กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 10 มกราคม 2552
มโนมัย มโนภาพ
ภาพ : วันชัย ไกรสรขจิต
“ที่บอกว่าคนทีวีหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์นั้น
ผมมองว่าอยู่ตรงที่พูดไปแล้วมีประโยชน์หรือไม่มากกว่า ...
วิพากษ์วิจารณ์ไปแล้วได้อะไรขึ้นมา ถ้าวิพากษ์วิจารณ์ไปแล้ว
ไม่ต่างจากการไปว่าคนอื่น ทำให้คนอื่นเสียใจ เจ็บช้ำน้ำใจ ก็ไม่รู้จะพูดไปทำไม”
ไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย ศิษย์เก่าจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รั้วจามจุรี
เจ้าของรางวัลโทรทัศน์ทองคำ เริ่มต้นหัวข้อสนทนาในบ่ายวันหนึ่งอย่างจริงจัง
เมื่อคราวนี้เป็นฝ่ายถูกตั้งคำถามบ้าง
“...แต่ถ้าวิจารณ์ไปแล้ว มันมีส่วนดีเกิดขึ้น อาจจะมีคนบางส่วนที่เสียอะไรบางอย่างไป
ถ้ามันเกิดประโยชน์ ทางธรรมะก็บอกให้พูดนะ (หัวเราะ)
แต่มันก็ต้องเหมาะกับเวลาและสถานที่ด้วย”
รับหน้าที่พิธีกรหลายรายการ จนเป็นที่คุ้นเคยในหมู่ผู้ชมจอแก้วทุกเพศทุกวัย
ที่มองหารายการทีวีที่แตกต่าง ตั้งแต่ บ้านเลขที่ 5 ที่นี่ประเทศไทย
จนถึงรายการ ไทยมุง , วิกสยาม ทางทีวีไทย และ เก้าร่วมใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน
ทางโมเดิร์นไนน์ วันนี้ หนุ่มวัย 40 กะรัตต้นๆ
เจียดเวลามาแลกเปลี่ยนมุมมองการทำงานในแวดวงทีวี
พร้อมบอกเล่าถึงความคิดส่วนตัวของเขา ที่ไม่ค่อยได้พูดคุยที่ไหน
คุณอยู่ในวงการทีวีมานาน พบเห็นการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ
คิดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่
จริงๆ ยังไม่เห็นสัญญาณที่ดีนะ ตั้งแต่เด็กเป็นต้นมา
เราจะเห็นปรากฏการณ์ของทีวีเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ
บางครั้งมีรายการแปลกใหม่ขึ้นมา แล้วคนก็ติด ดังมาก
แล้วก็จะมีรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างเกมโชว์
ตอนนั้นมีเกมโชว์อย่าง พลิกล็อก หรือ มาตามนัด รายการอย่าง ซูโม่สำอาง
หรือยุทธการขยับเหงือก
แต่ยุคนี้ ยังไม่ค่อยเห็นว่ามีอะไรแปลกใหม่หรือโดดเด่นขึ้นมา
อาจจะแปลว่า คนเริ่มทำอะไร ก็ทำกันตามๆ กัน ซ้ำแพทเทิร์นเดิมๆ
ที่ประสบความสำเร็จ ทุกวันนี้เราจะเห็นรายการสดทุกวัน 5 วัน จันทร์ถึงศุกร์
หรือรายการเล่าข่าว เอาหนังสือพิมพ์มาเล่าข่าวเยอะมาก ซึ่งแต่ก่อนไม่มี
พอยุคหนึ่งมีแล้วดัง ขายได้ แล้วใช้เวลาในการทำไม่มากนัก
ไม่เปลืองคนทำมาก ก็เกิดขึ้นเยอะ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นสัญญาณที่ดี
หรือสัญญาณอันตรายกันแน่
ผมนึกย้อนถึงตอนทำรายการที่นี่ประเทศไทย
ก็ยังไม่มีรายการเล่าข่าวชัดเจน ยังเป็นรายการข่าวปกติ
หรือในแง่ของรายการว่าด้วยความเป็นไทย เดิมทีนั้นก็ยังไม่มี
แต่หลังจากนั้น ก็จะมีรายการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย
หรือสยามเกิดขึ้นเยอะมาก มันเหมือนกับว่าอะไรที่เกิดขึ้น อยู่ได้
ก็จะมีคนตามๆ กันมา
จริงๆ ผมอยากให้มีรายการที่มีเนื้อหาต่างจากชาวบ้านเกิดขึ้นมา
อาจจะไม่ต้องมีเนื้อหาดังมาก แต่พออยู่ได้ ผมคิดว่ารายการแบบนี้จะดี
เพราะทำให้คนได้คิดอะไรใหม่ เพราะถ้าไม่คิดอะไรใหม่ๆ มันก็รอวันตาย
พูดถึงรายการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย ถัดจากที่นี่ประเทศไทย
มาถึงวิกสยาม ที่คุณทำหน้าที่พิธีกร ?
วิกสยาม ถึงที่สุดแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของ ที่นี่ประเทศไทย
แต่ก่อนเรามีช่วง ประเทศไทยในอดีต ตอนที่ที่นี่ประเทศไทยจะหยุดทำ
ก็มีการเอาแต่ละช่วงของรายการที่นี่ประเทศไทยมาทำเป็นรายการใหม่
แล้วก็ทำเป็นเดโมเสนอช่อง แต่ไม่มีโอกาสได้ทำ จนกระทั่งได้มาทำที่ ทีวีไทย
แล้วได้ฟีดแบ็คที่ดี
ฟีดแบ็คในที่นี้ ผมไม่ได้หมายถึงเรทติ้ง แต่วัดจากกล่องด้วย
จากคนที่เราเจอ บางคนบอกว่าเพิ่งรู้ว่ามีรายการนี้ ได้ดูแล้ว ก็ชวนคนอื่นๆ ดูด้วย
แล้วเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ที่ทำงานฟังตอนเช้าวันจันทร์ ก็ดีเหมือนกัน
คนทำงานทีวีอยู่ภายใต้ความกดดันหลายๆ อย่าง
เรทติ้งเป็นส่วนสำคัญมั้ย
เป็นส่วนสำคัญของคนขายโฆษณามากกว่า หรือของคนที่ลงทุน ...
ผมเฉยๆ นะ ในเรื่องของโฆษณา ผมไม่ได้เอาสติอะไรไปอยู่เรื่องนั้นมาก
เปรียบเทียบกับอะไรดี มันเหมือนเราเลือกแล้วที่จะเป็นพ่อครัว
มันเหมือนคนผัดข้าว ผัดอาหาร เพราะฉะนั้น ใครจะไปซื้ออะไรมาจากไหน
ยากแค่ไหน เราไม่รู้ ร้านจะเปิด วันนี้คนจะเข้ามั้ย เราไม่รู้
ขอให้วัตถุดิบมาสด เราหั่นเตรียมไว้อย่างดี แล้วเราแน่ใจว่าจานนี้อร่อยแน่ๆ
แต่อย่างหนึ่งที่จะมีผล คือเมื่อทำไปแล้วเริ่มมีคนดู จาก 5 คนเป็น 10 คน เป็น 20 คน
นั่นแสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว เพราะเราทำรายการให้คนดู
เราไม่ได้ทำรายการให้เรทติ้งโฆษณาขึ้น เหมือนตอนทำรายการที่นี่ประเทศไทย
เรทติ้งรายการขึ้นน้อยมาก แต่เราบอกตัวเองว่ามีคนดู แล้วคนดูมากขึ้นเรื่อยๆ
จากฟีดแบ็คที่เข้ามา สมัยก่อน sms ไม่มี ก็จะมีจดหมาย โทรศัพท์
หมายความว่า บางรายการไม่สามารถวัดเรทติ้งได้ในระยะเวลาอันสั้น
บางรายการต้องใช้เวลายาวนานกว่านั้น
ประมาณ 3 เดือนต้องรู้แล้ว อันนี้ผมไม่ได้หมายถึงเรทติ้งที่เอาไปขายโฆษณาที่เขาวัดกัน
แต่หมายถึงเรทติ้งจากคนดูหนึ่ง-อย่างที่บอก หรือจากสอง-บางครั้งเอเยนซีไม่ซื้อรายการนี้
แต่เจ้าของรายการต้องการซื้อรายการนี้ มันก็มีปรากฏการณ์แบบนี้
อย่างรายการที่นี่ประเทศไทย ก็เคยเกิดปรากฏการณ์นี้ ถึงอยู่ได้
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เหมือนเราทำรายการที่มาถูกทาง
ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนเราผัดข้าวผัดให้คนไทยกิน
ไม่ใช่ทำข้าวผัดหรือข้าวกะเพราให้ฝรั่งที่กินกะเพราไม่เป็น
เจ้าของสินค้าที่เป็นเจ้าของเงิน ก็รู้จักรายการดีพอ
หนึ่ง-เขาอาจจะชอบ
สอง-เป็นกลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้าของเขา
เขาคงไม่เอาเงินมาลงในรายการที่ไม่มีผลตอบกลับ
กรณีของ วิกสยาม ที่อยู่ในทีวีไทย ไม่ต้องห่วงเรื่องโฆษณา ?
อันนี้ดีมาก เปิดกว้างมาก แล้วเป็นการทำให้เราอยากคิดทำอะไร
แล้วอยู่ในงบที่เราทำได้ ก็สามารถทำได้เลย แล้วอย่างวิกสยาม
ทีมก็มีไอเดียทำเป็นหนังสือเพื่อแจกช่วงปีใหม่ เป็นหนังสือที่เอาคนรุ่นใหม่มาทำ
อาร์ตเวิร์ก รูปแบบใหม่หมด แต่เนื้อหาจะเป็นเรื่องเก่าที่มาอยู่ในเวลาปัจจุบัน
เช่น ร้านขายก๋วยเตี๋ยวโบราณอยู่ไหน ร้านขายเครื่องดื่มเก่าๆ ที่ยังขายอยู่
ก็จะเป็นเรื่องของวิถีชีวิตปัจจุบัน กิน เที่ยว หาความรู้
บันเทิงในแบบร่วมสมัย เพราะเก่าอย่างเดียวคงไม่ได้
ทำอย่างไรจึงจะลดช่องว่างของวัย ซึ่งคนทุกรุ่นอ่านได้ เข้าใจได้
ผมคิดว่ารายการทุกรายการควรเป็นอย่างนี้
นอกจากฟรีทีวี ปัจจุบันทำรายการที่ทีวีไทย
คุณคิดว่ารายการลักษณะนี้ควรมีอีกเพียงใดในสังคมไทย
ตอนนี้ผมทำ 2 รายการ คือ วิกสยาม และไทยมุง โดยรายการหลังเป็นรายการสด
วันละหนึ่งชั่วโมง ว่าด้วยเรื่องอะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา
ความสนุกของการทำรายการที่ไม่มีโฆษณา
ยกตัวอย่างก็เหมือนพ่อครัวที่ไม่ต้องหยิบซอสยี่ห้อนี้มาใส่ ไม่ต้องหยิบกะปิน้ำ
ปลายี่ห้อนั้น เราเลือกได้ว่าน้ำปลาเจ้าน้อยอร่อย ส่วนน้ำมันหอยต้องเป็นอีกเจ้านึง ...
ทำให้เราหยิบอะไรก็ได้ที่คิดว่าดี และคัดมาแล้ว เพราะฉะนั้น
โดยคอนเซปต์มันก็ควรจะดี
ต้องยอมรับว่า รายการทีวีโดยปกติ ต้องมีเงิน เงินมาจากไหน ก็มาจากโฆษณา
หรือมาจากเงินสนับสนุนทางใดทางหนึ่ง บางทีก็แฝงมา
ซึ่งอาจจะน่าเกลียดน่ากลัวกว่าด้วยซ้ำ (หัวเราะ) แต่ถ้ามีช่องที่ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้
คนทำงานที่มีใจ อยากทำงานที่ดี เขาจะมีความสุขมาก เราสัมผัสได้เลย ทั้ง 2 ทีม
ทั้งทีมไทยมุง และวิกสยาม ทุกคนมีความสุขในการทำงาน
รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ทำรายการแบบนี้
ตัวคุณในฐานะพิธีกรถนัดกับอะไรเป็นพิเศษและต้องการทำอะไร
ที่แตกต่างไปจากที่ผ่านมา
ก็มีเรามีรายการที่อยากทำ
และเป็นตัวเราจริงๆ แต่ยังไม่เกิด
เคยเสนอขอเวลาจากช่องฟรีทีวี ที่ต้องจ่ายค่าเวลา ต้องหาโฆษณา
แต่มันยังไม่ลงตัว บางทีได้เวลา แต่ไม่เหมาะกับรายการ ห่วงว่าทำแล้วเจ๊งหรือเปล่า
เมื่อเราเป็นพ่อครัว หากมาห่วงเรื่องว่าจะมีลูกค้ามามั้ย มันคงผัดแล้วไม่อร่อย
หากใส่เห็ดน้อยกว่านี้จะดีมั้ย เพราะตอนนี้เห็ดแพง ใส่หมูน้อยหน่อย
อาหารจะไม่อร่อย เพราะเราห่วงเรื่องกำไรขาดทุน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า
นี่คือส่วนสำคัญ ถ้าจะทำรายการในฟากของฟรีทีวี นี่คือโจทย์
เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องของธุรกิจ แต่ทำอย่างไรให้เนียน อร่อยด้วย
ไม่ขาดทุนด้วย โจทย์ก็จะเพิ่มเข้ามาอีก 2-3 ข้อ
รายการที่ผมอยากทำ อยากให้เป็นแบบตัวเรา ถ้าถามว่าตัวตนจริงๆ
เราเป็นอย่างไร หนึ่ง-เป็นคนต่างจังหวัด เป็นคนขอนแก่น
เห็นทั้งสังคมต่างจังหวัด ทั้งสังคมในเมือง สนใจเรื่องธรรมะ
ปฏิบัติธรรม เรียนสถาปัตย์ เรียนออกแบบมา มันก็จะมีวิธีคิดที่เป็นกิมมิค
เดาได้ไม่หมด ต้องมีอะไรเก็บไว้สักชั้น เรื่องสนใจผมเยอะ
อย่างกีฬาก็ชอบ ทีนี้ พอนำมาประมวลกัน หากเป็นทอล์คโชว์
ก็คงไม่เชิญแขกมานั่งคุยเฉยๆ แต่กว่าแขกจะนั่งลงได้
อาจจะต้องทำอะไรสักหน่อยมั้ย ปูเรื่องก่อนจะมานั่งคุย
การเล่าเรื่องอาจจะไม่ต้องเป็นแพทเทิร์น เหมือนกันทุกวัน
มันน่าเบื่อ วันนี้ดีไซน์ให้คุยกับคนนี้เป็นอีกแบบนึงได้มั้ย
ไม่นั่งคุย ยืนคุยหรือเดินคุยดี หรือจะนั่งคุยบนเครื่องบิน
ผมไม่ชอบอะไรที่เป็นแพทเทิร์น เพราะความสนุกจะหายไป
ทั้งที่ทีมงานโปรดักชั่นเอง มีธรรมชาติชอบอะไรที่เป็นแพทเทิร์น
อาจเป็นเพราะทำให้เขาทำงานง่ายขึ้น
อันนี้คือปัญหา การทำงานด้วยความเคยชินไปเรื่อยๆ 1-2-3-4 1-2-3-4 วันหนึ่ง
พลังของเราก็จะเหลือน้อยลง เพราะสมองเราไม่ต้องคิด มันจะ 1-2-3-4 1-2-3-4
จนวันหนึ่งรู้สึกตัวขึ้นมา เฮ้ย เขาไป 4-1-2-3 แล้วว่ะ
แต่เรายัง 1-2-3-4 อยู่เลย ตกยุค ดังนั้น อันนี้ต้องคอยระวัง
อย่างต้นปี 51 ที่ผ่านมา ผมเลือกที่จะทำอะไรด้วยความเคยชิน
แล้วมาตกงานอยู่พักหนึ่ง (หัวเราะ) มันเป็นช่วงที่ไม่ทุกข์
แต่ลองดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต เหมือนเราเลือกที่จะลองไปเจอสิ่งอื่นดูบ้าง
โดยที่ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร คนมักจะกลัวการเปลี่ยนแปลง
แต่ถ้าเราต้องการทำอะไรใหม่ๆ ขึ้น ก็ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง
เพราะคนกลัวว่าเปลี่ยนแล้วอาจจะแย่ลง
แต่คนไม่คิดว่าเปลี่ยนแล้วอาจจะดีขึ้นก็ได้ ดังนั้น เราเลือก ก็ตัดสินใจ
พอว่างก็จะมีอะไรเข้ามา อย่างได้ทำวิกสยาม ได้ทำไทยมุง ทำ เก้าร่วมใจ ของช่อง 9
ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของชีวิต
แต่ยังไม่มีโอกาสกลับไปเล่นละคร ?
ยังเลย จริงๆ เล่นละครสนุกมากนะ คือพื้นฐานผมมาจากละครเวที
เริ่มต้นจากที่ผมอยากเรียนกับครูคนหนึ่ง อาจารย์สดใส พันธุมโกมล
ตอนเข้าปี 1 ในงานจุฬาฯวิชาการ รุ่นพี่พูดถึงอาจารย์สดใสว่าเก่งมาก
เป็นคนที่อ่านใจคนออก วิชาละครจบไปไม่ต้องเล่นละคร แต่รู้จักอ่านใจคนอื่น
คุยกับเขา แล้วต้องรู้จักตัวเองด้วย เพราะต้องค้นตัวเองก่อน ก่อนไปเจอคนอื่น
ต้องอ่านบท ตีบท สร้างคนขึ้นมาจากบทละคร
มันเหมือนสถาปัตย์ตรงที่ต้องสร้างตึกสร้างบ้านขึ้นมาจากแบบกระดาษเปล่าๆ
ก็มีความคล้ายกันอยู่
อันนี้เป็นจุดเริ่ม จนได้มาเรียนพื้นฐานละคร ที่เป็นวิชาจริงๆ แล้วได้ทำละครสถาปัตย์
ซึ่งจะเป็นแบบเฉพาะของมันที่ไม่เหมือนละครที่ไหนในโลกนี้
ช่วงปี 2 ปี 3 ต้องนำเสนอแบบให้อาจารย์ มันเหมือนกับว่า
เราเอาวิชาละครมาใช้ได้ พอพรีเซ้นต์จบได้ A เพื่อนๆ บอกว่า
“แอ๊ด มึงเล่นละครให้อาจารย์ดู” (หัวเราะ) แต่จริงๆ แล้ว เราทำไป เราจะรู้ว่า
อาจารย์ต้องถามตรงนี้ ต้องถามตรงทางเข้า เราก็พูดทุกอย่าง ยกเว้นตรงทางเข้า
ยังไม่พูด อาจารย์ก็จะถามว่า “ทำไมทางเข้าคุณทำแบบนี้”
อ๋อ แบบนี้ครับ เราเตรียมมาแล้ว ที่ผมทำให้มุมมันแคบเข้ามาเพื่อเชื้อเชิญ
บางทีมันเป็นเรื่องของจิตวิทยาที่ได้มาจากละคร ทุกอย่างมันเกี่ยวกัน
อาชีพของคุณต้องสัมภาษณ์ผู้คนหลากหลาย
เคยมีความลำบากใจในการพบปะกับคนบางกลุ่มมั้ย
ถ้าหนักใจ ก็มักจะเป็นกลุ่มที่เราถามไม่ตรงคำตอบของเขา
ไม่ใช่เขาตอบไม่ตรงคำถามเรานะ คือเราถามเขาไปอย่างนึง เขาเลี่ยงตอบ
เราก็พยายามต้อนเขากลับมาให้ตอบ
ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกนักการเมืองที่เขามาเพื่อพูดในสิ่งที่เขาอยากพูดเท่านั้น
แต่เราก็ต้องพยายามให้ได้ในสิ่งที่เราอยากได้ เพราะเราเชิญเขามาเพื่อสิ่งนี้
ส่วนชาวบ้านก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเขามักจะอายจะเขิน จะยังปิดตัว
จะไม่เปิดใจกับเรา ก็ต้องมีวิธีการละลายพฤติกรรม ให้เขาสบายใจและเล่าออกมา
จากวิกสยาม ไทยมุง เก้าร่วมใจคนไทยไม่ทิ้งกัน ยังพอมีเวลาทำรายการอื่นอีกหรือไม่
กำลังดีนะ ยังพอมีเวลาว่างได้บ้าง บางเสาร์อาทิตย์อาจจะติด บางอาทิตย์อาจจะว่าง
แต่เราไม่รู้ บางทีปีหน้าอาจจะไม่เหลือสักรายการก็ได้ คือมันไม่แน่นอน
ในแง่การรับงาน บางอย่างทำเพราะอยากทำ บางอย่างทำเพราะสงสัยว่าจะทำได้มั้ย
มันเป็นความท้าทาย บางอย่างทำเพราะศรัทธา บางอย่างทำเพราะช่วยกัน
เพียงแต่เราต้องรู้ว่าทำอะไรเพราะอะไร มันต้องมีสติในการเลือก