารือครั้งนี้
เป็นองค์กรอยู่ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัย
โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ วิศวกรหนุ่มไฟแรงผู้มีความสามารถจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นผู้อำนวยการ
สถาบันนี้ได้ผลิตกรอบแผนอุดมศึกษา 15 ปี เมื่อปีที่แล้ว
อีกทั้งมีศูนย์ศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก
ศูนย์ศึกษาระบบความปลอดภัยอาหารและโภชนาการ

ศูนย์ศิลปะการละครเพื่อการพัฒนา ฯลฯ
พูดสั้นๆ ก็คือเป็น Think Tank หนึ่งของสังคมไทยประเด็นแรกที่ได้
มาจากการคุยกันก็คือการว่างงานจะเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้า
โรงงานอุตสาหกรรมเริ่มปลดลดคนงานเพิ่มมากขึ้นทุกที
ถึงวันนี้อาจเป็นเรือนหมื่นแล้ว อุตสาหกรรมที่ถูกระทบคือ
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอเสื้อผ้า
อาหารแปรรูป อาหารทะเล จิวเวลรี่ ฯลฯ
ถึงแม้บ้านเราจะส่งสินค้าออกไปสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป
รวมประมาณร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
แต่การส่งออกของเราอีกจำนวนไม่น้อยเป็นชิ้นส่วนที่ส่งไปจีนและประเทศอื่นๆ
ที่ไปรวมกันผลิตเป็นสินค้าออกไปยัง 3 กลุ่มประเทศข้างต้น
เมื่ออำนาจซื้อและความต้องการสินค้าต่างประเทศน้อยลง
สินค้าที่ส่งตรงไปจากไทย
รวมทั้งชิ้นส่วนของสินค้าที่ส่งอ้อมไปจากไทยก็ย่อมถูกกระทบอย่างแน่นอน

หากรวมทั้งสองส่วนนี้เข้าด้วยกันก็อาจมีมูลค่า
ถึงร้อยละ 50-60 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดก็เป็นได้
ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจึงกระทบแรงงานในโรงงานที่เกี่ยวพันเหล่านี้
ส่วนหนึ่งของแรงงานซึ่งอาจมีจำนวนมากขึ้นทุกที
เมื่อหางานในโรงงานยากมากขึ้นในเวลาต่อไปก็จะ
กลับบ้านไปสู่เกษตรกรรมอันเป็นฐานหลักของสังคมเรา
และดำรงชีพแนวเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนเมื่อตอนวิกฤตปี 2540
คำถามก็คือ สมควรปล่อยให้เขากลับไปอยู่บ้านปลูกข้าว
เลี้ยงสัตว์ รับจ้างงานอิสระบ้างเท่านั้นหรือ
เขาควรได้เรียนรู้และมีทักษะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาลำบากนี้หรือไม่
เพื่อที่ว่าเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะปกติ
เขาจะได้กลับสู่ตลาดแรงงานอย่างมีผลิตภาพสูงขึ้น
และมีความสามารถเป็นอิสระมากขึ้นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม
เช่น ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ถ้าเขาเพาะเลี้ยงปลาสวยงามเป็น
รู้จักปลูกไม้ประดับราคาสูง ปลูกต้นปาล์มราคาสูง ผลิตปุ๋ยชีวภาพเป็น
ปลูกผักคุณภาพดีเป็น ทำการค้าเล็กๆ น้อยคล่องขึ้น
เลี้ยงปลาและผสมพันธุ์ปลาเป็น รู้จักวิธี แปรรูปอาหาร
เลี้ยงไก่และตอนไก่เป็นผลิตอาหารสัตว์เองเป็น ฯลฯ
ชีวิตในยามยากของเขาก็จะกลายเป็นช่วงเวลาแห่งการฝึกฝนตนเอง
เพื่อให้มีความพร้อมยิ่งขึ้นเมื่อออกไปสู่ตลาดแรงงานอีกครั้งยิ่งถ้าในช่วงเวลานี้
ภาครัฐมีเงินให้เขากู้เพื่อทำกิจกรรมเหล่านี้
พร้อมกับชี้แนะให้รู้จักใช้เงินที่เขาได้รับมาเป็นก้อน
เมื่อออกจากโรงงานก็จะทำให้การ "ฝึกฝน"
นี้มีความหมายยิ่งขึ้นกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา
และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐที่เกี่ยวกับการฝึกฝนอาชีพ
สามารถช่วยได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะถ้าได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แรงงานเหล่านี้อาศัยอยู่เป็นผู้ประสาน
สร้างความรู้และทักษะให้แก่แรงงานที่เป็นพลังสำคัญของชาติเหล่านี้

ประเด็นที่สอง สิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องการในขณะนี้และในเวลาอันใกล้คือ
การกระตุ้นเศรษฐกิจทุกหัวระแหง ภาครัฐต้องสร้างงานเพื่อให้เกิดรายได้
เกิดอำนาจซื้อและเกิดกิจกรรมเศรษฐกิจวิธีการหนึ่งซึ่งจะช่วยการจ้างงานทันที
คือการ "ซ่อม" สิ่งก่อสร้างทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นถนน
คูคลองหนองบึง วัด โรงเรียน สาธารณสถาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่พักอาศัยถ้ารัฐให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ประชาชน
เพื่อเอาไปซ่อมแซมบ้านโดยเฉพาะ
และให้มีช่วงระยะเวลาปลอดหนี้ 2-3 ปี
เชื่อได้ว่าจะเกิดการจ้างงานอย่างมหาศาลขึ้นทันทีในประเทศ
และเป็นที่ทราบกันดีว่าการก่อสร้างเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจที่
ก่อให้เกิดผลพลอยได้หลายทาง เช่น แรงงานได้ค่าจ้าง
เกิดดีมานด์ของหิน ทราย กรวด ซีเมนต์ ช่างไม้ ช่างปูน ช่างเหล็ก ฯลฯ

การซ่อมแซมบ้านก็คือ การสร้างเสริมทุนอย่างหนึ่งให้แข็งแรง
เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนซึ่งทำให้เกิดการจ้างแรงงานและเกิดรายได้
รวดเร็วกว่า เมกะโปรเจ็คต์ที่ต้องใช้เวลามากในการกู้เงิน
ในการประมูล เตรียมงาน ฯลฯ ค่าก่อสร้างส่วนใหญ่คือค่าเครื่องจักร
อุปกรณ์ก่อสร้าง ซึ่งล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ
กำไรส่วนใหญ่ก็ตกอยู่กับบริษัทก่อสร้างต่างประเทศ
ที่มีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีระดับสูง (เช่น การขุดเจาะอุโมงค์)

ประเด็นที่สาม ปัญหาอาชญากรรมกำลังจะเกิดขึ้นในสังคมไทย
อันเนื่องมาจากการว่างงานขนาดใหญ่
ผู้ที่จะเดือดร้อนมากที่สุดคือ แรงงานต่างด้าว
(เข้าใจว่ามีกว่า 1 ล้านคนในประเทศเรา)
ซึ่งจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกกระทบเพราะง่ายต่อการถูกออกจากงาน
ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับเงินชดเชย จะไปถกเถียงกับนายจ้างก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
และการกลับบ้านก็คือการกลับสู่การขาดเงินสดแรงงานต่างด้าวในบ้านเรา
โดยทั่วไปถือได้ว่า "มีความประพฤติดี" มีกรณีของก่อเรื่องร้ายๆ
ไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนที่อยู่ในบ้านเรา
อย่างไรก็ดีเมื่อเขาอยู่ในสภาพว่างงาน ไร้ญาติขาดที่พึ่ง ขาดรายได้
โอกาสจะปรับตัวสู่ภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการเช่น ขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง
เข็นรถขายของ ขายอาหาร ฯลฯ เป็นเรื่องยาก
อีกทั้งไม่มีที่ดินที่จะทำให้เขากลับไปทำการเกษตรได้
ดังนั้นโอกาสที่บางคนจะหันหน้าสู่การประกอบอาชญากรรม
จึงมีสูงการว่างงานของแรงงานไทยอย่างกว้างขวาง
ก็อาจนำสู่ปัญหาอาชญากรรมได้เช่นเดียวกัน
แต่แรงงานเหล่านี้มีทางเลือกมากกว่าแรงงานต่างด้าว
โชคดีที่ที่ดินส่วนใหญ่ของบ้านเรามิได้อยู่ในมือของเจ้าที่ดินดังเช่นบางประเทศ
ดังนั้น การกลับไปทำการเกษตรเอง
จึงสามารถเป็นทางออกของแรงงานจำนวนไม่น้อย
ในปัจจุบันหากจะไปไหนมาไหนในยามวิกาล ไปในที่ลับตาคน
จึงต้องระวังมากกว่าปกติ การฉกชิงวิ่งราวกลางวันแสกๆ
ในที่ชุมชนหนาแน่นก็เริ่มมีให้เห็นกันบ้างแล้ว
ในขณะนี้ทั้งสามประเด็นข้างต้นเกี่ยวกับวิฤตเศรษฐกิจชวนให้น่าขบคิด
พิจารณาและนำไปสู่การปฏิบัติ
ปัญหาการว่างงานครั้งนี้จะมีความรุนแรงไม่น้อยและอยู่กับสังคมไทยเรานานพอควร
และผู้ที่จะรับกรรมมากสุดคือ แรงงานต่างด้าว
ผู้ใช้แรงงานไทย และผู้ประกอบการ SME"s
ที่ผูกพันกับการส่งออก
หน้า 6