Custom Search

Feb 21, 2009

หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา ไอดอลของ คุณชายผู้ว่า กทม.




ทีมข่าวหน้าสตรี
ไทยรัฐ
22 ก.พ. 52

อุทิศตัวทำงานในวงการศึกษามายาวนานกว่า 50 ปี
ในฐานะ “ครู” จวบจนวันนี้เข้าสู่วัย 84 ปี
“หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา” ก็ยังคงมีไฟทำหน้าที่
ปลุกจิตสำนึกแม่พิมพ์ของชาติจนมีลูกศิษย์ลูกหาเต็มเมือง
นอกจากนี้ หม่อมดุษฎียังเป็นที่รู้จักกันอีกในฐานะ
“แม่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” คนปัจจุบัน

เส้นทางของการเป็นครูของหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา
เริ่มต้นด้วยการเปิดศูนย์เลี้ยงเด็กที่นับเป็นเนิร์สซารี่แห่งแรกในเมืองไทย
ที่บริเวณซอยสมประสงค์ ถนนเพชรบุรี เมื่อ 54 ปีที่แล้ว
จนเป็นที่มาของโรงเรียนสมประสงค์ สอนเด็กระดับอนุบาล
และประถมศึกษามายาวนานถึง 40 ปี ก่อนปิดดำเนินการเมื่อปี 2538
สำหรับผู้ที่ขีดเส้นชีวิต “หม่อมดุษฎี” ให้เกี่ยวข้องกับวงการศึกษา
จนได้ทำประโยชน์คุโณปการมากมายให้แก่การศึกษาไทยนั้น
อาจารย์หม่อมดุษฎีของลูกศิษย์ ย้อนเล่าให้ฟังด้วยความจำอันเลิศว่า

“เรื่องนี้ต้องยกความดีให้แม่-ดรุณ อิศเรศรักษาผู้ซึ่งเป็นครูและเป็นคนขอให้ฉันเรียนครู
ที่บ้านทั้งแม่และพ่อ-หลวงอิศเรศรักษา (ปลื้ม ณ ถลาง)
ไม่เคยบังคับเคี่ยวเข็ญค่อนข้างจะตามใจเรียนอะไรก็ได้ด้วยซ้ำ
แต่หลังจากที่ฉันจบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แม่ก็บอกว่าเรียนครูเถอะ
แต่ฉันเป็นคนใจร้อน ก็บอกแม่ว่าอย่าเลยกลัวจะไปตีลูกเขาตาย
แม่ก็บอกให้เรียนไปเถอะ แม่จะออกเงินให้
แต่ตอนที่เรียนมาแตร์เดอี อยากเป็นหมอเพราะเก่งวิทยาศาสตร์
แต่เรียนหมอต้องผ่าตัด ต้องผ่ากบ เลยต้องตัดสินใจไม่เรียนไม่กล้าผ่าตัดใคร
เลยเลือกเรียนศิลป์ เรียนอักษรฯ พอมาเรียนก็รู้ว่ารักหนังสือมาก
ชอบอ่านหนังสือ อยากเป็นนักเขียน
พอแม่บอกให้เรียนครูก็เลยไปเรียนคุรุศาสตร์ ที่จุฬาฯ
ซึ่งเรียนไปไม่กี่ชั่วโมงก็รู้ว่าเรารักอาชีพนี้ นี่คือชีวิตของเรา”

เมื่อจบปริญญาตรีทางอักษรศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยคะแนนเกียรตินิยมแล้ว
หม่อมดุษฎีจึงเรียนคุรุศาสตร์จนได้รับ
อนุปริญญาทางคุรุศาสตร์ เกียรตินิยม จากจุฬาฯเช่นกัน
จากนั้นได้รับทุนคุรุสภาไปเรียนต่อปริญญาโททางพัฒนา การเด็ก
ที่มหาวิทยาลัยมิลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
และได้รับอนุปริญญาทางการเลี้ยงเด็กจากมหาวิทยาลัยเดียวกันด้วย
ในระหว่างที่อยู่ต่างแดน ชีวิตได้ผันเปลี่ยน
เมื่อได้เข้าเฝ้าเจ้านายหนุ่ม “พระวรวงศ์ เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์”
ซึ่งหม่อมดุษฎีเล่าด้วยรอยยิ้มว่า

“เราเจอกันที่ กรุงวอชิงตัน ตอนที่ฉันไปทำปริญญาโท
มหาวิทยาลัยของฉันที่จริงอยู่ทางตะวันตก
แต่อยากมาดูหิมะที่ด้านตะวันออกเลยมาเที่ยวที่วอชิงตัน
แล้วได้ไปงานเลี้ยงปีใหม่ที่บ้านทูต เลยได้รู้จักกัน
ท่านไปเรียนบริหารธุรกิจซึ่งเป็นรุ่นแรกๆของเมืองไทย
ท่านอยากเรียนหมอ แต่เสียเวลาไป 5 ปีเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2
ท่านเลยเปลี่ยนความตั้งใจ ฉันรู้จักกับหม่อมแม่ของท่าน แต่ไม่รู้จักท่าน
หลังจากนั้นก็ติดต่อกัน รักกัน เรามีพิธีหมั้นที่กรุงเทพฯ
แต่ไปแต่งงานที่อเมริกาก่อน แล้วกลับมารับพระราชทานน้ำสังข์ตอนกลับมา”

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ ทรงเสกสมรสกับหม่อมดุษฎี
ในปี 2494 มีโอรส 2 คนคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนล่าสุด
และพันเอก ม.ร.ว.วโรรส บริพัตร
ด้วยความที่ชำนาญการด้านการพัฒนาเด็ก
“หม่อมดุษฎี” บอกว่า วิชาการที่ร่ำเรียนมาทำให้รู้ว่าชีวิตการเรียนรู้ของเด็ก
ไม่ได้เริ่มต้นที่อายุ 6 ขวบ แต่ช่วงเวลาทองของการเรียนรู้ในชีวิตเริ่มตั้งแต่อายุ 2 ขวบ
จึงได้นำมาทดลองใช้ในการเลี้ยงดูลูกของตัวเองก่อนที่จะเลี้ยงลูกคนอื่น
“ฉันทดลองวิชาเลี้ยงเด็กกับลูกมาตลอด ตอนสุขุมพันธุ์ 2 ขวบ
ฉันก็ชวนลูกเพื่อนๆมาบ้านมาเลี้ยงด้วยกัน เอาโรงรถเป็นเหมือนโรงเรียน
จนตอนหลังต้องเปิดโรงเรียนสมประสงค์
แล้วฉันก็เชื่อว่าเราสามารถสอนภาษาที่สองให้เด็กได้ตั้งแต่เล็ก
หรือตั้งแต่อยู่ในท้องได้เลย แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
ฉันก็ลองเลี้ยงลูกทั้งสองภาษาพูดภาษาอังกฤษกับลูกตั้งแต่เล็ก
เขารู้เรื่องแต่บางทีไม่พูดเพราะรู้สึกไม่เหมือนเพื่อน
ส่วนภาษาไทยลูกชายก็อ่านรามเกียรติ์จบตอน 5 ขวบ
อันนี้ต้องยกเครดิตให้ คุณย่า-หม่อมสมพันธ์
ที่อ่านให้เขาฟังจนเขารู้สึกสนุกแล้วไปตามอ่านเอง”

เมื่อเปิดโรงเรียนสมประสงค์ที่กลายเป็นเนิร์สซารี่แห่งแรกของไทย
แล้วหม่อมดุษฎียังเป็นผู้บุกเบิกหนังสือสำหรับเด็ก
โดยทำ “หนังสือผ้าสำหรับเด็กอ่อน” เป็นหนังสือภาพเล่มแรกของเด็กปฐมวัย
และตามมาด้วยหนังสือเด็กอีกหลายเล่ม อาทิ นกกระจาบ,
เพชรดีมณีแดง, เพื่อนของเจ้า, หนูหนุ่ยกับมะม่วง,
เพลงเยาวชนและช่วยฉันที!
ไอยาลอน ออฟรา

ทำไมถึงอยากทำหนังสือเด็กละคะ


“สมัยก่อนอุปกรณ์การเรียนการสอนไม่สมบูรณ์ หนังสือเด็กเล็กๆไม่มีให้อ่าน
อยากให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านก็ต้องมีหนังสือให้เขา
เลยอยากปลุกปั้นเรื่องนี้ให้สำเร็จทั้งไปวิ่งหาสำนักพิมพ์
ผลักดันทุกรูปแบบ รวมถึงไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ขอพระราชทานทุนพิมพ์หนังสือ 2 เล่มคือเรื่อง “ณ ชายหาด สะอาดทราย”
เป็นเรื่องของหอยชนิดต่างๆ เหมือนเอ็นไซโครพิเดียหอย
มีภาพด้านหลังและเรื่อง “ศรีธนชัย” ของท่าน ผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค พิมพ์คู่กันเลย”

จากการเปิดกว้างทางด้านความคิดและล้ำสมัยอยู่เสมอ ทำให้ “หม่อมดุษฎี”
คิดทำหลักสูตรพัฒนาเด็กนำเอาวิชาพลศึกษา
ศิลปะนาฏศิลป์และศีลธรรมมาผนวกรวมกันเป็นเทคนิคการสอนที่ทันสมัย
โดยหม่อมดุษฎีบอกว่า เทคนิคการสอนวิชาเหล่านี้ใช้ในการเรียน
การสอนในห้องเรียนได้ โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยแล้วยังมา
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กได้อีกด้วย จากความรู้ที่สั่งสมจนตกผลึกทำให้
“หม่อมดุษฎี” ปรับบทบาทของครูที่ลูกศิษย์มาเป็นครูฝึกอบรมแม่พิมพ์
ที่จะทำหน้าที่สานต่อเจตนารมณ์ของของครูต้นแบบคนนี้ โดยบอกว่า

“ฉันเชื่อมั่นว่าเราจะเปลี่ยนเด็ก เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของครู
เลยอยากสอนเทคนิคการ สอนให้ครูฝึก หัดโดยพุ่งไปที่กลยุทธ์การสอน
ความคิดเก่าๆที่สนใจแต่เด็กห้องคิงส์ห้องควีนส์ เด็กเก่งใช้ไม่ได้แล้ว
การเป็นครูต้องมีเทคนิคและวิธี การที่จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาเด็กให้ถึงขีดสุด
ดึงศักยภาพของเด็กๆออกมา คนชอบพูดเรื่อง What และ When
ว่าควรสอนเด็กเรื่องอะไรเมื่อไหร่ แต่ฉันว่าสิ่งที่สำคัญคือ How ต่างหาก”

งานที่ทำอยู่ตอนนี้มีอะไรบ้างคะ

“ตอนนี้ทำงานเหมือนเป็นฟรีแลนซ์ รับอบรมครูทั่วไป โดยทำ
ประจำที่โรงเรียนเพลินพัฒนา และจะร่วมโครงการอบรมครูกับมหาวิทยาลัยมหิดล
และรับเป็นที่ปรึกษาในทีมงานด้านการศึกษาของผู้ว่าฯกรุงเทพฯ ดูโรงเรียนใน กทม.”

พูดถึงผู้ว่าฯกรุงเทพฯ หม่อมฯ ภูมิใจกับลูกศิษย์คนแรกนี้มากน้อยแค่ไหนคะ

หม่อมดุษฎีกล่าวด้วยน้ำเสียงสดใสว่า
“ก็ภูมิใจเขานะ ฉันก็สนับสนุนเพราะนักการเมืองเป็นผู้ทำ
ไม่ใช่นักคิดเท่านั้น เวลาที่ลูกมาบอกว่าจะเล่นการเมือง ฉันก็บอกว่าดี
ไปให้คนอื่นเขาด่าบ้าง เมื่อก่อนมีคนว่าเขาปากคม
วิพากษ์วิจารณ์คนในฐานะนักวิชาการ ลงไปทำเองจะได้โดนบ้าง
ซึ่งถ้าเป็นคนทำงานต้องไม่กลัวการว่ากล่าวติชม
คนที่ไม่ทำอะไรเลยต่างหากที่จะไม่ถูกด่า คนไม่ทำอะไรเพราะกลัวคนด่าก็อย่าเป็นเลย”

ถึงตรงนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็ได้กล่าวถึงหม่อมแม่ของตัวเองว่า
“หม่อมแม่เป็นทั้งแม่และครูของผม เพราะผมก็เป็นลูกศิษย์ในโรงเรียนสมประสงค์
ต้องกราบขอบพระคุณแม่ที่เป็นทั้งแม่และเป็นครูที่สั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี
และสั่งสอนอะไรอีกมากมาย ที่สำคัญที่สุดคือสอนให้เป็นคนรักหนังสือ
เป็นคนขยันมุ่งมั่นไม่ว่าเรื่องเรียนและการทำงาน”


เมื่อถามถึงชีวิต 84 ปีในวันนี้ของหม่อมดุษฎี ได้รับคำตอบกลับมาว่า

“งานคือชีวิตของฉัน มาก่อนสิ่งอื่น ไม่รู้ว่าผิดหรือถูกแต่ฉันคงไม่หยุดทำงาน
ตราบใดที่สมองยังใช้ได้ แม้จะต้องใช้ไม้เท้า รถเข็นแต่ถ้าสมองยังดีก็จะไม่หยุด
ตอนนี้จึงต้องหาแนวร่วมในการทำงาน
ปั้นแกนนำเป็นครูที่มีศักยภาพที่ปรับตัวเองให้ดีขึ้น มีสมองรับสิ่งใหม่ๆ
มีใจกล้าที่จะทดลอง ไม่ใช่มาเรียนมาอบรมแล้วเก็บความรู้ใส่ลิ้นชัก”

แม้จะล่วงมาสู่ปั้นปลายของชีวิต แต่ไฟของหม่อมดุษฎี ยังไม่มีวันมอด
ต้องยกนิ้วให้ “ครูต้นแบบ” ที่มีหัวใจเกินร้อยคนนี้.