Custom Search

Nov 19, 2008

หญิงแกร่งของ Obama



วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
ปีที่ 31 ฉบับที่ 11212
ทุกความสำเร็จของผู้ชายจะมีผู้หญิงสนับสนุนอยู่เบื้องหลังเสมอ
Barack Obama ผู้กำลังจะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน
ผู้หญิงคนนี้คือยายของเขาผู้จากไปในวัย 86 ปี
สองวันก่อนหน้าที่เขาจะชนะเลือกตั้ง
เรื่องราวของเธอให้บทเรียนน่าสนใจแก่ยายคนอื่นๆ ทั่วโลก
Madelyn Lee Payne เกิดในเมือง Peru รัฐ Kansas
ในครอบครัวคริสเตียน Methodists พ่อแม่ของเธอไม่ดื่มเหล้า ไม่เล่นไพ่
หรือแม้แต่เต้นรำ บรรพบุรุษของเธอมาจากอังกฤษ
โดยอพยพมาอเมริกาในศตวรรษที่ 17 และ 18
เธอมีเชื้อสายไอริชและเยอรมันด้วย
สิ่งที่เธอภาคภูมิใจมากก็คือมีเชื้อสายของอินเดียนแดงเผ่า Cherokee
ปนอยู่ในสายเลือดเธอแต่งงานกับ Stanley Dunham
ผู้มาจากครอบครัวผู้ใช้แรงงานแห่งเมือง El Dorado รัฐ Kansas
ซึ่งแตกต่างจากครอบครัวของเธอ ครอบครัวของ Stanley
เป็น คริสเตียน Baptists
พ่อแม่ของเธอไม่เห็นชอบเมื่อแต่งงานกันในปี 1940 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
Stanley หรือตาของ Obama สมัครเป็นทหาร
ส่วนยายใช้แรงงานช่วยประกอบเครื่องบิน Boeing B-29
ทั้งสองมีลูกสาวในปี 1942 ชื่อ Ann Dunham
เกิดในเมือง Fort Leavenworth ในรัฐ Kansas
ทั้งสองไม่ได้ร่ำรวย ต้องทำงานเต็มเวลาทั้งสองคน
เธอทำงานในภัตตาคารในขณะที่ Stanley เป็นผู้จัดการร้านขายเฟอร์นิเจอร์
ต่อมาทั้งสองย้ายจาก Kansas ไปอีกหลายรัฐ
และตั้งหลักแหล่งที่รัฐ Washington อยู่ระยะหนึ่ง
ทุกแห่งที่ไปทำงาน Stanley เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
และจบได้หลายปริญญาด้วยทุนการศึกษาตาม GI Bill
สิ่งหนึ่งที่ Madelyn Dunham ไม่เคยทิ้งก็คือการศึกษา
เธอเข้าเรียนบางวิชาใน University of Washington
และ University of California Berkeley
แต่ไม่ได้ปริญญาซึ่งเป็นสิ่งที่เธอใฝ่ฝันตลอดชีวิต
หลังจากAnn จบไฮสกูลที่รัฐ Washington
ทั้งสองย้ายมาตั้งหลักแหล่งถาวรที่รัฐฮาวาย Stanley
จัดการร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ขึ้น
เธอเข้าทำงานในธนาคาร (Bank of Hawaii)
ในปี 1960 และอีก 10 ปีต่อมาก็เป็น Vice President
หญิงคนแรกของธนาคารAnn เข้าเรียนที่ University of Hawaii
และพบรักกับนักเรียนทุนบัณฑิตศึกษาจากประเทศ Kenya
และในปี 1961 ด้วยอายุเพียง 19 ปี
Ann ก็แต่งงานกับ Barack Obama Senior
และให้กำเนิดลูกชาย Barack Hussein Obama
(Hussein เป็นชื่อมุสลิมของปู่ของเขาที่ Kenya
ที่เปลี่ยนศาสนาจากคริสตังเป็นอิสลาม)
เมื่อ Obama อายุได้ 2 ขวบ พ่อแม่ก็แยกทางกัน Ann
แต่งงานใหม่กับคนอินโดนีเซีย Obama
อยู่กับพ่อเลี้ยงและแม่ที่จาร์กาตาเป็นเวลา 4 ปี
เมื่ออายุ 10 ปี Obama ก็ไปอยู่กับตาและยายที่ฮาวายตลอดชีวิตของการเป็นวัยรุ่น
เขาได้รับทุนการศึกษาจนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
และเรียนกฎหมายต่อที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด
Obamaพบพ่อเขาอีกครั้งเดียวที่สนามบินที่ฮาวายตอนอายุ 11-12 ปี
พ่อเขาตายเมื่ออายุเพียง 50 ปีเศษ
Ann แม่ของเขากลับไปเรียนที่ฮาวายอีกครั้งจนจบปริญญาเอก ด้านมานุษยวิทยา
และไปทำงานโครงการพัฒนาขององค์การระหว่างประเทศ
เกี่ยวกับทุนกู้ยืมให้หญิงยากจนในอินโดนีเซีย
และประเทศด้อยพัฒนาหลายแห่ง
เธอเสียชีวิตเมื่ออายุ 52 ปี ด้วยโรคมะเร็ง
Obamaเล่าว่า เขาอยู่กับตาและยาย
และต่อมาน้องสาวต่างพ่อจากอินโดนีเซียก็มาอยู่ด้วยอย่างมีความสุข
ทั้งตาและยายทุ่มเทความรัก เสียสละเงินทองสนับสนุนทุนการศึกษา
ที่เขาได้รับเพื่อให้ได้เรียนในโรงเรียน Punahou อันมีชื่อเสียงของฮาวาย
เขาเล่าว่า ยายเป็นดั่งภูผาของครอบครัว
สอนเรื่องคุณธรรม การทำงานหนัก การเสียสละ การถ่อมตัว
และความแข็งแกร่ง ยายเป็นโมเดลในชีวิตของเขา
และประการสำคัญยายช่วยให้เขาไม่สับสนในชีวิต
ชีวิตของ Obama ตอนเป็นเด็กน่าจะสับสนในอัตลักษณ์ (Identity)
เขาเป็นลูกครึ่งผิวสีครึ่งอเมริกันครึ่ง Kenya เติบโตในครอบครัวผิวขาว
ที่สังคมรอบข้างคือคนพื้นเมืองฮาวายโดยมีคนผิวขาวเป็นชนกลุ่มน้อย
แถมบางส่วนของชีวิตไปเติบโตในอินโดนีเซีย
ดินแดนแห่งศาสนาอิสลาม
มีพ่อเลี้ยงเป็นคนเอเชียและมีน้องสาวเป็นลูกครึ่งอเมริกัน-อินโดนีเซียอีกด้วย
ยายเป็นผู้ช่วยให้เขาเข้าใจชีวิต มีความเข้าใจและมั่นใจในอัตลักษณ์
ไม่สับสนในชีวิตจนออกนอกลู่นอกทาง
สิ่งสำคัญที่ครอบครัว Dunham ให้ความสนใจตลอดคือ การศึกษา
ถึงแม้ครอบครัวจะไม่ร่ำรวยด้วยเงินทอง
แต่ก็จัดสรรเงินทองที่มีจำกัดไปที่การศึกษาหรือ "การลงทุนในตัวเอง"
เสมอในทุกขั้นตอนของชีวิตเข้าใจได้ไม่ยากว่าเหตุใด
Obama จึงรักยายของเขามาก
ยายผู้ใฝ่ฝันอยากได้ปริญญาแต่ไม่มีโอกาสเพราะต้องทำงานหนัก
เพื่อส่งเสียให้หลานได้รับการศึกษาที่ดีที่สุดพร้อมกับอบรมสั่งสอน
สิ่งที่เป็นคุณค่าสำคัญของชีวิตในชนบทไทย
ปู่ย่าตายายนับล้านคนที่เลี้ยงดูลูกหลาน
แทนพ่อแม่ที่ไปทำงานในเมืองและต่างประเทศ
ปู่ย่าตายายเหล่านี้ต้องรับผิดชอบอนาคตของลูกหลานในโลก
ที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วจนผู้ใหญ่ตามไม่ทัน
อนาคตของเด็กไทยนับล้านคนอยู่ในมือของผู้เฒ่าที่สังขารเสื่อมลงทุกวันตามวัย
ถึงจะรู้ว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญเหมือนยายของ Obama
ที่ประสบความสำเร็จสามารถผลิตประธานาธิบดีได้
แต่ก็คงไม่มั่นใจนักว่านอกเหนือจากการดูแลให้ไปโรงเรียนแล้ว
จะอบรมบ่มนิสัยอย่างไรภายใต้สภาพสังคมเศรษฐกิจสมัยใหม่
ภาครัฐและองค์กรภาคประชาชนควรให้ความสนใจ
และสนับสนุนช่วยเหลือให้ความรู้ความเข้าใจใน
การอบรมดูแลลูกหลานของผู้เฒ่าในชนบทเหล่านี้ที่มีอยู่เป็นจำนวนนับ
ล้านคนในปัจจุบันเพราะถือได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่ง
ในการกล่อมเกลาเยาวชนจำนวนมาก
ที่ต่อไปจะเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ
หน้า 6