Custom Search

Feb 8, 2009

สดับธรรม"โอวาทปาติโมกข์" พุทธปฏิบัติรับวัน"มาฆบูชา"



สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
มติชน
วันที่ 09 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

"โอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นการประมวลคำสอน
หลักของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสงฆ์สาวกนำไปประพฤติปฏิบัติ
และนำไปสั่งสอนผู้อื่นในแนวทางเดียวกัน..."

มาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
ซึ่งพุทธศาสนิกชนจะพร้อมใจกันทำบุญเป็นกรณีพิเศษกว่าปกติ
เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์
นับว่าเป็นวันที่พระพุทธศาสนาได้วางรากฐานมั่นคง เรียกวันดังกล่าวนี้ว่า
"วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งแปลว่า
วันที่มีการประชุมที่ ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ คือ

๑. พระภิกษุสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
๒. พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
๓. พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา
คือ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บวชให้เองทั้งสิ้น
๔. วันประชุมนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน ๓)

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์เช่นนี้ พระพุทธองค์จึง
ทรงถือโอกาสแสดงโอวาทปาติโมกข์ คือ คำสอนที่เป็นหลักสำคัญ
ในทางพระพุทธศานา ในท่ามกลางพระอริยสงฆ์นั้น
นับเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นตลอดพุทธกาล
โอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นการประมวลคำสอน
หลักของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสงฆ์สาวกนำไปประพฤติปฏิบัติ
และนำไปสั่งสอนผู้อื่นในแนวทางเดียวกัน

หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติได้แก่ โอวาทปาติโมกข์
หมายถึงหลักคำสอนคำสำคัญของพระพุทธศาสนาอันเป็นไป
เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น
หรือคำสอนอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา
หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ วิธีการ ๖ ดังนี้

หลักการ ๓
๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลด ละเลิก
ทำบาปทั้งปวง ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งความชั่ว
มีสิบประการ อันเป็นความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ

ความชั่วทางกาย ได้แก่
การฆ่าสัตว์
การลักทรัพย์
การประพฤติผิดในกาม
ความชั่วทางวาจาได้แก่
การพูดเท็จ
การพูดส่อเสียด
การพูดเพ้อเจ้อ

ความชั่วทางใจ ได้แก่
การอยากได้สมบัติของผู้อื่น
การผูกพยาบาท
และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม


๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดี ทุกอย่างซึ่งได้แก่
กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี ๑๐ อย่าง
อันเป็นความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ

การทำความดีทางกาย ได้แก่
การไม่ฆ่าสัตว์
ไม่ทำร้ายเบียดเบียน ผู้อื่นมีแต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
การไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มาเป็นของตน
มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
และการไม่ประพฤติผิดในกาม

การทำความดีทางวาจา ได้แก่
การไม่พูดเท็จ
ไม่พูดส่อเสียด
ไม่พูดคำหยาบ
และไม่พูดเพ้อเจ้อพูดแต่คำจริง พูดคำอ่อนหวาน พูดคำให้เกิดความสามัคคี
และพูดถูกกาลเทศะ

การทำความดีทางใจ ได้แก่
การไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นมีแต่คิดเสียสละ
การไม่ผูกอาฆาตพยาบาทมีแต่คิดเมตตาและปรารถนาดี
และมีความเห็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว


๓. การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่
การทำจิตของตนให้ผ่องใส
ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้
เข้าถึงความสงบ มี ๕ ประการ ได้แก่
๑. ความพอใจในกาม (กามฉันทะ)
๒. ความอาฆาตพยาบาท (พยาบาท)
๓. ความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน (ถีนะมิทธะ)
๔. ความฟุ้งซ่าน รำคาญ (อุทธัจจะกุกกุจจะ)
และ ๕. ความลังเลสงสัย (วิกิจฉา)
เช่น สงสัยในการทำความดี ความชั่วว่ามีผลจริงหรือไม่

วิธีการทำจิตให้ผ่องใส
ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการละบาปทั้งปวงด้วยการถือศืล
และบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะ
และวิปัสสนาจนได้บรรลุอรหัตผล อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริง


อุดมการณ์ ๔
๑. ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกายวาจา ใจ
๒. ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้ายรบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
๓. ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ
๔. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
เกิดขึ้นได้จาการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ ๘


วิธีการ ๖
๑. ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร
๒. ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
๓. สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎ กติกา กฎหมาย
รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม
๔. รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหาร
หรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
๕. อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
๖. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบมีสุขภาพ
คุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี