Custom Search

Feb 27, 2009

ความรู้ที่มาจากอนาคต



คอลัมน์ จิตวิวัฒน์
นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
มติชน
28 กพ.52
www.thaissf.org
แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ในการสัมมนาหรืออบรมทั่วๆ ไปนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมักจะคิดว่า
เพียงเข้าไปนั่งฟังผู้บรรยายก็จะได้รับความรู้จากการสัมมนาครั้งนั้นๆ แล้ว
หรืออย่างน้อยๆ ที่สุดก็เข้าไปเซ็นชื่อรับเอกสารประกอบคำบรรยาย
แล้วบางท่านก็อาจจะ "กระโดด" การประชุมไปเที่ยวเล่นหรือไปทำธุระอย่างอื่น
ประชุมกันประมาณนี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการได้มาซึ่ง "ความรู้"

ชอบใจที่ ออตโต ชาร์มเมอร์ ผู้เขียนหนังสือ "ทฤษฎีตัวยู"
ได้พูดถึงเรื่องราวของ "ความรู้" ไว้อย่างน่าสนใจมาก
ชาร์มเมอร์ได้แบ่งความรู้ออกเป็นสองแบบเท่านั้น คือ
"ความรู้ที่มาจากอดีต" กับ "ความรู้ที่มาจากอนาคต"

"ความรู้" ที่ได้มาจากคนอื่นๆ ไม่ว่าจะมาจากการบรรยายหรือจากการอ่านหนังสือ
รวมถึงท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านบทความชิ้นนี้ก็ตาม กำลังอยู่กับ "ความรู้ในอดีต" ทั้งสิ้น
อาจจะเรียกว่าเป็น "ความรู้มือสอง" หรือ "ความรู้มือสามมือสี่มือห้ามือหก" ก็ได้

ส่วนความรู้อีกแบบนั้น เป็นความรู้แบบที่เราปิ๊งขึ้นมาเอง
เป็นความรู้ "ที่ก่อเกิดขึ้นมาใหม่" ชาร์มเมอร์เรียกว่า เป็น "ความรู้ที่มาจากอนาคต"
เพราะจะต้องถึงเวลานั้นจริงๆ เราถึงจะคิดขึ้นมาได้ เป็น "ความรู้มือหนึ่ง"
หรือผมอยากจะเรียกว่าเป็น "ความรู้ไพรมารี่" (Primary Knowledge)
ความรู้ชนิดนี้จะเป็นความรู้ที่มีความยั่งยืน
คนที่คิดจะรู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองคิดค้นขึ้นมาได้อย่างแท้จริง
และไม่มีวันลืมความรู้ชนิดนี้
นักวิทยาศาสตร์ชื่อเสียงโด่งดังทั้งหลายที่คิดค้นทฤษฎีหรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ
ขึ้นมาเอื้อประโยชน์ให้กับโลกใบนี้ ต่างก็ใช้ "ความรู้ที่มาจากอนาคต" นี้เองทั้งสิ้น

แต่คนส่วนใหญ่มักจะ "ไม่ได้ไว้วางใจตัวเอง" มากเพียงพอที่จะเชื่อว่า
"ตัวเองมีความรู้ชนิดนี้" ได้ และประเด็นสำคัญของบทความชิ้นนี้ก็คือ
อยากจะเรียนว่า "ความรู้ที่มาจากอนาคต" นี้ สามารถสร้างขึ้นมาได้เสมอๆ
และต่อเนื่องไม่รู้จบ
วิธีการแรก คือการสร้างจากความรู้ในอดีต
หรือเรียนรู้จากความรู้มือสอง ซึ่งเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ชอบใช้
ตัวอย่างเช่น การไปนั่งฟังบรรยาย ถ้าเราสนใจกับการรับฟังและเรียนรู้อย่างแท้จริง
เราก็ "อาจจะ" ก่อเกิดความคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาในตัวเรา
เช่น คำพูดบางคำของผู้บรรยาย "อาจจะ" มาโดนใจเรา
ทำให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ

ถ้าเรามั่นใจและลองเชื่อ "ความรู้ที่เกิดใหม่" นี้ ก็นับได้ว่า
ความรู้มือสองที่ได้ยินได้ฟังมานั้นได้กลับมา "ก่อรูป"
ในตัวเรากลายมาเป็นความรู้แบบไพรมารี่ได้
ตัวอย่างเช่น
พยาบาลคนหนึ่งเมื่อเรียนวิชาแทงน้ำเกลือไปสักพักหนึ่ง
ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องอาศัยความรู้แบบมือสองมือสามจากอาจารย์ของเธอก่อน
ในจังหวะนี้เธอมีทางเลือกสองทางคือ
เลือกที่จะเลียนแบบความรู้มือสองมือสามที่ได้รับมาไปตลอดชีวิต
หรือเมื่อเธอฝึกฝนไปเรื่อยๆ หรือให้ความสนใจในเรื่องการแทงน้ำเกลืออย่างต่อเนื่อง
ในที่สุดเธอก็จะ "ก่อเกิดทักษะ" การแทงน้ำเกลือบางอย่างที่เป็น "วิธีการของเธอเอง"
เป็นสไตล์ของเธอเองที่ไม่เหมือนใคร
สิ่งที่เกิดใหม่นี้ก็นับได้ว่าเป็น
"ความรู้แบบไพรมารี่" หรือ "ความรู้ที่มาจากอนาคต" ได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม วิธีการแรกที่เรียนรู้การสร้างความรู้จากความรู้มือสองมือสามนั้น
เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเรามีความตั้งอกตั้งใจสนใจกับเรื่องราวนั้นๆ
จริงๆ ออกจะต้องใช้ "ความพยายามสูง" ในการเข้าไปได้มาซึ่ง "ความรู้ไพรมารี่"
จาก "ความรู้มือสอง" เหล่านั้น
คนส่วนใหญ่จึงเลือกเพียงแค่
"เลียนแบบความรู้เก่าๆ เหล่านั้น"
ออตโต ชาร์มเมอร์
เสนอวิธีการ "สร้างความรู้ไพรมารี่" ในอีกรูปแบบที่น่าสนใจมาก
ในทฤษฎีตัวยูของเขา ชาร์มเมอร์เชื่อว่า "ความรู้แบบไพรมารี่หรือความรู้ที่มาจากอนาคต"
นั้น สามารถสร้างขึ้นด้วยการเริ่มฝึกฝน "ทักษะ" ง่ายๆ ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์เราอยู่แล้ว
ด้วยการ "ช้าลง" และลองกล้าที่จะหยุดการใช้ความรู้เก่า

ชุดความรู้เก่าแบบเดิมๆ ก็เปรียบเหมือนกับการเดินทางจากจุด ก. ไปยังจุด ข.
ระยะทางที่รวดเร็วที่สุดก็คือ "เส้นตรง" จาก ก. ไปยัง ข.
ความรู้ที่รวดเร็วแบบนี้เป็นความรู้เก่าๆ ที่เก็บเอาไว้ในสมองของเรา
และออกมาเป็นอัตโนมัติอย่างรวดเร็ว ไม่มีอะไรใหม่

หากว่าเราจะลองยืดระยะระหว่าง ก. ถึง ข. ให้ยาวขึ้น เราอาจจะได้ "อะไรใหม่ๆ"
เพราะเป็นเส้นทางใหม่ และเมื่อหน่วงระยะ ก. ถึง ข. ให้ยาวขึ้นเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ
กลายเป็น "ตัวยู" ในภาษาอังกฤษ
ซึ่งถ้าเราดูตัวอักษรยู ในภาษาอังกฤษ
เราจะเห็นได้ว่า ตัวยูจะประกอบด้วย "ขาลง" "ก้นตัวยู" และ "ขาขึ้น" ของตัวยู
ที่ "ก้นตัวยู" หรือ ที่ซึ่ง "ความรู้ในอนาคตจะปรากฏ"
เราต้องนำพาตัวเราลงไปตาม "ขาลง" ของตัวยู เพื่อที่จะเดินทางไปถึง "ก้นตัวยู"
น่าสนใจมากว่า ขาลงของตัวยูจะเริ่มต้นด้วย
"การฝึกทักษะการสังเกต" และ "รับรู้" สิ่งที่เห็นสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง
โดยที่ยังไม่ด่วนตัดสินว่าเรื่องราวจะดีจะเลวจะถูกจะผิด
เมื่อใจของเรา "นิ่งพอ" และ
"เริ่มเปิดหัวใจออก" เราจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่รอบตัวได้อย่างเป็นเนื้อเนียนเนื้อเดียวกัน
เรากับสรรพสิ่งรอบตัวนั้นเชื่อมโยงเป็นสิ่งเดียวกัน "การรับรู้" ของเราแจ่มชัดมากขึ้นเรื่อยๆ
จนกลายเป็น "ความรู้สึกที่ใสกระจ่าง" ต่อทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆ ตัวเรา

และเมื่อสภาวะดำเนินไปถึง "ก้นตัวยู" ได้ ณ ที่ตรงนั้น
ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้กรุณาช่วยแปลความหมายว่าเป็น
"มหาสติแห่งการดำรงอยู่" ของเราก็จะค่อยๆ เผยให้เห็นถึง "สิ่งที่เป็นไปได้"
ในอนาคตอันใกล้นั้นได้เอง
ณ ตรงก้นตัวยูนี้เองที่ "ความรู้แบบไพรมารี่"
สามารถ "ก่อเกิดขึ้นได้เอง" จากอนาคตที่อยู่ตรงข้างหน้าของเรานั่นเอง

ในวงจิตวิวัฒน์ครั้งหนึ่ง ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ เคยนำคลิบวิดีโอเรื่อง "The Shift"
ที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากขององค์ความรู้ต่างๆ ในโลกปัจจุบัน
ยิ่งตอกย้ำให้ความสำคัญของ "วิธีการ" หา "ความรู้ที่มาจากอนาคต"
จะไปรอความรู้มือสองมือสาม ย่อมไม่ทันการณ์แล้ว
"การช้าลงบ้าง"
เพื่อมองหา "ความรู้มือหนึ่ง" แบบนี้จึงน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ
ที่จะสามารถช่วยให้เราสามารถก้าวทัน "การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว"
เหล่านั้นได้กระมัง

หน้า 9