Custom Search

Feb 20, 2009

กฎแห่งความโชคดี : บัณฑิต อึ้งรังสี


"กฎแห่งความโชคดี" ในแบบ'บัณฑิต อึ้งรังษี'
หากใครคนหนึ่งเดินไปถึงจุดสุดยอดระดับโลก
ในความรู้สึกของคนทั่วไปย่อมมองว่าช่างโชคดี
แต่สำหรับ บัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกรไทยระดับนานาชาติ
ผู้ชนะเลิศในเวทีแข่งขันวาทยกรที่สำคัญที่สุดในโลกอย่าง
"Maazel-Vilar Internation Conducting Competition"
ณ คาร์เนกีฮอลล์ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2545
ยืนยันว่า ความโชคดีไม่มีในโลก
ดีร้ายเกิดจากการกระทำของตัวเองเท่านั้น
และเสียงการันตีนั้นดังมาจากงานเปิดตัวหนังสือ
"กฎแห่งความโชคดี" กับ บัณฑิต อึ้งรังษี

ที่ห้องสมุดมารวย @Esplanade ศูนย์การค้าเอสพละนาด
โดยบรรยากาศภายในงานคึกคักไปด้วยแฟนคลับ
ของคอนดักเตอร์ระดับโลกกว่าครึ่งร้อยชีวิต
"ความโชคดีสร้างได้" บัณฑิตเอ่ยขึ้นต้นไว้เมื่อเริ่มพูดคุย
แถมเน้นว่าแม้ในสถานการณ์ที่ไม่ดี
ถ้าคนเรามีทัศนคติที่ดีสามารถปรับเปลี่ยนโชคร้ายได้
กฎแห่งความโชคดีถือเป็นหนังสือเล่มที่ 4 ในชีวิต
ที่คอนดักเตอร์ชื่อก้องประพันธ์ขึ้นในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
และเป็นไอเดียภาคต่อจากหนังสือ "30 วิธีเอาชนะโชคชะตา"
ที่บัณฑิตเขียนขึ้น เน้นให้ความรู้
ในการพัฒนาตัวเองเพื่อให้ประสบความสำเร็จ
โดยกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลจริง
บวกกับองค์ความรู้อื่นๆ ที่ได้อ่านมา
เส้นทางเดินชีวิตนักวาทยกรชื่อดัง
ที่วันนี้พ่วงตำแหน่งนักวรรณกรรมเข้าไว้ด้วย
บัณฑิตเล่าให้ฟังว่า
ทั้งสองอย่างไม่ได้เกิดจากความโชคดีและได้มาง่ายๆ

การเป็นนักวาทยกรเกิดจากความใฝ่ฝัน
มาตั้งแต่อายุ 18 จนไปเรียนที่อเมริกา

พอจบแล้วก็ไม่ได้คิดว่าแค่มีงานทำเท่านั้น
แต่มุ่งหวังถึงการมีชื่อเสียง
เหมือนกับว่าตั้งความหวังไว้สูงกว่าที่คิดไว้สักนิดหนึ่ง
แล้วมันจะมีแรงผลักดันให้เราไปยืนอยู่ในจุดนั้นได้เอง
ถ้ามีความพยายามมากพอ
อย่าลืมว่าโลกนี้มีความเป็นไปได้อย่างมาก
คนที่ไม่เก่งก็ได้ดีมีถมไป
นั่นเพราะเขาพยายามและมีความตั้งใจอย่างถึงที่สุด
ด้านงานวรรณกรรม ตนคิดว่าหากเขียนเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิก
คงไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้มากนัก
เพราะคนไทยไม่ค่อยเสพ
และคงไม่สามารถชนะใจคนไทยได้ ถึงจะชนะก็ชนะเพียงสมอง
แต่หัวใจคนฟังไม่ได้เข้าใจ
จึงมาลงตัวที่หนังสือถ่ายทอดประสบการณ์ตรงกว่าครึ่งชีวิต
ดูแล้วว่าน่าจะสื่อสารได้รู้เรื่องมากกว่า
อีกทั้งต้องการเขียนไว้เป็น
แนวทางแก่คนรุ่นใหม่ให้มีวิธีคิดที่ถูกต้อง

เกี่ยวกับเรื่องศักยภาพของตัวเอง
ในการตามหาความฝันว่ามีมากขนาดไหน
เพียงแต่คนเรามักจะนำมาใช้แค่นิดเดียว
"เคยมีคำพูดที่ว่าทุกคนเป็นนักเขียนได้
ผมจึงอยากพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่
และด้วยความที่เป็นคนชอบเลือกมากกว่าถูกเลือก
จึงเดินเข้าหาสำนักพิมพ์เพื่อพูดคุยในสิ่งที่เราอยากถ่ายทอดทันที"
บัณฑิตกล่าวต่อว่า เมื่อเราทำสุดความสามารถ
ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่หนังสือทุกเล่มมียอดขายไม่ต่ำกว่าแสนเล่ม
และด้วยความคิดที่อยากเดินทาง
อยู่ในสายวรรณกรรมไปอีกนานไม่ต่ำกว่า 10 ปี
เพราะมีเรื่องราวมากมายที่อยากเล่าให้คนไทยได้ฟังแบบไม่ซ้ำ
"งานหนังสือแม้จะเป็นงานที่เหงา
แต่เป็นงานอมตะไม่มีวันตาย
เขียนครั้งเดียวแต่คงอยู่ไปถึง 50-100 ปี
คอนดักเตอร์เป็นงานบู๊ต้องแสดงพลังออกมาเยอะ
มีความสุขตอนเล่น แต่ไม่ยืนยงแสดงจบแล้วก็จบกัน
ทว่าทั้งสองอาชีพเป็นงานสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้โลกได้เหมือนกัน
ชอบเพราะเป็นงานที่นำกระแสคนได้"
วาทยากรนักเขียนเผยถึงความประทับใจในงานวรรณกรรม
ก่อนจบการสนทนาบัณฑิตได้กล่าวแนะนำหนังสือเล่มที่ 4 "กฎแห่งความโชคดี"
เนื้อหาแบ่งเป็น 4 ขั้น เริ่มจาก "LUCK MAKERS"
ต่อด้วย "LUCK KILLERS" "LUCKY QUALITIES"
และ "WHAT IF 'BAD LUCK'"
สอดแทรกข้อคิดที่จะทำให้เอาชนะโชคได้
โดยสามารถทำได้ทันทีในชีวิตประจำวัน เช่น
ตั้งเป้าหมายไว้สูงกว่าปกติ
เพราะธรรมดาคนจะประเมินตัวเองต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ด้วยไม่อยากผิดหวัง แต่ถ้าเราตั้งเป้าไว้สูง
จะหาวิธีปีนขึ้นไปให้ได้
และเมื่อสำเร็จคนอื่นก็จะบอกว่าเรานั้นโชคดี
แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย
สำหรับผลงานเล่มต่อไป
บัณฑิตเผยว่า อีกสองเดือนจะออกหนังสือเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิก
คาดว่าจะใช้ชื่อหนังสือ "ซ้อม ซ้อม ซ้อม"
เขียนถึงวิธีการเป็นนักดนตรี และประโยชน์จากดนตรีคลาสสิก
ใครสนใจอย่าลืมติดตาม แต่ถ้าสนใจ "กฎแห่งความโชคดี" มีวางจำหน่ายแล้ว
หาซื้อกันได้ที่ร้านหนังสือนายอินทร์ และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อินสไปร์มิวสิค ราคา 175 บาท
"You make your own luck" แล้วจะรู้ว่าโชคชะตานั้นกำหนดเองได้.