คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
ผู้หวังความก้าวหน้าในชีวิต
ขั้นแรกสุดจะต้องรู้จักเลือกคบหาสมาคม
ไม่คบหาคนพาล คบหาแต่บัณฑิต
ถ้าถามว่ารู้ได้อย่างไรคนไหนเป็นคนพาล
คนไหนเป็นบัณฑิต พระพุทธองค์ตอบไว้ชัดเจนว่า
คนพาลได้แก่คนโง่ คนชั่ว โปรดสังเกตว่าคนโง่กับคนชั่ว
ทางศาสนาถือว่าเป็นอย่างเดียวกัน คนที่พูดชั่ว ทำชั่ว คิดชั่ว
ไม่ว่าจะมีวิทยฐานะสูงส่งเพียงใด มีปริญญาห้อยท้ายยาวเฟื้อยเพียงใด
ยังเรียกว่าคนโง่อยู่นั้นเอง เพราะแกจะทำอะไรโง่ๆ ด้วยอำนาจกิเลส
รู้เห็นกันอยู่ไม่ต้องพูดมากให้เสียเวลา
พระพุทธองค์ทรงเน้นเสมอว่าคนเรานั้นมี "เชื้อดี" อยู่ในตัวมิใช่น้อย
เชื้อดีนั้นจะเจริญงอกงามหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมภายนอก
(ภาษาพระเรียกปรโตโฆสะ) เอื้ออำนวยมากน้อยแค่ไหน
เฉพาะอย่างยิ่งสิ่งแวดล้อมทางบุคคลมีอิทธิพลสำคัญต่อชีวิตมาก
"คบคนเช่นใดย่อมกลายเป็นคนเช่นนั้น"
เป็นความจริงทีเดียว ลองอ่านนิทานเรื่องต่อไปนี้ดูจะเห็นจริง
ลูกนกแขกเต้าสองตัวพ่อแม่เดียวกัน
มีอันต้องพลัดพรากจากกันไปคนละทิศละทาง
เนื่องจากถูกพายุพัดพาไป
(พายุชนิดนี้ภาษาบาลีเรียกว่า "วาตมณฺฑลิกา" แปลว่า ลมหมุน
คงไม่ใช่ลมหัวด้วน เพราะถ้าลมหัวด้วนน่าจะพัดไปทิศทางเดียวกัน
แต่จะเป็นลมอะไรก็ช่างมันเถอะครับ)
ตัวหนึ่งไปตกกลางกองอาวุธของพวกโจรห้าร้อย
พวกโจรนำมาเลี้ยงไว้ ตั้งชื่อว่า สัตติคุมพะ (แปลว่า ไอ้หอก)
อีกตัวไปตกกลางสวนของพวกฤๅษี
พวกฤๅษีตั้งชื่อว่า บุปผกะ (แปลว่า ไอ้ดอกไม้)
ทั้งไอ้หอกและไอ้ดอกไม้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
นิสัยใจคอและการพูดจา (นกประเภทนี้พูดได้)
วันๆ พวกโจรห้าร้อยพูดแต่คำหยาบโลน คุยแต่เรื่องจี้เรื่องปล้น
นกมันได้ยินก็จำคำพูดไว้ ส่วนพระคุณเจ้าเหล่าฤๅษีก็พูดแต่ถ้อยคำไพเราะ
ไอ้ดอกไม้ก็จดจำมาพูดตามวันหนึ่งพระเจ้าปัญจาละเสด็จออกล่าสัตว์
พลัดหลงกับพวกข้าราชบริพารเข้าไปในป่าลึก
ขณะบรรทมอยู่ใต้ต้นไม้ด้วยความอ่อนเพลีย
ไอ้หอกบินมาพบเข้าก็ร้องเสียงดังว่า
"เฮ้ย ปล้นมันเลย ฆ่ามันเลย" พระเจ้าปัญจาละตกพระทัยรีบเสด็จหนีไปทันที
ขืนอยู่กลัวโจรห้าร้อยมันเจี๋ยน คราวนี้ไปถึงอาศรมของพวกฤๅษี
พวกฤๅษีไปหาผลหมากรากไม้กันหมด
เหลืออยู่แต่ไอ้ดอกไม้นกสัปบุรุษตัวเดียวเฝ้าวัดพอเห็นอาคันตุกะมาแต่ไกล
ไอ้ดอกไม้ก็ร้องปฏิสันถารด้วยคำไพเราะ"
ท่านผู้เจริญ ท่านมาแต่ไกล เชิญพักผ่อนก่อน"
พอพวกฤๅษีกลับมา พระเจ้าปัญจาละเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง
พวกฤๅษีบอกว่า ความจริงนกทั้งสองตัวนี้เป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน
แต่นิสัยใจคอทั้งคำพูดคำจาแตกต่างกันอย่างนี้
เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันนี่แค่นกนะครับ
อยู่กับโจรห้าร้อยยังพูดจาหยาบคาย
อยู่กับฤๅษียังพูดจาไพเราะ ถ้าเป็นคนจะชั่วจะดีขนาดไหน
คิดแล้วจะเห็นว่า สิ่งแวดล้อมภายนอกไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ
และสิ่งแวดล้อมทางสังคม
มีอิทธิพลต่อการฝึกฝนอบรมคนมากมายเพียงใดโดยเฉพาะ
"คุณพ่อคุณแม่สี่เหลี่ยม" (โทรทัศน์)
ฉายภาพฆ่าฟันกันเลือดท่วมจอ หรือภาพผัวเมียคู่หนึ่ง
วันๆ พูดแต่เรื่องผิดผัวผิดเมีย เด็กมันดูแล้วคงจำเอาไปปฏิบัติ
เมื่อถึงกาลเวลาอันควรวาดภาพเอาก็แล้วกันต่อไปภายหน้า
คนไทยจะเหี้ยมเกรียมและสำส่อนขนาดไหนได้พูดแล้วว่า
คนพาลกับคนโง่คือคนประเภทเดียวกันตามหลักศาสนา
ไม่ว่าใครจะมีปริญญาห้อยท้ายยาวแค่ไหน
ถ้ายังทำ คิด พูดด้วยอำนาจโลภะ โทสะ โมหะ
อยู่เรียกว่าคนพาลหรือคนโง่ทั้งนั้นถ้ากิเลสหนาๆ
ก็เรียก "อันธพาล" (โง่อย่างมืดบอด) เลยทีเดียว
คนที่แสร้งทำตัวว่าเป็นคนดี
ตำหนิคนอื่นว่า ชั่ว ไม่ดีเท่ากับตนก็ดี
คนที่แกล้งอยู่อย่างจนๆ แต่มีเงินทองมหาศาลก็ดี
เข้าข่ายนี้ทั้งนั้นแหละครับท่านผู้แต่งตำรา
มังคลัตถทีปนี ยกพระเทวทัตขึ้นเป็นตัวอย่าง
ของคนพาลที่ชักพาให้เจ้าชายอชาตศัตรูทำอนันตริยกรรม
ตัดมรรคผลนิพพานของตนเอง ความจริงไม่ได้มีแต่พระเทวทัต
ครูของอหิงสกะที่หลอกอหิงสกะไปฆ่าคนเอานิ้วมือจน
กลายเป็นมหาโจรลือชื่อก็เข้าข่ายนี้ นั่นเรื่องอดีต
ในปัจจุบันนี้เล่า มองไปรอบๆ ตัวคงหา "คนพาลตัวอย่าง"
ได้ไม่ยากนักพระพุทธเจ้าท่านว่า
วิธีดูคนพาลนอกจากดูที่ความคิด คำพูด และการกระทำแล้ว
ยังดูด้วยว่า การกระทำหรือความประพฤตินั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน
หรือประโยชน์ในภายหน้าหรือไม่
ทำอะไรลงไปแล้วทั้งตนและสังคมในขณะที่เป็นอยู่นี้เดือดร้อนไหม
สังคมในภายหน้าเดือดร้อนไหม คำว่า "ภายหน้า"
รวมไปถึงชาติหน้าภพหน้าด้วยผู้ปกครองประเทศที่
คอร์รัปชั่นฉิบหายวายวอดนั้น
สร้างความทุกข์ยากลำบากแก่คนในชาติเป็นมรดกบาปสืบทอดไป
หลายชั่วยุคสมัยก็เข้าข่ายนี้ด้วย
นักสอนศาสนาที่แสดงวิปริตผิดเพี้ยนพระธรรมวินัย
ก่อให้เกิดมิจฉาทิฐิทั่วบ้านทั่วเมืองก็ไม่พ้นข่ายนี้
ยังมีวิธีดูคนพาลอีกวิธีหนึ่งเพิ่มเติมจากข้างต้น
ดูอย่างไรลองอ่านนิทานนี้ดูอกิตติดาบส
อดีตลูกชายมหาเศรษฐีเมืองพาราณสีบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า
ไม่ยอมกินอะไรนอกจากใบหมากเม่าที่ร่วงหล่นลงมา
แกเอาไปต้มกินทั้งน้ำทั้งใบ ยังชีพอยู่ด้วยอาหารชนิดนี้เรื่อยมา
วันหนึ่งขณะแกต้มใบหมากเม่าสุกแล้วยกวางบนพื้นรอให้เย็น
มีพราหมณ์แก่คนหนึ่งเดินโซเซมาขอกินบ้าง
แกก็ให้ไปจนหมดตัวเองไม่กินอะไรเลยวันที่สาม
พราหมณ์แสดงตัวว่าเป็นพระอินทร์ตัวเขียวๆ
ปลอมตัวมาเพื่อพิสูจน์ความอดทนของดาบสหนุ่ม
แล้วถามว่าอยากได้พรอะไรไหม
ให้ขอมาสักอย่างหนึ่งจะประทานให้
ดาบสหนุ่มแทนที่จะขอโรลล์สรอยซ์มาขี่อวดคนสักคัน
แกกลับขอพรแปลกๆ คือ
"ขออย่าได้เห็นคนพาล อย่าได้ยินคนพาล
อย่าได้อยู่ร่วมกับคนพาล
อย่าได้สนทนาปราศรัยกับคนพาล
อย่าได้ชอบใจคนพาล"
คนพาลเขาทำอะไรให้เจ็บช้ำน้ำใจ
หรือจึงไม่อยากพบไม่อยากเห็น"
พระอินทร์ถามดาบสหนุ่มตอบว่า
"คนพาลมีปัญญาทราม
แนะนำในสิ่งที่ไม่ควรแนะนำ
ชักชวนทำสิ่งที่ไม่ได้เรื่อง"
เห็นว่าการชักชวนทำความชั่วเป็นเรื่องดี
คนพาลเวลาเขาพูดดีๆ ก็โกรธคนพาลไม่มีวินัย
เพราะฉะนั้น ไม่พบคนพาลเสียเลยดีกว่าโบราณท่านว่า
จงหลีกสัตว์ที่มีเขาห่าง 50 ศอก
หลีกม้า 100 ศอก
หลีกช้างงา 1,000 ศอก
แต่หลีกทรชนคนถ่อยให้หนีไกลถิ่นเลย
แต่ระวังอย่างเดียวอย่ากลายเป็นคนพาลเสียเอง
หนีเท่าไรๆ ไม่มีทางพ้น
หน้า 6