Custom Search

Jul 14, 2009

"Kinky" ลูกค้า = เรา เรา = ลูกค้า


รื่อง : ชฎาพร นาวัลย์ chadaporn_n @ nationgroup.com

"Kinky" ย้ำชัดแฟชั่นสุดฮิพ "แปลก...แหวก...แนว..." เอาใจขาช้อปพันธุ์แท้ ณ "สยามสแควร์" แก้อาการสุดเคืองใจ เมื่อตอนนี้สินค้า Street Wear "ราคาถูก" กำลัง "กลืน" สวรรค์ของพวกเขา


หากจะมองกันเพียงผิวเผิน สองหนุ่มสาวแฟชั่นนิสต์ "นัท-สิวากร มุตตามระ” และ "อ้อ-อัญรัตน์ เตยะราชกุล" ก็ไม่ต่างจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายๆ คนที่สร้างธุรกิจจากความ "คลั่งไคล้" ใหลหลงศิลปะ


แต่ที่ไม่เหมือนใคร คงจะเป็นความหลงใหลทำให้เขายังคงมีที่ทำกินบนทำเลทอง ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองมาเกือบ 8 ปีแล้ว ด้วยอายุเพียง 26 ปีในขณะนั้น

ร้านเสื้อผ้าและเครื่องประดับ "Kinky" ขนาด 30 ตารางเมตร ในสยามสแควร์ซอย 2 เปิดต้อนรับเด็ก HIP ให้เดินเข้า-ออกเป็นว่าเล่น

"นัท-สิวากร" บอกว่า นี่คือสถานที่ปลดปล่อยไอเดียกระฉูดของเขา เป็นแหล่งรวมตัวคนที่ชอบอะไรแบบเดียวกัน... สังคมแบบ "คิงกี้"

"ผมต้องการของใหม่ กลุ่มลูกค้าก็เช่นกัน เก็บคำว่าซีซันไปเลย เพราะผมก็จะออกสินค้าใหม่แทบทุกสัปดาห์ และทุกๆ แบบจะสื่อสารความหมาย (Message) ตลอด อยากบอกให้สังคมรู้ด้วยภาพ"

จุดเริ่มต้นของ "Kinky" คือ การตอบรับกระแสสังคมเหล่าฮิพฮอพ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสังคมมากว่า 20 ปีแล้ว รวมทั้งกลุ่ม Street Teen ซึ่งชื่นชอบกีฬาแนวเอ็กซ์ตรีม อย่างสเกตบอร์ด แต่ครั้นจะเปิดร้านขายอุปกรณ์กีฬาก็จะดูจริงจังเกินไปและอาจจะ "ไปไม่รอด" ในยุคนั้น

เขาจึงอาศัย "แฟชั่นของคนกลุ่มนี้" มาผสมกันเป็นสินค้าเครื่องแต่งกาย จนสามารถเปิดตลาดเสื้อยืดสกรีนรูปลิง (Kinky Ape) เป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้ ตลอดรวมถึงกางเกงยีนส์และเครื่องประดับตกแต่งกายหลากหลายนับไม่ถ้วน

"นัท" เล่าว่า นอกจากแบรนด์ของตนเองแล้ว เขายังจำหน่ายสินค้านำเข้าซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในแนวสปอร์ต แคสชัวล์ และสไตล์อเมริกัน อย่าง MS Invador หรือ H-Minor

ขณะที่อีกมุมหนึ่งของร้านเป็นผลงานที่จับจองด้วยคู่หู คู่ใจ "อ้อ-อัญรัตน์" ซึ่งเป็นเสื้อผ้าสำหรับสุภาพสตรี แนว ready to wear ทำให้ร้าน "Kinky" มีเสน่ห์ไปอีกแบบ เพราะเราจะเห็นลูกค้าทั้งหนุ่มและสาวหมุนเวียนกันเข้าร้าน

"อัญรัตน์" แจงต่อว่าหนึ่งในวิธีการสร้างแบรนด์ คือ การยืนหยัดอยู่ในพื้นที่สยามสแควร์ แหล่งชอปปิงอันดับหนึ่งในดวงใจของน้องๆ วัยใสให้ได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาย่อมเกิดขึ้นเสมอ เมื่อสถานที่แห่งนี้เป็น "บ่อเงินบ่อทอง" ของผู้ค้าหลากสายพันธุ์ ซึ่งสามารถแยกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มแรกคือ พวกตัดเอง (Butique) เป็นโลคอลแบรนด์มีเอกลักษณ์และราคามาตรฐาน ถัดมาคือกลุ่มรับมาขายทั้งไทยและนำเข้า ซึ่งจะมีลักษณะตรงกันข้ามกับกลุ่มแรกโดยสิ้นเชิง

ทำให้เธอโดนก๊อบปี้ทั้งแบบและวัตถุดิบ กดราคาให้ต่ำลงจาก 1,490 เป็น 299 บาทในเวลาอันรวดเร็ว

นอกจากนั้น แหล่งค้าแห่งนี้ยังกลับสร้างปัญหาให้นักค้าตัวเล็กๆ ต้องนอนก่ายหน้าผากกันถ้วนหน้า เพราะไหนค่าเช่าจะไต่ระดับราคาเป็นย่านไฮโซ และทวีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเหมือนราคาน้ำมันดิบ แถมอาจต้องย้ายถิ่นจากการปรับรูปแบบใหม่เป็นศูนย์การค้า แต่เมื่อบทสรุปยังไม่แน่ชัด ทุกอย่างจึงดำเนินไปเรื่อยเปื่อย

กลุ่มบูติคบางรายเริ่มขยับขยายหาลู่ทางที่ดีกว่า แต่ไม่ใช่ "Kinky" อย่างแน่นอน

"อ้อ" บอกว่า จะต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ที่ผ่านมาเราสามารถวัดเพียง 3-5 เดือนก็จะรู้ว่าแบรนด์นั้นอยู่รอดหรือไม่ พร้อมกับยังคงจุดยืน เป็นตัวของตัวเองอยู่ได้ ซึ่ง "Kinky" โดดเด่นที่เป็นดีไซเนอร์เอง เธอเลือกที่จะออกแบบที่ตัวเองอยากใส่ นั่นก็คือลูกค้าต้องการใส่เช่นกัน

พร้อมบริการลูกค้าทั้งระหว่างขาย โดยจะใช้การสนทนาด้วยภาษาเดียวกันกับผู้ซื้อ และเป็นกันเอง และบริการตัดแก้ เปลี่ยนอะไหล่บางอย่างหลังการขายด้วย และยังเสริมโปรโมชั่น สมัครสมาชิก (Member) หรือสะสมแต้ม 10 ครั้งต่อการซื้อสินค้า 1,000 บาท เพื่อลดราคา 10%

"เราจะไม่ประกาศป้าย On Sale เด็ดขาด เพราะจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าถ้า Sale ครั้งแรกก็ต้องมีครั้งต่อไป แล้วจะเกิดพฤติกรรมรอคอยการลดราคาครั้งต่อไป ร้านก็จะไม่เกิดการหมุนเวียนทุกๆ วัน"

เถ้าแก่รายย่อย บอกกับเราว่า กลวิธีต่างๆ ทำให้กลุ่มลูกค้าหลักที่เป็นวัยรุ่นตั้งแต่มัธยม ซึ่งมี "แบรนด์รอยัลตี้" สูงยังอยู่กับ "Kinky"

แต่เมื่อโตขึ้น เขาก็จะซื้อน้อยลง บางคนอาจเปลี่ยนแนวตามลักษณะงาน ทำให้รูปแบบการซื้อขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ใช้งานของลูกค้า เรียกว่าคลื่นกระทบฝั่ง

แต่นั่นเป็นข้อดีให้เขาทั้งคู่ได้เปิดโอกาสให้เกิดลูกค้าหน้าใหม่ๆ ที่มีกำลังซื้อสูง ขณะเดียวกันหันมาผลิตสินค้าที่มีคุณค่า (Value) จากปริมาณที่น้อยลง เพื่อตอบสนองขาประจำ

นักการตลาดสาวของร้าน เล่าให้ฟังว่า วิธีจัดการกับปัญหา อยู่ที่หลักคิดบริหารต้นทุนและรายรับให้สมดุล เดิมซื้อขายดีมาก เราก็สั่งผลิตจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายก็ลดลง แต่ตอนนี้เมื่อเขาผลิตน้อยลง สต็อกของก็น้อยลง ทำให้ค่าใช้จ่ายเราก็ไม่สูงเหมือนกัน

"เราเคยทำ 400-500 ตัว ออกมา เพราะเมื่อรายได้เข้ามาเร็ว ก็จะมีเงินหมุนมาผลิตสินค้าใหม่ออกมาเรื่อยๆ แต่เราไม่อยากให้พวกเขาซื้อไปแล้วซ้ำกับคนอื่นๆ แล้วสินค้าของเราก็จะไม่โดนใจเขาอีกต่อไป มันกลายเป็นสินค้าที่มีทั่วไปตามท้องตลาด เราจึงเปลี่ยนมาผลิตแบบละ 30-40 ตัว เป็น Limited Edition หมดแล้วหมดเลย แล้วเลือกที่จะเปลี่ยนแบบไปเรื่อยๆ ดีกว่า"

เป็นการมองความต้องการของตัวเองและลูกค้าร่วมกัน

นี่คือ ธุรกิจเล็กๆ ที่สามารถผสมผสาน "Arts & Business" ได้อย่างลงตัว

Key to Success:

ศิลป์+ธุรกิจ บนธุรกิจแฟชั่น

๐ สร้าง Self-Community

๐ เสริมสินค้านำเข้าให้หลากหลาย

๐ มีจุดยืน เสิร์ฟลูกค้าได้เสมอ

๐ ไม่ลดราคาพร่ำเพรื่อ

๐ บริหารต้นทุนและรายรับสมดุล



บอยสเก๊าท์ (2536)