Custom Search

Feb 17, 2009

อนาคตของฟุจิโมริ (2)

นิติภูมิ นวรัตน์
ไทยรัฐ
18 กพ. 2552

นายอัลเบร์โต เคนโย ฟุจิโมริ เป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐเปรูระหว่าง

พ.ศ.2533-2543 แกขึ้นมาครองอำนาจในห้วงช่วงที่ประเทศกำลัง ย่ำแย่

และเศรษฐกิจตกต่ำ เมื่อขึ้นมาสู่อำนาจแล้ว ฟุจิโมริก็บริหารประเทศ

ได้อย่างประสบพบความสำเร็จดียิ่ง ขนาดเศรษฐกิจขยายตัวขึ้นไปถึงร้อยละ 12

เมื่อ พ.ศ.2537 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุดในโลก

ฟุจิโมริชนะเลือกตั้งเป็นผู้นำสมัยแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2533

สมัยสองเมื่อ 9 เมษายน 2538 และสมัยที่สามก็เมื่อ 28 พฤษภาคม 2543

แต่ก่อนถึงวันเลือกตั้งในครั้งที่สามนี่แหละ นายอะเลฮันโดร โตเลโด คู่แข่งของแก

ถอนตัวออกจากการแข่งขัน อ้างว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ บริสุทธิ์

ฟุจิโมริจึงไม่มีคู่แข่ง แต่ก็ได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 51 ของ ผู้ออกเสียงเลือกตั้ง

ในสมัยที่ 3 นี่แหละครับ ภาวะของประเทศตกต่ำลงอย่างมาก

มีการประท้วงวุ่นวายเหมือนสมัย พ.ศ.2533

เช่นเดียวกับตอนที่ฟุจิโมริขึ้นมาครองอำนาจใหม่ๆ แถมยังมีเหตุการณ์เอลนีโญ

ทำให้เกิดน้ำท่วมเปรูอย่างรุนแรง

ชนะเลือกตั้งครั้งที่สามแล้ว ก็ต้องเดินทางไปสาบานตนรับตำแหน่ง

เมื่อ 28 กรกฎาคม 2543 แต่คราวนี้ผู้คนไม่ยอมรับ

จึงเกิดจลาจลมีคนตายไป 6 คน อาคารสาธารณะถูกเผา

ในยุคนี้นี่แหละครับ ที่ความชั่วร้ายทั้งหลายของฟุจิโมริเริ่มโผล่

เช่น เอกสารเกี่ยวกับสัญชาติที่ฝ่ายค้านคุ้ยไม่เลิก

มีเทปวีดิโอเปิดเผยว่าพวกของฟุจิโมริเอาเงินไปซื้อ ส.ส. ฝ่ายค้าน

ให้มาเป็นสมาชิกพรรคของฝ่ายรัฐบาล ฯลฯ

เหตุร้ายทั้งหลายทั้งปวงที่โผล่ผุดขึ้นมาในเวลาเดียวกัน

ทำเอานายฟุริโมริจนมุม แกจึงประกาศว่า

จะจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ในเดือนเมษายน 2544

โดยที่แกจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถทำให้ผู้คนเกิดความเชื่อถือได้ในขณะที่กำลังซวนเซโงนเงนโอนเอนอยู่นี่เอง

คนใกล้ตัวที่แกเคยสนับสนุนอยู่ก็ตีตัวออกห่างไปอยู่ข้างประชาชนที่ละคนสองคน

แม้แต่นายฟรันซิสโก ดูเดลา รองประธานาธิบดีของแกเอง

ยังประท้วงด้วยการลาออก

เมื่อสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น ฟูจิโมริก็นำคณะไปเยือนญี่ปุ่น

และแกก็แฟกซ์ใบลาออกจากประธานาธิบดีมาที่รัฐสภา แต่พวก ส.ส. ไม่ยอมรับ

กลับลงมติไล่แกออกจากตำแหน่งข้อหามีความประพฤติไม่เหมาะสม

ในการปกครองประเทศ

จากนั้นพวกในรัฐบาลใหม่ก็เรียงหน้าฟ้องฟุจิโมริเป็นระลอกหลายคดี

กะเอาให้นายฟุจิโมริตายขายไม่ออกและกลับมาเป็นประธานาธิบดีไม่ได้อีก

ที่ต้องเอาให้ตายก็เพราะว่า ประชาชนคนรากหญ้ายังรักนายฟุจิโมริอยู่

ยังนึกถึงวันชื่นคืนสุขและวันเดือนปีที่ฟุจิโมริเคยมี

ความสามารถพาประเทศไปสู่ความรุ่งโรจน์

ข้อหาที่ฟุจิโมริโดนมีเยอะ เช่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง ยักยอกเงินกองทุนรัฐไปหลายล้านดอลลาร์ ฆาตกรรมซึ่งเกี่ยวดองหนองยุ่ง กับการฆ่าประชาชนคนเป็นจำนวนมาก ฯลฯ

ทุกทีที่ศาลเปรูพิจารณาคดี ฝ่ายจำเลยคือฟุจิโมริไม่เคยไปปรากฏตัวในศาล

ผู้พิพากษาศาลฎีกาจึงออกหมายจับระหว่างประเทศ แต่ญี่ปุ่นปฏิเสธ

ไม่ยอมส่งตัวฟุจิโมริไปให้เปรู อ้างว่าฟุจิโมริมีสัญชาติญี่ปุ่นตามพ่อ

และญี่ปุ่นกับเปรูก็ไม่มีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน

แถมมหาวิทยาลัยหลายแห่งในญี่ปุ่น

ยังให้เกียรติเชิญนายฟุจิโมริเป็นผู้บรรยายพิเศษซะอีก

เช่นที่มหาวิทยาลัยทะกุโชะกุในกรุงโตเกียว

พ.ศ.2548 ฟุจิโมริชะล่าใจดันเดินทางไปชิลี และก็ไปถูกจับที่นั่น

เพราะเปรูกับชิลีมีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน

รัฐบาลเปรูจึงยื่นคำขอให้มีการส่งตัวผู้ร้ายจากชิลีไปยังเปรู

มีการเลื่อนพิจารณาคดีออกไปหลายครั้ง

โดยอ้างว่าฟุจิโมริป่วย

ครั้งต่อไป ผมเชื่อว่ามีแน่

และก็น่าจะเป็น 20 มีนาคม 2552

มีคนบอกว่าฟุจิโมริจะต้องเข้าไปอยู่ในคุกนาน 30 ปี

หากไม่ตาย ฟุจิโมริจะออกจากคุกเมื่ออายุ 100 ปีพอดี

ฟุจิโมริเกิด พ.ศ.2481 ขณะนี้อายุ 70 ปีพอดี

นี่คือวิธีกันไม่ให้คนสำคัญที่ประชาชนคนรักมาทำงานการเมือง.