Custom Search

Nov 3, 2008

วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 10 ปี..อาจไม่ฟื้น

ไทยรัฐ
4 พ.ย. 51

หุ้นรูด ทองร่วง ข้าวยางพืชผลทางการเกษตรราคาตก คนจะตกงาน...เป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แฮมเบอร์เกอร์แตก แต่วิบากกรรมที่คนทุกระดับ ตั้งแต่ชนชั้นบนไปจนรากหญ้าต้องขวัญผวาไปตามๆกันนี้ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า...ยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น
ไม่ใช่ของจริง!! 


เพราะวิกฤติในสหรัฐฯที่กำลังลุกลามขยายวงไปทั่วโลก...ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด
ยังต้องใช้เวลาอีกนาน...กว่าจะถึงจุดนั้น
และเมื่อจุดนั้นมาถึง...กว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลกให้คืนสู่ ภาวะพอจะโงหัวขึ้นมาได้บ้าง ยังต้องใช้เวลานานอีกหลายปี
“ถ้าเทียบกับวิกฤติต้มย้ำกุ้งเมื่อปี 2540 วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ช่วงเวลานี้ จะคล้ายกับในช่วงปลายปี 2540 ถึงต้นปี 2541 ที่เรากำลังตั้ง ปรส.ขึ้นมา เพื่อเตรียมเอาสินทรัพย์หนี้เน่าทั้งหลายที่เกิดจากการปล่อยกู้และปั่นราคา ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกมาเลหลังขายในราคาถูก
การแก้ปัญหาของเรานั้นใช้เวลานานประมาณ 3-4 ปี เศรษฐกิจไทยถึงจะเริ่มโงหัวขึ้นมาได้ในช่วงปี 43 ปลายสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายรัฐมนตรี สมัยที่ 2”
แต่แฮมเบอร์เกอร์ไครซิสของสหรัฐฯนั้น ดร.สมภพ มองว่า คงไม่ลงเอย จบรวดเร็วเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเรา
เพราะใช้วิธีในการแก้ปัญหาต่างกัน
ของเราใช้วิธีรักษาแบบเบ็ดเสร็จ...จำใจเจ็บตัว เข้าห้องผ่าตัด
แต่สิ่งที่สหรัฐฯกำลังทำอยู่ รักษาแบบรอดูอาการ...เลี้ยงไข้ ไม่ ยอมผ่าตัด
“คงจำกันตอนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ไอเอ็มเอฟ สหรัฐฯ บีบให้เราทำตามที่เขาแนะนำ ให้ยอมเจ็บตัวตัดใจเอาหนี้เน่ามาเลหลังขายในราคาถูก เพื่อจะได้เอาเงินไปใช้หนี้ที่กู้เขามา รัฐบาลอย่าเข้าไปอุ้มช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหา
แต่เมื่อเกิดกับตัวเอง สหรัฐฯทำตรงข้าม รัฐบาลสหรัฐฯพยายามทุกอย่าง หาสารพัดมาตรการที่จะเข้าไปอุ้มพยุงกิจการที่กำลังจะล้มละลายเพราะหนี้เน่า”
เปรียบได้กับต้นไม้เศรษฐกิจใหญ่ กำลังจะล้มแบบขุดรากถอนโคน
ของเราใช้วิธี กิ่งก้านไหนๆมีปัญหาถ่วงน้ำหนักมาก ให้ตัดใจฟันทิ้งไปเพื่อจะไม่ลากดึงต้นไม้ใหญ่ให้ล้มลง
ส่วนสหรัฐฯพยายามหาไม้หาเสาไปอุ้มค้ำพยุงไม่ให้ต้นไม้ล้มฟาดพื้น พยุงค้ำไปทั้งที่ไม่รู้ว่า
เสาที่เอาไปค้ำนั้นผุ แข็งแรงพอหรือเปล่า
ถ้าแข็งแรงไม่พอ เอาเสาต้นใหม่ไปพยุงไปเรื่อยๆ ปัญหาจะไม่จบง่ายๆ และราคาความเสียหายจากการซื้อหาเสามาค้ำก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัวไป และกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาได้ ต้องใช้เวลานานกว่า
ด้วยตัวอย่างแบบนี้ ดร.สมภพชี้ว่า มีให้เห็นมาไม่น้อย...
แม้กระทั่งในสหรัฐฯเองก็เคยเจอมาแล้ว
เมื่อปี 2535 หลังสงครามอ่าว กรณีอิรักบุกคูเวต ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐฯแบบเดียวกับครั้งนี้ แต่ไม่หนักหนาสาหัสเท่าครั้งนี้
ครั้งนั้นสหรัฐฯใช้เวลาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจนานถึง 10 ปี จากเศรษฐกิจย่ำแย่ในปลายสมัยบุชผู้พ่อเป็นประธานาธิบดี เพิ่งจะมาฟื้นเอาในสมัยบุชผู้ลูกเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก
“ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน เมื่อปี 2534 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯตอนนี้เลย รัฐบาลญี่ปุ่นใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเลี้ยงไข้ รัฐบาลเข้าไปอุ้มพยุง ต้องใช้เวลาแก้ปัญหานานถึง 12 ปี กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาได้”
แต่กรณีที่ญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นมาได้ภายในระยะเวลา 12 ปีนั้น อาจจะไม่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯก็เป็นได้
เพราะตอนเกิดวิกฤติที่ญี่ปุ่น... สถานะทางการเงินของญี่ปุ่นขณะนั้นกับ สหรัฐอเมริกาในขณะนี้ต่างกันลิบลับ
“เกิดวิกฤติตอนนั้นญี่ปุ่นมีเงินออมในประเทศมาก รัฐบาลญี่ปุ่นอุ้มพยุงกิจการหนี้เน่าด้วยการออกพันธบัตรกู้เงินจากคนญี่ปุ่นด้วยกันเอง ถึงได้ฟื้น
แต่สหรัฐฯตอนนี้ เรียกได้ว่าแทบไม่ต่างกับไทยเมื่อครั้งเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเลย คืออยู่ในสถานะบ้อจี๊ เงินออมในประเทศมีน้อย แถมยังเป็นหนี้เงินกู้ต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก”
ดังนั้น ระยะเวลาการฟื้นฟูให้สถานะกลับคืนมาเหมือนอย่างญี่ปุ่น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และที่สำคัญตอนนี้วิกฤติในสหรัฐฯยังไม่ถึงจุดต่ำสุด
จุดต่ำสุดจะอยู่ที่ไหน?
ดร.สมภพ แนะให้ดูตรงราคาสินทรัพย์หนี้เน่าที่จะถูกเอามาเลหลังขาย
ตอนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง...ราคาสินทรัพย์ของเราหดหายไป 65% ขายได้ราคาแค่ 35%
ตอนเกิดวิกฤติในญี่ปุ่น...ราคาสินทรัพย์หนี้เน่า 100 บาท ขายได้แค่ 30 บาท หดหายไป 70%
ส่วนราคาสินทรัพย์หนี้เน่า ในสหรัฐฯขณะนี้ หดหายไปแค่ 20% เท่านั้นเอง...ต้องรออีกสักระยะให้ราคาหดหายไป 60-70% นั่นแหละ ถึงจะจุดต่ำสุด
“สิ่งที่น่ากังวลมากก็คือ การส่งออก ตอนนี้วิกฤติที่ลุกลามมายังประเทศไทยยังเห็นไม่ชัด เนื่องจากการส่งซื้อสินค้านั้นมีการสั่งซื้อล่วงหน้า ประกอบตอนนี้เป็นช่วงปลายปี มีการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
สินค้าที่ยังส่งออกไปได้ เป็นออเดอร์ที่สั่งไว้ล่วงหน้า ผ่านพ้นเทศกาลเหล่านี้ไปแล้ว การส่งออกของเราจะเห็นผลชัดเจนตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป”
ผลกระทบอีกอย่างที่จะตามมานั่นคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในบ้านเราจะได้รับผลกระทบ ราคาสินทรัพย์จะพลอยร่วงตามสหรัฐอเมริกา เพราะบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนจะเลหลังขายสินทรัพย์ เพื่อเอาเงินไปอุดพยุงช่วยกิจการบริษัทแม่ในสหรัฐฯ
ธุรกิจอสังหาหยุดชะงัก จะลากยาวให้ธุรกิจต่อเนื่องสารพัด อย่างพวกข้าวของเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายหยุดตามไปด้วย
ปัญหาอีกอย่างที่ ดร.สมภพ บอกว่า น่าจับตา อันเป็นผลพวงจากวิกฤติทางการเงินที่ลามไปทั่วโลกนั่นก็คือ...การชักดาบไม่จ่ายหนี้ของสถาบันการเงิน
ตอนนี้เกิดขึ้นแล้ว ธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไอซ์แลนด์ ชักดาบไม่ยอมจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรให้กับธนาคารญี่ปุ่น ทั้งที่เป็นเงินแค่ 3-4 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 100 กว่าล้านบาทเท่านั้นเอง
“สถาบันการเงินของไทยอาจมีสิทธิเจอรายการอย่างนี้ได้เหมือนกัน ถ้าปัญหาวิกฤติทางการเงินของโลกลุกลามรุนแรงไปมากกว่านี้ แต่ประเทศไทยคงได้รับผลกระทบด้านนี้ไม่มาก
เนื่องจากเราโชคดีที่โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ประสบความสำเร็จ ล้มเหลวไปเสียก่อน
ไม่อย่างนั้น สถาบันการเงินของไทยจะเจอปัญหาหนักหนาสาหัส เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เจ๊งไปนั้น ก็มาจากการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนที่อดีตนายกฯ ทักษิณพยายามที่จะเลียนแบบเขานี่แหละ”
ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังรุกคืบ ประเทศไทยมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง คนไทยคงหวังพึ่งรัฐบาลไม่ได้ เพราะรัฐบาลเองยังเอาตัวไม่รอด ดร.สมภพ บอกว่า...คนไทยจะรอดได้ ต้องนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งรับวิกฤติที่จะตามมาให้มากเข้าไว้
นักธุรกิจต้องนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการทำธุรกิจ อย่าคิดขยายงาน ขยายการลงทุนจนเกินตัว
ภาคประชาชนต้องพอเพียง บริหารการเงินให้มีรายรับมากกว่ารายจ่าย และอย่าสร้างหนี้ ซื้อของเงินผ่อนเพื่อการบริโภค เพื่อกินเพื่อใช้ให้มากนัก
รีบฝึกให้ชินเข้าไว้...รับวิกฤติยาว
เอาตัวรอดไว้ก่อน เพราะหวังนักการเมืองจากการเลือกตั้งแบบไทยๆ...เราไม่รอดแน่.