มติชน
วันที่ 06 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
18 มกราคม 2551 เป็นวันที่เราสูญเสีย
ขุนพลคนสำคัญในสนามรบเพื่อสุขภาพ
และสุขภาวะของคนไทยทั้งมวล ในวัยฉกรรจ์
แต่ก่อนจากไปเขาได้วางเสาหลักของการสร้างสุขภาพ
และสุขภาวะไว้ 2 หลัก
หลักหนึ่งเป็นรูป อีกหลักหนึ่งเป็นนามรูปคือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
อันประกอบด้วย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
และเครื่องมือคือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
อันเป็นองค์กรอิสระตามพระราชบัญญัติ
ส่วนนามนั้นคือ มิติทางจิตวิญญาณ เพราะระบบบริการสุขภาพ
จะมีแต่โครงสร้างกลไกเท่านั้นไม่พอ
แต่ต้องมีมิติทางจิตวิญญาณของบริการสุขภาพนี้ได้รับการขนานนามว่า
"มิตรภาพบำบัด"มิตตะ เป็นศัพท์เดียวกับเมตตาความเป็นมิตร
การมีไมตรีจิตเป็นการเยียวยาอย่างยิ่ง
ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อทุกฝ่าย ยังให้เกิดความสุขอันล้นเหลือ
ทำให้โรคบรรเทาเบาบางหรือหายไปได้
ระบบบริการสุขภาพจึงขาดมิติทางจิตวิญญาณไม่ได้
ระบบบริการสุขภาพที่มีมิติทางจิตวิญญาณนี้มีการเรียกกันว่า
"ระบบบริการสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์"
นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ขุนพลคนสำคัญของการสาธารณสุขไทย
เป็นเสาหลักแห่งหลักประกันสุขภาพและมิตรภาพบำบัด
ซึ่งทรงความสำคัญยิ่งต่อการสร้างสุขภาพและสุขภาวะของคนไทยทั้งมวล
คุณหมอสงวนจากไปแต่กายเท่านั้น แต่จิตวิญญาณของท่านยังอยู่
ดังที่จะเห็นว่าคนไทยมากหลายยังคิดถึงท่าน พูดถึงท่าน
เขียนถึงท่านและต้องการสานต่อสิ่งดีๆ
ที่ท่านทำไว้ให้เป็นประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นไปดังที่ได้มีการจัดงาน
"มิตรภาพบำบัด : ศรัทธาอาลัย หนึ่งปีที่จากไปนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์"
ในวันที่ 19-20 มกราคม 2552 โดยมี สปสช. มูลนิธิมิตรภาพบำบัด
(กองทุน นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์)
และหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ เป็นเจ้าภาพร่วมจัด
เห็นได้ชัดว่าคนทั้งหลายยิ่งคิดถึงคุณหมอสงวน
ยิ่งอยากทำความดีต่อเพื่อนมนุษย์มากขึ้นจึงกล่าวว่า
จิตวิญญาณของคุณหมอสงวนยังอยู่
และเคียงคู่ไปกับขบวนการทำเพื่อเพื่อนมนุษย์อันกว้างใหญ่ไพศาลของเรา
ทั้งหลายรู้จักคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์
ตั้งแต่เธอเป็นนักศึกษาแพทย์ และนับตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต
เรียกว่าไม่เคยขาดการติดต่อกันเลย
ทั้งในเรื่องชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัวไม่ว่าเขาจะไปทำงานที่ไหน
ประสบปัญหาอะไร ประสบความสำเร็จอะไร
โดยเฉพาะยามเขามีความทุกข์
ก็จะติดต่อพูดคุยอย่างสม่ำเสมอแม้แต่เขาไปรักใครก็มาบอก
และในที่สุด ขอให้เป็นเถ้าแก่ไปสู่ขอหมออพภิวันท์
ซึ่งได้กลายมาเป็นคู่ทุกข์คู่สุขและแม่ของลูก
จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ใกล้ชิดความรู้สึกนึกคิด
จริตและอุดมการณ์ของคุณหมอสงวนดีที่สุดคนหนึ่ง
จึงขอนำมาเล่าไว้ดังต่อไปนี้
ในช่วง 14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519
เป็นช่วงที่นักศึกษามีความตื่นตัวในอุดมการณ์เพื่อเพื่อนมนุษย์มาก
นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล อาจมากกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ
ก่อนตุลามหาโหด นักศึกษาแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์
แห่งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ได้รับเลือกเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล
ท่ามกลางความร้อนแรงของอุดมการณ์ในหมู่นักศึกษาโดยทั่วไป
คนที่ได้รับเลือกเป็นนายกสโมสรคงจะมีความเป็นพิเศษหลัง 6 ตุลาคม
นักศึกษาที่ไม่ถูกฆ่าตายหรือถูกจับกุมก็หลบหนีและซ่อนตัว
ได้รับโทรศัพท์จาก น.ศ.พ.สงวน ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในเมือง
ไม่ได้มอบตัวเพราะไม่ได้ทำผิดอะไร
ต่อมาได้กลับมาศึกษาต่อจนจบเป็นแพทย์ฝึกหัด
แล้วออกไปเป็นแพทย์ชนบทอยู่ที่อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
ที่นั่นเขาสนุกอยู่กับการรับใช้คนจน
แต่ในสมัยเช่นนั้นที่เป็นโรคกลัวคอมมิวนิสต์ขึ้นสมอง
ใครที่รับใช้คนจนจะถูกเพ่งเล็งจากทางราชการ
เขามีอาสาสมัครชาวเบลเยียมมาช่วยทำงานอยู่ด้วย กอ.รมน.
ในพื้นที่ไปออกข่าวว่าเบลเยียมเป็นประเทศคอมมิวนิสต์
อาสาสมัครเขาก็โกรธมากจะไปฟ้องสถานทูตเบลเยียม
เมื่อคุณหมอสงวนเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ผู้เขียนก็บอกสื่อมวลชนว่า กอ.รมน.
ในพื้นที่ไปว่าเบลเยียมเป็นคอมมิวนิสต์รุ่งขึ้น
นายทหารจาก กอ.รมน. ก็มาพบผู้เขียนที่ศิริราช
การทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะเป็นเครื่องมือที่สำคัญ
ในการแก้ความเข้าใจผิดในสมัยนั้น
โรงพยาบาลชุมชนได้งบประมาณค่ายาและเวชภัณฑ์เพียงปีละ 10,000 บาทเท่านั้น
เมื่อผู้เขียนได้รับทุนจากองค์การแตร์เดอซอม เยอรมนี
จึงส่งเงินไปสนับสนุนการทำงานของสงวนที่ราษีไศลด้วย
ต่อมาสงวนย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอบัวใหญ่
จังหวัดนครราชสีมา เขาเคยชวนไปเยี่ยมและค้างคืนที่นั่น
เพื่อดูการทำงานของเขา นักธุรกิจในอำเภอบัวใหญ่ได้รวมตัวกัน
จัดตั้งมูลนิธิเพื่อสนับสนุนงานของโรงพยาบาล
ต่อมาเขาเข้ามาทำงานกองแผนงานในกระทรวงสาธารณสุข
เขาไปศึกษาที่ประเทศเบลเยียม
นอกจากขยายมุมมองและเพื่อมิติทางทฤษฎีของระบบบริการสุขภาพแล้ว
ยังทำให้เขาคุ้นเคยกับครูบาอาจารย์ที่นั่น
รวมทั้งกับคนในประชาคมยุโรป ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์
ประเทศเบลเยียม
จากประสบการณ์อันยาวนานในการบริการคนยากจนทำให้สงวนเห็นว่า
คนจนเข้าไม่ถึงและขาดหลักประกันสุขภาพ
การจะสร้างหลักประกันสุขภาพเป็นเรื่องยาก
และทำไม่ได้โดยปราศจากความรู้
สงวนจึงขวนขวายขอทุนจากประชาคมยุโรป
มาทำโครงการวิจัยปฏิรูประบบบริการสุขภาพที่เรียกว่า
Health Care Reformจนกระทั่งเชื่อว่า
สงวนเป็นผู้มีประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับ
การปฏิรูประบบสุขภาพมากที่สุดของคนไทย
การจะปฏิรูปใดๆ ถ้าปราศจากความรู้จริงในเรื่องนั้นๆ
แล้วทำให้สำเร็จไม่ได้ในระหว่างนั้นเขาเติบโตในหน้าที่ราชการ
เป็นผู้อำนวยการกองแผนงาน
และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเมื่อใกล้ศูนย์อำนาจเข้าไปเท่าไร
ก็จะมีความเครียดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นต่างจากอิสรภาพในป่าดง
เมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนช่วงนี้
เป็นช่วงที่สงวนมีความทุกข์มากที่สุด
เท่าที่เขาเล่าให้ฟังว่า
เขาถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมงานและรุ่นพี่ที่เป็นนายอย่างไร
บ้างนอกจากรับฟังความทุกข์ของเขาแล้วต้องพยายามปลอบใจ
และยกธรรมะทุกชนิดขึ้นมาแนะนำ เช่น ความอดทน การปล่อยวาง
การให้อภัย การเจริญสติ เจริญสมาธิ
พบว่าเขาเป็นคนที่ใช้ความอดทนมากกว่าเพื่อนๆ
ที่จะอยู่ตรงนั้น ในขณะที่เพื่อนๆ ที่ทนไม่ไหวก็แยกย้ายจากตรงนั้นไปได้
บอกสงวนว่า หนักเข้าจะเหลือเขาคนเดียวอยู่ที่นั่น
ความเครียดและความเก็บกดคงจะมีผลต่อสุขภาพของเขาในเวลาต่อมา
สงวนได้ช่วยทำคลอดโครงการหรือองค์กรใหม่ๆ หลายอย่าง
เพื่อพระราชบัญญัติประกันสังคมออกมา
เราไม่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเงินสุขภาพที่จะประเมินเพื่อการปรับตัวเลย
สงวนต้องไปรวมพรรคพวกมา 4-5 คน
ที่ต้องการฝึกตัวเองให้ทำงานทางการเงินสุขภาพ
เพื่อตั้งมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาสงวนเป็นผู้ยกร่างตราสาร
เมื่อตั้งมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สงวนเป็นผู้ยกร่างตราสาร
เมื่อตั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
สงวนเป็นผู้ยกร่างพระราชบัญญัติการจะทำให้เรื่องดีๆ
คลอดออกมาตลอดรอดฝั่งเป็นเรื่องยาก
จึงยกย่องสงวนเป็น "หมอทำคลอด" เรื่องดีๆ
แม้บัดนี้ก็ยังหา "หมอทำคลอด" เรื่องดีๆ ได้ยาก
ใครที่ต้องการทำเรื่องดีๆ ให้บ้านเมือง
ควรจะศึกษาว่าการเป็น "หมอทำคลอด" โครงการพัฒนาต่างๆ
อย่างที่คุณหมอสงวนทำนั้นทำอย่างไรสงวนมีความต้องการอย่างแรงกล้า
ที่จะสร้างระบบประกันสุขภาพ ที่ทำให้คนไทยทั้งหมดโดยเฉพาะคนยากคนจน
มีหลักประกันว่าจะเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพดีพอสมควร
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน
และไกลสุดเอื้อมเพราะมีอุปสรรคมากมาย
นอกจากคนที่มีความฝันใหญ่ (Big Dream)
นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ คือคนที่มี Big Dream คนนั้น
ความฝันที่จะให้คนยากคนจนทั้งแผ่นดินมีหลักประกันสุขภาพ
เป็นความฝันของพระโพธิสัตว์ที่จะช่วยให้เพื่อนมนุษย์ทั้งผอง
ข้ามไปถึงฝั่งข้างโน้นได้ความฝันใหญ่จะช่วยให้เกิดความเพียรอย่างแรงกล้า
ที่จะทำให้ได้ขณะนั้นพวกเราได้เรียนรู้แล้วว่า
การกระทำอะไรที่ยากประดุจเขยื้อนภูเขานั้นต้องใช้ "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา"
สงวนเขยื้อนภูเขาแห่งหลักประกันสุขภาพโดยใช้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว
กล่าวคือ
(1) สร้างความรู้ ดังที่ทำการวิจัยเรื่อง Health Care Reform
จนเชี่ยวชาญดังกล่าวแล้ว
(2) เคลื่อนไหวสังคม สงวนร่วมกับอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์
และคณะอีกมากขับเคลื่อนทางสังคม จนมีประชาชนกว่า 50,000
เข้าชื่อเสนอ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
(3) โยงกับอำนาจรัฐหรือการเมือง เมื่อพรรคไทยรักไทยกำลังหาเสียงเลือกตั้ง
สงวนมีโอกาสเสนอโครงการหลักประกันสุขภาพ
ซึ่งคุณทักษิณ ชินวัตร หยิบไปหาเสียงในนามของ
"สามสิบบาทรักษาทุกโรค" ซึ่งเป็นลูกเล่นหรือกิมมิกส์ในทางการเมือง
แต่พื้นฐานคือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าการมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
และ สปสช. ออกมาเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับประเทศ
แต่กระนั้นก็ตามถ้าไม่ได้นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นเลขาธิการคนแรก
เรื่องนี้ก็คงจะล่มลง เพราะทนแรงเสียดทานของความไม่รู้ ความเย้ยหยัน
ความต้องการทำลาย และการแทรกแซงทางการเมืองไม่ได้
สงวนมีความรู้ มีศีลธรรม และมีบารมีที่ทางการเมืองเขาเกรงใจ
จึงช่วยให้หลักประกันสุขภาพตั้งหลักปักฐานในสังคมไทยได้อย่างมีสุขภาพ
ไม่เจ็บป่วยล้มหายตายจากไปเสียก่อนมีตัวอย่างถมไปที่ความตั้งใจดีไปไม่รอด
เริ่มตั้งแต่ออกกฎก็เพี้ยนไปแล้ว ถ้าไม่ติดตามตลอดกระบวนการ
เมื่อกฎหมายออกมาแล้วอาจถูกไฮแจ๊ค
โดยคนที่ไม่รู้และไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมือง
หรือโดนแทรกแซงด้วยอำนาจในระบบราชการ
หรือทางการเมืองจนเรื่องนั้นหมดสภาพที่จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง
แต่ค้างโด่ที่จะสูบงบประมาณ เข้าไปดำรงสิ่งที่หมดสภาพประโยชน์แล้ว
เรื่องเช่นนี้มีเต็มไปหมดในระบบรัฐไทย
เรื่องการสร้างหลักประกันสุขภาพได้สำเร็จจึงควรเป็นตัวอย่าง
ให้ผู้คนมาศึกษาว่าเรื่องดีๆ ทำให้สำเร็จได้อย่างไรในสังคมไทยงานของ สปสช.
อาจจะยังไม่ได้วิเศษสุด
แต่นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ได้ทุ่มเทชีวิตในวาระ 4-5 ปี
สุดท้ายของชีวิต ต่อสู้อดทน ปลุกปล้ำ สร้างสรรค์ สร้างคน
แหวกฝ่าอุปสรรคนานาประการ ทำให้ทารกแห่งหลักประกันสุขภาพ
พ้นปากเหยี่ยวปากกา ไม่ถูกทำให้บริการแต่กำเนิด
พร้อมที่จะเติบโตตบแต่งให้แข็งแรงงดงามต่อไป
นับเป็นมหาคุณูปการต่อประชาชนไทยทั้งมวล
เป็นมหากาพย์การพัฒนาสาธารณสุขไทย
ที่ควรจารึกไว้ชั่วนิรันดร์ และได้ก่อร่างสร้างเรื่อง "มิตรภาพบำบัด"
อันเป็นมิติทางจิตวิญญาณ ไว้ให้รุ่นน้องได้สานต่อให้งอกงามไสวต่อไป
ว่าระบบบริการสุขภาพไทยไม่ได้มีแต่กายเท่านั้น
แต่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์อีกด้วยผู้เขียนเป็นคนโชคดี
ที่ได้รู้จักและร่วมงานกับคนดีๆ อันหาได้ยากเป็นจำนวนมาก
โชคดีที่ได้รู้จักและร่วมงานกับนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์
ที่มีจุดบรรจบในตัวเองหลายอย่าง
คือมีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ มีประสบการณ์ มีความรู้สามารถเรียนรู้
และใช้ความรู้ในการทำงานสามารถมองเชิงระบบและมีทักษะในการจัดการ
มีความฝันใหญ่และสามารถเคลื่อนเรื่องใหญ่อดทนต่อความเสียดทาน
ถึงพร้อมด้วยธรรมะเพื่อความก้าวล่วง 4 ประการคือ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ
ตามคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส
ความบรรจบขององค์คุณทั้งหลายทำให้สามารถสร้างประโยชน์ให้คนทั้งแผ่นดินได้
เป็นเสาหลักแห่งหลักประกันสุขภาพสำหรับคนไทยทั้งมวล
และมิตรภาพบำบัดที่ปักลงไว้ในแผ่นดินไทยจิตวิญญาณ สงวน นิตยารัมภ์พงศ์
ยังอยู่คู่แผ่นดินไทย ยังจะร่วมกับพี่และน้องตลอดจน
เพื่อนคนไทยทั้งหลายที่จะร่วมกันสร้างประเทศไทย
ให้คนไทยมีสุขภาพและสุขภาวะดีถ้วนหน้า
และทำประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก
ในชั่วกาลนาน
หน้า 7