Custom Search

Feb 25, 2009

"ผมฝันอยากกินมาม่าไม่ใส่ข้าว"



วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552


"ผมฝันอยากกินมาม่าไม่ใส่ข้าว" ออกมาจากปากของเด็กนักเรียนคนหนึ่งแถบอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ก็เพราะหลายมื้อของครอบครัวซึ่งประกอบด้วยพ่อแม่และลูกรวมสี่คน บริโภคบะหมี่สำเร็จรูปหนึ่งซองพร้อมเครื่องประกอบและเอาข้าวสุกใส่ลงไปผสมด้วยอีกหม้อใหญ่ คำพูดนี้เตือนให้รู้ว่ายังมีครอบครัวที่ยากจนอีกมากมายอยู่ในแผ่นดินนี้

ตัวอำเภอสะเมิงไกลจากเมืองเชียงใหม่ประมาณ 100 กิโลเมตรเศษๆ แต่ก็ต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 2 ชั่วโมงในฤดูปกติ ถ้าขึ้นไปถึงตำบลบ่อแก้วในฤดูฝนอาจใช้เวลาอีกหนึ่งเท่าตัวเนื่องจากหนทางคดเคี้ยวขึ้นเขาหลายลูก ในบริเวณนี้มีประชา
ชนอาศัยอยู่นับแสนคน จำนวนไม่น้อยเป็นชาวกะเหรี่ยง

กลุ่มที่มีความยากจนขาดแคลนเป็นพิเศษก็คือครอบครัวของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ซึ่งก็เป็นคนไทยทั้งนั้น พ่อแม่จำนวนมากและลูกหลานเกิดในแผ่นดินไทย ไม่ได้
มีความเป็นไทยน้อยไปกว่าคนเมืองเลย เพียงแต่พวกเขาเดินทางมาอาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้ช้ากว่าบรรพบุรุษของพวกเราเท่านั้น

โรงเรียนใหญ่ระดับมัธยมประจำอำเภอหลายแห่ง (หรือแม้แต่โรงเรียนระดับประถมศึกษาบางแห่ง) ในประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคเหนือ นักเรียนส่วนหนึ่งอาศัยหอพักของโรงเรียนและหอพักเอกชนใกล้โรงเรียนเพื่อมาเรียนหนังสือเนื่องจากบ้านอยู่บนดอยบนเขาไกลออกไปมาก พวกเขาต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ญาติพี่น้องมาเรียนหนังสือในลักษณะนี้ บางคนอยู่เป็นเดือนๆ กว่าจะได้กลับบ้านครั้งหนึ่งเพราะไม่มีค่ารถและต้องเดินทางไกลมาก


พ่อแม่เด็กหลายคนให้ลูกขนข้าวปลาอาหารมาแบ่งกินกับเพื่อนที่หอพัก อาหารมีพอควรแต่ที่ขาดก็คือเงินสด เงินสิบบาทยี่สิบบาทมีค่าสำหรับพ่อแม่และเด็กนักเรียนเหล่านี้มาก ค่ำลงเด็กก็ดูโทรทัศน์สนุกสนานกับเพื่อน แต่ก็ไม่วายคิดถึงบ้าน โรงเรียนที่มีหอพักเหล่านี้มีคุณภาพแตกต่างกันออกไป บ้างก็เป็นบ้านใกล้ผุพัง บ้างก็เป็นอาคารถาวร แต่ทุกโรงเรียนจะมีครูอาจารย์พักอยู่ด้วย

นักเรียนกรุงเทพฯ ที่ใช้เงินมาโรงเรียนวันละเหยียบร้อยบาท เดินทางมาโรงเรียนอย่างสะดวกสบาย อาหารการกินพร้อม ถ้าเห็นความลำบากของเพื่อนนักเรียนและครูอาจารย์เหล่านี้แล้วอาจตั้งใจเรียนหนังสือมากขึ้นกว่าเดิม คนเหล่านี้ยอมทนลำบาก บางคนเดินทางวันละ 4-5 กิโลเมตร ดั้นด้นมาเรียนหนังสือก็เพราะต้องการมีความรู้ได้เรียนสูงๆ เพื่อฝันว่าจะมีฐานะครอบครัวและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานให้มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจนซี
ซีเอฟ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หลายปี ภายใต้การนำของท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช และร่วมกับเพื่อนๆ กรรมการอีกหลายคนเพื่อช่วยเหลือเด็กที่เลือกเกิดไม่ได้ โดยมูลนิธิได้รับเงินบริจาคสนับสนุนจากพี่น้องคนไทยและจากชาวอเมริกันเป็นอย่างดียิ่ง

มูลนิธิมีอายุเกือบครบ 30 ปี ได้ทำโครงการทุกลักษณะไม่
ว่าจะเป็นการให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ปกครองและเด็กโดยตรง (ได้ทำในระยะแรกๆ) ช่วยเหลือผู้ใหญ่ในการประกอบอาชีพ โครงการรักการอ่าน จัดหาหนังสือให้โรงเรียนที่ขาดแคลน จัดหารถยนต์ให้บริการรับส่งนักเรียนในบางพื้นที่ที่ยากลำบาก จัดหาสัตว์เศรษฐกิจให้แก่ครอบครัว จัดการสอนเพิ่มพิเศษแก่นักเรียน จัดหาเสื้อผ้าเครื่องกันหนาว จักรยาน เครื่องกรองน้ำดื่มให้โรงเรียน จัดหาอุปกรณ์กีฬา สนับสนุนสื่อการเรียนการสอน สนับสนุนอาหารกลางวัน จัดหาเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ฯลฯ

สิ่งที่มูลนิธิเน้นมากที่สุดคือสร้างคุณภาพชีวิตและโอกาสในการศึกษาของเด็กยากจน ปัจจุบันกิจกรรมของมูลนิธิ ครอบคลุมเด็กกว่า 40,000
คน ใน 30 จังหวัดทั่วประเทศไทย

ในชนบทที่ห่างไกลของไทย ถ้าท่านไปเยี่ยมโรงเรียนชั้นประถม ท่านจะพบเด็กนักเรียนใส่ชุดนักเรียนปักอักษรย่อหลายโรงเรียนดังๆ ของประเทศ ที่ใส่เครื่องแบบเช่นนี้ไม่ใช่เพราะมีพี่ชายหรือพี่สาวเรียนอยู่โรงเรียนเหล่านี้ หากเป็นเสื้อบริจาคมาจากกรุงเทพฯ และหลายโรงเรียนของเด็กเล็กก็ไม่ใส่เครื่องแบบนักเรียนเพราะไม่มีเงินซื้อ รองเท้าส่วนใหญ่ก็เป็นรองเท้าแตะ


การที่รัฐบาลให้เงินสดแก่พ่อแม่เด็กเพื่อซื้อเครื่องแบบนักเรียน 2 ชุดต่อปีต่อคน (ชั้นประถมคนละ 360 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น 450 บาท และตอนปลาย 500 บาทต่อปี) และยอมให้
เปลี่ยนเป็นอุปกรณ์การเรียนอื่นได้หากมีชุดนักเรียนอยู่แล้ว จึงนับว่าเป็นผลดีต่อนักเรียนขาดแคลนเพราะยังสามารถใช้เครื่องแบบที่ได้รับบริจาคมาจากโรงเรียนอื่นและเอาเงินค่าเครื่องแบบที่ได้รับใหม่นี้ไปซื้ออุปกรณ์การเรียนอื่นที่ยังขาดอยู่อีกมาก

การ "เรียนฟรี" เช่นนี้น่าจะทำให้จำนวนปีที่อยู่ในโรงเรียนของเด็กไทยซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 8.5-9 ปี เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีแต่สิ่งที่กระทำไปนี้อยู่ในด้าน "ดีมานด์" การปรับปรุงด้าน "สัพพลาย" คือคุณภาพการศึกษาจะต้องกระทำไปพร้อมกันด้วย มิฉะนั้นจำนวนปีอยู่ในโรงเรียนที่เพิ่มขึ้นจะไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด


สิ่งที่มูลนิธิซีซีเอฟได้ทำไปนี้หลายองค์กรก็ได้ทำอยู่เช่นเดียวกับภาครัฐ แต่ปัญหามันก็มีมากมายให้แก้ไขไม่รู้จบ เรียกได้ว่าทุกองค์กรอยู่ฐานะ "ช่วยกันคนละไม้คนละมือ"

สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษาและการช่วยเหลือเด็กขาดแคลนและอยู่ภายใต้สภาวะ "ช่วยกันคนละไม้คนละมือ" ดังกล่าว มีแสงสว่างหนึ่งที่เจิดจ้าฉายลงมาเป็นกำลังใจให้แก่พวกเราอย่างน่าชื่นใจตลอดมา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอุทิศพระวรกาย พระปัญญา พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วยพระทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาแก่เยาวชน จนเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้พวกเราช่วยกันทำงานเพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่
เยาวชนที่ขาดแคลน

ไม่ว่าคนผิวสีใดหรือเสื้อสีใดก็ตาม หากได้รู้ว่าพระองค์ท่านได้ทรงมีพระเมตตาแก่เยาวชนของเราในทุกแห่งหนบนแผ่นดินไทยมากมายเพียงใดแล้ว ผมมั่นใจว่าทุกสีจะหลอมรวมเหลือเพียงสีเดียวเท่านั้นคือ.......สีม่วง

หน้า 6