แป้งร่ำ
คอลัมน์ บันเทิงต่างประเทศ
มติชน
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
คำตอบที่ได้รับจากประโยคคำถามข้างต้น ไม่น่าแตกต่างกันมากนักเพราะคงมีไม่กี่คนในโลก
ที่หลุดพ้นจากความอยากมี อยากเป็น อยากได้ จนพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า
"ฉันไม่อยากเป็นเศรษฐี"
และประโยคนั้นได้ดึงดูดเด็กชายจากสลัมเมืองมุมไบ
"จามาล มาลิก" ให้ก้าวสู่รายการฮิตอย่างเกมเศรษฐี
ที่จะทำให้เขากลายเป็นเด็กสลัมเงินล้านในชั่วพริบตา
ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า...เขาจะต้องตอบถูกทุกคำถาม
"โกงแน่ๆ จะเป็นไปได้ยังไง ที่เด็กสลัมไร้การศึกษาอย่างจามาล
จะตอบถูกหมด ยังไม่เคยมีใครทำได้ แม้แต่หมอหรือศาสตราจารย์"
เป็นเหตุผลที่ทางรายการอธิบายให้ตำรวจฟัง
หลังจากยัดจามาลเข้าห้องสอบสวนก่อนที่จะตอบคำถามสุดท้ายแต่ในเมื่อคำตอบสุดท้ายคือรู้กับไม่รู้ แล้วมันจะแปลกอะไร
ถ้าจามาล "รู้" เพราะทุกคำถามบนเวทีอาบสปอตไลท์ล้วนเชื่อมโยงกับชีวิตจริงซึ่งเริ่มต้นจากสลัมใหญ่ที่สุดในเอเชียจะว่าไปแล้วชีวิตของจามาลก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่จากสิ่งที่เคยรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ
โดยเฉพาะข่าวหน้าอาชญากรรมและสังคมตั้งแต่กรอบเล็กถึงกรอบระดับนานาชาติทั้งปัญหาความยากจน โสเภณีเด็ก ความขัดแย้งทางศาสนา อิทธิพลมืด แก๊งขอทาน การค้ามนุษย์ความรักที่ต้องพลัดพรากเพราะนางเอกที่เคยมีอดีตเป็นโสเภณีดันมีปัจจุบันเป็นเด็กของเจ้าพ่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ ที่ขาดปัจจัยหลักอย่างเงินรวมถึงความพยายามในการพัฒนาประเทศสู่ความเจริญที่ไม่ต่างกับฟองสบู่ จนหลงลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรม
เป็นปัญหาที่วิ่งวนอย่างไร้ทางออกมานาน
แม้ยุคสมัยและฉากหลังจะไม่เคยเหมือนเดิมแต่สลัมด็อก มิลเลี่ยนแนร์ กลับกลายเป็นความสดใหม่ และสามารถกระชากใจคนดูได้ในเรื่องราวซ้ำๆ เป็นความสำเร็จที่มาจากกลวิธีการเล่าเรื่องและการตัดต่อผ่านการเล่าย้อนประวัติที่ทั้งโชกโชนและโชกเลือดของจามาลผู้กำกับฯอย่าง "แดนนี่ บอยล์" ทำให้เรื่องราวเรียบเรื่อยกระจายเป็นหลากมิติได้อย่างน่าอัศจรรย์เสมอ งานชิ้นเอกนี้ก็เช่นกัน เขาสามารถหยิบยกโครงร่างคร่าวๆทั้งหมดมาใส่ไว้ในหนังที่มีเวลาแค่สองชั่วโมงได้อย่างครบถ้วน และกระแทกใจด้วยการถ่ายภาพแบบเหวี่ยงกล้องแต่เก็บความเคลื่อนไหวของตัวละครได้คมชัดและงดงาม รวมถึงการตัดภาพและตัดต่อแบบฉับไว คล้ายจะแสดงให้เห็นถึงความไม่มีเท่าเทียมกันในสังคม เป็นกลวิธีที่สอดคล้องกับเรื่องราวหลักอย่างน่าสนใจ ซึ่งเขาสามารถเรียงร้อยเรื่องราวหลากอารมณ์ได้อย่างลงตัว
ท่ามกลางเพลงที่เท่ได้ใจในบรรยากาศหลากหลายของอินเดียทั้งหมดเป็นลูกเล่นที่แพรวพราวไม่แพ้ต้นฉบับนิยายขายดีเรื่อง Q and A ฝีมือการเขียนของ วิกาส สวารัป นักการทูต-นักเขียนชาวอินเดีย ด้วยสายตาของคนในที่มองคนในด้วยกัน เขากล้าวิพากษ์มาตุภูมิของตัวเอง ซึ่งถ้าดูเผินๆ แล้วคล้ายกับว่าเขากำลังสาวไส้ครอบครัวตัวเองให้ชาวบ้านฟัง แต่ในระหว่างบรรทัดนั่นคือความหวังดีที่อยากเห็นอินเดียยังคงรากของตัวเองไว้ และเดินไปอย่างถูกทางแม้ว่าเนื้อหาในหนังจะไม่ได้ยึดตามหนังสือซะทีเดียว แต่เมื่อมองอีกสารหลักที่ต้องการจะสื่อของหนังแล้ว ก็พอเข้าใจได้ถึงเหตุผลของการปรับเปลี่ยนและตัดตัวละครอย่างพระนิกายคาทอลิกหรือสายลับออสเตรเลียออกไป โดยเฉพาะความพยายามที่ว่านี่คือเรื่องของชาวอินเดียในอินเดียในโลกตะวันออก ไม่เกี่ยวข้องกับตะวันตกสลัมด็อก มิลเลี่ยนแนร์กัดจิกสังคมได้อย่างแสบสันต์ และก็ไม่ใช่แค่สังคมของอินเดียเท่านั้น
แต่เป็นทุกสังคมที่ยังคงมีสภาวะเหล่านี้ไมว่าจะเป็นการสร้างเปลือกนอกที่หรูหรางดงามครอบความเสื่อมทรามภายในไว้ เปลือกที่เห็นชัดสุดในหนังคือทัชมาฮาล หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ความยิ่งใหญ่และงดงามราวกับเทพสร้างสรรค์ของทัชมาฮาลดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ถึงกับมีคำพูดว่าถ้าไม่ได้เห็นทัชมาฮาล แปลว่ายังมาไม่ถึงอินเดียนั่นคือเปลือกที่ขายคนข้างนอก นักท่องเที่ยวแย่งมุมที่ดีที่สุดเพื่อถ่ายรูปกับทัชมาฮาล
ส่วนย่านเสื่อมโทรมอันกว้างใหญ่ที่สามารถสะท้อนวิถีชีวิตส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้เปลือกนั้น ไม่มีใครอยากถ่ายรูปเก็บไว้สักคน ทั้งที่นั่นคือ "การมาถึงจริงๆ" และความพยายามปกปิด ก็ค่อยๆ กลายเป็นปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่อย่างไม่รู้ตัวหรือระบบทุนนิยมที่หลอกล่อสังคมของประเทศโลกที่สาม ให้มีระบบคิดที่ชื่นชอบและชื่มชมในสิ่งที่ตะวันตกเห็นว่าดีงาม แบ่งแยกความทันสมัยและล้าสมัยอย่างชัดเจน จนละเลยรากที่เคยมีมา โค้กเย็นๆ ซ่าๆ ขวดเดียว
ก็ทำให้ทั้งจามาลและพี่ชายอย่างซาลิมที่เคยแอบดูลูกของชนชั้นกลางดื่มโค้กแบบทิ้งขว้าง เดินตามหัวหน้าแก๊งขอทานไปขึ้นรถด้วยความมั่นใจว่าผู้ชายคนนี้เป็นคนดี หรือเด็กวัยรุ่นที่แห่กันเข้าร้านฟาสต์ฟู้ดโดยไม่รู้เลยว่าน้ำแร่ที่ดื่มๆ กันน่ะคือน้ำประปาที่เพิ่งเปิดจากก๊อก ส่วนกระแสร้อนๆ อย่างความขัดแย้งทางศาสนา ก็เจอการนำเสนอที่ร้อนไม่แพ้กัน เมื่อแม่ของจามาลและซาลิมเป็น "เหยื่อ" ที่ถูกฆ่าตาย
ในเหตุการณ์ที่ชาวฮินดูบุกทำลายบ้านเรือนและฆ่าชาวมุสลิมจำนวนมาก เป็นความตายด้วยสาเหตุที่ว่า "นับถือพระเจ้าคนละองค์กัน" และเป็นเหตุการณ์จุดเปลี่ยนของเรื่อง
เพราะทำให้คนเล็กๆ กลายเป็นเด็กกำพร้าที่ต้องพยายามมีชีวิตและการเหน็บที่จี๊ดสุดคือ
สังคมที่บูชาเงินไม่ต่างกับเทพเจ้าและใช้วิธีคิดแบบอเมริกาคือแก้ปัญหาด้วยเงิน ไม่ว่าใครก็พร้อมที่จะก้าวข้ามพรมแดนของบทบัญญัติทางศาสนาเพื่อให้ได้เงินความต้องการเงินจนเกินพอดีนั่นเอง
ที่เป็นสาเหตุของทุกสภาวะในบรรทัดข้างต้นและทั้งหมดทำให้ไม่แปลกใจเลยที่นอกจากจะคว้ารางวัลมาเพียบจากทุกเวทีแล้ว เสียงปรบมือยังดังกึกก้องในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ เมื่อสิ้นคำว่า สลัมด็อก มิลเลียนแนร์ คือ "ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม" ของปีนี้
หน้า 24